งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีโอกาสได้จัดอบรมเทคนิคและวิธีการเล่นดนตรีพื้นเมืองอีสานขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนท้องถิ่นได้ศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิธีการเล่นดนตรีพื้นเมืองอีสานประเภทต่าง ๆ จากครูบาอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญและความชำนาญในการ สอน การเล่น และการตั้งวงดนตรีพื้นเมืองอีสานในโรงเรียน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนและเชิดชูครูภูมิปัญญา ท้องถิ่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนเพื่อสืบสานและสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่อไป
ในการอบรมได้แบ่งออกเป็น 4 ฐาน ตามชนิดของเครื่องดนตรี ได้แก่ พิณ แคน โหวด และโปงลาง โดยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนสามารถเลือกเข้าอบรมได้ตามความถนัดและความชอบของตนเอง วิทยากรผู้ให้ความรู้ประกอบด้วย
อาจารย์ธีระ โกมลศรี (ครูภูมิปัญญาไทย) ประจำฐานโปงลาง
อาจารย์ธนิตชาติ ทองมงคล ประจำฐานแคน
อาจารย์อาคม ศรประสิทธิ์ ประจำฐานพิณอาจารย์วิริยะ วัฒนดิลก ประจำฐานโหวด
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 ท่าน ได้วางรูปแบบการอบรมร่วมกัน โดยในแต่ละวันแต่ละฐานจะทำการสอนให้เล่นเพลงเดียวกัน และในชั่วโมงสุดท้ายของแต่ละวันจะให้ทุกคนที่เล่นเครื่องดนตรีแต่ละชนิดมาเล่นร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เห็นความพยายามในการฝึกฝนของเด็ก ๆ เพื่อที่จะเล่นให้ได้และเล่นให้ทันกับคนอื่น ๆ วิทยากรจะให้คำแนะนำ กระตุ้น และชื่นชมให้กำลังใจแก่เด็ก ๆ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและมีความสนุกสนานเพลินเพลินในการเล่น
กาญจนา วัฒนะพิพัฒน์ และศรัณย์ นักรบ ( 2553) กล่าวว่า การถ่ายทอดวิธีเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานในสมัยก่อนนั้นจะเรียนรู้กันแบบตัวต่อตัว ถ่ายทอดด้วยปากเปล่า ไม่มีการบันทึกเป็นโน้ตเพลงหรือลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด การร้องทำนองในระดับเสียงต่าง ๆ จะเป็นการเลียนเสียงของเครื่องดนตรีนั้น ๆ ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมตะวันตกได้เข้ามาจึงได้มีการนำโน้ตดนตรีสากลมาใช้เรียกชื่อหรือร้องแทนระดับเสียงของดนตรีพื้นบ้านอีสาน
โน้ตเพลงที่ใช้ในการอบรมถูกรวบรวมและเรียบเรียงโดยวิทยากร มีตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงการประยุกต์เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถนำไปเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น เพลงเต้ยโขง เต้ยพม่า เต้ยธรรมดา ปู่ป๋าหลาน กาเต้นก้อน ลมพัดไผ่ ลมพัดพร้าว สุดสะแนน เป็นต้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ผลจากการจัดการอบรม ทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ในศิลปะการเล่นดนตรีพื้นเมืองของตนเอง สร้างสมประสบการณ์ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นอกจากนั้นยังเป็นการปลูกฝังและสร้างทัศนคติที่ดี มีความซาบซึ้งในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมที่จะช่วยกันสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานอันดีงามนี้ให้คงอยู่สืบไป
ที่ตั้ง : จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ : 15.230193, 104.857329
บรรณานุกรม
กาญจนา วัฒนะพิพัฒน์ และศรัณย์ นักรบ. (2553). การประยุกต์ใช้พิณและโหวดของมงคล อุทก เพื่อการบรรเลงร่วมกับเครื่องดนตรีสากล. วารสารมนุษยศาสตร์. 14 (2). หน้า 139-154
งานข้อมูลท้องถิ่น. (2556). เอกสารประกอบการอบรม “เทคนิคและวิธีการเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน ปีที่ 2” ระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม 2556. อุบลราชธานี : งานข้อมูลท้องถิ่น สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.