ตามประเพณีฮีตสิบสองของชาวอีสานแต่โบราณ ในเดือนสิบเอ็ดจะมีงานบุญที่สำคัญคือ คือ บุญออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 จารีตประเพณีที่เกี่ยวข้องคือจะมีการจุดไฟไต้ประทีป หรือการจุดเทียน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจุดประทีปเทียนชัยที่บ้าน ในหอประทีปที่วัด การลอยเรือไฟ การไหลเรือไฟ การแห่ปราสาทผึ้ง เป็นต้น
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา ซึ่งมีความสำคัญกับพุทธศาสนิกชน คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาเพื่อการตรัสอภิธรรมเทศนาโปรดพระมารดาในเทวโลกบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ถ้วนไตรมาสหรือสามเดือน เมื่อออกพรรษาแล้วก็เสด็จมายังโลกมนุษย์ทางบันไดสวรรค์ที่ประตูเมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ (รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย) วันที่เสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า “วันเทโวโรหณะ” ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันพระเจ้าเปิดโลก หมายถึง โลกธาตุทั้ง 3 คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก สามารถมองเห็นกันได้
ชาวอีสานจะมีงานบุญเดือนสิบเอ็ดหรือบุญออกพรรษาที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตามประเพณีฮีตสิบสอง คือ โดยในช่วงเช้าพุทธศาสนิกชนจะไปทำบุญตักบาตรพระสงฆ์และฟังธรรมเทศนาที่วัด ในช่วงค่ำจะนำเอาดอกไม้ธูปเทียนไปจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่วัด โดยชาวบ้านและภิกษุสามเณรในวัดจะช่วยกันทำทำร้านหรือโรงเรือนสำหรับวางดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมีหลายรูปแบบ เช่น ทำเป็นรูปเรือ ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีชื่อเรียกตามแต่ละท้องถิ่นว่า ข่วงไต้ประทีป หอประทีป หอฮุ่งเฮือง หอไต้น้ำมัน เป็นต้น
ร้านหรือโรงเรือนสำหรับวางธูปเทียนที่พบเห็นได้ จะมีลักษณะเป็นโรงเรือน ขนาด 1×1 หรือ 2×2 เมตร มีเสาทั้งหมด 4, 8 หรือ 9 ต้น ทำด้วยต้นกล้วยที่ตัดใบออกให้เหลือสัก 4 ก้านเพื่อความสวยงามหรือไม่ตัดก็ได้ วางอยู่ที่มุมทั้งสี่ด้านและระหว่างต้นเสา ร้านหรือที่วางดอกไม้ทำมาจากไม้ไผ่ โดยนำมาสานขัดแตะและรองด้วยใบมะพร้าวติดเข้ากับเสาทั้ง 8 ต้นให้มีระดับความสูงประมาณ 1.5 เมตร ตัดต้นกล้วยมาวางเป็นแท่นสำหรับปักธูปเทียน และประดับตกแต่งโรงเรือนด้วยทางมะพร้าว ต้นอ้อย ธงทิว และดอกไม้ให้สวยงาม
นอกจากจะจุดประทีปเทียนที่วัดแล้ว ชาวบ้านก็ยังมีการจุดประทีปเทียนถวายดอกไม้ไว้ที่บ้านด้วย ซึ่งจะทำกันในช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 18.00-20.00 น. โดยจะนำกาบกล้วยมาทำเป็นฐานคล้ายเรือ แล้วจุดเทียนปักลงบนเรือ พร้อมประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ บางบ้านอาจจะมีการนำต้นข้าวที่กำลังตั้งท้อง (ข้าวมาน) มาตกแต่งบูชาด้วย ปัจจุบันอาจจะไม่ได้ทำเป็นเรือกล้วยแล้ว แต่จะมีการจุดเทียนไว้ตามราวรั้วหรือราวระเบียงแทน
ในบางพื้นที่ที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำก็จะจัดให้มีการไหลเรือไฟขึ้น มีชื่อเรียกตามแต่ละท้องที่ เช่น ล่องเรือไฟ ลอยเรือไฟ หรือปล่อยเรือไฟ โดยชาวบ้านจะรวมตัวช่วยกันทำเรือไฟขึ้น โดยใช้ต้นกล้วย ไม้ไผ่ หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ ตกแต่งด้วยธงทิว ดอกไม้ และของไหว้ขอขมา เช่น หมาก พลู ก้อนข้าวเหนียว ข้าวต้มมัด กล้วย อ้อย รวมทั้งอาหารคาวหวานต่าง ๆ บ้างก็มีการตัดผม ตัดเล็บ ใส่กระทงนำไปวาง รวมทั้งจุดธูปเทียนปักลงไปบนเรือ จากนั้นจึงนำไปลอยในแม่น้ำ มักจะทำกันในตอนกลางคืน รูปแบบคล้ายคลึงกับประเพณีลอยกระทง ในวันเพ็ญ เดือน 12 แต่ก็พบว่ามีบางพื้นที่ที่ทำการลอยเรือไฟในเวลากลางวัน เช่น ชุมชนบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
การลอยเรือไฟ ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเทศกาลไหลเรือไฟที่ยิ่งใหญ่ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและสร้างความโดดเด่นทางวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดนครพนม มีการประยุกต์การทำเรือไฟให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีโครงสร้างที่แข็งแรง และประดับตกแต่งด้วยตะเกียงไฟเป็นหมื่น ๆ ดวงเพื่อส่องสว่างให้เห็นลวดลาย ความสวยงาม และความคิดสร้างสรรค์ในการประดับตกแต่งเรือไฟ พบเห็นได้ในจังหวัดนครพนม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ
รูปแบบการจุดไฟไต้ประทีปในช่วงวันออกพรรษา ยังพบเห็นได้อีกในงานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง เช่น บ้านโพนทราย และ บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลพบว่า ชาวอีสานมีความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการจุดไฟไต้ประทีบหรือการจุดเทียนนี้ว่า
- เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และเฉลิมฉลองวาระที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ โดยมีความเชื่อว่า อานิสงส์แก่ผู้กระทำการถวายพุทธบูชาด้วยประทีปโคมไฟนั้น จะทำให้เป็นผู้มีตาทิพย์ รู้แจ้งและเกิดปัญญา สำเร็จเป็นพระอรหันต์
- เพื่อการบูชาพญานาค ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาแม่น้ำ และช่วยคุ้มครองคนที่สัญจรทางน้ำให้มีความปลอดภัย
- เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท จากตำนานที่ว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปโปรดเหล่าพญานาคที่ภพนาค ก่อนเสด็จกลับ เหล่าพญานาคได้ขอให้พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทไว้สักการะ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานที ประเทศอินเดีย
- เพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง เป็นการบูชาน้ำบูชาไฟ
- เพื่อรับขวัญและบูชาพระแม่โพสกที่ประจำอยู่ในต้นข้าว แม่โพสพจะเป็นผู้คอยดูแลต้นข้าวให้เจริญงอกงาม เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเลี้ยงโลกให้อยู่เย็นเป็นสุข หากผู้ใดบูชากราบไหว้แม่โพสพแล้วจะทำให้ผู้นั้นร่ำรวยอุดมสมบูรณ์
- เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ สะเดาะเคราะห์ให้ชีวิตหมดเคราะห์หมดโศก หายจากโรคภัย สิ่งชั่วร้ายในชีวิตจงไหลไปกับสายน้ำ และมอดไหม้ไปพร้อมกับเปลวไฟ
- เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่าบรรพชนจะได้มีปราสาทราชวังหรือบ้านเรือนอยู่อาศัย
- เพื่อแก้บนจากการบนบานให้หายเจ็บป่วย หรือการบนบานขอสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อหายป่วยหรือสิ่งที่บนบานไว้สำเร็จดังประสงค์ก็จะถวายปราสาทผึ้ง ซึ่งบางคนทำแล้วเห็นผลทันตา ความเจ็บป่วยหายไป จึงทำให้ความเชื่อนี้ยังคงอยู่
หมายเหตุ : รวบรวบและศึกษาข้อมูลในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี
ที่ตั้ง : จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ : 15.230193, 104.857329
บรรณานุกรม
ทวี อภิสกุลชาติ. (2561). เปิดตำนานประเพณี “ไหลเรือไฟนครพนม” จากอดีตถึงปัจจุบัน ก่อนกลายเป็น”หนึ่งเดียวในโลก”, เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562. https://www.77kaoded.com/content/190163
ธวัช ปุณโณธก. (2542). ไต้ประทีป, บุญ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 5. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. หน้า 1469-1473.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2561). รู้จัก “พิธีรับขวัญข้าว” ประเพณี-ความเชื่อดั้งเดิมแบบไทย ๆ ทำไมต้องรับขวัญ, เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562. https://www.prachachat.net/spinoff/culture/news-203522
พิชญ์ สมพอง. (2542). ไหลเรือไฟ, บุญ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 15. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย. หน้า 5142-5144.
หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จ.นครพนม. ไหลเรือไฟ นครพนม, เข้าถึงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562. http://www.finearts.go.th/nakhonphanomlibrary/parameters/km/item/ไฟเรือไฟ-นครพนม