ลวดลายผ้าขิดที่นำมาใช้เป็นผ้าห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานของบ้านทุ่งใหญ่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อถวายวัดให้เป็นกุศลผลบุญ อุทิศส่วนกุศล สะเดาะห์เคราะห์ และแก้บน ลวดลายที่อยู่บนผ้าขิดเป็นลวดลายดั้งเดิมที่ชาวทุ่งใหญ่นิยมทอและสืบทอดกันมา
คัมภีร์หรือหนังสือใบลาน ตำราเรียนชาวอีสาน
ในอดีตของชาวอีสานนั้น วัด คือ สถานที่แห่งการเรียนรู้เพื่อให้อ่านออกเขียนได้และสืบทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยมีพระภิกษุสงฆ์ที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วเป็นครูผู้สอนหรือผู้ถ่ายทอดความรู้ วัสดุและสื่อทางการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ คือ คัมภีร์หรือหนังสือใบลานที่เขียนหรือบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ การที่มีแหล่งศึกษาอยู่ในวัดนั้นทำให้ผู้ชายจะมีโอกาสใกล้ชิด สัมผัส และรู้หนังสือมากกว่าผู้หญิง ดังจะเห็นได้จากผู้มีบทบาทสำคัญในชุมชนหรือผู้รู้ของชุมชนมักจะเป็นผู้ชาย เช่น พระภิกษุสงฆ์ หมอยา หมอธรรม หรือนักปราชญ์
คัมภีร์หรือหนังสือใบลานนั้นจะบันทึกเรื่องราวหรือข้อมูลต่าง ๆ ไว้ซึ่งอยู่ในรูปแบบของบทสวด พิธีกรรมทางศาสนา นิทานชาดก ตำนาน ตำรายา รวมทั้งจารีตประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ผู้เรียนจะได้ฝึกฝนทั้งการอ่านและการเขียนหรือการจาร หนังสือหรือคัมภีร์ใบลานจึงมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวอีสานและถูกกำหนดให้เป็นของสูงของมีค่าต้องการการดูแลรักษาอย่างดี ดังจะเห็นได้จากความเชื่อและข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
- ต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี เพราะทำมาจากวัสดุธรรมชาติ เปราะบาง และไม่คงทน เช่น การห่อผ้า การวางไว้บนแท่น หรือเก็บรักษาไว้ในอาคารสถานที่อย่างดีเพื่อป้องกันการกัดแทะของแมลง และการผุพังจากเชื้อรา
- เมื่อต้องเคลื่อนย้ายอย่าให้เนื้อหนังสือใบลานถูกเนื้อต้องตัว ต้องจับเคลื่อนย้ายที่เก็บวางไปทั้งมัด
- ห้ามถือไว้ในระดับต่ำกว่าหน้าอก และห้ามถือหนังสือในลักษณะกวัดแกว่ง
- ห้ามผู้หญิงและเด็กจับต้องหรือถือหนังสือ
- ห้ามนอนหรือนั่งทับหนังสือ
ถวายผ้าห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานเพื่อสร้างกุศลสะสมบุญ
ผู้หญิงอีสานแม้จะไม่มีโอกาสในการบวช หรือร่ำเรียนหนังสือในวัด แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับคัมภีร์หรือหนังสือใบลาน คือ เป็นผู้รับฟังการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ จากคัมภีร์หรือหนังสือใบลานเพื่อใช้ในการดำรงชีวิตตามจารีตวิถีของชุมชน ร่วมทำบุญโดยการเป็นผู้สร้างคัมภีร์หรือหนังสือใบลานถวายวัด และการถวายทานผ้าทอชิ้นดีแก่วัดสำหรับใช้ในการห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลาน ซึ่งเชื่อว่าการทำงานหัตถกรรมที่ดีและงดงามที่สุดอาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้หญิงได้บุญได้กุศลตามความเชื่อทางพุทธศาสนาพื้นบ้าน และแสดงให้เห็นบทบาทของผู้หญิงในการค้ำจุนโลกและค้ำจุนธรรมะ ดังจะเห็นได้จากสำนวนอีสานที่ว่า “ทานกล้วยได้เป็นเศรษฐี ทานผ้ามัดหมี่ได้เป็นพระเจ้า” หรือ “ไผอยากเป็นปราชญ์ให้แก้ผ้าซิ่น” หรือ “ไผอยากเป็นปราชญ์ให้ไปแก้ซิ่นในวัด” (ใครอยากเป็นปราชญ์ให้ไปถอดผ้าถุงในวัด)
นอกจากนั้นแล้วยังปรากฏว่ามีความเชื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถวายผ้าห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานอีก คือ เกี่ยวข้องกับการทอผ้าไหม โดยการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเอง การที่จะได้ผ้าไหมชิ้นดี ๆ หนึ่งผืนนั้นจะต้องฆ่าหนอนไหมตั้งหลายตัวเพื่อให้ได้เส้นไหมมาทอผ้า ฉะนั้นการการถวายผ้าไหมสำหรับห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานก็จะเป็นโอกาสได้ทำบุญกุศลทดแทนบุญคุณหรือไถ่บาปจากการฆ่าหนอนไหม
ผ้าทอที่ทำถวายวัดเพื่อใช้ห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานนั้นอาจจะเป็นผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดความชื้นและระบายความร้อนได้ดี มีทั้งผ้าขาว ผ้าสี ผ้าขิด ผ้าจก ผ้ามัดหมี่ โดนเน้นที่ต้องเป็นผ้าทอใหม่ ๆ หรือผ้าเก่าที่ยังไม่เคยถูกใช้งานมาก่อน
ผ้าขิดห่อใบลาน เอกลักษณ์ภูมิปัญญามรดกบ้านทุ่งใหญ่
ชาวบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มีความเชื่อและจารีตประเพณีเกี่ยวกับการถวายผ้าห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานให้แก่วัดที่ทำสืบทอดกันมานาน โดยนอกจากจะมีมีความเชื่อว่าการถวายผ้าห่อคัมภีร์แล้วจะได้อานิสงค์ผลบุญเหมือนชาวอีสานทั่ว ๆ ไป การถวายผ้าห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานยังเป็นสิ่งของที่ใช้ในการสะเดาะเคราะห์ หรือแก้บนอีกด้วย การถวายผ้าห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานของชาวบ้านทุ่งใหญ่นั้นจะนิยมทำกันในช่วงบุญเดือนสี่หรือบุญผะเหวด ช่วงบุญเดือนแปดหรือบุญเข้าพรรษาตามประเพณีฮีตสิบสองของชาวอีสาน และถวายเพื่อการสะเดาะเคราะห์หรือสิ่งที่บนบานไว้สำเร็จดังประสงค์ แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีการสร้างคัมภีร์หรือหนังสือใบลานถวายวัดแล้ว แต่ชาวบ้านทุ่งใหญ่ก็ยังคงยังคงอนุรักษ์และสืบสานยึดถือในความเชื่อนี้ไว้ ดังจะเห็นได้จากผ้าห่อคัมภีร์จำนวนมากที่ถูกนำมาถวายยังวัดบ้านทุ่งใหญ่
ผ้าห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานที่นำมาถวายวัดนั้นจะมีทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือผ้าที่ทอด้วยเส้นด้ายโรงงาน มีลักษณะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 70*25 เซนติเมตร ขอบทั้ง 4 ด้านจะเย็บกุ๊นให้เรียบร้อย แต่ขอบด้านยาวนั้นจะเสริมด้วยไม้ไผ่เหลาแบนสอดไว้ข้างในและเย็บเชือกไว้ตรงกลางสำหรับผูก บางผืนจะเหลาไม้ไผ่แบนกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และมีความยาวตามขนาดของผ้า สอดแทรกคั่นไว้กับเนื้อผ้าด้วยเพื่อเสริมความแข็งแรง ผ้าห่อคัมภีร์จะถูกนำไปใช้ห่อหนังสือหรือคัมภีร์ใบลานที่เป็นผูกเล็ก ๆ โดยวางหนังสือไว้ที่ชายผ้าด้านใดด้านหนึ่ง แล้วพันห่อให้หนังสือใบลานอยู่ข้างในจนสุดความยาวของผ้า จึงใช้เชือกที่ติดมาผูกมัดผ้าไว้ไม่ให้หลุดออก
ชาวบ้านทุ่งใหญ่นั้นจะมีความชำนาญและความเชี่ยวชาญในการทอผ้าขิด (การทอผ้าแบบเก็บขิด หรือเก็บดอก) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ เทคนิควิธีการขิดประกอบกับการการเลือกใช้คู่สีระหว่างเส้นยืนกับเส้นพุ่ง เช่น พื้นสีแดงขิดลายด้วยสีขาว สีเหลือง หรือสีเขียว ทำให้เกิดลวดลายที่สวยงามเด่นนูนขึ้นมาจากเนื้อผ้า ผ้าห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานของชาวบ้านทุ่งใหญ่จึงเป็นผ้าขิดลวดลายต่าง ๆ เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่เกิดจากภูมิปัญญาและมรดกที่บรรพชนที่ได้มอบไว้ให้
ลวดลายผ้าขิดห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานบ้านทุ่งใหญ่
ลวดลายของผ้าขิดห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานที่บ้านทุ่งใหญ่นิยมทำกันนั้น จะมีลวดลายที่ได้เกิดจากการเลียนแบบธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อต่าง ๆ โดยจะจัดวางลวดลายหลักที่สวยงามและโดดเด่นไว้ตรงกลางผืนผ้า กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนด้านข้างจะเป็นลายคั่นหรือลายแถบ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบและสร้างสรรค์ของผู้ทอ ลวดลายผ้าขิดห่อคัมภีร์หรือหนังสือใบลานที่นิยมทำกันจะเป็นลายดั้งเดิมหรือเป็นลวดลายพื้นฐาน เช่น ขิดดอกแก้ว ขิดแอวขัน (เอวขันธ์) ขิดหมากมอน (หม่อน) ขิดสบไถ (ผานไถ) ขิดขอ ขิดเอี้ย (เอื้อ) ขิดโคม ขิดตีนกา (ขิดกากบาท) ขิดแมงบ้งแป่ม (หนอนที่มีขน) ขิดโคมตาล และพบว่ามีการประยุกต์ใช้ลวดลายดั้งเดิมสร้างสรรค์ออกเป็นลวดลายต่าง ๆ ให้สวยงามแปลกตายิ่งขึ้นตามแต่จินตนาการของผู้ทอ
ที่ตั้ง บ้านทุ่งใหญ่
ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ บ้านทุ่งใหญ่
15.472804, 104.410817
บรรณานุกรม
ธวัชชัย นามรมย์. (2561). สัมภาษณ์, 23 ตุลาคม 2561
พระครูภัทรเขตพิทักษ์. (2561). สัมภาษณ์, 23 ตุลาคม 2561
หนูเวียง กันหาลา. (2561). สัมภาษณ์, 23 ตุลาคม 2561
สุริยา สมุทคุปติ์ และพัฒนา กิติอาษา. (2545). ทำไมคนอีสานในอดีตจึงใช้ผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ใบลาน. เอกสารประกอบนิทรรศการผ้าซิ่นห่อคัมภีร์ในวัฒนธรรมอีสาน. นครราชสีมา : สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.