หนังประโมทัย หนังปะโมทัย หนังบักตื้อ หนังบักป่องบักแก้ว แม้จะมีชื่อเรียกที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่นั่นคือ ศิลปะการแสดงของท้องถิ่นอีสานที่ผสมผสานระหว่างหนังตะลุงและหมอลำเข้าด้วยกัน กล่าวคือ มีตัวหนังเชิดเล่นเงาเหมือนหนังตะลุงและนำเสนอเรื่องราวการแสดงแบบหมอลำ ซึ่งศิลปะการแสดงหนังประโมทัยนี้ได้รับอิทธิพลจากการติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านทั้งจากภาคใต้ที่เป็นต้นกำเนิดของหนังตะลุงในประเทศไทยและภาคกลางที่ได้รับการถ่ายทอดมาอีกที มีการผสมผสานปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างลงตัวจนเกิดเป็นหนังประโมทัยขึ้นและเป็นที่ยอมรับของคนในท้องถิ่นอีสาน
เมื่อก่อนนั้นหนังประโมทัยเป็นที่นิยมมาก โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องที่นิยมเล่น คือ รามเกียรติ์ แต่ปัจจุบันแทบจะหาดูไม่ได้เลย
การแสดงหนังประโมทัย
ในการแสดงหนังประโมทัยจะประกอบด้วย ผู้เชิด ตัวหนัง โรงและจอหนัง บทพากย์ บทเจรจา ดนตรีประกอบ ตลอดจนแสงเสียงที่ใช้ในการแสดง ในหนึ่งคณะจะใช้บุคลากรในการแสดงประมาณ 5-10 คน แบ่งเป็น คนเชิด 2-3 คน คนพากย์และเจรจา 1-2 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย และนักดนตรี 3-4 คนหรือตามจำนวนเครื่องดนตรี คนเชิดและคนพากย์อาจจะเป็นคนเดียวกัน บางคนเป็นหมอลำเพราะการแสดงบางเรื่องต้องใช้ลีลาการร้องแบบหมอลำหรือบางคนก็เป็นพระนักเทศน์มาก่อน กล่าวคือคนพากย์คนเจรจาจะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการใช้เสียง มีความรู้รอบตัว มีลีลา และไหวพริบที่ดีเพื่อดำเนินการแสดงให้สนุกสนานและทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ
หนังประโมทัยจะนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกับหนังตะลุง โดยอาจจะหยิบยกมาเล่นบางบทบางตอน มีบางคณะได้นำวรรณกรรมหรือนิทานพื้นบ้านอีสานมาทำการแสดงด้วย เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น การะเกด ฯลฯ
ตัวหนังประโมทัย
ตัวหนังประโมทัย จะมีลักษณะเป็นตัวละครรูปลอยตัวที่มีฉลุลวดลายลงบนหนัง ซึ่งนิยมใช้หนังลูกวัวหรือลูกควาย ที่บางและโปร่งแสง ขนาดความสูงของตัวหนังประมาณ 1-2 ฟุต มีการเจาะรูร้อยเชือกที่ข้อมือและข้อศอกแล้วใช้เชือกร้อยผูกไว้ที่มือของตัวหนังผูกเข้ากับไม้เล็ก ๆ เพื่อให้แขนและมือขยับเคลื่อนไหวไปมาได้ ตัวตลกมักจะทำให้แขนเคลื่อนไหวได้ทั้งสองข้าง ส่วนปากก็ใช้เชือกผูกไว้ที่คาง ให้สามารถชักขยับขึ้นลงได้เหมือนกำลังพูด ตัวหนังทุกตัวจะมีไม้ยาววางพาดตัวหนังเป็นแกนกลางสำหรับพยุงตัวหนัง เป็นที่จับ และใช้เสียบปักกับต้นกล้วยขณะทำการแสดง
ตัวหนังประโมทัย ส่วนหัวจะเป็นภาพใบหน้าด้านข้าง ส่วนลำตัวจะมองเห็นแขนขาครบทั้งสองข้าง ยกเว้นตัวนางมักจะทำเป็นภาพหน้าตรง โดยฉลุบริเวณหน้าให้มองเห็นเป็นสีขาวในเวลาฉายออก เรียกหนังตัวนางว่า “หนังหน้าแขวะ”
โรงและจอหนังประโมทัย
โรงหนังประโมทัยส่วนใหญ่จะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม นักแสดง คนเชิด และนักดนตรีทั้งหมดจะอยู่ในโรงนี้ ด้านหน้าของโรงหนังเป็นจอสีขาวตัดขอบโดยรอบด้วยสีดำหรือสีน้ำเงินที่สูงจากพื้นประมาณ 1-1.5 เมตร ยาวประมาณ 3-4 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ด้านข้างของโรงหนังจะกั้นทึบทั้งสองด้าน ภายในโรงหนังจะมีต้นกล้วยวางชิดกับจอสำหรับเสียบตัวหนังที่กำลังแสดงและวางต้นกล้วยไว้ที่ด้านข้างทั้งสองด้วยสำหรับเสียบตัวหนังที่พักหรือรอการแสดง
แหล่งกำเนิดแสงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดเงาของตัวหนังไปปรากฏที่จอ จะทำการติดตั้งหลอดไฟฟ้าให้อยู่ตรงกลางระหว่างจอหนังกับผู้พากย์และอยู่เหนือศีรษะของผู้พากย์เพียงหลอดเดียวเพื่อไม่ให้เกิดภาพซ้อน
บทพากย์ บทเจรจาหนังประโมทัย
การพากย์และการเจรจาในการแสดงหนังประโมทัยจะมีทั้งการใช้ภาษาไทยกลางและภาษาอีสาน ประกอบกับการร้องหมอลำก็มี ตามแต่การสร้างสรรค์ของแต่ละคณะเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินสนุกสนาน บทพากย์และบทเจรจาจะเป็นบทกลอนที่ได้รับการฝึกฝนและจดจำมาจากครูหรือจากหนังสือที่มีผู้แต่งไว้ มีบางครั้งที่เป็นกลอนสดและกลอนลำชนิดต่าง ๆ โดยทำนองการพากย์ที่พบเห็นได้นั้นแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือการพากย์ทำนองร้องหนังตะลุง มักใช้กับตัวแสดงหลักในเรื่องรามเกียรติ์ และการพากย์ทำนองแบบหมอลำ ซึ่งเป็นทำนองที่มีความครึกครื้นสนุกสนานมักใช้กับตัวตลก เช่น ปลัดตื้อ บักป่อง บักแก้ว ซึ่งบทตลกนั้นมีความสำคัญเกือบจะเทียบเท่าตัวเอก เป็นตัวสร้างสีสันทำให้การดูหนังตะลุงมีความสนุกสนานยิ่งขึ้นจนเป็นที่จดจำและเป็นที่มาให้คนในท้องถิ่นอีสานเรียกหนังประโมทัยว่า หนังบักตื้อ หนังบักป่องบักแก้ว
ดนตรีประกอบการแสดงหนังประโมทัย
ดนตรีประกอบการแสดงหนังประโมทัย จะพบเห็นได้ 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 มีระนาดเอกเป็นหลักของวง ประกอบกับกลอง ฉิ่ง ฉาบ รูปแบบที่ 2 การใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน เช่น พิณ แคน ซอ กลอง ฉิ่ง ฉาบ รูปแบบที่ 3 การใช้ผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากล เช่น กีตาร์ไฟฟ้า กลองชุด อิเล็กโทน ทั้งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเครื่องดนตรีไปเพื่อสร้างความน่าสนใจและเพิ่มความสนุกสนานมากขึ้น
ขั้นตอนการแสดงหนังประโมทัย
หนังประโมทัยมีขั้นตอนหรือแบบแผนการแสดงตามลำดับ ดังนี้
1.การเตรียมความพร้อม เป็นการจัดวางอุปกรณ์ของการแสดงต่าง ๆ เช่น เครื่องดนตรี หีบหนัง และปักตัวหนังกับต้นกล้วย เพื่อเตรียมพร้อมการแสดง
2.การไหว้ครู หัวหน้าคณะจะนำไหว้ครู และยกคายกับรูปฤาษี เพื่ออัญเชิญเทวดาให้มาช่วยคุ้มครอง และดลบันดาลให้การแสดงในคืนนั้นประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมชมชอบ คายหรือเครื่องไหว้ครู ประกอบด้วย ขันธ์ 5 เงิน สุรา แป้ง น้ำมัน หวี กระจกเงา หมาก บุหรี่ เป็นต้น เมื่อไหว้หรือยกครูเสร็จแล้ว จะรินเหล้าแจกลูกวงดื่มอย่างทั่วถึง เมื่อเริ่มการแสดงจะต้องไหว้ครูในจอหรือไหว้ครูในการแสดงอีกครั้ง โดยการออกรูปฤาษี และออกรูปตัวแสดงทั้งหมด
3.การโหมโรง ผู้เชิดและนักดนตรีจะแยกย้ายประจำตำแหน่ง นักดนตรีจะเริ่มบรรเลงเพลงโหมโรม
4.การประกาศบอกเรื่อง เมื่อบรรเลงเพลงโหมโรงจบ หัวหน้าคณะหรือพิธีกรประจำคณะหนังประโมทัย จะประกาศบอกเรื่องและตอนที่จะแสดงในคืนนั้น ๆ ซึ่งมีทั้งใช้ภาษากลางและภาษาอีสาน
5.การออกรูป จะมีการออกรูปฤาษี รูปปลัดตื้อ รูปเต้นโชว์หรือชกมวย และออกรูปตัวแสดงทั้งหมดเป็นเบื้องต้น
เมื่อออกรูปฤาษีแล้วจะมีการร้องบทพากย์ฤาษี ซึ่งเป็นการไหว้ครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และขอเชิญคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้มาช่วยให้การแสดงดำเนินไปด้วยดี คารวะผู้ชม และขออภัยต่อผู้ชมหากมีการผิดพลาดระหว่างการแสดง จากนั้นจะมีการแสดงเบิกโรง โดยการออกตัวตลก รูปเต้นโชว์ หรือการชกมวย
6.การเชิด การเชิดหนังประโมทัยนั้น ผู้เชิดจะยืนเชิด เมื่อผู้เชิดจับตัวหนังตัวใดก็จะมีการพากย์และเจรจาตัวนั้นไปด้วยซึ่งคนพากย์และคนเชิดอาจจะเป็นคนละคน หรือคนเดียวกันก็ได้
ตัวหนังที่เป็นตัวพระ ตัวนาง ยักษ์ ลิง ซึ่งปากขยับไม่ได้ ก็จะใช้การเคลื่อนไหวมือข้างหนึ่งประกอบคำพูด ถ้าเป็นตัวตลกซึ่งขยับปากได้ เพราะมียางยืดบังคับอยู่ จะใช้นิ้วกระตุกดึงเชือกให้ปากขยับตรงกับคำพูด ซึ่งผู้เชิดจะต้องมีความชำนาญมาก การเชิดจะต้องทำตัวหนังเหมือนมีชีวิต บางทีผู้เชิดจะออกหน้าตาท่าทางหรือเต้นตามไปด้วย
7.การดำเนินเรื่อง หลังจากการแสดงเบิกโรง ก็จะเป็นการดำเนินแสดงไปตามเนื้อเรื่องจนจบการแสดง
8.การจบ เมื่อจะจบการแสดง จะมีขนบสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำกันแทบทุกคณะ โดยเฉพาะใน จ.ร้อยเอ็ด คือ ใช้ตัวตลกตัวใดตัวหนึ่งออกมาบอกเลิกการแสดง แต่ละคณะก็จะมีวิธีการแตกต่างกันไป
หนังประโมทัยกับความเชื่อ
การแสดงหนังประโมทัยมีความเชื่อในเรื่องต่าง ๆ น้อยมาก เมื่อเทียบกับความเชื่อของหนังตะลุงภาคใต้ ดังพอจะพบเห็นได้บ้าง เช่น
- การทำรูปหนังรูปศักดิ์สิทธิ์ หนังประโมทัยไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างรูปศักดิ์สิทธิ์เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร แต่ก็จะมีการเคารพนับถือรูปฤาษีเพียงรูปเดียวเท่านั้น โดยถือรูปฤาษีเป็นรูปครู บางคณะในระหว่างเข้าพรรษาจะนำรูปฤาษีขึ้นไปไว้บนหิ้งบูชา และไม่นำรูปฤาษีไปแสดงที่ไหนในระหว่างเข้าพรรษา ซึ่งอาจจะเป็นอิทธิพลของประเพณีทางพุทธศาสนาในช่วงเข้าพรรษา
- การจัดเก็บรูปหนังเข้าแผงเก็บรูป นิยมเก็บรูปตัวตลกไว้ข้างล่าง ชั้นต่อมาเป็นรูปกาก ต่อมาคือรูปยักษ์ รูปลิง และมนุษย์ ส่วนรูปฤาษีจัดไว้ข้างบนสุด เพราะถือเป็นรูปครู
ตัวหนังประโมทัย โรงเรียนบ้านหนองแวง (โสวรรณีวิทยาคม)
บรรณานุกรม
ชุมเดช เดชภิมล. 2531. การศึกษาเรื่องหนังประโมทัยในจังหวัดร้อยเอ็ด. ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.
นภดล ทิพยรัตน์. หนังตะลุงสู่หนังประโมทัย :การแพร่กระจายและการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรม. รูสมิแล. 20(1). 32-37.
มานิตย์ สนับบุญ. หนังตะลุงอีสาน มนต์เมืองน้ำดำของดีที่รอวันจางหาย. โพสต์ทูเดย์. 24 กรกฎาคม
- A.2.
รชนี กรกระหวัด. 2542. เชิดหนังแลกพริกแลกข้าว หนังตะลุงอิสานบ้านสระแก้ว. วัฒนธรรมไทย.36 (12): 15-18.
รัถพร ซังธาดา. 2526. หนังปะโมทัย: หนังตะลุงภาคอีสาน. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการโครงการส่งเสริมหนังสือตามแนวพระราชดำริ.
ลักขณา จินดาวงษ์. ยกครูคาย หนังประโมทัยบ้านแต้. เมืองโบราณ. 28(4 ).
สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ. 2535. หนังประโมทัยของอีสาน การแพร่กระจายและการปรับเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในหมู่บ้านอีสาน. ขอนแก่น :ขอนแก่นการพิมพ์.
หนังประโมทัยมหรสพเล่นเงาของอีสาน. ศิลปวัฒนธรรม. 17 (10). 136-138.