ยกเสาเอกเสาขวัญ เอาฤกษ์เอาชัยสร้างบ้านใหม่

พิธีกรรมยกเสาเอกเสาขวัญ หรือเสาแฮกเสาขวนของชาวอีสานพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นการปลูกสร้างบ้านที่อยู่อาศัยหลังใหม่ที่ชาวอีสานยังให้ความสำคัญและถือปฏิบัติอยู่จนถึงปัจจุบัน

ชาวอีสานยังคงมีความเชื่อในพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ตนเองและครอบครัวอยู่เสมอ เมื่อเร่ิมต้นด้วยสิ่งที่ดี ๆ ที่เหมาะสมแล้วย่อมจะเกิดสิ่งที่ดีงามตามมา เช่นกันเมื่อชาวอีสานจะทำการสร้างบ้านหรือสร้างเฮือนหลังใหม่ ก็จะมีพิธีกรรมและความเชื่อต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ การชิมดิม การคัดเลือกและการตัดไม้ ทิศทางการล้มไม้ ขนาดเสาและตาไม้ การขุดหลุม วันปลูกบ้าน ทิศทางการยกเสา การขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น แม้ปัจจุบันจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยและสถานการณ์ แต่ก็ยังคงมีบางอย่างที่ยังคงถือปฏิบัติเรื่อยมาเพื่อคงฮีตคองแนวปฏิบัติที่ดีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นกำลังใจ

ธวัช ปุณโณทก (2542) กล่าวว่า ชาวอีสานจะสร้างบ้านตามทิศตะวันออกและทิศตะวันตก คือ ไม่สร้างบ้านขวางทางขึ้นลงของดวงอาทิตย์ เพราะถือกันบ้านขวางตะวันนั้นเป็นบ้านเข็ดบ้านขวง คือ ไม่เป็นมงคล ครอบครัวมักจะป่วยไข้ ทำกินไม่เจริญรุ่งเรือง ซึ่งสามารถอธิบายเหตุผลได้ว่า การปลูกเรือนขวางตะวัน คือ หันหน้าไปด้านทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก เรือนจะร้อนทั้งตอนเช้าและตอนบ่าย เพราะแสงแดดจะส่องสาดมายังตัวเรือนได้ ในการสร้างบ้านหรือเรือนมีพิธีกรรมหนึ่งที่สำคัญที่ชาวอีสานยังคงถือปฏิบัติอยู่ นั่นคือ การยกเสาแฮกเสาขวัญ หรือการยกเสาเอกเสาขวัญ

เสาแฮกหรือเสาเอก คือ เสาที่ต้องยกก่อนเสาอื่นทั้งหมด ถือว่าเป็นเสาเอกของบ้าน หรือเสาพ่อบ้าน เสาขวัญ หรือเสาโท คือ เสาที่เป็นมิ่งขวัญของเรือน หรือเสาแม่บ้าน ซึ่งจะอยู่ตรงกับเสาแฮกพอดี และตามหลักการสร้างบ้านตามทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เสาที่ถูกเลือกเป็นเสาเอกหรือเสาแฮกนั้นจะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเสาขวัญจะอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 

ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
เสาเอก
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
เสาขวัญ

พิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวการยกเสาเอกเสาขวัญของชาวอีสานที่พบได้ มีดังนี้

การเลือกเสาเอกเสาขวัญ

ปรีชา พิณทอง. (2534) กล่าวว่า ในสมัยก่อนนั้นยังใช้เสาบ้านที่ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง การเลือกเสาเอกก็จะเลือกเอาไม้ที่เกิดในที่ราบเรียบ ใบไม่ระเกะระกะกับต้นอื่น ลำต้นปลอดเกลี้ยง ใบดกมองดูคล้ายพระภิกษุยืนกั้นร่ม กิ่งใยไม่เหี่ยวแห้ง มีนกหนูและมดแดงอาศัยอยู่มาก ต้นไม้แบบนี้จะทำให้เจ้าของบ้านอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวของเงินทองขั้นมหาเศรษฐี 

การเลือกเสาขวัญ ซึ่งเป็นเสาสำคัญอันดับสอง จะเลือกเอาไม้ที่เกิดบนดินสูงนิดหน่อย แล้วลาดต่ำลงมาทุกด้าน มีลำต้นสูงกว่าทุกต้น กิ่งใบไม่เหี่ยวแห้ง เวลาสงัดไม่มีลมพัด จะมีใบใบหนึ่งไหวติงอยู่ไม่ขาดระยะ ต้นไม้แบบนี้จะทำให้เจ้าของบ้านมั่งคั่งมั่งมีถึงขั้นมหาเศรษฐี

ฤกษ์งามยามดีในการประกอบพิธียกเสาเอกเสาขวัญ

ส่วนใหญ่การกำหนดวันประกอบพิธีมงคลต่าง ๆ ชาวอีสานจะเลือก “วันฟู” โดยเชื่อกันว่าถ้าได้ประกอบพิธีกรรมในวันนี้ จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทำให้ชีวิตเฟื่องฟู จึงเรียกว่า “วันฟู” ส่วนฤกษ์ที่ไม่ดีจะถูกกำหนดไว้ใน “วันจม” จะเป็นวันที่ไม่เหมาะในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานมงคลและเชื่อว่าจะนำไปสู่ความหายนะมาให้ โดยโบราณอีสานได้กำหนดวันฟูวันจมไว้ตามเดือนต่าง ๆ ดังนี้

เดือน วันจม วันฟู
เดือนอ้าย (เดือน 1) ศุกร์ จันทร์
เดือนยี่ (เดือน 2) เสาร์ อังคาร
เดือนสามและเดือนแปด อาทิตย์ พุธ
เดือนสี่และเดือนเก้า จันทร์ พฤหัสบดี
เดือนห้าและเดือนสิบ อังคาร ศุกร์
เดือนหกและเดือนสิบเอ็ด พุธ เสาร์
เดือนเจ็ดและเดือนสิบสอง พฤหัสบดี อาทิตย์

ฤกษ์วันอมุตโชค หรือวันที่มีโชคลาภมาก มีกำหนดดังนี้

วัน วันอมุตโชคนับเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรม
อาทิตย์ ขึ้นหรือแรม 8 ค่ำของทุกเดือน
จันทร์ ขึ้นหรือแรม 3 ค่ำของทุกเดือน
อังคาร ขึ้นหรือแรม 9 ค่ำของทุกเดือน
พุธ ขึ้นหรือแรม 8 ค่ำของทุกเดือน
พฤหัสบดี ขึ้นหรือแรม 4 ค่ำของทุกเดือน
ศุกร์ ขึ้นหรือแรม 1 ค่ำของทุกเดือน
เสาร์ ขึ้นหรือแรม 5 ค่ำของทุกเดือน

ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ (2555) กล่าวว่า ชาวร้อยเอ็ดมีความเชื่อเกี่ยวกับการเลือกวันเวลาในการปลูกเรือน คือ มักเลือกปลูกเรือนในเดือนคู่ คือ เดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนแปด โดยมักเป็นช่วงก่อนเข้าพรรษา เมื่อได้เดือนแล้วก็เลือกวันที่ไม่ใช่วันอุบาทว์หรือวันโลกาวินาศ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี และมักกำหนดให้เป็นวันข้างขึ้น ทั้งนี้มักต้องตรวจดูฤกษ์ยามเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยอีกครั้งหนึ่งเสียก่อน

คาถาปิดหัวเสา

บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล (2544) กล่าวว่า ก่อนจะยกเสา โบราณอีสานแนะนำให้เขียนคาถาปิดหัวเสาทุกต้น คาถานี้จะเขียนลงบนแผ่นทองแดงหรือทองเหลืองก็ได้ โดยมีข้อกำหนดไว้ ดังนี้

  • อมสวัสดี สวาหะ เขียนปิดหัวเสาทิศอาคเนย์หรือตะวันออกเฉียงใต้
  • อมสาระมิจทิ สวาหะ เขียนปิดหัวเสา ทิศหรดีหรือตะวันตกเฉียงใต้
  • อมนันทะ สวาหะ เขียนปิดหัวเสาทิศพายัพ หรือตะวันตกเฉียงเหนือ
  • อมสติ สวาหะ เขียนปิดหัวเสาทิศอีสาน หรือตะวันออกเฉียงเหนือ

สิ่งของสิริมงคลในการประกอบพิธียกเสาเอกเสาขวัญ

สิ่งของที่ต้องเตรียมในพิธีกรรมยกเสาแฮกเสาขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลนั้นมีหลายอย่าง ทั้งนี้ก็มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละพื้นที่ ซึ่งพอจะรวบรวมได้ มีดังนี้

  1. ต้นกล้วยน้ำว้า โดยจะคัดเอาต้นที่มีลำต้นสวย ๆ ขนาดเท่าลำแขน
  2. ต้นอ้อย ลำสูงขนาด 2 ถึง 3 ศอก จำนวน 1 ลำ คัดลำที่มีลักษณะปลอดไม่มีแมลงเจาะหรือแตกเป็นทาง
  3. อักไหม คัดเอาอักที่มีเส้นไหมหรือเส้นด้ายติดเหลืออยู่ที่อัก ห้ามเอาอักเปล่า (อักที่ไม่มีเส้นไหม เส้นด้าย)
  4. ไซ สานด้วยไม้ไผ่ ขนาดความยาว 50-60 เซนติเมตร
  5. สิ่งของที่เป็นสิริมงคลต่าง ๆ เช่น เงิน คำ ผ้า เครื่องค้ำเครื่องคูณ เช่น คุด เขา นอ งา สร้อย แหวน
  6. ใบไม้ที่จะเอามาผูกเสาแฮก ต้องเลือกเอาใบไม้ที่เป็นมงคลประจำวัน  เรียกว่า ไม้พญาวัน จะปลูกเรือนวันไหน ให้เลือกเอาใบไม้พญาวันผูกปลายเสาเอกดังนี้
  • วันอาทิตย์ ไม้ไผ่เป็นไม้พญาวัน
  • วันจันทร์ ไม้เดื่อเกลี้ยงเป็นไม้พญาวัน
  • วันอังคาร ไม้ตูมตังเป็นไม้พญาวัน
  • วันพุธ ไม้ดอกซ้อนเป็นไม้พญาวัน
  • วันพฤหัสบดี ไม้ม่วงเป็นไม้พญาวัน
  • วันศุกร์ ไม้งิ้วเป็นไม้พญาวัน
  • วันเสาร์ ไม้กาวหรือแกขาวเป็นไม้พญาวัน

7. น้ำ 7 บ่อ ซึ่งตักมาจากบ่อแก้ว บ่เงิน บ่ทอง บ่อมี บ่อเหนือ บ่อคุ้มจากวัดที่มีชื่อเป็นมงคล น้ำนี้ ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ (2555) กล่าว่า เจ้าของบ้านจะนำไปหยอดในแต่ละหลุมก่อนเวลาไก่ลงคอน คือ ช่วงตี 3 ถึงตี 4 เพราะถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยจะทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่เย็นเป็นสุข มีความบริสุทธิ์และบริบูรณ์พร้อมไปด้วยปัญญา

8.ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ใบยอ ใบคูณ ใบขนุน ใบมะยม อย่างละ 9 ใบ เหรียญเงิน เหรียญทอง อย่างละ 9 เหรียญ แผ่นทองคำเปลว 9 แผ่น เพื่อความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน(ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์,2555) 

9. ผ้าไหม หรือผ้าฝ้าย หรือผ้าขาวม้า หรือผ้าแดง สำหรับมัดสิ่งของสิริมงคลกับเสาเอกเสาขวัญ

ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
จัดเตรียมส่งของมงคลสำหรับเสาเอกและเสาขวัญ

ขั้นตอนการประกอบพิธียกเสาเอกเสาขวัญ 

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่ามีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ผู้ประกอบพิธีกรรมจะเป็นพราหมณ์ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้ที่มีศีลธรรมในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำพิธีกรรมมาแล้ว ในวันประกอบพิธีมักจะแต่งกายด้วยชุดสีขาว ในการประกอบพิธียกเสาแฮกเสาขวัญหรือเสาเอกเสาโท ตามประเพณีของชาวอีสานมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็น ดังนี้

การย้ายพระแม่ธรณี ก่อนพิธียกเสาเอกเสาขวัญ

การย้ายพระแม่ธรณีนี้ haveonline. (2555) ให้ข้อมูลว่า การปลูกบ้านนั้นต้องปลูกบนดิน ซึ่งพื้นดินนั้นเป็นที่สถิตของพระแม่ธรณีและพญานาคดิน (ที่อาศัยภายใต้พื้นดิน) ผู้ซึ่งปกปักษ์รักษาผืนดินนี้อยู่ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่นั้นก่อนที่จะขุดเสาปลูกบ้านท่านให้ประกอบพิธีย้ายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน โดยให้ผู้ประกอบพิธีนำธูปเทียนเหลือง 1 คู่ ดอกไม้ขาว 1 คู่ จัดแต่งใส่พานหรือขันเงิน เข้าไปทำพิธีอยู่บริเวณกลางลานที่จะปลูกบ้าน พร้อมกล่าวคาถาว่า

อุกาสะ ผู้ข้าน้อย ขออัญเชิญพระแม่ธรณีมีความกรุณาขยับบ้านออกจากพื้นที่ที่ลูกจ้างจะปลูกเฮือน เพราะถ้าลูกได้ปลูกเฮือนแล้ว จะสร้างสิ่งสกปรกทั้งหลายต่อพระแม่ธรณี จึงขออัญเชิญพระแม่ธรณีขยับขยาย ย้ายออกไปอยู่ข้างเฮือน และขอให้พระแม่ธรณีคอยปกปักษ์รักษาให้ผู้อยู่อาศัยในเฮือนนี้ ให้อยู่เย็นเป็นสุข อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ ขอให้พระแม่ฯ นำและมอบสิ่งอันเป็นสิริมงคลมอบให้กับผู้อยู่อาศัย และขอให้พระแม่ฯ นำเอาสิ่งร้าย สิ่งไม่ดีทั้งหลาย ออกไปจากชีวิตของผู้อยู่อาศัย คงเหลือไว้แต่สิ่งอันเป็นสิริมงคล แก่ข้าพเจ้าฯ ผู้อยู่อาศัยด้วยเทอญ 

เสร็จแล้ว จะนำเอาธูปเทียนนั้นไปวางไว้ทางทิศตะวันตกของพื้นที่ที่จะปลูกบ้าน

วิทิต ไชยวงศ์คต (2560) กล่าวไว้ในพิธียกเสาเอกในการสร้างบ้านของชาวไทยอีสานว่า เจ้าของบ้านจะต้องจัดเครื่องบูชาของกินของใช้สำหรับพระแม่ธรณีใส่ภาชนะ(ถาด)ให้ครบ 5 อย่างคือ 1) ดอกไม้ขาว 5 คู่ ยกเว้นดอกจำปา 2) น้ำฝน 1 ขัน 3) หวี 1 ด้าม 4) กล้วยสุก 1 ลูก 5) ไข่ต้มสุก 1 ฟอง และจัดแต่งขันห้า ที่ประกอบด้วยดอกไม้สีขาวและเทียนสีขาวอย่างละ 5 คู่พร้อมด้วยไม้ขีดไฟ ผู้ประกอบพิธีจะเป็นผู้ถือขัน 5 ส่วนผู้มาร่วมพิธีจะถือเครื่องบูชาเดินตามหลังผู้ประกอบพิธีจนถึงบริเวณทำพิธี  ผู้ประกอบพิธีจะนั่งคุกเข่าลง ผู้ร่วมพิธีนั่งคุกเข่าตาม ผู้ประกอบพิธีจุดเทียน 2  เล่มตั้งไว้บนขันห้า สองมือยกขันห้าขึ้นประมาณหน้าอก กล่าวคำอัญเชิญย้ายพระแม่ธรณีดังนี้ 

ข้าแต่พระแม่ธรณีเจ้า ผู้ผมยาวลากส่นนอง ผู้สถิตย์อยู่แห่งห่อง ใต้แผ่นพื้นพสุธา มื้อนี้โตผู้ข่า  มาบอกกล่าวอัญเชิญ บ่ล่วงเกินพอเม็ด  ลูกเฮ็ดนำฮีตคองเค้า ลูกยกเอาขันห่า  ขอขมาคุณแม่ ผู้ดูแลที่หม่องนี้  ลูกขอซ่นพักเซา ขอให่พระแม่เจ้า  ธรณีผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ค้ำดินให่ลูกได้  อาศัยซ่นซุ่มเย็น ลูกจำเป็นสิก่อสร้าง เฮือนซานบ้านที่อยู่ ขอคุณแม่ยับย้ายให่  ไปเนาว์ยั้งอยู่ห่างกัน ลูกขอมอบขันห่า  บูชาแม่ผู้มีคุณโปรดการุณรับขัน  ลูกกราบกรานวอนไหว้..แม่เอย

เมื่อกล่าวจบหยิบเอาดิน 5  หยิบใส่ลงในจาน นำเครื่องบูชาทั้งหมดไปวางในที่คนไม่เหยียบย่ำ เสร็จพิธียกเสาเอกจึงนำเก็บเครื่องบูชาหรือกระทำการอื่น ๆ ได้ตามสมควร เช่น แบ่งอาหารปันกันรับประทาน หรือเก็บไว้ใช้งานต่อไป

การย้ายพระแม่ธรณี บางพื้นที่จะประกอบพิธีก่อนที่จะมีการขุดหลุมตั้งเสาบ้าน บางพื้นที่ทำในวันทำพิธียกเสาเอก

การไหว้ครู ป่าวเทวดา

ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ (2555) กล่าวว่า ก่อนจะประกอบพิธียกเสาเอก ผู้ประกอบพิธีจะทำการไหว้ครูก่อน ด้วยการจุดธูปเทียนลงพานบายศรี หรือยกขันห้า และกล่าวคำไหว้พระ ซึ่งแต่ละคนจะมีคำกล่าวที่แตกต่างกันออกไป จากนั้นเป็นการกล่าวคำเชิญเทวดา หรือ “ป่าวเทวดา” ดังนี้

สัคเคกาเมจะรูเป คิริสิขะระตะเต จันทะริกเข วิมาเน ทีเปรัคเถจะ คาเม ตะรุวะนะคะหะเน เคหะวัตถุมมหิเขตเต พรหมมา จะยันตุเทวา สะระถะระวิสะเม ยังคะคันธัพพะ นาคา ติฏฐันตา สันติเกยัง มุนิวะระ วะจะนัง สาธะโวเม สุณันตุ ธัมมัสสะวะนะกาโร อยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโร อะยัมภะทันตา ธัมมัสสะวะนะกาโร อะยัมภะทันตา

ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
ไหว้ครู ป่าวเทวดา ทำน้ำมนต์

ทิศทางการวางเสาเอกเสาขวัญ

บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล (2544) กล่าวว่า ปราชญ์โบราณได้กำหนดทิศทางการวางเสาเอกเสาขวัญไว้ว่าให้หันปลายเสาไปตามทิศมงคล ได้แก่ 

  • เดือนอ้าย-ยี่-สาม-สี่ ให้ยกทางทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) มาก่อน
  • เดือนห้า-หก-เจ็ด ให้ยกทางทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) มาก่อน
  • เดือน แปด-เก้า-สิบ-สิบเอ็ด ให้ยกเสาทางทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) มาก่อน
  • เดือน สิบสอง ให้ยกเสาจากทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) มาก่อน
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
การวางเสาเอกเสาโทไปในทิศที่เป็นสิริมงคล

การวางสิ่งมงคลที่หลุมหรือเสา

สุขี สิงห์บรบือ(มหาแซม) (2537) กล่าวว่า บางพื้นที่ก่อนจะยกเสาเอกเสาขวัญจะมีการนำใบทอง นาก เงิน และเหรียญทอง เงิน ลงที่ก้นหลุมและประพรมน้ำมนต์ โปรยทรายเสกที่หลุมเสาทุกหลุมก่อนด้วย ทั้งนี้ โบราณอีสานก็ได้กำหนดแนวปฏิบัติที่เป็นมงคลไว้ว่า

  • ถ้าปลูกเรือนในปีชวด ให้เอาไม้ราชพฤกษ์ปักเสา จึงยกเสา
  • ถ้าปลูกเรือนในปีฉลู ให้เอาต้นกล้วยและผ้าขาวพันที่ปลายเสาเอก จากนั้นเอาไม้มะตูมปักต้นเสา 3 กิ่งแล้วจึงยกเสา
  • ถ้าปลูกเรือนในปีขาล ให้เอาข้าว 3 กระทง น้ำ 3 ขัน รดต้นเสาแล้วจึงยกเสาขึ้น
  • ถ้าปลูกเรือนในปีเถาะ ให้เอาใบตะเคียน ใบเฉียงพร้าหอมและต้นกล้วยห่อที่ปลายเสาแล้วค่อยยกเสาขึ้น
  • ถ้าปลูกเรือนในปีมะโรง ให้เอาใบมะกรูดพันรอบปลายเสา จึงค่อยยกเสา
  • ถ้าปลูกเรือนในปีมะเส็ง ให้เอาใบทอง 2 กิ่งผูกที่ปลายเสา จากนั้นเอาข้าว 3 กระทง ธูปเทียนบูชา ค่อยยกเสา
  • ถ้าปลูกเรือนในปีมะเมีย ให้เอาใบขี้เหล็กมากวาดตั้งแต่ปลายเสาลงมาจนถึงต้นเสา 3 ครั้ง และเอาน้ำสะอาดรดปลายเสาครั้นไก่ขันแล้วจึงยกเสา
  • ถ้าปลูกเรือนในปีมะแม ให้เอาใบเงิน 3 ใบ ใบหมากผู้ 3 ใบ ใบหมากเมีย 3 ใบ ต้นกล้วย ต้นอ้อยใส่ในหลุม แล้วจึงยกเสา
  • ถ้าปลูกเรือนในปีวอกหรือปีระกา ให้เอาเทียน 3 เล่ม เอาไปผูกข้างเสาหัวนอนแล้วจึงยกเสา
  • ถ้าปลูกเรือนในปีจอหรือปีกุน ให้เอาข้าวตอกและใบบัวบกรองต้นเสา แล้วจึงยกเสา
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
คาถาปิดหัวเสา แผ่นเงิน ทอง นาก เงิน ทอง ใส่ลงในก้นหลุม
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
หยอดน้ำ 7 บ่อลงในหลุมเสา
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
ใส่สิ่งสิริมงคลลงในหลุมเสา
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
พรมน้ำมนต์ที่หัวเสา

การยกเสาเอก เสาแฮก

ก่อนจะทำการยกเสาเอกเจ้าบ้านจะต้องจัดหาสิ่งของที่เป็นสิริมงคลเพื่อมาผู้ที่เสาเอกก่อน ซึ่งปรีชา พิณทอง (2534) กล่าวว่า สิ่งของสิริมงคลนั้น ประกอบด้วย ต้นกล้วย อ้อย เงิน คำ(ทอง) ผ้า และไม้พญาวัน ทั้งหมดจะถูกมัดรวมกันไว้เพื่อรอทำพิธี ส่วนวิทิต ไชยวงศ์คต (2560) กล่าวว่า เจ้าบ้านจะต้องจัดหาสิ่งของต่าง ๆ ให้ครบ 14 อย่าง ได้แก่ 1)กล้วยน้ำว้า 1 ลูก 2)มะพร้าวอ่อน 1 ลูก 3) หวี  1 เล่ม 4)บายศรีปากชาม(ขันหมากเบ็ง) 1 คู่ 5)ข้าวต้มมัด 1 มัด (ใช้ขนมแทนก็ได้) 6)ผ้าแดงลงยันต์ผูกปลายเสา 1 ผืน 7)ต้นอ้อย 1 ต้น 8)ต้นกล้วย 1 ต้น 9)ดอกไม้ธูปเทียน 5  คู่  10)ไม้พญาวันหรือไม้ประจำวันเกิดเจ้าของบ้าน 5 คู่ (ถ้าไม่มีใช้ใบมะยม ใบคูณ ใบยอแทนก็ได้)  11) อัก 1 อัน 12)ฝ้ายสำหรับผูกไม้พญาวันหรือไม้ประจำวันเกิดเจ้าของบ้านติดกับอัก 1-2 ไน 13)ฝ้ายสำหรับผูกผ้าแดงลงยันต์ที่ปลายเสา 1-2 ไน 14)ผ้าขาวม้าสำหรับผูกผ้าว(อัก)ติดกับเสาแฮก 1 ผืน 

ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
สิ่งสิริมงคลสำหรับมัดเสาเอกเสาขวัญ

สิ่งของสิริมงคลที่จัดหามาจะนำมามัดรวมกัน จากนั้นจึงเริ่มพิธีการยกเสาเอก โดยผู้ประกอบพิธีจะเป็นผู้ถือสิ่งของสิริมงคล เจ้าบ้านและผู้ร่วมพิธีจะจับที่ต้นเสาเอก ผู้ประกอบพิธีจะวางสิ่งของสิริมงคลลงที่ต้นเสาเอก และถามตอบกับผู้เข้าร่วมพิธี พร้อมกับเลื่อนจุดวางสิ่งของมงคลขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายเสา ดังนี้

ผู้ประกอบพิธี : เอาสิ่งของสิริมงคลวางโคนเสาแล้วถามว่า “ผูกบ่อนจุ๊กุ๊หมูสีนี่นอ”(ผูกตรงหมูสีเล็ก ๆ นี่นะ)

ผู้ร่วมพิธี : “บ่ บ่ เอา” (ไม่ ไม่เอา)

ผู้ประกอบพิธี : เอาสิ่งของสิริมงคลวางกลางเสาแล้วถามว่า “ผูกบ่อนจิกิหางนาคนี่นอ” (ผูกตรงหางนาคน้อย ๆ นี่นะ)

ผู้ร่วมพิธี  : “บ่ บ่ เอา”(ไม่ ไม่เอา)

ผู้ประกอบพิธี : เอาสิ่งของสิริมงคลวางใกล้ปลายเสาแล้วถามว่า “ผูกบ่อนง่าไม้ตากห้อยถงเงินถงคำนี่นอ” (ผูกตรงกิ่งไม้ห้อยถุงเงินถุงทองนี่นะ)

ผู้ร่วมพิธี  : เอา เอาบ่อนนี้ล่ะ (เอา เอาตรงนี้ล่ะ)

จากนั้นผู้ประกอบพิธีจะผูกของสิริมงคลติดกับเสาเอกให้แน่นด้วยผ้า และยกเสาเอกขึ้นตั้งตรงจากทิศมงคลที่กำหนดไว้

ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
สิ่งมงคลวางโคนเสาเอก
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
สิ่งมงคลวางกลางเสาเอก
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
สิ่งมงคลวางปลายเสาเอก
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
มัดสิ่งมงคลปลายเสาเอก แล้วช่วยกันยกให้ตั้งตรง
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
ยกเสาเอกให้ตั้งตรงจากทิศที่เป็นมงคล

การยกเสาขวัญ เสาขวน เสาโท 

วิธีการยกเสาขวัญหรือเสาโท จะคล้ายคลึงกับการยกเสาเอก แต่ส่ิงของสิริมงคลที่ใช้ ปรีชา พิณทอง (2534) กล่าวว่า ประกอบด้วย เครื่องค้ำเครื่องคูณ เช่น คุด เขา นอ งา สร้อย แหวน ทั้งหมดจะใส่ลงในไซ ส่วนวิธีการที่ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์ (2555) กล่าวไว้นั้น สิ่งของสิริมงคล 5 อย่างประกอบด้วย 1) ไซ 1 ลูก 2) ไม้พญาวันหรือไม้ประจำวันเกิดเจ้าของบ้าน 5  คู่  (ถ้าไม่มีใช้ใบมะยม ใบคูณ ใบยอแทนก็ได้) 3) ฝ้ายผูกไม้พญาวันหรือไม้ประจำวันเกิดเจ้าของบ้านติดกับไซ  1-2 ไน  4) ผ้าขาวม้าสำหรับผูกไซติดกับเสาเอก 1  ผืน  5) เครื่องค้ำของคูณที่เจ้าของบ้านมี เช่น พระเครื่อง เขี้ยวหมูตัน ตระกรุด คุดเขา นอ งา ปลัดขิก เป็นต้น ใส่ลงในไซ ถ้าไม่มีสิ่งของที่ว่าสามารถใส่เหรียญเงินลงไปได้ วิธียกเสาขวัญจะมีการถามตอบ ดังนี้

ผู้ประกอบพิธี : เอาสิ่งของสิริมงคลวางโคนเสาแล้วถามว่า “ผูกบ่อนนี้ได้ไก่แม่ลายเอาบ่” (มัดตรงนี้ได้ไก่แม่ลาย เอาไหม)

ผู้ร่วมพิธี : บ่ บ่เอา (ไม่เอา)

ผู้ประกอบพิธี : เอาสิ่งของสิริมงคลวางกลางเสาแล้วถามว่า “ผูกบ่อนนี้ได้ฆ้อง 9 กำ เอาบ่” (มัดตรงนี้ได้ฆ้อง 9 กำ เอาไหม)

ผู้ร่วมพิธี : บ่ บ่เอา (ไม่เอา)

ผู้ประกอบพิธี : เอาสิ่งของสิริมงคลวางใกล้ปลายเสาแล้วถามว่า “ผูกบ่อนนี้อยู่ซุ่มกินเย็น เอาบ่” (มัดตรงนี้ อยู่เย็นเป็นสุข เอาไหม)

ผู้ร่วมพิธี : เอา เอาบ่อนนี้ล่ะ (เอา เอาตรงนี้แหล่ะ)

จากนั้นผู้ประกอบพิธีจะผูกของสิริมงคลติดกับเสาขวัญให้แน่น และยกเสาขวัญขึ้นตั้งตรงจากทิศมงคลที่กำหนดไว้

ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
สิ่งมงคลมัดจุดมงคลบนเสาขวัญ
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
ร่วมด้วยช่วยกันยกเสาขวัญ
ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
ยกเสาขวัญตั้งให้ตรงจากทิศมงคล

เมื่อยกเสาเอกเสาขวัญเสร็จแล้ว ผู้ร่วมพิธีก็จะอำนวยอวยชัยให้กับเจ้าของบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขและรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นอันเสร็จพิธีสิ่งของสิริมงคล จะผูกติดกับเสาเอกเสาขวัญ 3 วัน จึงจะแกะออกจากเสา บ้างก็จะนำต้นกล้วยและอ้อยไปปลูกเพื่อเสี่ยงความงอกงาม

ยกเสาเอกเสาขวัญอีสาน
ยกเสาเอกเสาขวัญแล้ว ยกเสาอื่น ๆ ตามมาให้ครบทุกเสา

คำทำนายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะประกอบพิธียกเสาเอกเสาขวัญ

การทำพิธียกเสาเอกเสาขวัญนั้น นอกจากจะดูจากฤกษ์งามยามดีแล้ว ขณะทำพิธีก็จะต้องมีแต่สิ่งดีงามด้วย ปรีชา พิณทอง (2534) ได้กล่าวว่า ถ้านกหนู งู ผึ้ง ผ่านเข้ามาในบริเวณขณะทำพิธียกเสาเอกเสาขวัญ 

  • มาจากทิศตะวันออกจะเสียทรัพย์ 
  • มาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไฟจะไหม้ 
  • มาจากทิศใต้คนจะตาย 
  • มาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้โจรจะปล้น
  • มาจากทิศตะวันตกจะได้นาง 
  • มาจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือจะได้ลาภ 
  • มาจากทิศเหนือจะได้ทรัพย์ 
  • มาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือเจ้านายจะให้ยศศักดิ์

ถ้าเป็นเหตุดีก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าเป็นเหตุร้ายก็จะแก้ไขโดยกล่าวคำที่เป็นมงคลว่า “ออเพิ่นมาก็ดีแล้ว ขอให้มาค้ำมาคูณ ให้ลูกเต้าหลานเหลนผักกุ่มซุ่มเย็นอยู่ดีมีแฮง ค้ำคูณหนุนขึ้น” (เขามาก็ดีแล้วขอให้มาช่วยค้ำคูณให้ลูกหลานอยู่ดีมีสุข ค้ำชูให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้น) 

ในที่บางพื้นที่ เจ้าบ้านจะทำนิมิตเพื่อความเป็นสิริมงคลเอง เช่น ในเวลาขุดหลุมหรือยกเสาจะทำห่อเงินหรือทองตกลงไปแล้วทักท้วงพอเป็นพิธี หรือหว่านโปรยเปลือกถั่ว งา และทรายในเวลาปลูกบ้าน เชื่อว่าจะทำให้มั่งมีศรีสุข อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวของเงินทอง 

การประกอบพิธียกเสาเอกเสาขวัญ ในแต่ละพื้นที่อาจจะแตกต่่างกันออกไปขึ้นกับผู้ประกอบพิธีและความพึงพอใจของเจ้าของบ้าน แต่ทั้งหมดล้วนแต่กระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและเสริมสร้างกำลังใจให้กับเจ้าของบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขกับการสร้างและอยู่บ้านหลังใหม่

หมายเหตุ : เก็บรวมรวมข้อมูลพิธีกรรมยกเสาเอกเสาขวัญในพื้นที่ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ที่ตั้ง ยกเสาเอกเสาขวัญ เอาฤกษ์เอาชัยสร้างบ้านใหม่

จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ยกเสาเอกเสาขวัญ เอาฤกษ์เอาชัยสร้างบ้านใหม่

15.230193, 104.857329

บรรณานุกรม

___. (2539). คู่มือประเพณีทำขวัญและแหล่ต่าง ๆ. กรุงเทพฯ: เลี่ยงเชียง.

ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์. (2551). ภูมิปัญญาอีสานจากใบลาน. มหาสารคาม: อภิชาติการพิมพ์

บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล. (2544). ประเพณีอีสานและเกร็ดโบราณคดีไทอีสาน. ขอนแก่น: ขอนแก่นคลังนานาธรรม.

ปรีชา พิณทอง. (2534). ประเพณีโบราณไทยอีสาน. อุบลราชธานี : ศิริธรรมออฟเซท.

ธวัช ปุณโณทก. (2542). เสาแฮกเสาขวน: ที่อยู่อาศัย ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 14. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ไธพัตย์ ภูชิสส์ชวกรณ์. ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเคหะสถานและศาสนสถานของชาวอีสาน :  ภาพรวมและกรณีศึกษาภาคอีสานตอนกลาง. หน้าจั่วว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย, 8(กันยายน-สิงหาคม 2555) หน้า 294-314

วิทิต ไชยวงศ์คต. (2560). พิธียกเสาเอกในการสร้างบ้านของชาวไทยอีสาน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564, http://www.porkru.com/2017/12/05/พิธียกเสาเอกของชาวไทยอ

สุขี สิงห์บรบือ (มหาแซม). (2537). ตำราสร้างบ้าน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564, http://www.mahamodo.com/tamnai/makehome.asp

สุขี สิงห์บรบือ (มหาแซม). (2537). พิธียกเสาเอก. เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564, http://www.mahamodo.com/tamnai/howto/howto_up_pillar_house.asp

haveonline. (2555).การขุดเสาเฮือน ใน มรดกบรรพชนคนอีสาน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564, http://esarn-legacy.blogspot.com/2012/04/blog-post_21.html

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง