ลมว่าวพัดมาแล้ว มาแล่นเล่นว่าวสะนูกัน

ยามเย็นเมื่อลมหนาวมาเด็กอีสานจะเล่นว่าวดุ๊กดุ่ยติดสะนูที่หัวว่าวแล้วปล่อยว่าวติดลมบนจนถึงเช้าให้เสียงสะนูขับกล่อมท้องทุ่งหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว เป็นการละเล่นที่กำลังจะเลือนหายไป 

ลมหนาวในฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว

ช่วงปลายปีในภาคอีสานจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว จะมีลมหนาวพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือทำให้อากาศเย็นลง หรือบางครั้งจะเรียกว่า ลมว่าว ซึ่งจะอยู่ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาในภาคอีสาน ชาวอีสานจึงนิยมเล่นว่าวในช่วงนี้ คือ ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี

ว่าวสะนู
ลมหนาวยามเย็นมาเล่นว่าวสะนูกัน

ว่าวอีสาน

ว่าวที่คนอีสานนิยมเล่นนั้น คือ ว่าวสองห้อง หรือว่าวดุ๊ยดุ่ย ถือเป็นว่าวพื้นเมืองอีสาน รองมาคือ ว่าวอีลุ้ม ว่าวจุฬา ว่าวประทุน และเมื่อถึงเทศกาลงานบุญ เช่น งานบุญกุ้มข้าวใหญ่ ประชาชนมักจะจัดให้มีการแข่งขันว่าว โดยมีการกำหนดการตัดสินที่หลากหลายกันไป เช่น ความสวยงาม หรือว่าวที่ขึ้นลมได้สูงที่สุด ว่าวที่มีเสียงดังและไพเราะที่สุด เป็นต้น (ATTIE MURRAY,2561)

ว่าวสองห้อง หรือว่าวดุ๊กดุ่ย มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ว่าวสะนู ว่าวธนู ว่าวใหญ่ ว่าวลูก ว่าวห้อง จุดเด่นของว่าวสองห้องที่เล่นกันในภาคอีสาน คือ การติดคันสะนูไว้ที่ส่วนหัว เมื่อสะนูต้องลมแล้วจะมีเสียงคล้ายเสียงดนตรี จึงนิยมเรียกว่าวสองห้องนี้ว่า “ว่าวสะนู”

ว่าวสะนู
ว่าวสะนู

ลักษณะของว่าวสะนู

ว่าวสะนูนั้นไม่มีขนาดที่แน่นอน แต่ที่พบโดยทั่วไปจะมีขนาดความกว้างและความสูงประมาณ 120-180 เซนติเมตร ลักษณะว่าวสะนูจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ส่วนลำตัว เรียกว่า ช่วงแม่ว่าว ส่วนกลาง เรียกว่า ช่วงลูกว่าว ทำเป็นว่าวขนาดเล็ก เว้นระยะจากตัวแม่ว่าวตามสมควร การเว้นระยะห่างถ้ายิ่งมากยิ่งทำให้ว่าวแกว่งตัวมากขึ้น และส่วนสุดท้าย เรียกว่า ว่าวตาแหล่ว เป็นส่วนที่จะต่อกับหางว่าวจำนวน 1 คู่ เพื่อช่วยในการทรงตัวในขณะที่ลอยอยู่ในอากาศ โดยทำเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว (ท.ณเมืองกาฬ, 2555)

ว่าวสะนู
ส่วนประกอบของว่าวสะนู

วัสดุอุปกรณ์ในการทำว่าวสะนู

วัสดุอุปกรณ์ในการทำว่าวสะนูของชาวอีสานนั้น จะเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ๆ ในท้องถิ่น ประกอบด้วย

1.โครงสร้างของว่าว ทำด้วยไม้ไผ่เหลากลม ซึ่งอาจจะเป็นไผ่สร้างไพร (ไผ่เซียงไพ) หรือไผ่บ้านที่แก่จัด แกนของว่าว ใช้ไม้ไผ่เหลากลม สูงประมาณ 150-180 เซนติเมตร ส่วนแม่และลูกว่าวจะใช้ไม้ไผ่เหลากลมแล้วโค้งมัดติดกับแกน โดยแม่ว่าวจะมีความกว้างประมาณ 120-150 เซนติเมตร ลูกว่าวกว้างประมาณ 30-40 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแม่กับลูกว่าว ประมาณ 20-30 เซนติเมตร

ว่าวสะนู
ขนาดของว่าวสะนู

2.กระดาษสำหรับติดว่าว สมัยก่อนจะนิยมใช้กระดาษที่ใช้ทำกระสอบปูนซีเมนต์ ซึ่งมีความเหนียวและหนา ปัจจุบันมีการนำเอาพลาสติก กระดาษห่อพัสดุ มาใช้แทนได้

ว่าวสะนู
กระสอบปูนซีเมนต์ กระดาษติดโครงว่าว

3.หางว่าว จะใช้เศษผ้า ถุงปุ๋ยซึ่งเป็นถุงพลาสติก ฉีกเป็นริ้ว ๆ ต่อกันยาวไม่ต่ำกว่า 50 เมตร

ว่าวสะนู
หางว่าวสะนูจากเศษผ้า
ว่าวสะนู
หางว่าวสะนูจากเศษพลาสติก

4.เชือกไนล่อน สำหรับมัดโครงว่าว และใช้สำหรับผูกว่าวให้ลอยขึ้นให้ติดลม อาจจะใช้เชือกไนล่อนความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร

ว่าวสะนู
เชือกไนล่อน สำหรับมัดโครงและเป็นเชือกผูกว่าว
ว่าวสะนู
ปล่อยเชือกว่าวยาว ว่าวยิ่งลอยสูง

5.กาว สำหรับติดกระดาษเข้ากับโครงว่าว

6.มีดตอกหรือพร้า สำหรับเหลาไม้ไผ่

แว่วเสียงสะนู

สะนู มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อเช่น ทะนู ธนู อูด หรือที่ทางใต้เรียกว่า แอก มีลักษณะคล้ายคันธนู ชาวอีสานจะเอาสะนูติดที่หัวว่าว เมื่อว่าวติดลมบนลมจะสะบัดสะนูทำให้เกิดเสียง ตื๊อตึ่ง ตื๊อตือ ตื๊อตึ่ง คล้ายเสียงดนตรี จึงเรียกว่าวที่ติดสะนูนี้ว่า “ว่าวสะนู”

ว่าวสะนู
สะนู สำหรับติดหัวว่าว

ส่วนประกอบ และวัสดุอุปกรณ์ในการทำสะนู 

สะนูว่าว
ส่วนประกอบของสะนูว่าว

1.คันสะนู จะทำด้วยไม้ไผ่ โดยเลือกต้นไผ่ที่สมบูรณ์และแข็งแรง ไม่มีแผลเน่า ลำต้นยาวตรงและมีหน่อไผ่กำลังขึ้นมาแทนที่ ไม่ควรเลือกต้นไผ่ที่มีความแก่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดแตกหรือหักได้ ตัดไม้ไผ่ให้ได้ใกล้เคียงกับขนาดว่าวที่จะนำสะนูไปติด (SOCLAIMON, 2555) วัดแบ่งครึ่งหรือระหว่างกึ่งกลางไม้ไผ่แล้วเหลาหัวท้ายให้เรียวลักษณะเป็นท้องปลิง ลนไฟที่ส่วนปลายทั้งสองข้างแล้วดักให้โค้งเล็กน้อยและทำรอยหยักให้เป็นเดือยยาวประมาณ 1 เซนติเมตรสำหรับมัดใบสะนู ใช้กระดาษทรายขัดผิวให้เรียบ ลบรอยเสี้ยน นำไม้ไผ่ไปผึ่งแดดประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อทำให้ไม้ไผ่ดัดทรงง่ายและไม่คืนตัว ในสมัยก่อนจะมีการถักเส้นหวายเพื่อตกแต่งคันสะนูให้สวยงามด้วยลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายจูงนาง ตรงกลางคันสะนูอาจจะมีการเจาะรู หรือทำช่องไม้ประกบสำหรับเสียบเข้ากับว่าว

สะนูว่าว
ช่องที่เกิดจากการทำไม้ประกบคันสะนู สำหรับเสียบเข้ากับหัวว่าว

2.ใบสะนู หรือเปิ้นสะนู หรือปื้นสะนู ขนาดของใบสะนูที่ดีจะมีความกว้างและความหนาประมาณ 1 เซนติเมตร ความยาวขึ้นกับความยาวของคันสะนูหรือประมาณ 1 ใน 2 ส่วน ปลายใบสะนูทั้งสองข้างจะถูกเจาะเป็นรูสำหรับร้อยสายรั้งหรือเคาสะนู ใบสะนูจะทำมาจากวัสดุต่าง ๆ ได้แก่

  • หวาย นำไปลนไฟอ่อน ๆ แล้วดัดให้ตรงได้ที่แล้วแช่น้ำเย็นซักครู่เพื่อไม่ให้คืนตัว(ศรีสะท้าน, 2551) เหลาแบนและบาง ส่วนปลายทั้งสองข้างให้เหลือเป็นปมลักษณะกลม ๆ ไว้  ตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการ เป็นวัสดุที่ให้เสียงดีและเหนียว ทนทาน
  • ไม้ไผ่ เหลาแบนและบาง ตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการ
  • ใบลาน ใบตาล ใบเกด(การะเกดหรือลำเจียก) จะเลือกใบที่สมบูรณ์ นำมาตากให้แห้ง และตัดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ(ศรีสะท้าน, 2551) 
  • เส้นพลาสติก (ที่ใช้สำหรับรัดกล่อง หรือสานตะกร้า)
  • เครือหมากแตก หรือกระทงลาย ให้เสียงนุ่มนวลแต่ไม่ทน(ศรีสะท้าน, 2551)
  • ทองเหลือง นำมาตีให้เป็นแผ่นบาง ๆ (ศรีสะท้าน,2551)
ว่าวสะนู
ใบสะนูทำจากเส้นพลาสติก หัวสะนูทำจากหวาย

ใบสะนูจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดเสียงเวลาต้องลมพัด ใบสะนูจะหมุนไปมาโดยมีสายรั้งเป็นตัวยึด ทำให้เกิดเป็นเสียงสูงต่ำ 

3.สายรั้ง หรือเคาสะนู เป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างใบและคันสะนูทั้งสองข้าง จะใช้เชือกที่มีความเหนียวและน้ำหนักเบาซึ่งพริ้วไหวได้ดี เช่น เส้นไหม เอ็น เชือกไนล่อนแบบอ่อน ความยาวของสายรั้งมีผลกับเสียงที่เกิดขึ้น คือ ถ้าหากสั้นเสียงจะดังถี่  ถ้าสายยาวเสียงจะดังยาวกว่า  และถ้าเส้นเล็กเกินไปจะขาดง่าย ส่วนถ้าเส้นใหญ่เกินไปจะทำให้มีน้ำหนักเยอะเคลื่อนไหวได้ไม่ดี (ATTIE MURRAY, 2561)

วาวสะนู
การร้อยสายรั้งสะนู ทำจากเชือกไนล่อน

ใบสะนูจะผูกกับสายรั้งทั้งสองข้าง และสายรั้งนี้จะนำไปผูกติดกับคันสะนูอีกที โดยจะผูกเป็นเงื่อนตะกรุดเบ็ดพันหลาย ๆ รอบ ดึงสายรั้งให้ตึงและวางใบสะนูให้อยู่ตรงกลางของคันสะนูและไม่บิดเบี้ยว ใช้กระดาษทรายขัดแต่งผิวและขอบใบสะนูให้เรียบและไม่มีขน 

4.ชันโรงหรือขี้สูด สำหรับติดถ่วงส่วนหัวของใบสะนูทั้งสองข้าง หรือบริเวณที่ร้อยกับเชือก ชันโรงจะช่วยในการปรับเสียงและป้องกันการเกิดขนที่สายเป็นการยืดอายุการใช้งาน (ATTIE MURRAY, 2561) การปรับเสียงสะนูจะนำชันโรงมาติดกับใบสะนูเป็นจุด ๆ จากนั้นแกว่งสะนูเพื่อฟังเสียง ปรับจุดและปริมาณชันโรงที่นำมาติดใบสะนูจนกว่าจะได้เสียงที่ไพเราะถูกใจ ปริมาณของชันโรงที่นำมาติดสะนูถ้าติดมากไปเสียงจะทึบ ติดน้อยไปเสียงจะเบา (JURAPOND,2552)

ชันโรงติดสะนู
ชันโรง หรือขี้สูดสำหรับติดหัวสะนู

5.มีดตอก สำหรับปาดและเหลาใบและคันสะนู 

6.เหล็กหรือเข็ม สำหรับเจาะใบสะนู เพื่อร้อยสายรั้ง จะนิยมนำก้านร่ม ซี่รถจักรยาน มาฝนปลายให้แหลม

สะนูว่าว
ขนาดของสะนู
สะนูว่าว
สะนูทำแบบง่าย ๆ ของเด็ก ๆ

การติดสะนูที่หัวว่าว

ว่าวสะนู
การติดสะนูที่หัวว่าว

ก่อนจะนำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า จะทำการติดสะนูไว้ที่หัวว่าวก่อน พบเห็นได้ 2 วิธีการ คือ 1) การเจาะรูที่คันสะนูแล้วเสียบเข้ากับหัวว่าว 2) การมัดสะนูกับแกนของว่าว ที่บริเวณหัวว่าว โดยลักษณะการวางสะนูจะขวางกับแกนกลางของว่าวและติดฝั่งตรงกันข้ามกับเชือกผูกว่าว หันด้านใบสะนูออกข้างนอก

ว่าวสะนู
การเสียบสะนูเข้ากับหัวว่าว

การเล่นว่าวสะนู

การเล่นว่าวสะนู ภาษาอีสานจะพูดว่า “ไปแล่นว่าว” จะเล่นในพื้นที่โล่งกลางแจ้ง เช่น สนามหญ้า ทุ่งนา ผู้เล่นจะมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเพศชายเป็นส่วนใหญ่ และเล่นกันเป็นกลุ่ม โดยเลือกเล่นในวันที่มีลมพัดสม่ำเสมอ การนำว่าวสะนูขึ้นบนท้องฟ้า ผู้เล่นจะมี 2 ฝ่าย คือ 1)ฝ่ายส่งว่าว จะทำหน้าที่ในการส่งว่าวขึ้นจากพื้นดิน โดยก่อนจะส่งว่าวขึ้นจะต้องจัดวางว่าวและหางว่าวให้เป็นระเบียบไม่ให้หางว่าวพันกัน 2) ฝ่ายชักว่าวขึ้นท้องฟ้า ฝ่ายนี้จะถือเชือกว่าวที่ปล่อยยาวให้ห่างจะตัวว่าวประมาณ 30-40 เมตร เมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อมผู้ชักว่าวจะส่งสัญญานให้ผู้ส่งว่าวให้ยกและส่งว่าวให้ลอยขึ้นไปบนฟ้า ขณะเดียวกันฝ่ายชักว่าวจะวิ่งเพื่อให้ว่าวลอยขึ้น เมื่อติดลมบนแล้วจะทำการปล่อยเชือกว่าวออกเพื่อให้ว่าวลอยสูงขึ้น ๆ ตามที่ต้องการ ถ้าต้องการปล่อยว่าวใว้ค้างคืน ก็จะหาที่ผูกเชือกว่าวให้มั่นคงแน่นหนา ป้องกันว่าวหลุดลอยไป

เมื่อว่าวสะนูติดลมบนแล้ว ใบสะนูจะถูกลมพัดทำให้เกิดเสียงทำนองต่าง ๆ ผู้เล่นว่าวสะนูจึงมักจะปล่อยว่าวให้ลอยค้างคืน ให้ว่าวส่งเสียงขับกล่อมท้องทุ่งจนถึงเช้า ซึ่งจะเป็นวิถีชีวิตหนึ่งที่ชาวอีสานสมัยก่อนคุ้นเคยและทำให้หวนคิดถึงบรรยากาศเดิม ๆ เพราะในปัจจุบันมีการเล่นว่าวสะนูน้อยลงไปมาก 

ว่าวสะนู
ผู้ส่งว่าว
ว่าวสะนู
ผู้ชักว่าว

ว่าวสะนูกับตำนาน ความเชื่อ และการทำนาย

องค์การสะพานปลา (2553) กล่าวถึงตำนานพญาแถนและบุญบั้งไฟที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเสียงสะนูว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้งพญาแถน เทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์ จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้มวลมนุษย์ลำบาก พืชและสัตว์พากันล้มตาย พวกที่รอดตายพากันมารวมตัวใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก หารือหาวิธีปราบพญาแถน ครั้งแรกให้พญานาคยกทัพไปรบกับพญาแถน แต่พ่ายแพ้ จึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบก็พ่ายแพ้อีกเช่นกัน

ในที่สุดพญาคางคกก็ขออาสาไปรบกับพญาแถน วางแผนให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้มอด แมงป่อง ตะขาบเดินทาง สำหรับมอดให้ไปกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด แมงป่องและตะขาบได้ให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถน จากนั้นกองทัพพญาคางคกก็เดินทางออกรบ มอดทำหน้าที่กัด เจาะด้ามอาวุธ แมงป่องและตะขาบก็กัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนก็ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก 3 ข้อคือ

  1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์ 
  2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้องให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว 
  3. ถ้าได้ยินเสียงสะนูว่าวหรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตก เพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว พร้อมขอบคุณที่ท่านส่งฝนลงมาให้ได้ทำนา

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ชาวนาจะขึ้นว่าวสะนูในช่วงกลางคืนเพื่อดูความพอใจของพญาแถน ถ้าว่าวยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์จนถึงเช้าวันต่อมาก็หมายความว่าพญาแถนพอใจ แต่ถ้าว่าวขาดไปหรือมีเสียงไม่ไพเราะก็เชื่อว่าเป็นการรบกวนพญาแถน ชาวนาจะต้องทำว่าวใหม่และถวายขึ้นไปพร้อมซอง โดยมีหมากพลู 1 คำ บุหรี่ 1 มวน และเหรียญสตางค์

ท.ณเมืองกาฬ (2555) กล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับว่าวสะนูที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวนาอีสานว่า ถ้าหากว่าวสะนูตกก่อนเที่ยงคืน ทำนายได้ว่าในปีนั้นฝนจะตกน้อย แต่ถ้าหากว่าวสะนูอยู่ได้ตลอดทั้งคืน ทำนายว่าในปีนั้นฝนจะตกต้องดีมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ต่อการทำไร่ไถนา

SOCLAIMON (2555) กล่าวว่า ว่าวสะนูจะถูกใช้เป็นเครื่องเสี่ยงทายเกี่ยวกับการทำนายฟ้าฝนในแต่ละฤดูกาล คือ 

  • ถ้าว่าวติดลมลอยอยู่บนท้องฟ้าตลอดทั้งคืน มีความเชื่อว่าปีนั้นฝนฟ้าจะตกต้องตามฤดูกาล ไร่นาและการทำมาหากินจะอุดมสมบูรณ์ 
  • ถ้าว่าวขาดหรือเชือกขาด เสียงสะนูไม่ดังก็มีความเชื่อว่าในปีนั้นน้ำจะแล้ง 
  • การเสี่ยงเพื่อเลือกคู่ครอง ถ้าใครเก็บว่าวได้จะถือว่าเป็นคู่ครองอยู่กินกันอย่างมีความสุข 

นอกจากนั้นตามขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อและวัฒนธรรมของชาวตำบลชุมเห็ด จังหวัดบุรีรัมย์ ยังพบความเชื่ออีก 3 ประการคือ 

  1. เพื่อบวงสรวงและขอขมาพระแม่ธรณี พระภูมิเจ้าที่และพระแม่โพสพ บวงสรวงโดยทำว่าวให้มีถุงหรือกระเป๋าใส่เครื่องเซ่นไหว้ เช่น หมากพลู ยาเส้น บุหรี่ เงิน ช่วงที่จะเอาว่าวขึ้นท้องฟ้าติดลมตลอดทั้งคืน โดยมีเสียงแอกเป็นเสมือนดนตรีขับกล่อมผู้คนและท้องทุ่ง ในช่วงเช้าก็จะนำว่าวลงมาเพราะถ้าไม่นำว่าวลง ว่าวจะตกลงเพราะกลางวันลมบกไม่ค่อยมี
  2. เสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเชื่อว่าปีใดที่ว่าวขึ้นสูงและมีเสียงแอกติดลมอยู่ตลอดทั้งคืน ทายว่าฟ้าฝนจะดี ข้าวปลาอาหารจะบริบูรณ์
  3. เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ หลังจากนำว่าวขึ้นท้องฟ้าทุกค่ำคืน แอกมีเสียงดังโหยหวน เชื่อว่าเป็นกรรม หลังจากนั้นก็จะนำสิ่งของไปเซ่นไหว้ แล้วตั้งจิตอธิษฐานขออย่าให้มีทุกข์โศกโรคภัย และเสนียดจัญไร แล้วนำขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ว่าวขึ้นสูงและแอกมีเสียงดัง เจ้าของว่าวจะตัดเชือกว่าวให้ขาดล่องลอยไปตามสายลม จึงถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์สิ่งเลวร้ายให้ลอยหายไปกับว่าว และมีสิ่งดีๆ กลับมาหาเจ้าของว่าว

การเล่นว่าวนั้น นอกจากจะเล่นตามความเชื่อต่าง ๆ แล้ว ยังพบว่า เป็นการละเล่นที่ให้ความสนุกสนาน ช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้กับผู้เล่น ได้ออกกำลังกาย บริหารคอและสายตาได้เป็นอย่างดี ได้สัมผัสกับบรรยากาศและสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน สร้างความสุขทางใจและผ่อนคลายจากความเครียดด้วยเสียงดนตรีจากธรรมชาติ  

ว่าวสะนู
เล่นว่าวสะนู กิจกรรมกลางแจ้งของเด็ก ๆ
หมายเหตุ : เก็บรวมรวมการเล่นว่าวสะนูในพื้นที่ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ที่ตั้ง การเล่นว่าวสะนู

จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ การเล่นว่าวสะนู

15.230193, 104.857329

บรรณานุกรม

ท.ณเมืองกาฬ. (2555). มหกรรมว่าวอีสานที่จังหวัดบุรีรัมย์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564, https://www.gotoknow.org/posts/302691

พิมพ์มาศ ชนูดหอม. (2525). การเล่นพื้นบ้านอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมการศึกษานอกโรงเรียน

มติชนออนไลน์. (2560).ลมแรงแบบนี้ พาไปดู ชาวโคราชรวมกลุ่มทำว่าวจุฬา เสียงสะนูดังกระหึ่ม ขายตัวละพัน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564, https://www.matichon.co.th/region/news_721879

ศรีสะท้าน . (2551). การเฮ็ดสะนูว่าว.เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564, https://www.baanmaha.com/community/threads/14585-การเฮ็ดสะนูว่าว

สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม). Clip art ว่าวสะนู. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564, https://oer.learn.in.th/search_detail/result/111037#oer_data

สภาวัฒนธรรมตำบลสำโรง. (2556). สะนูว่าวชาวอีสาน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564, http://123.242.145.13/album/180205/สะนูว่าวชาวอีสาน

องค์การสะพานปลา. (2553). แห่บูชาพญาแถนประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564, https://www.ryt9.com/s/fmo/892477

ATTIE MURRAY.(2561). ดุ๊ยดุ่ย อุปกรณ์สร้างพลังเสียง ที่ทำให้ว่าวไทยไม่ไร้จิตวิญญาณ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564, https://kite-plans.com/tag/ว่าวมีเสียง

ATTIE MURRAY.(2561). ดุ๊ยดุ่ย อุปกรณ์สร้างพลังเสียง ที่ทำให้ว่าวไทยไม่ไร้จิตวิญญาณ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564,https://kite-plans.com/category/ว่าวไทย

ATTIE MURRAY.(2562). เล่นว่าวแล้วแข็งแรง ประโยชน์ของการเล่นว่าวที่คุณอาจไม่เคยรู้. เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564,https://kite-plans.com/tag/ประโยชน์ของว่าว

JURAPOND (2552). แว่วเสียงพัดพลิ้วของว่าวธนู (ว่าวสะนู), เข้าถึงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564,http://oknation.nationtv.tv/blog/jurapond/2009/11/14/entry-1

SOCLAIMON. (2555). ประดิษฐ์”สะนู”ติดว่าว ประเพณีเสี่ยงทายที่ใกล้สูญ. เข้าถึงเมื่อวันที่  18 มกราคม 2564, https://soclaimon.wordpress.com/2013/12/18/ประดิษฐ์สะนูติดว่าว-ปร

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง