เสี่ยว คือ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย กุศโลบายที่ทำให้คนอีสานมีความรักใคร่กลมเกลียวกัน เป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อคราวตกยากหรือเมื่อมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น เป็นความผูกพันกันตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน หลักของความเป็นเสี่ยวทำให้เกิดความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความสามัคคี และความเชื่อถือจริงใจต่อกันในสังคม
คำว่า “เสี่ยว” เป็นภาษาอีสาน หมายถึง มิตร เพื่อน หรือเกลอที่เป็นมิตรแท้ เพื่อนแท้ หรือเพื่อนตายที่มีความรัก ความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อกัน มีความผูกพันทางด้านจิตใจกันอย่างจริงใจและเต็มใจ และไม่มีอำนาจใด ๆ จะมาพรากให้จากกันได้ คนโบราณจึงสอนลูกหลานให้ผูกมิตรหรือผูกเสี่ยวไว้ทุกบ้านทุกเมือง ดังคำสอนที่ว่า “ให้เจ้าปันเฮือไว้หลายลำแฮท่า ให้เจ้าหม่าข้าวไว้เต็มบ้านทั่วเมือง
กว่าจะเป็นเสี่ยว
แม้ปัจจุบันคำว่า “เสี่ยว” จะถูกตีความหมายไปในทางที่ว่า เชย เปิ่น ไม่ทันสมัย หากเรียนรู้ความเป็นมาอย่างลึกซึ้งแล้ว กว่าจะเป็นเสี่ยวกันได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โบราณอีสานว่าจะต้องคัดเลือกเสียก่อน เรียกว่า “แฮก” จะต้องเลือกให้ดี เพื่อมิให้เกิดความขัดใจแตกแยกกันได้ง่าย ๆ เสี่ยวบางคู่ต้องดูใจกันเป็นเวลานานพอสมควร เพราะหากภายหลังเกิดความร้าวฉานอาจจะเกิดความอาฆาตเคียดแค้นกันขึ้น ซึ่งถือว่าขะลำ (ผิดจารีต) มากที่สุด โดยเกณฑ์พื้นฐานที่คนโบราณอีสานใช้ในการเลือกเสี่ยวตามที่ปรีชา พิณทอง (2532) ได้บันทึกไว้ คือ
- มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน หมายถึง คนที่มีรูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกัน สมควรแฮกเอาเป็นเสี่ยว
- มีความคิดจิตใจคล้ายคลึงกัน หมายถึง คนที่มีนิสัยใจคอคล้ายกัน เช่น คนที่มีจิตใจทรหดเข็มแข็งเหมือนกัน ขยันหมั่นเพียรเหมือนกัน สุภาพอ่อนโยนเหมือนกัน รักสวยรักงามเหมือนกัน ชอบความเป็นระเบียบเหมือนกัน มีเหตุผลเหมือนกัน สมควรแฮกเอาเป็นเสี่ยว
- มีอายุไล่เลี่ยกัน หมายถึง คนที่ไม่อ่อนไม่แก่กว่ากันจนเกินไป สมควรแฮกเอาเป็นเสี่ยว แต่ไม่ถือเป็นสำคัญ
- มีเพศเดียวกัน โดยโบราณอีสานนั้นเชื่อว่า คนเพศเดียวกันย่อมไม่เป็นศัตรูกันทางเพศ แต่ถ้าต่างเพศชอบพอกันจะเป็นเสี่ยวกันก็ได้
เมื่อเลือกคนที่จะเป็นเสี่ยวได้แล้ว ก็จะต้องมีการผูกกันเป็นเสี่ยว คู่เสี่ยวจะมีธรรมเนียมปฏิบัติต่อกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ความเป็นเสี่ยวนั้นมั่นคงและแน่นแฟ้น
การผูกเสี่ยว
พิธีการผูกเสี่ยวทางภาคอีสานไม่มีแบบตายตัว อาจจะเริ่มจากวิธีง่ายที่สุด คือ เมื่อมีความตั้งใจจริงต่อกัน มีความถูกอกถูกใจซึ่งกันและกันหรือจิตใจตรงกัน ทั้งสองฝ่ายก็ทำความตกลงลั่นวาจาหรือแสดงออกถึงเจตนาที่จะเป็นเสี่ยวกันได้เลย อาจจะกล่าวคำมั่นสัญญาต่อกันว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราสองคนจะเป็นเสี่ยวกัน จะรักจะแพงกัน (จะรักจะดูแลกัน) จะไปมาหาสู่กัน จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน จะช่วยเหลือเกื้อกูลอุดหนุนกันตลอดจนวันตาย”
ส่วนพิธีกรรมในการผูกเสี่ยวนั้นอาจจะจัดให้มีก็ได้ เช่น ให้มีการใช้ด้ายฝ้ายผูกแขน โดยในมือของคู่เสี่ยวจะถือข้าวเหนียวปั้นและไข่หน่วย (ไข่ต้ม 1 ฟอง) แล้วแบ่งกันกิน หรืออาจจะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญก็ทำได้ แต่การสาบานโดยวิธีแช่งน้ำสาบานไม่ค่อยนิยม
เมื่อนาย ก เป็นเสี่ยวกับ นาย ข ต่อมานาย ข ไปเป็นเสี่ยวกับ นาย ค นาย ค ก็จะมีฐานะเป็นเสี่ยวกับนาย ก ด้วย โดยทุกคนจะต้องมีความผูกมัดผูกพันกันตามธรรมเนียมที่เสี่ยวจะต้องปฏิบัติต่อกัน แบบนี้เรียกว่า “เสี่ยวต่อเสี่ยว” การผูกเสี่ยวจึงทำให้เกิดความผูกพันกันในวงกว้างออกไป
พระวิสุทธิธีรพงศ์ วิเชียร อภิปญฺโญ (2561) กล่าวว่า การผูกเสี่ยว ตามประเพณีของชาวอีสาน ที่มุ่งเน้นเรื่องการคบกันเป็นเพื่อนที่สนิทแนบแน่นเป็นพิเศษ มีความรักความผูกพันกันพึ่งพาอาศัยกัน สามารถตายแทนกันได้ เป็นประเพณีที่ส่งเสริมความสามัคคีและการผูกมิตรไมตรี ตั้งแต่พ่อ แม่ ลูก จัดเป็นสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น สร้างสายใยแห่งความรักความสามัคคี ทั้งยังเป็นการเพิ่มจำนวนญาติพี่น้องให้มีมากยิ่งขึ้น เป็นภูมิปัญญาไทยที่ใช้ความจริงใจเป็นคุณธรรมเบื้องต้น และอาศัยหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา คือ กัลยาณธรรม ทิศ 6 สังคหวัตถุ ความสามัคคี ความยุติธรรม เป็นต้น
มะยุรี วงค์กวานกลม(2561) กล่าวว่า การผูกเสี่ยวเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เป็นการนําประเพณีผูกมิตรของชาวอีสานมาใช้ในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ทําให้ผู้สูงอายุมีแหล่งสนับสนุนทางสังคม มีที่ปรึกษา สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ และมีความสุขในการดํารงชีวิต
จังหวัดขอนแก่นได้มีการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีผูกเสี่ยวไว้ โดยมีการรื้อฟื้นการผูกเสี่ยวแบบโบราณอีสานให้เป็นประเพณีสำคัญประจำจังหวัด เมื่อปี พ.ศ.2523
ธรรมเนียมปฏิบัติของเสี่ยว
จารุบุตร เรืองสุวรรณ (2523) กล่าวถึง ธรรมเนียมปฏิบัติของคู่เสี่ยวที่โบราณอีสานควรถือเป็นแนวทางให้เสี่ยวปฏิบัติต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้
1.เมื่อเป็นเสี่ยวกันแล้วจะต้องมีสิทธิ์และรับภาระหน้าที่แทนกันได้ทุกกรณี เว้นแต่เป็นผัวเป็นเมียซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละบุคคลโดยแท้จริง จะต้องยอมรับนับถือให้อยู่ในเครือญาติวงศ์สกุลโดยมีฐานะเดียวกันกับเสี่ยวอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นจึงมีคำเรียกชื่อว่า พ่อเสี่ยว แม่เสี่ยว น้าเสี่ยว พี่เสี่ยว น้องเสี่ยว เป็นต้น ถ้าเป็นคนต่างวัยอาจจะผูกกันเป็น พ่อฮัก แม่ฮัก น้องฮักอีกก็ได้
2.การถือวิสาสะ เมื่อถือว่าเสี่ยวต่อเสี่ยวมีฐานะคล้ายกับเป็นบุคคลเดียวกันที่สุด การหยอกล้อกันหรือล้อเลียนกันย่อมไม่มีการถือโกรธ ถ้าหากมิได้เป็นเสี่ยวกันแล้วไปเย้าแหย่บุคคลอื่นจนเขาโกรธ เขาอาจจะพูดจาประท้วงเอาว่า “ข้อยบ่แม่นเสี่ยวเจ้า อย่ามาล้อข้อยเล่น”
3.ร่วมเป็นร่วมตาย (ฮ่วมเป็นฮ่วมตาย) ถ้าเสี่ยวฝ่ายหนึ่งตกทุกข์ได้ยาก หรือมีความเดือดร้อน เช่น การเกิด (มีบุตร) การเจ็บไข้ การตาย หรือประสบภัยอันตราย เมื่อเสี่ยวอีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบข่าวแล้วจะต้องเสียสละอุทศตนเข้าช่วยเหลือจนเต็มความสามารถ จนถึงขั้นที่เรียกว่า อาจตายแทนกันได้
4.ไปมาหาสู่ (ไปมาหาต้อน) เสี่ยวต่อเสี่ยวจะต้องมีการติดต่อกันอยู่เสมอมิให้ขาดได้ โดยการไปมาหาสู่กัน ซึ่งตามธรรมเนียมที่ถือกันมามักจะมีของฝาก “ของต้อน” ติดไปด้วย เพื่อแสดงออกซึ่งน้ำใจไมตรี แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ยังดี
5.ไปหามาแวะ หากมีกิจธุระจำเป็นจะต้องเดินทางผ่านที่อยู่ของเสี่ยวอีกฝ่ายหนึ่ง จะต้องแวะเสี่ยวของตนเสียก่อน หากผ่านไปโดยไม่แวะเยี่ยม หรือไม่บอกกล่าวกันแล้ว จะทำให้มิตรไมตรีที่มีต่อกันไม่ค่อยมั่นคง ถ้าหากได้รับการบอกกล่าวขอร้องให้เดินทางร่วมกัน เช่น การเดินทางไปในที่เสี่ยงอันตราย จะต้องเสียสละหยุดงานส่วนตัวอุทิศตนเดินทางไปกับเสี่ยวให้จงได้ มิฉะนั้นความเป็นเสี่ยวจะมีความหมายน้อยลง
บรรณานุกรม
จารุบุตร เรืองสุวรรณ. (2523). เสี่ยว. วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น), 1(3), หน้า 46-54
ไตรรัตน์ แงดสันเทียะ. (2558). วิธีการสืบสานประเพณีผูกเสี่ยวของชุมชนบ้านหัวขัว ตำบลเปือยน้อย อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น. วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา 4(2), หน้า 64-71.
ปรีชา พิณทอง. (2532). อีสาน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (เรื่องเสี่ยว) ในเอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง วัฒนธรรมพื้นบ้าน: กรณีอีสาน 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2532. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
พระวิสุทธิธีรพงศ์ วิเชียร อภิปญฺโญ. (2561). การผูกเสี่ยว : รูปแบบการสร้างมิตรภาพเพื่อชุมชนที่ยั่งยืนตามแนว พุทธภูมิปัญญาไทย. วารสารการบริหารท้องถิ่น มข. 11(2), หน้า 179-190.
มะยุรี วงค์กวานกลม. (2561). ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในสังคมวัฒนธรรมอีสาน. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม ฉบับพิเศษการประชุมพยาบาล ครั้งที่ 25, หน้า 140-148.