เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ อนุสรณ์ศรัทธาของพระธาตุพนม

เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่มาของชื่อ “บ้านธาตุ” เจดีย์ที่คนในชุมชนนี้พบเห็นมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ว่ากันว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างโดยขอมที่จะเดินทางไปสร้างพระธาตุพนม เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวและเคารพของชาวบ้านธาตุมาก

ป้ายชื่อเจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ป้ายชื่อเจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติเจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ ตั้งอยู่ที่บ้านธาตุ หมู่ที่ 5 ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ว่ากันว่าความเป็นมาของเจดีย์นั้นมีความสัมพันธ์กับการก่อสร้างพระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่ากล่าวว่า มีชาวขอมกลุ่มหนึ่งเดินทางมาจากประเทศกัมพูชา (เขมร) เพื่อนำเอาสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ไปร่วมบรรจุไว้ที่องค์พระธาตุพนม แต่พอมาถึงบ้านธาตุชาวขอมกลุ่มนี้ก็ได้ยินเสียงฆ้องตี 3 ที ทิศทางของเสียงนั้นอยู่ที่ภูกำพร้า หรือที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน พร้อมกับเสียงกลองดังกระหึ่มก้องสนั่นได้ยินถึงที่พวกเขาพักอยู่เหมือนแจ้งว่าพระธาตุพนมนั้นสร้างเสร็จแล้ว พวกขอมที่ตั้งใจจะเดินทางไปร่วมสร้างพระธาตุพนมก็เลยสร้างเจดีย์ไว้ที่บ้านธาตุ ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน และเป็นที่มาของชื่อ “บ้านธาตุ”

เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ บ้านธาตุ อำเภอวารินชำราบ
เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ บ้านธาตุ อำเภอวารินชำราบ

เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ มีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐสอดินมีรูปทรงดังนี้ ส่วนล่างสุดเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ถัดขึ้นไปเป็นส่วนที่เรียกว่า “เรือนธาตุ” ก่อเป็นทรงบัวเหลี่ยมเรียวคอดขึ้นไปหาปลายยอด เป็นลักษณะที่เรียกกันว่า “กลุ่มธาตุฐานต่ำ” ที่มีอิทธิพลของศิลปกรรมล้านช้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22 เหมือนเช่น พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พระธาตุวัดพระพุทธบาทบัวบาน บ้านเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ ที่มีการบูรณะใหม่
เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ ที่มีการบูรณะใหม่

jaopramahathat_1

ในปี พ.ศ. 2550 ทางเทศบาลตำบลแสนสุขได้จัดงบประมาณเพื่อบูรณะเสริมความมั่นคงเจดีย์เจ้าพระมหาธาตุเพื่อให้เจดีย์มีความมั่นคงแข็งแรงและถูกต้องตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมสืบไป

เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ นั้นเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเคารพสักการะของชาวบ้านธาตุ ตำบลแสนสุข มาอย่างเหนียวแน่น ชาวบ้านธาตุนั้น คือ ลูกหลานของเจ้าพระมหาธาตุ เมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อนใจก็จะมาบนบานศาลกล่าวกับเจ้าพระมหาธาตุ เมื่อได้สมดังใจปรารถนาแล้วก็จะนิยมมาแก้บนด้วยบั้งไฟน้อย และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวบ้านก็จะร่วมกันทำบุญตักบาตรและสรงน้ำของพรจากองค์เจ้าพระมหาธาตุให้อยู่เย็นเป็นสุข เป็นงานบุญประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมานาน

ป้ายบอกทางเข้าเจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ
ป้ายบอกทางเข้าเจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ

ที่ตั้ง เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ

บ้านธาตุ หมู่ 5 ตำบลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ เจดีย์เจ้าพระมหาธาตุ

15.163721, 104.881103

บรรณานุกรม

เจ้าพระมหาธาตุ, วันที่ 17 สิงหาคม 2559. https://youtu.be/Pan3KKsRRkI

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง