ทองใส ทับถนน หรือ ครูทองใส ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินพื้นบ้านครูภูมิปัญญาไทย ผู้เชี่ยวชาญในการเล่นและผลิตเครื่องดนตรีอีสานประเภทพิณ เท่านเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักร้องลูกทุ่งอีสาน และเสียงพิณดนตรีประกอบละครและภาพยนตร์หลายเรื่อง เป็นต้นแบบของลายเพลงพิณโบราณอีสานและลายพิณประยุกต์ เป็นช่างฝีมือในการทำเครื่องดนตรีพิณ และที่สำคัญเป็นผู้ถ่ายทอดและสอนดนตรีพื้นเมืองอีสานให้กับลูกศิษย์เพื่อสืบสานดนตรีพื้นบ้านอีสานให้ดำรงอยู่ต่อไป
ประวัติทองใส ทับถนน
ครูทองใส ทับถนน ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินครูพิณพื้นบ้านอีสาน เป็นต้นแบบของลายเพลงพิณโบราณและลายพิณประยุกต์ในปัจจุบัน ผลงานบางส่วนถูกถ่ายทอดผ่านการบันทึกเทปและแผ่นซีดีจำนวนกว่า 50 ชุด ผลงานถูกเผยแพร่และได้รับความนิยมจนถึงยุคปัจจุบัน
ครูทองใสได้ถ่ายทอดความรู้ ทักษะดนตรีพิณ ให้แก่ลูกศิษย์ทั้งในระดับมืออาชีพเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ และเยาวชนนักเรียน เพื่อในเกิดความรู้ ความรัก และตระหนักในคุณค่าภูมิปัญญาของบรรพชน จนได้รับการยกย่องเป็น “พ่อครูพิณอีสาน” ในยุคปัจจุบัน
การที่ครูทองใส ทับถนน นำความรู้ด้านศิลปกรรม (ดนตรีพื้นบ้าน – พิณอีสาน) ที่ตนเองศึกษาค้นคว้า ค้นพบ และทดลอง จนประสบความสำเร็จ แล้วเผยแพร่ โดยการสอนและถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เรียนรู้และนำไปประกอบอาชีพ เป็นประโยชน์โดยรวมแก่สังคม จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีให้เป็น ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ 2 ด้านศิลปกรรม (ดนตรีพื้นบ้าน – พิณอีสาน) ประจำปีพุทธศักราช 2545
นอกจากนั้นแล้ว ครูทองใส ทับถนน ยังผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบทเพลงดัง นักร้องลูกทุ่งอีสานและเสียงพิณประกอบละครโทรทัศน์ รวมทั้งประกอบภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง ด้วยฝีไม้ลายมือที่สามารถทำให้เสียงพิณนั้นสอดคล้องกลมกลืนไปกับการแสดงและนำสู่ผู้ฟัง ทำให้ถูกใจผู้ชมในทุกยุคทุกสมัย
การถ่ายทอดความรู้ของครูทองใส ทับถนน ครูภูมิปัญญาไทย
นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาและวัยรุ่น ในท้องถิ่นทั้งในจังหวัดอุบลราชธานี และที่อื่น ๆ นักดนตรีพื้นบ้านสมัครเล่น และมือพิณอาชีพ หรือนักดนตรีอาชีพมาขอความรู้จากครูทองใสเป็นจำนวนมาก เนื้อหาที่ครูถ่ายทอด ได้แก่
- ความเป็นมา – ความสำคัญของพิณในดนตรีพื้นบ้านอีสาน
- อุปกรณ์ / ส่วนประกอบในการประดิษฐ์พิณ
- ลายพิณโบราณ (ลายพิณพื้นบ้านที่บังคับให้เรียนรู้)
- ตั้งอย่างลายพิณประยุกต์
- เทคนิค / เคล็ดลับในการบรรเลงเพลงโดยใช้พิณเป็นหลัก
- ไหวพริบปฏิภาณในการแสดงหน้าเวที
- จรรยาบรรณของศิลปิน ฯลฯ
วิธีการถ่ายทอดความรู้ของครูทองใส ทับถนน ครูภูมิปัญญาไทย
วิธีการถ่ายทอดความรู้ของครูทองใสนั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้เรียน ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- สำหรับผู้ที่ยังเล่นไม่เป็นเลยแต่สนใจ และต้องการเรียนรู้ ลักษณะนี้จะต้องมาเรียนเป็นประจำที่บ้านในช่วงครูทองใสว่างเว้นจากการเล่นดนตรีอาชีพ ผู้เรียนจะชักชวนกันมาเองหรือลูกศิษย์ลูกหาเดิมเป็นคนพามาฝาก การสอนก็จะสอนเป็นขั้น ๆ ไป ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานลายพิณโบราณอย่างง่าย และพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามสภาพความพร้อมและศักยภาพของผู้เรียน
- สำหรับผู้ที่เล่นเป็นแล้ว ซึ่งลูกศิษย์ส่วนใหญ่จะเป็นคนกลุ่มนี้ เป็นนักดนตรีอาชีพ หรือนักดนตรีประจำวงอีสานในสถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งระดับประถม มัธยม อุดมศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันราชภัฏ จะมาพบเป็นครั้งคราวระยะเวลาสั้น ๆ จะมาถามเอาจุดเด่น จุดเน้น ลักษณะพิเศษ หรือเคล็ดวิชาลายพิณ (ลักษณะเฉพาะของการบรรเลงพิณ) ที่ยาก ๆ
- สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป ครูทองใสจะได้รับเชิญให้ไปแสดงเป็นวิทยากรบรรยายและการตอบข้อซักถามสถานศึกษาต่าง ๆ ในส่วนนี้เป็นส่วนเผยแพร่และการส่งเสริมเผยแพร่ดนตรีพื้นบ้าน (พิณ) รวมทั้งได้รับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดแข่งขันดนตรีพื้นบ้าน พร้อมการสาธิตแนะนำก่อนการตัดสิน
เกียรติคุณ ของครูทองใส ทับถนน
- พ.ศ. 2543 ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติให้ “ศิลปินดีเด่น” จังหวัดอุบลราชธานี สาขาศิลปะการแสดง (ด้านดนตรีอีสาน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาต กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2544 ประกาศเกียรติบัตร “ผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมดีเด่น” จากสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเขตการศึกษา 10
- พ.ศ. 2544 เกียรติบัตร “ผู้ให้การสนับสนุนพิธีเปิดศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก” จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2545 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้าน ศิลปกรรม (ดนตรีพื้นบ้าน – พิณอีสาน) จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ.2558 ได้รับยกย่องเชิดชูเป็นมูนมังเมืองอุบลราชธานี สาขา ศิลปะการแสดง
ที่อยู่ ครูทองใส ทับถนน
ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
บรรณานุกรม
ทองใส ทับถนน. (2559), สัมภาษณ์ 19 สิงหาคม 2559.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2545). ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.