จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดในภาคอีสานที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 และมีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 230 ปี แบ่งการปกครองออกเป็น 25 อำเภอ ซึ่งมีประวัติการก่อตั้ง ที่มาของชื่อและความหมายของอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
1.อำเภอเมืองอุบลราชธานี
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 0 กิโลเมตร พื้นที่: 406.385 ตารางกิโลเมตร
อำเภอเมืองอุบลฯ ถิ่นชนพุทธศาสตร์ พระธาตุยิ่งใหญ่ หอไตรโบราณ ศาลหลักเมืองเลื่องลือ งานฝีมือเครื่องทองเหลือง ทุ่งศรีเมืองเทียนใหญ่ หาดวัดใต้น่าทัศนา เทียนพรรษางามล้ำ หัตถกรรมผ้าไหม พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง พักเอาแรงหาดคูเดื่อ
ประวัติการก่อตั้งอำเภอเมืองอุบลราชธานี
อำเภอเมืองอุบลราชธานี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2445 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีที่ทำการอยู่หัวมุมถนนเขื่อนธานีตัดกับถนนอุปราช ภายในบริเวณเดียวกันกับศาลากลางเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้น (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดอุบลราชธานี) มีพระวัณโกเมศ (เจียง) เป็นนายอำเภอคนแรก พ.ศ.2452 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบูรพาอุบล พ.ศ.2456 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมือง พ.ศ.2460 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองอุบล แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองอุบลราชธานีในเวลาต่อมา
2.อำเภอกุดข้าวปุ้น
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 78 กิโลเมตร พื้นที่: 320 ตารางกิโลเมตร
เมืองอู่ข้าว พระเจ้าใหญ่ขุมคำ งามล้ำภูทม
ประวัติการก่อตั้งอำเภอกุดข้าวปุ้น
อำเภอกุดข้าวปุ้น ตั้งอยู่บ้านข้าวปุ้น หมู่ 1 ตำบลข้าวปุ้นอยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปทางทิศเหนือ ตามถนนสายตระการ-กุดข้าวปุ้น ระยะทางประมาณ 78 กิโลเมตร อำเภอกุดข้าวปุ้น เดิมคือ ตำบลข้าวปุ้น ตำบลแก้งเค็ง ตำบลโนนสวาง ตำบลกาบิน และตำบลหนองทันน้ำ ซึ่งอยู่ในเขตปกครองของอำเภอตระการพืชผลก่อนจะแยกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอและอำเภอต่อมา ถ้าเมื่อย้อนไปในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเขมราฐสมัยเป็นเมืองเขมราฏร์ธานี ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งอุปฮาดก่ำ (บุตรพระวอ) เป็นพระเทพวงศาเจ้าเมืองเขมราฏร์ธานีเป็นเจ้าเมืองคนแรก (อ.เขมราฐ) ตั้งบ้านโคกกงพะเนียงหรือโคกพะเนียงเป็นเมืองเขมราฏร์ธานีใน พ.ศ.2357 ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ในปีเดียวกันนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งบ้านสิงท่าเป็นเมืองยโสธรตั้งราชวงศ์ (สิง) เมืองโขงเป็นพระสุนทรราชวงษา ต่อมาในปี พ.ศ.2406 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสะพือเป็นเมืองตระการพืชผล โปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวสุริยวงศ์ (อ้ม) เป็นพระอมรดลใจเจ้าเมือง ต่อมาในปี พ.ศ.2452 ทางราชการได้รวมเขตการปกครองอำเภอตระการพืชผลเข้าด้วยกันกับอำเภอพนานิคม และเรียกเป็นอำเภอพนานิคม และต่อมาในปี พ.ศ.2460 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอขุหลุและเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอตระการพืชผลอีกครั้งในปี พ.ศ.2482 ฉะนั้น เขตพื้นที่อำเภอกุดข้าวปุ้นขึ้นตรงต่อตระการพืชผลตลอดมาจนมาถึงปี พ.ศ.2514 บ้านเมืองเจริญและมีประชากรมากขึ้นทางราชการจึงได้แยกออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอกุดข้าวปุ้นและได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอกุดข้าวปุ้นเมื่อ พ.ศ.2522 อำเภอนี้มีวัดขุมคำ มีพระเจ้าใหญ่ขุมคำองค์ศักดิ์สิทธิ์มากชาวบ้านกล่าวกันว่า ใครไปบนบานขอพรยศตำแหน่ง สอบเข้าเรียนมักได้สมประสงค์
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอกุดข้าวปุ้น
คำว่า “กุดข้าวปุ้น” มีความหมายได้สองนัย คือ “ลำน้ำที่คดงอเหมือนเส้นขนมจีน” หรือ “ชาวบ้านได้อาศัยที่ในที่แห่งนี้ในขบวนการทำขนมเส้น” (กุด = บึง, ลำน้ำปลายด้วน ข้าวปุ้น = ขนมจีน, ขนมจีน)
3.อำเภอเขมราฐ
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 104 กิโลเมตร พื้นที่: 522.161 ตารางกิโลเมตร
“ต้นตำรับรำตังหวาย ถิ่นไทยนักปราชญ์ เขมราฐเมืองงาม สุดเขตแดนสยาม มะขามหวานหลายหลาก กล้วยตากรสดี ประเพณีแข่งเรือยาว”
ประวัติการก่อตั้งอำเภอเขมราฐ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้าน “โศกกงพะเนียง” เป็นเมือง “เขมราษฎร์ธานี” ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นก็ โปรดเกล้าฯ ตั้ง “อุปฮาดก่ำ” เป็น “พระเทพวงศา” เจ้าเมือง โดยกำหนดให้ผูกส่วยน้ำรัก 2 เลกต่อเบี้ย ป่าน 2 ขอด่อ 10 บาท เมื่อปี พ.ศ.2357 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ มณฑลอีสานถูกแบ่งออกเป็น 5 บริเวณ สำหรับบริเวณอุบลราชธานี มีอยู่ 3 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองเขมราฐ และเมืองยโสธร แต่ละเมืองมีเมืองที่ขึ้นสังกัดอยู่หลายอำเภอ เมืองเขมราฐมีอำเภอที่อยู่ในความปกครอง 6 อำเภอ คือ อำเภออุทัยเขมราฐ อำเภอประจิมเขมราฐ อำเภออำนาจเจริญ อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอโขงเจียม และอำเภอวารินชำราบ
ปี พ.ศ.2452 ได้มีการปรับปรุงการปกครองในบริเวณเมืองอุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่ง เมืองเขมราฐถูกลดฐานะเป็นลงเป็นอำเภอ และรวมอำเภออุทัยเขมราฐกับอำเภอประจิมเขมราฐเข้าด้วยกัน เป็นอำเภออุทัยเขมราฐขึ้นกับเมืองยโสธรแต่ก็ยังคงเป็นบริเวณอุบลราชธานีอยู่เช่นเดิม
ปี พ.ศ. 2454 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการแยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลกับมณฑลร้อยเอ็ดอำเภออุไทยเขมราฐจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอเขมราฐ” เมื่อปี พ.ศ.2455 ขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอเขมราฐ
เมือง “เขมราษฎร์” ได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เขมราฐ” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็มีความหมายเดียวกัน คือ “ดินแดนแห่งความเกษมสุข” (ราษฎร์ = รัฐ, รัฎฐ์ = แว่น แคว้น หรือ ดินแดน ส่วนคำว่า “เขม” หมายถึง ความเกษมสุข)
4.อำเภอเขื่องใน
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 39 กิโลเมตร พื้นที่: 772.819 ตารางกิโลเมตร
มะพร้าวดี ฝั่งชีงามล้ำ หัตถกรรมหมอนขิด กระชับมิตรไก่ย่าง น้องนางข้าวหอมมะลิ วิเวกวัดป่าบึงเขาหลวง ประทับทรวงรำมองเซิง
ประวัติการก่อตั้งอำเภอเขื่องใน
อำเภอเขื่องใน ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2440 ไม่ได้มีฐานะเป็นเมืองเช่นเมืองอื่น ๆ แม้ว่าจะไม่มีการตั้งเป็นเมืองแต่กับปรากฏว่ามีหมู่บ้านใหญ่ ๆ และสำคัญหลายหมู่บ้าน ประกอบด้วยบ้านเขื่องใน เขื่องกลาง บ้านสว่าง และบ้านหนองใส ส่วนบ้านกวางคำ หรือบ้านโนนธาตุเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ตั้งมาพร้อมกับบ้านเขื่องใน แต่ละหมู่บ้านมีท้าวฝ่ายซึ่งมีอำนาจหน้าที่เท่าเทียมนายอำเภอในปัจจุบันทำหน้าที่ปกครองดูแลขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ช่วงปี พ.ศ.2443-2445 ชื่อของอำเภอเขื่องในปรากฎขึ้นครั้งแรก ใช้ชื่อว่า “อำเภอปัจจิมูปลนิคม” เป็นนามที่พระราชทานมาจากกรุงเทพฯ พ.ศ.2452 เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอปจิมอุบล” พ.ศ.2456 เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอตระการพืชผล” และ พ.ศ.2460 จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “อำเภอเขื่องใน” จนถึงปัจจุบัน
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอเขื่องใน
ที่ตั้งของอำเภอเขื่องในอยู่ใกล้แม่น้ำชี ชื่อ “เขื่องใน” เป็นชื่อที่ตั้งตาม “หมู่บ้านเขื่องใน” ซึ่งเดิมชื่อ “เขี่ยงใน” เพราะภาษาอีสานโบราณไม่มีสระเอือ เมื่อมีการเรียนภาษาไทยจึงกลายมาเป็น “เขื่องใน” หมู่บ้านเขี่ยงใน ตั้งชื่อตามชื่อหนองน้ำชื่อ “หนองเขี่ยง ” ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึกประมาณ 1-2 เมตร ในหน้าฝน คล้าย “เขี่ยงปลา” หรือที่วางไข่ของปลาในน้ำในฤดูฝน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เขี่ยงปลา”
5.อำเภอโขงเจียม
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 99 กิโลเมตร พื้นที่: 901.8 ตารางกิโลเมตร
รวมมัจฉา นารีงาม น้ำสองสี ศิลป์ดีผาแต้ม
ประวัติการก่อตั้งอำเภอโขงเจียม
อำเภอโขงเจียมเดิมมีฐานะเป็นเมือง ชื่อเมืองโขงเจียม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมื่อ พ.ศ.2364 โดยให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครจำปาศักดิ์ ครั้งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ภายหลังจากปราบปรามกบฏอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เรียบร้อยแล้ว) โปรดเกล้าฯ ให้เมืองโขงเจียมไปขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ เมื่อ พ.ศ.2371 ในคราวปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ.2443-2445 เมืองโขงเจียมถูกลดฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองเขมราฐ ต่อมาได้ยุบเมืองเขมราฐลงเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองยโสธร เมืองโขงเจียมจึงมีฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองยโสธร
ปี พ.ศ.2457 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บริเวณบ้านด่านปากมูลและเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอสุวรรณวารี” เมื่อปี พ.ศ.2460 และในปี พ.ศ.2482 ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนชื่ออำเภอสุวรรณวารี เป็น “อำเภอโขงเจียม” อีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.2500 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอโขงเจียมมาตั้งที่โคกหมาจอก (บ้านศรีเมืองใหม่ ตำบลนาคำในปัจจุบัน) ส่วนที่เป็นที่ตั้งอำเภอโขงเจียมเดิมนั้น ให้ตั้งเป็น “กิ่งอำเภอบ้านด่าน” และยกฐานะเป็น “อำเภอบ้านด่าน” เมื่อ พ.ศ.2502 ต่อมา พ.ศ. 2514 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอโขงเจียม” อีกครั้งหนึ่ง
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอโขงเจียม
คำว่า “โขง” หมายถึง หัวหน้าช้าง หรืออาจจะมาจากคำว่า “โขลง” ที่หมายถึง ฝูงช้างก็ได้ คำว่า “เจียม” คาดว่า เพี้ยนมาจากคำว่า “เจียง” (ส่วย) ซึ่งแปลว่า “ช้าง” ดังนั้นอำเภอโขงเจียมจึงน่าจะหมายถึง “เมืองที่มีช้างมาอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่”
6.อำเภอดอนมดแดง
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 35 กิโลเมตร พื้นที่: 235 ตารางกิโลเมตร
ดอนมดแดง แหล่งประวัติศาสตร์ นักปราชญ์ของอุบล ประชาชนไฝ่ธรรม กสิกรรมรุ่งโรจน์
ประวัติการก่อตั้งอำเภอดอนมดแดง
พ.ศ.2311 พระวอ พระตา ได้ตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภู) ขึ้น พระเจ้าสิริบุญสารได้ยกทัพมาตีเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน พระวอ พระตา จึงอพยพประชาชนและครอบครัวมาที่บ้านดู่บ้านแก (เวียงดอนกอง) อาณาจักรล้านช้างจำปาสัก ต่อมาอพยพมาที่เมืองดอนมดแดง
พ.ศ.2326 ได้เกิดน้ำท่วมเมืองบริเวณเกาะดอนมดแดงซึ่งเป็นที่ตั้งเมือง พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) จึงอพยพไปอยู่ที่ดงอู่ผึ้ง ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และขอตั้งดงอู่ผึ้งเป็นเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราช
อำเภอดอนมดแดงแต่เดิม คือ ตำบลเหล่าแดง ตำบลคำไฮใหญ่ ตำบลดอนมดแดง และตำบลท่าเมือง ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเมือง ท้องที่อำเภอดอนมดแดงได้รับการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2533 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2534 โดยตั้งเป็น “กิ่งอำเภอดอนมดแดง” ขึ้นกับอำเภอเมืองอุบลราชธานี
อำเภอดอนมดแดง ได้รับการประกาศจัดตั้งโดยแยกพื้นที่จากอำเภอเมืองอุบลราชธานี ขึ้นเป็นอำเภอลำดับที่ 19 ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2539
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอดอนมดแดง
อำเภอดอนมดแดงได้ชื่อตามเกาะ (ดอน) กลางลำน้ำมูล ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี โดยล่องไปตามลำน้ำมูลระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เคยอพยพไพร่พลจากจำปาศักดิ์มาอยู่ไม่ได้นาน ก็ต้องอพยพต่อไปอยู่ที่ดงอู่ผึ้ง (อำเภอเมืองปัจจุบัน) เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมขังและมีมดแดงชุกชุมมาก
7.อำเภอเดชอุดม
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 45 กิโลเมตร พื้นที่: 1416 ตารางกิโลเมตร
ศาลหลักเมืองสง่างาม ลือนามข้าวปลาอุดม สมถิ่นภูมินทร์ตั้งเมือง รุ่งเรืองวัฒนธรรม เย็นฉ่ำน้ำลำโดม
ประวัติการก่อตั้งอำเภอเดชอุดม
ตำบลเมืองเดช เดิมชื่อว่า “เมืองเดชอุดม” เมื่อ พ.ศ.2388 หลวงธิเบศ หลวงมหาดไทย และหลวงอภัย กรมการเมืองศรีสะเกษ พากันอพยพครอบครัวแยกจากเมืองศรีสะเกษมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านลำโดมใหญ่ (ปัจจุบัน คือ หมู่ที่ 1 บ้านเมืองเก่า ตำบลเมืองเดช) ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอุบล เมืองขุขันธ์ และเมืองศรีสะเกษแนวเขตต่อกัน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านลำโดมใหญ่ขึ้นเป็น “เมืองเดชอุดม” ตั้งหลวงธิเบศ เป็น พระศรีสุระ เป็นเจ้าเมืองขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงเทพมหานคร
ต่อมาใน พ.ศ.2455 ให้ยุบเมืองเดชอุดมเรียกชื่อว่า “อำเภอเดชอุดม” ขึ้นตรงต่อจังหวัดศรีสะเกษ และโอนขึ้นมาตรงต่อจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.2477 ในครั้งแรกนั้นอำเภอเดชอุดมตั้งที่ว่าอำเภอเดชอุดมอยู่ที่หมู่ 1 บ้านเมืองเก่า เป็นเมืองและอำเภอมาหลายปี ปรากฏว่าลำน้ำโดมไหลหลากมาจากทางเหนือทำให้เกิดฝนตกน้ำท่วม นายอำเภอเดชอุดม จึงได้ปรึกษาหารือกับข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ทั้งหมด ให้ความเห็นว่าบ้านโนนขามป้อม ซึ่งเป็นพื้นที่สูง ควรจะดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอเดชอุดม จึงได้ทำพิธีย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่บ้านโนนขามป้อม เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2464 จนถึงปัจจุบัน (โนนขามป้อม ปัจจุบัน คือ หมู่ที่ 7 บ้านหนองแสง)
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอเดชอุดม
เดชอุดม หมายถึง ดินแดนที่มีวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองสง่างามและมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ (เดช = อำนาจ ความงาม ความสุกใส ชื่อเสียง อุดม = สูงสุด ยิ่ง เลิศ มากมาย)
8.อำเภอตระการพืชผล
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 46 กิโลเมตร พื้นที่: 1306 ตารางกิโลเมตร
ตระการเมืองข้าวหอม พรั่งพร้อมวัฒนธรรม มากมีเกลือสินเธาว์ ชื่อเก่าบ้านขลุ พระเจ้าใหญ่วัดศรี เชิดชูพุทธศาสตร์ อุดมชาติด้วยพืชผล
ประวัติการก่อตั้งอำเภอตระการพืชผล
อำเภอตระการพืชผล เดิมมีฐานะเป็นเมือง ชื่อเมืองตระการพืชผล ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2406 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้ยกฐานะ “บ้านสะพือ” เป็น “เมืองตระการพืชผล” ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานีในช่วงปี พ.ศ.2443-2445 ได้มีการปรับปรุงการปกครองในส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ เมืองตระการพืชผลถูกลดฐานะเป็นอำเภอโดยขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานีเช่นเดิม ในปี พ.ศ.2452 ทางราชการได้รวมเขตปกครองอำเภอตระการพืชผลกับอำเภอพนานิคมเข้าด้วยกันเป็นอำเภอพนานิคมและได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านขุหลุ ตำบลขุหลุ แต่ยังใช้ชื่อเดิม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตามที่ตั้งเป็นอำเภอขุหลุ เมื่อ พ.ศ.2460 ครั้นถึง พ.ศ.2482 ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็นอำเภอพนานิคมอีกครั้ง และสุดท้ายเพื่อรักษาความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ทางการจึงได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นอำเภอตระการพืชผลอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2483
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอ
“ตระการพืชผล” หมายถึงเมืองที่ “อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด” (ตระการ = งาม ประหลาด แปลก ๆ มีต่าง ๆ)
9.อำเภอตาลสุม
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 32 กิโลเมตร พื้นที่: 303 ตารางกิโลเมตร
ผ้าห่มงาม ข้าวหลามรสดี มากมีลูกตาล หวานมันฝักบัว
ประวัติการก่อตั้งอำเภอตาลสุม
อำเภอตาลสุมแต่เดิมคือตำบลตาลสุม ตำบลคำหว้า ตำบลจิกเทิง ตำบลนาคาย ตำบลสำโรง และตำบลหนองกุง ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองขออำเภอพิบูลมังสาหารมาก่อน เมื่อท้องที่เจริญขึ้นทางการจึงได้แยกตำบลดังกล่าวออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อ พ.ศ.2521 และได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ.2531
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอตาลสุม
อำเภอตาลสุมได้ชื่อตามต้นตาลที่ขึ้นอยู่ริมเซบกเป็นจำนวนมาก โดยเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ และมีเฉพาะในพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้เท่านั้น จึงเรียกว่า “ตาลสุม” เนื่องจากมีต้นตาลจำนวนมาก ที่ปลูกไว้ริมฝั่งน้ำมูล จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ตาลชุม” ต่อมาได้เพี้ยนเป็น “ตาลสุม (สุม = วางทับซ้อน ๆ กัน, วางทับกัน, รวมกัน)
10.อำเภอทุ่งศรีอุดม
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 78 กิโลเมตร พื้นที่: 307 ตารางกิโลเมตร
ปอขาว ข้าวงาม อร่ามตา ปราสาทบ้านเบญจ์ วัฒนธรรมดีเด่น โหวดว่าวสนู
ประวัติการก่อตั้งอำเภอทุ่งศรีอุดม
อำเภอทุ่งศรีอุดมเดิม คือ ตำบลโคกชำแระ ตำบลกุดเรือ ตำบลนาเกษม ตำบลหนองอ้ม และตำบลนาห่อม ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเดชอุดม ต่อมาเมื่อมีความเจริญทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น จึงได้แยกออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอทุ่งศรีอุดม เมื่อปี พ.ศ.2535 และได้ยกฐานะเป็นอำเภอทุ่งศรีอุดมเมื่อ พ.ศ.2540
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอทุ่งศรีอุดม
คำว่า “ทุ่งศรีอุดม” หมายถึง พื้นที่ราบโล่ง อุดมสมบูรณ์และมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง”
11.อำเภอนาจะหลวย
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 100 กิโลเมตร พื้นที่: 632 ตารางกิโลเมตร
นาจะหลวย รวยน้ำใจ ถิ่นวัฒนธรรมไทยสี่เผ่า เทพเจ้าภูหมากจอง เนืองนองน้ำตกถ้ำบักเตว
ประวัติการก่อตั้งอำเภอนาจะหลวย
อำเภอนาจะหลวย แต่เดิมคือตำบลนาจะหลวย ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลโนนสวรรค์ ตำบลพรสวรรค์ และตำบลโสกแสง ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเดชอุดม ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ไม่สะดวกแก่การติดต่อราชการ จึงได้แยกตำบลดังกล่าวออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ ปี พ.ศ.2515 และได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.2530
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอ
คำว่า “นาจะหลวย” เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “จะรอย, จะโรย เป็นภาษาส่วย ซึ่งแปลว่าพังพอน” เมื่อรวมกันเป็นชื่ออำเภอ “นาจะหลวย” แล้วมีความหมายว่า พื้นที่ปลูกข้าวที่เป็นที่อยู่อาศัยของพังพอน
12.อำเภอนาตาล
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 93 กิโลเมตร พื้นที่: 194.839 ตารางกิโลเมตร
พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ลือชื่อหาดปากแซง เกาะแก่งสดสวย กล้วยน้ำว้ารสเด็ด สุดเขตแดนสยาม
ประวัติการก่อตั้งอำเภอนาตาล
อำเภอนาตาล เดิมคือตำบลนาตาล ตำบลกองโพน ตำบลพะลาน และตำบลพังเคน อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเขมราฐทางราชการเห็นว่าเป็นท้องที่ที่มีความเจริญทางเศราฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว จึงได้แยกออกมาตั้งเป็น “อำเภอนาตาล” เมื่อปี พ.ศ.2537
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอนาตาล
“บ้านนาตาล” ได้ชื่อตามสภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนาและปลูกพืชพรรณธัญญาหารต่างๆ ชาวบ้านจึงได้ยึดเอาเป็นทำเลที่ตั้งหมู่บ้านและให้ชื่อว่า “บ้านนาตาล”
13.อำเภอนาเยีย
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 39 กิโลเมตร พื้นที่: 229 ตารางกิโลเมตร
แผ่นดินแห่งธัญญาหาร สายธารลำโดมใหญ่ งามวิไลสามนา ปวงประชาสถาพร คือนามกร อำเภอนาเยีย
ประวัติการก่อตั้งอำเภอนาเยีย
อำเภอนาเยีย เดิมคือ ตำบลนาเยีย ตำบลนาดี และตำบลนาเรือง อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเดชอุดม เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อราชการ จึงได้แยกออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาเยีย เมื่อ พ.ศ.2536
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอนาเยีย
คำว่า “นาเยีย” มีความหมายว่า “แหล่งพืชพันธุ์ธัญญาหาญ หรือที่เก็บข้าว, น้ำ, นาข้าว ที่สมบูรณ์” (นา = พื้นที่สำหรับปลูกข้าว เยีย = ยุ้งข้าว)
14.อำเภอน้ำขุ่น
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 96 กิโลเมตร พื้นที่: 386.5 ตารางกิโลเมตร
เขตถิ่นดินดี มีเงาะข้าวโพดหวาน นับล้านระยางขาว ชนเผ่าสามภาษา ล้ำค่าอัญมณี ของดีศิลาดำ งามล้ำน้ำตกตาดไฮ สวยซึ้งใจพลานฮึม
ประวัติการก่อตั้งอำเภอน้ำขุ่น
อำเภอน้ำขุ่น เดิมคือ ตำบลตาเกา ตำบลโคกสะอาด ตำบลขี้เหล็ก และตำบลไพบูลย์ ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองจองอำเภอน้ำยืน เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครองและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงได้แยกออกมาตั้งเป็นอำเภอน้ำขุ่น เมื่อปี พ.ศ.2539
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอน้ำขุ่น
ที่มาของคำว่า “น้ำขุ่น” นั้นแต่เดิมชื่อ “ละเอาะ” (เขมร) ซึ่งแปลว่า “ขุ่น” ด้วยเหตุที่น้ำในหนองริมหมู่บ้านจะขุ่นอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นแหล่งน้ำที่สัตว์ป่านานาชนิดลงมาดื่มกินเป็นประจำ
15.อำเภอน้ำยืน
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 110 กิโลเมตร พื้นที่: 845.5 ตารางกิโลเมตร
ดินแดนสามเหลี่ยมมรกต งดงามผลาญเสือ เหลือเฟือกัญมณี มากมีพืชเศรษฐกิจ ถิ่นสถิตนารายณ์บรรทมสินธิ์ ทุกถิ่นล้วนพัฒนา
ประวัติการก่อตั้งอำเภอน้ำยืน
เดิมบริเวณอำเภอน้ำยืนมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งตั้งอยู่บ้านจันลานาโดม ชื่อเมืองโดมประดิษฐ์ ตั้งในปี พ.ศ.2424 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยให้ขึ้นตรงต่อเมืองจำปาศักดิ์ พ.ศ.2446 เมืองโดมประดิษฐ์มีฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นตรงต่ออำเภอเดชอุดม พ.ศ.2455 อำเภอโดมประดิษฐ์ยุบเป็นตำบลโดมประดิษฐ์ อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเดชอุดม พ.ศ.2512 กระทรวงมหาดไทยประกาศแบ่งท้องที่อำเภอเดชอุดม 4 ตำบล คือ ตำบลโดมประดิษฐ์ ตำบลยาง ตำบลโซง และตำบลตาเกา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอน้ำยืน ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นอำเภอน้ำยืนในปี พ.ศ.2517
ที่มาการตั้งชื่ออำเภอน้ำยืน
อำเภอน้ำยืนได้ชื่อว่า “น้ำยืน” น่าจะมาจากสาเหตุ 2 ประการด้วยกันคือ 1. ตั้งตามชื่อหมู่บ้าน “น้ำยืน” ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ว่าการอำเภอ ซึ่งห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร 2.ตั้งตามลักษณะที่เป็นจริงของธรรมชาติ โดยที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ระหว่างลำห้วย 3 สาย ไหลมาบรรจบกันคือ ลำห้วยบอน ลำห้วยโซง และลำห้วยตาเอ็ม ซึ่งมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการทำมาหากินอย่างยิ่ง “น้ำยืน” = ลักษณะของความอิ่มเอิบ ซึมซาบ ที่จะยังคงมีอยู่อย่างยั่งยืน
16.อำเภอบุณฑริก
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 86 กิโลเมตร พื้นที่ : 1402 ตารางกิโลเมตร
บุณฑริกบัวขาว ชาวราษฎร์ไฝ่ธรรม งามล้ำน้ำตก ป่ารกเขาชัน เขตกั้นแดนลาว หน้าหนาวปูขน ชมโดมไหลเวียน ภาพเขียนห้าพันปี
ประวัติการก่อตั้งอำเภอบุณฑริก
เมื่อปี พ.ศ.2390 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าให้ยกบ้าน “ดงกระชุ” (บ้านไร่) ขึ้นเป็น “เมืองบัว” ขึ้นตรงต่อนครจำปาศักดิ์ต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระหว่างปี พ.ศ.2443-2445 มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ เมืองดอกบัวได้ลดฐานะลงเป็นอำเภอ แต่ยังคงขึ้นกับนครจำปาศักดิ์เช่นเดิม ในปี พ.ศ.2446 ไทยเสียดินแดนจำปาศักดิ์ให้กับฝรั่งเศสจึงได้โอนอำเภอบัวมาขึ้นกับอำเภอเดชอุดม บริเวณขุขันธ์จนถึงปี พ.ศ.2452 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอบัวเป็นอำเภอบุณฑริก ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2455 อำเภอบุณฑริกถูกลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอและในปี พ.ศ.2460 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอโพนงาม โดยขึ้นอยู่กับอำเภอเดชอุดม จังหวัดขุขันธ์เช่นเดิม จนกระทั่งถึง พ.ศ.2471 จึงได้โอนมาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ.2482 เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอบุณฑริกอีกครั้งหนึ่ง พ.ศ.2501 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอบุณฑริก
ประวัติการตั้งชื่ออำเภอบุณฑริก
ชื่อ “บุณฑริก” มาจากชื่อเดิมว่า “เมืองบัว” (บัว “บุณฑริก” เป็นบัวหลวง (ปทุมชาติ) ใบชูเหนือน้ำ ดอกชั้นเดียวสีขาว เมื่อดอกตูมจะเป็นรูปไข่ มีดอกขนาดใหญ่ ปลายเรียว)
17.อำเภอพิบูลมังสาหาร
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด: 45 กิโลเมตร พื้นที่: 939 ตารางกิโลเมตร
เมืองแก่งสวย รวยคลอง ฆ้องใหญ่ น้ำใจโต แตงโมหวาน ข้าวสารสวย
ประวัติการก่อตั้งอำเภอพิบูลมังสาหาร
อำเภอพิบูลมังสาหารเดิมชื่อ “บ้านกว้างลำชะโด” ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ต่อมาในปี พ.ศ.2406 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรด ฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง “พิบูลมังสาหาร” หลังจากนั้นเมืองพิบูลมังสาหารก็มีฐานะเป็นเมืองขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานีตลอดมา จนได้มีการปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมืองพิบูลมังสาหารจึงได้มีฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานีตั้งแต่ปี พ.ศ.2443 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอพิบูลมังสาหาร
“พิบูลมังสาหาร” หมายถึง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารประเภทเนื้อนานาชนิด
18.อำเภอโพธิ์ไทร
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 49 กิโลเมตร พื้นที่: 505.15 ตารางกิโลเมตร
เสาเฉลียงสูงสง่า หน้าผาสูงชัน มากพันธุ์ผลไม้ โพธิ์ไทรร่มรื่น ชื่นตาชายโขง
ประวัติการก่อตั้งอำเภอโพธิ์ไทร
อำเภอโพธิ์ไทร แต่เดิมคือตำบลโพธิ์ไทร ตำบลสำโรง และตำบลม่วงใหญ่ ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเขมราฐ เนื่องจากมีอาณาเขตกว้างขวางไกลจากอำเภอมาก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินได้โดยสะดวกทางการจึงได้แยก 3 ตำบลดังกล่าวออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอโพธิ์ไทร เมื่อ พ.ศ.2524 และยกฐานะเป็นอำเภอในปี พ.ศ.2530
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอโพธิ์ไทร
ชื่ออำเภอได้มาจากต้น “โพธิ์ไทร” เก่าแก่ ที่มีอยู่ในวัดศรีบุญเรือง ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นที่สิงสถิตของรุกขเทวดา มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านอย่างยิ่ง
19.อำเภอม่วงสามสิบ
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 34 กิโลเมตร พื้นที่: 917.537 ตารางกิโลเมตร
ถิ่นคนดี ศรีธนญชัย สระโบราณ แหล่งกำเนิดมะขามหวานพระโรจน์ไผ่ใหญ่ กราบไหว้หลวงพ่อเกษมสีมา ชมวัดป่าวิเวก อเนกค่าคุณอนันต์
ประวัติการก่อตั้งอำเภอม่วงสามสิบ
อำเภอม่วงสามสิบ เดิมคือ “บ้านที” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง “เกษมสีมา” ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2425 จนถึงคราวปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ระหว่างปี พ.ศ.2443-2445 เมืองเกษมสีมาถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอ ต่อมาปี พ.ศ.2452 ทางราชการได้รวมอำเภอเกษมสีมากับอำเภออุตรูปลนิคม (ซึ่งอยู่ใกล้เคียง) เข้าด้วยกัน เรียกชื่อใหม่ว่า “อำเภออุตรอุบล” แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอ “ม่วงสามสิบ” ตามชื่อของหมู่บ้านดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอ
ที่มาของคำว่า “ม่วงสามสิบ” มีเรื่องเล่าขานกันมา 3-4 ประการ คือ 1.พ่อค้าวัวได้ต้อนวัววมาพักอยู่ที่หมู่บ้านที่มีต้นมะม่วงและผลมะม่วงสุกหล่นเกลื่อนอยู่ใต้ต้น วัวจึงอาศัยมะม่วงสุกกินแทนหญ้าหมดไป 30 ผล บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า “บ้านม่วงสามสิบ” 2.ที่หมู่บ้านนี้เคยมีการจัดการแข่งขันกินมะม่วงคนที่ชนะเลิศกินได้ถึง 30 ผล จึงได้ตั้งชื่อบ้านนี้ว่า “ม่วงสามสิบ” 3.พ่อค้าวัวต้อนวัวมาค้างแรมที่หมู่บ้านนี้แล้วได้ถ่ายมูลไว้ ต่อมามูลวัวได้งอกออกเป็นต้นมะม่วง 30 ต้น บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า “ม่วงสามสิบ” 4.ในปี พ.ศ.2459 นายอำเภอเกษมสีมา ได้อพยพหาแหล่งที่ตั้งอำเภอใหม่ และได้มาพบบริเวณที่ร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะมีต้นมะม่วงขึ้นรวมอยู่ถึง 30 ต้น จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านขึ้นโดยให้ชื่อว่า “บ้านม่วงสามสิบ”
20.อำเภอวารินชำราบ
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 2 กิโลเมตร พื้นที่ : 584 ตารางกิโลเมตร
คำขวัญของอำเภอวารินชำราบ : นมัสการหลวงปู่ชา มีปลาแซบหลาย มากพันธุ์ดอกไม้ บ่งบอกวัฒนธรรม
ประวัติการก่อตั้งอำเภอวารินชำราบ
แต่เดิมเป็นหมู่บ้านขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์ ชื่อ “บ้านนากอนจอ” ได้ขอตั้งเป็นเมือง “วารินชำราบ” ปี พ.ศ.2423 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระหว่างปี พ.ศ.2443-2445 ได้ลดฐานะลงเป็นอำเภอหนึ่งของเมืองเขมราฐ จนมาถึง พ.ศ.2456 ทางราชการได้รวมอำเภอทักษิณอุบลกับอำเภอวารินชำรายเข้าด้วยกัน เรียกชื่อว่า “อำเภอวารินชำราบ” จนถึงปัจจุบัน
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอ
พื้นที่ของตัวอำเภอเป็นที่ราบเกือบทั้งหมด มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย รวมทั้งห้วย หนอง คลองบึง ที่มีน้ำใต้ดินไหลซึม ซับดินให้ชุ่มชื่น มีพันธุ์ไม้ขึ้นเขียวชะอุ่มอยู่ตลอดปี (วาริน = น้ำ, ชำ = ชำ, คำ = น้ำที่ไหลขึ้นมาจากใต้ดินโดยธรรมชาติอย่างไม่ขาดสาย, ราบ = ที่ราบ)
21.อำเภอศรีเมืองใหม่
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 83 กิโลเมตร พื้นที่: 1310 ตารางกิโลเมตร
คนเมืองใหม่ หน้าใสใจงาม นามเป็นศักดิ์ศรี รักชาติรักษามัคคี มีเสาธงวงเวียนใหญ่ หน่อไผ่ดองล่องโขงเที่ยวหาดดงนา ทัศนศึกษาถ้ำพระฤาษี มีวัดสวนหินวัดนางคอย ดูรอยเสือโคร่งที่วัดภูหล่น ต้องมนต์เสน่ห์สาวตะเกียงน้อยงดงาม
ประวัติการก่อตั้งอำเภอศรีเมืองใหม่
อำเภอศรีเมืองใหม่ เดิมชื่อ เมืองโขงเจียม อำเภอนี้มีการย้ายที่ตั้งว่าการอำเภอหลายครั้ง เดิมตั้งอยู่บ้านปากแซง ในปี พ.ศ.2364 เรียกว่า เมืองโขงเจียมเหนือ ต่อมาในปี พ.ศ.2424 ย้ายไปตั้งที่ทำการใหม่ที่บ้านนาคอ เรียกว่าเมืองโขงเจียมใต้ ประมาณปี พ.ศ.2446 ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่บ้านนาเอือด เรียกว่า อำเภอโขงเจียม พ.ศ.2457 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่บ้านด่านปากมูล พ.ศ.2500 ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งใหม่ที่โคกหมาจอก มีการจัดวางผังเมืองขึ้นใหม่ โดยมีวงกลมเสาธงกลางเมืองเป็นศูนย์กลางหมู่บ้านที่ย้ายมาตั้งใหม่นี้จึงมีชื่อว่า บ้านศรีเมืองใหม่ อำเภอโขงเจียม ต่อมา พ.ศ.2514 ไปเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอศรีเมืองใหม่จนถึงปัจจุบัน
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอ
คำว่า “ศรีเมืองใหม่” หมายถึง “ที่อยู่อาศัย (เมือง) ที่สร้างขึ้นใหม่ ที่เพียบพร้อมด้วยความสุขความเจริญและความสง่างาม”
22.อำเภอสำโรง
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 28 กิโลเมตร พื้นที่: 416 ตารางกิโลเมตร
ดินแดนข้าวหอม ดอกพะยอมบานฉ่ำ ลำนำผับปลาชุม โอบอุ้มคุณธรรม งามล้ำผ้าไหม เสื่อเตย
ประวัติการก่อตั้งอำเภอสำโรง
อำเภอสำโรง เดิมคือตำบลสำโรง ตำบลหนองไฮ ตำบลโนนกาเล็น ตำบลค้อน้อย ตำบลโคกสว่าง ตำบลโนนกลาง ตำบลโคกก่อง ตำบลขามป้อม และตำบลบอน ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอวารินชำราบ ต่อมาเพื่อสะดวกในการพัฒนาท้องถิ่น จึงได้ขอแยกออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอสำโรง เมื่อปี พ.ศ.2528 และได้ยกฐานะเป็นอำเภอสำโรงเมื่อปี พ.ศ.2535
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอ
คำว่า “สำโรง” เป็นไม้พื้นถิ่นอีสาน เป็นไม้เนื้ออ่อนโตเร็วขนาดใหญ่ระดับไม้ยางนาหรือนางดำ ถือเป็นไม้เรือนยอดระดับสูง คำว่า “สำโรง” ไปพ้องเสียงคำว่า “โลง” คนสมัยก่อนจะคะลำ คือมีข้อยกเว้น จะไม่ตัดเอาไม้ชนิดนี้มาใช้สอย ในเมล็ดสำโรงจะมีน้ำมันจำนวนมาก สามารถบีบน้ำมันออกมาได้ถึง 25% สมัยก่อนหนุ่ม ๆ เอาไม้ไผ่เสียบเมล็ดเรียงกัน แล้วจุดไฟให้แสงสว่างพอได้อาศัยเวลาไปจีบสาวยามค่ำคืน เปลือกเมล็ด ฝักแห้ง เอาไปทำเชื้อเพลิงอบไก่ย่างปลาจะมีรสชาติกลิ่นหอมดี มะโรงช่วงออกฝักจวนแก่จะมีสีชมพูแดงเรื่อ ๆ ฝักมีลักษณะกลมขนาดเท่ากำปั้น เกาะกลุ่มกันเป็นแฉก ๆ เพาะเมล็ดง่ายเกิดง่าย หว่านไว้ผิวดินยังงอก ดอกมีกลิ่นเหม็น และอีกนัยหนึ่ง คำว่า “สำโรง” เป็นชื่อมันชนิดหนึ่งเหมือน “มันสำปะหลัง”
23.อำเภอสิรินธร
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 71 กิโลเมตร พื้นที่: 706.31 ตารางกิโลเมตร
เจ้าฟ้าประทานนาม งามตำหนักราชสุดา พุทธปฏิมาสิรินธร ออนซอนพลังไฟฟ้า ค้าขาย ไทย-ลาว ตะนะพราวแก่งงาม
ประวัติการก่อตั้งอำเภอสิรินธร
อำเภอสิรินธรได้รับการประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 36 พรรษาในปี พ.ศ.2534 ยังความปิติโสมนัสและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณตลอดจนความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวอุบลราชธานีอย่างหาที่สุดมิได้ โดยได้ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธยของพระองค์ “สิรินธร” เป็นชื่ออำเภอ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2533
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอ
“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้ทรงพระราชทานนาม “สิรินธร” ให้เป็นชื่อของอำเภอเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องผ่านการเป็นกิ่งอำเภอ เนื่องในวาระที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 36 พรรษาเมื่อปี พ.ศ. 2534″
24.อำเภอเหล่าเสือโก้ก
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 27 กิโลเมตร พื้นที่: 284 ตารางกิโลเมตร
เหล่าเสือโก้ก ยกพระธรรมนำพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมในราษฎร์-รัฐ ร่วมขจัดภัยแล้ง แพงใหญ่ชัยอุดม ชื่นชมโพนเมือง รุ่งเรืองหนองบก
ประวัติการก่อตั้งอำเภอเหล่าเสือโก้ก
อำเภอเหล่าเสือโก้ก เดิมคือตำบลแพงใหญ่ ตำบลโพนเมือง ตำบลหนองบก และตำบลเหล่าเสือโก้ก ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเมือง ต่อมาเมื่อประชากรมากขึ้นจึงได้ขอแยกออกมาตั้งเป็นอำเภอเหล่าเสือโก้ก เมื่อปี พ.ศ.2537
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอเหล่าเสือโก้ก
พื้นที่ชาวบ้านมาตั้งรกรากทำมาหากินครั้งแรกนั้นมีสภาพเป็น “เหล่า” (ไร่ร้าง) ชื่อเดิมว่า “บ้านเหล่านาชี” อุดมไปด้วยแหล่งน้ำและป่าไม้ เสือเป็นสัตว์ป่าชนิดหนึ่งที่มีอยู่อย่างชุกชุมและมักจะเข้ามาลักจับสัตว์เลี้ยงกินเป็นอาหารอยู่เสมอ เช้ามืดวันหนึ่งคนกับเสือเดินมาประจันหน้ากันโดยบังเอิญ เสือร้อง “โฮก” (โก้ก) ด้วยความตกใจและวิ่งหนีไป นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีชาวบ้านจึงได้พากันตั้งชื่อบ้านเสียใหม่ว่า “บ้านเหล่าเสือโก้ก”
25.อำเภอสว่างวีระวงศ์
ระยะห่างจากอำเภอถึงจังหวัด : 23 กิโลเมตร พื้นที่: 270 ตารางกิโลเมตร
คำขวัญของอำเภอสว่างวีรวงศ์ : สว่างวีรวงศ์ ผลิตส่งกุหลาบงาม ลือนามหม่อนไหม ก้าวไกลเกษตรอุตสาหกรรม นำสู่อินโดจีน
ประวัติการก่อตั้งอำเภอสว่างวีรวงศ์
อำเภอสว่างวีระวงศ์ คือ ตำบลสว่าง ตำบลแก่งโดม ตำบลบุ่งมะแลง และตำบลท่าช้าง ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอวารินชำราบ ต่อมาเมื่อท้องที่มีเศรษฐกิจดีขึ้น และมีประชากรมากขึ้น จึงได้แยกออกมาจัดตั้งเป็นอำเภอสว่างวีระวงศ์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2538
ที่มาของการตั้งชื่ออำเภอ
อำเภอสว่างวีระวงศ์ได้ชื่อตามพระนามของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน แสนทวีสุข) และสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (ธมมธโร พิมพ์ แสนทวีสุข) ซึ่งสมเด็จทั้งสองรูปมีชาติกำเนิดที่บ้านสว่าง และเป็นพระสงฆ์คันถธุระที่ชาวบ้านและชาวจังหวัดอุบลราชธานี ให้ความเคารพนับถือศรัทธาอย่างมาก
บรรณานุกรม
นามานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น : สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี, 2544.