การฟ้อนกลองตุ้มบ้านถ่อน วารินชำราบ

ชุมชนบ้านถ่อน เป็นชุมชนในตำบลท่าลาด อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่ยังคงอนุรักษ์ศิลปะการฟ้อนกลองตุ้มซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานีไว้ ทั้งรูปแบบการฟ้อนและการแต่งกาย โดยจะใช้แสดงในงานรื่นเริง งานพิธีการ งานต้อนรับต่าง ๆ

การฟ้อนกลองตุ้มของชาวบ้านถ่อน วารินชำราบ
การฟ้อนกลองตุ้มของชาวบ้านถ่อน วารินชำราบ

การฟ้อนกลองตุ้ม บ้านถ่อน อำเภอวารินชำราบ อุบลราชธานี

การฟ้อนกลองตุ้มของชาวบ้านถ่อนนั้น มีรูปแบบเดียวกันกับบ้านท่าลาด อำเภอวารินชำราบ ซึ่งจากงานวิจัยของอาจารย์คำล่า มุสิกา พบว่า จะเป็นการฟ้อนร่วมกันทั้งชายและหญิง มีเพียงลักษณะเดียวคือแบบโบราณ ขบวนฟ้อนนิยมจัดเป็นแถวตอนเรียงหนึ่ง และฟ้อนถอยหลัง แต่ปัจจุบัน ก็มีการปรับเปลี่ยนมาฟ้อนอยู่กับที่และฟ้อนเดินหน้าบ้าง ส่วนกลองตุ้มและพางฮาด ที่เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะก็อาจจะอยู่ส่วนหัว หรือท้ายขบวนก็ได้ สมัยก่อนจะฟ้อนในประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมขอฝน แต่ปัจจุบันไม่มีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ แต่ชาวบ้านก็ยังสืบทอดและอนุรักษ์ไว้เพื่อแสดงในงานพิธีการ งานต้อนรับต่าง ๆ ของหมู่บ้าน

ท่าฟ้อนกลองตุ้มแบบโบราณของบ้านถ่อน วารินชำราบ
ท่าฟ้อนกลองตุ้มแบบโบราณของบ้านถ่อน วารินชำราบ

ท่าฟ้อนกลองตุ้มบ้านถ่อน

ท่าฟ้อนกลองตุ้มแบบโบราณ จะมีให้เห็นอยู่ 3 ท่า ซึ่งไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ประกอบด้วย

  • ท่าที่ 1 ตั้งแขนข้างหนึ่งขึ้นไว้ราวศีรษะ แขนอีกข้างกางไว้ล่างสุด และโบกไปมาตามจังหวะกลอง จากนั้นจะเพิ่มระดับความสูงของแขนที่กางนี้ขึ้นเรื่อย ๆ
  • ท่าที่ 2 เมื่อโบกสูงขึ้นจนแขนอยู่ในระดับเหนือศีรษะ แขนจะตั้งขึ้นจนสุด ในระหว่างนี้ขาก็จะย้อนหรือย่อ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า โหย ไปด้วย
  • ท่าที่ 3 จังหวะกลองจะเตือน 3 ครั้ง หัวหน้าจะให้สัญญาณตัก โดยการม้วนมือเข้าข้างในแล้วกางออก พอตักเสร็จ ก็จะเริ่มสลับแขนที่ยกและกางขึ้น สลับกันอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ

รูปแบบการแต่งกายประกอบการฟ้อนกลองตุ้มบ้านถ่อน 

  1. ผ้าโพกศีรษะ ปัจจุบันมีการสวมหมวกและนำผ้าโพกศีรษะมาพันที่หมวกด้วย
  2. ผ้าขิด ผูกเบี่ยงทับกันซ้ายขวา เป็นรูปกากบาท
  3. ดอกฝ้าย สวมเบี่ยงทับกันซ้ายขวาบนผ้าขิดหรือผ้าเบี่ยง ในสมัยโบราณจะใช้เหรียญสตางค์แดง หรือเงินบักคร้อ มาร้อยทำสายเบี่ยงเป็นเครื่องประดับ
  4. เสื้อเชิ้ตสีขาวหรือดำ
  5. ซวยมือ สวมซวยมือทั้ง 10 นิ้ว
  6. โสร่งไหม
  7. แว่นตาดำกันแดด
  8. สวมถุงเท้าและรองเท้าผ้าใบ สมัยโบราณจะมีการสวมกำไลที่แขนและขาด้วย
การแต่งกายประกอบการฟ้อนกลองตุ้มของบ้านถ่อน วารินชำราบ
การแต่งกายประกอบการฟ้อนกลองตุ้มของบ้านถ่อน วารินชำราบ

บรรณานุกรม

คำล่า มุสิกาและคณะ. (2552).  การอนุรักษ์พิธีกรรมและการแต่งกายในการฟ้อนกลองตุ้ม จังหวัดอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

บุญเทียบ โคตะสา. สัมภาษณ์, 22 กรกฎาคม 2559

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง