หมู่บ้านราชธานีอโศก อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนที่รวมกลุ่มคนที่ศรัทธาในสมณะโพธิรักษ์ อันมีแนวทางการปฏิบัติที่ฝึกฝนตนเองตามแนวทางของศาสนาพุทธ มีการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำการเกษตรกรรมปลอดสารพิษ และการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านราชธานีอโศก อำเภอวารินชำราบ
หมู่บ้านราชธานีอโศก อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2539 มีพื้นที่ของหมู่บ้านประมาณ 550 ไร่ อาณาเขตทิศเหนือ จดแม่น้ำมูล ทิศตะวันออก จดหมู่บ้านคำกลาง หมู่ที่ 7 และ 6 ทิศตะวันตก จดหมู่บ้านท่ากกเสียว และทิศใต้ จดหมู่บ้านกุดระงุม มีสมาชิกอาศัยอยู่จำนวน 150 หลังคาเรือน มีวัดชื่อว่า พุทธสถานราชธานีอโศก มีโรงเรียน 2 แห่ง คือ โรงเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และโรงเรียนสัมมาชีวสิกขาราชธานีอโศก เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาช่างยนต์
ระบบสาธารณูปโภคมีระบบไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและสร้างระบบประปาหมู่บ้านใช้เอง มีโรงครัวกลางที่ทำอาหารเลี้ยงทุกคนทุกมื้อ โดยสมาชิกไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
หมู่บ้านนี้มีสมาชิกประมาณ 500 คน ประกอบด้วย สมณะ (พระสงฆ์ผู้ถือวินัย 227 ข้อ) สิกขมาตุ (นักบวชหญิงถือศีล 10) ผู้เตรียมบวช เด็กนักเรียน และส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน มีเด็กเล็กที่ไม่ได้เข้าเรียน วัยรุ่นที่จบมัธยมแล้วและผู้สูงอายุเป็นส่วนน้อย เป็นการรวมตัวของผู้คนที่ศรัทธาในสมณะโพธิรักษ์ อันมีแนวทางการปฏิบัติที่ฝึกฝนตนเองตามแนวทางของศาสนาพุทธ
สมาชิกของหมู่บ้านทุกคนรับประทานอาหารมังสวิรัติ ถือศีล 5 เป็นอย่างต่ำ ฝึกปฏิบัติการดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย แต่งตัวคล้ายกัน คือ สวมเสื้อแขนกระบอก ฝ่ายชายสวมกางเกงทรงไทยใหญ่ ฝ่ายหญิงสวมผ้าถุง นิยมเสื้อผ้าสีน้ำเงิน ดำ หรือน้ำตาล ส่วนใหญ่เดินเท้าเปล่า ไม่ใส่เครื่องประดับ ไม่แต่งหน้า
ทุกคนในหมู่บ้านราชธานีอโศกจะอาสาทำงานโดยไม่รับเงินเดือนและรับผิดชอบงานตามความสมัครใจ แผนกการทำงานเกิดขึ้นตามความจำเป็นและนโยบายของหมู่บ้าน เรียกแผนกการทำงานต่าง ๆ ว่า “ฐานงาน” เช่น ฐานงานกสิกรรมไร้สารพิษ ฐานงานการศึกษาบุญนิยม ฐานงานสื่อสารบุญนิยม ฐานงานโรงครัว ฐานงานโรงสี เป็นต้น มักเรียกผู้ที่เป็นหลักในฐานงานว่าแม่ฐานหรือพ่อฐาน เรียกผู้ที่มาช่วยงานว่าลูกฐาน รายได้และค่าใช้จ่ายของฐานงานต่าง ๆ คิดเป็นรายได้ ค่าใช้จ่ายส่วนกลางของหมู่บ้าน
ศูนย์รวมทางจิตใจของสมาชิกในหมู่บ้าน คือ สมณะและสิกขมาตุ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสมาชิกและฐานงานต่าง ๆ อบรม แนะแนว แก้ปัญหาด้านจิตใจให้เป็นไปตามแนวทางพุทธศาสนา
สภาพโดยทั่วไปหมู่บ้านนั้นได้แบ่งพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรมและมีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้ ศึกษาดูงาน หรือฝึกงานกิจกรรมในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับ กสิกรรมไร้สารพิษ อาหารมังสวิรัติและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ บ้านดิน การบริหารจัดการชุมชนแบบสาธารณโภคี และความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบบุญนิยมในแนวคิดของสมณะโพธิรักษ์หรือสันติอโศก
สวนน้ำตก พุทธสถานราชธานีอโศก เป็นงานปูนปั้นเลียนแบบธรรมชาติ ผสมผสานจินตนาการได้อย่างงดงาม มีความสูงราว ๆ ตึก 5 ชั้น บริเวณน้ำตกปั้นเป็นหินรูปทรงต่าง ๆ ลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ เหมือนธรรมชาติ ภายในตกแต่งเป็นถ้ำสลับซับซ้อน มีห้องน้ำภายในสไตล์ถ้ำ บันไดขึ้นลงแต่ละชั้นก่อสร้างเป็นลวดลายเถาวัลย์เครือไม้เลื้อยลัดเลาะขึ้นไปอย่างวิจิตรพิสดาร ชั้นบนสุดเป็นดาดฟ้า มีระเบียงสำหรับชมภาพมุมสูงได้โดยรอบ 360 องศา มองเห็นทิวทัศน์ของราชธานีอโศกและธรรมชาติสองฟากฝั่งแม่น้ำมูลได้อย่างสวยงาม
ที่ตั้ง หมู่บ้านราชธานีอโศก
หมู่ที่ 10 ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ หมู่บ้านราชธานีอโศก
15.226272, 104.902662
บรรณานุกรม
ถึงดิน มุ่งมาจน. เกี่ยวกับหมู่บ้านราชธานีอโศก, 24 สิงหาคม 2559. https://banraj.wordpress.com/ราชธานีอโศก
Supawan. (2552). ราชธานีอโศก อุบลราชธานี, 24 สิงหาคม 2559. http://www.asoke.info/ratchathani/rat260609.htm