สถิติ ข้อมูลของจังหวัดอุบลราชธานี รายงาน ณ ปี 2564

สถิติและข้อมูลของจังหวัดอุบลราชธานี รายงานไว้ ณ ปี 2564 โดยรวบรวมจากรายงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน การใช้ที่ดิน การปลูกข้าว การปกครอง ประชากร ผลิตภัณฑ์มวลรวม ภาวะเศรษฐกิจ เศรษฐกิจการเกษตร การท่องเที่ยว เพื่อบริการข้อมูลพื้นฐานและประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งแสดงถึงภาพรวมของจังหวัดอุบลราชธานี

จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “แอ่งโคราช” สูงจากระดับน้ำทะเล เฉลี่ยประมาณ 68 เมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 15,745 ตารางกิโลเมตร (กรมการปกครอง, 2564)

  • ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดยโสธร และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • ทิศตะวันออก ติดสาธารณรัญประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • ทิศใต้ ติดราชอาณาจักรกัมพูชา และจังหวัดศรีสะเกษ
  • ทิศตะวันตก ติดจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดยโสธร

ลักษณะภูมิอากาศจังหวัดอุบลราชธานี

โดยทั่วไปจังหวัดอุบลราชธานีจะมีอากาศร้อนในฤดูร้อนและค่อนข้างหนาวในฤดูหนาว ส่วนในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ในปี 2564 มีฝนตกประมาณ 112 วัน ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้  1758.3 มิลลิเมตร มีอุณหภูมิระหว่าง 9.5-40.4 องศาเซลเซียส

การใช้ที่ดินในจังหวัดอุบลราชธานี

ทรัพยากรที่ดินของจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย

  • ดินร่วน – ดินร่วนปนทราย ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณท่ีราบลุ่มแม่นํ้า ปริมาณร้อยละ 25.5 ของพื้นที่ทั้งหมด
  • ดินร่วนทราย – ดินร่วนปนทราย เป็นดินตามบริเวณท่ีราบสูงท่ัวไป มีความอุดม สมบูรณต่ำ มีปริมาณรอยละ 38.5 ของพื้นท่ีทั้งหมด
  • ดินรวนปนทราย ส่วนใหญ่เป็นดินตามพื้นภูเขาและท่ีลาดชัน ดินมีความสมบูรณ์ ปานกลางมีปริมาณร้อยละ 7.5 ของพื้นที่ทั้งหมด

จากการสำรวจข้อมูลสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า มีเนื้อที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมด 9,840,526 ไร่  แบ่งเป็นเนื้อที่เพื่อการเกษตรกรรม ร้อยละ  54.51 เนื้อที่ป่าไม้ ร้อยละ 17.83 และมีแนวโน้มลงดลงทุกปี เนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรอื่น ๆ ร้อยละ 7.66 และเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร ร้อยละ 27.66

เนื้อที่นาข้าวของจังหวัดอุบลราชธานีมีมากที่สุดถึงร้อยละ 73.49 ของเนื้อที่เพื่อการเกษตรกรรมทั้งหมด โดยในปีเพาะปลูก 2562/63 พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 4,111,195 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,791,176 ไร่ ให้ผลผลิตข้าวทั้งหมด 1,383,990 ตัน โดยได้จากการปลูกข้าวนาปี 1,302,467 ตัน คิดเป็นร้อยละ 94.10 และผลผลิตส่วนใหญ่เป็นข้าวเจ้า

การปกครอง ประชากร และการบริหารในจังหวัดอุบลราชธานี

ในปี 2564 จังหวัดอุบลราชธานี แบ่งการปกครองส่วนภูมิภาค ออกเป็น 25 อำเภอ 216 ตำบล 2704 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งหมด 1,868,052 คน เป็นเพศชาย 932,286 คน และเพศหญิง 935,766 คน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 5-59 ปี ช่วงอายุที่มีประชากรมากที่สุด คือ อายุระหว่าง 45-49 ร้อยละ 8.1  รองลงมา คือ อายุระหว่าง 50-54 ร้อยละ 8 มีประชากรที่เป็นผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) ร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดอุบลราชธานี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ณ ราคาประจำปีหรือราคาตลาด (Gross Provincial Product at Current Market Prices) ของจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2562 มีมูลค่า 126,088 ล้านบาท ประกอบด้วย ภาคเกษตรมีมูลค่า  23,520 ล้านบาท และนอกภาคเกษตร มีมูลค่า 102,568 ล้านบาท โดยมีสาขาเกษตรกรรม การประมง และการป่าไม้มีสัดส่วนร้อยละ 18.7 เป็นสาขาการเกษตรหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 16.3 สาขาการขายส่งขายปลีกมีสัดส่วนร้อยละ 16.0 สาขาการศึกษามีสัดส่วน ร้อยละ 13.6 สาขาตัวกลางทางการเงินมีสัดส่วนร้อยละ 8.5 และสาขาอื่น ๆ มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 26.9 

โครงสร้างการผลิตหลักของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งประกอบด้วย สาขาขายส่งขายปลีก สาขาเกษตรกรรม การประมง และการป่าไม้ และสาขาอุตสาหกรรม เป็นสำคัญ โดยมีสินค้าปลีกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ทุเรียน และยางพารา อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้าว และมันสำปะหลัง แสดงให้เห็นว่าสาขาเกษตรกรรม การประมง และการป่าไม้มีความสำคัญต่การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จังหวัดอุบลราชธานีจึงให้ความสำคัญกับภาคเกษตร โดยเฉพาะการทำข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อพัฒนาอย่างครบวงจรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยังเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด

สาขาการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2564 ได้แก่ สาขาพืช มีสัดส่วนร้อยละ 75.2 ของผลิตภัณฑ์ภาคเกษตร หรือ GPP ภาคเกษตร รองลงมา คือ สาขาบริการทางการเกษตร สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ คิดเป็นร้อยละ 11.2, 10.7, 2.8 และ 0.1 ตามลำดับ รายละเอียดเพิ่มเติม 

ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดอุบลราชธานี

สำนักงานคลังจังหวัดอุบลราชธานี รายงานข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2564  ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดอุบลราชธานี ในปี 2564 คาดว่าขยายตัวร้อยละ 1.5 (ช่วงคาดการณ์ ร้อยละ 0.6-2.2) เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 17.1 โดยด้านอุปทานคาดว่าหดตัวจากภาคบริการและการท่องเที่ยวหดตัว จากการลดลงของมูลค่าการค้าปลีกในจังหวัด จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง และภาคเกษตรกรรมคาดว่าหดตัวทั้งมูลค่าพืชและปศุสัตว์ ส่วนภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์คาดว่าขยายตัวจากการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าเกษตร การใช้จ่ายภาครัญเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากมาตรการกระต้นเศรษฐกิจของรัฐบาลการบริโภคเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 1.4 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มพลังงานเชื้อเพลิงมีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจอุบลราชธานี ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 รายละเอียดเพิ่มเติม

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี รายงานไว้เมื่อปี 2562 ว่า พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว กข 6 มันสำปะหลัง และยางพารา สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ 

สินค้าเด่น/สินค้า GI ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี (Ubon Ratchathani Hommali Rice หรือ Khao Hommali Ubon Ratchathani) จังหวัดอุบลราชธานีได้ยื่นขอการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี” และได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ทะเบียนเลขที่ สข 60100094 ลักษณะเด่น ข้าวมีเมล็ดเรียวยาว ถ้าเป็นข้าวขาวจะมีสีขาวใส เป็นเงา มันวาว มีท้องไข่น้อยกว่าร้อยละ 6 เมื่อนำมาหุงสุกจะมีกลิ่นหอมและมีความเหนียวหนุ่มมียางข้าวเหนียวปนเล็กน้อยเนื่องจากมีพันธุ์เจือปนอยู่ตั้งแต่ในแปลงนาเป็นผลมาจากเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานีได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับปลูกข้าวเหนียวเพื่อไว้โบริโภคในครัวเรือน ข้อมูล ณ ปี 2562 พบว่ามีเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และบริษัท ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย รวม 7 กลุ่ม  เกษตรกรรวมจำนวน 394 ราย พื้นที่รับรอง 3,907 ไร่

ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ว่า ในปี 2564 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรอยู่ที่ระดับ 196.2 ลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง ได้แก่ ทุเรียน ข้าวเจ้านาปี ข้าวเหนียวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดลดลง ส่วนดัชนีราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ระดับ 277.6 ลดลงร้อยละ 16.3 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญลดลง ได้แก่ ข้าวเจ้านาปี ข้าวเหนียวนาปี ข้าวนาปรัง กระบือ โคเนื้อ ไก่เนื้อ และจับสัตว์น้ำจืดธรรมชาติ ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรอยู่ที่ระดับ 544.8 ลดลง 16.7

การท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี

ในปี 2562 มีจำนวนผู้มาเยือนทั้งหมด 3,217,865 คน เป็นชาวไทย 3,065,554 คน ชาวต่างประเทศ 152,311 คน มีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 7,997.57 ล้านบาท จำนวนวันพักเฉลี่ย 2.45  วัน  มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 1,369.40 บาทต่อคนต่อวัน มีห้องพักในสถานประกอบการพักแรมทั้งหมด 4,822 ห้อง จำนวนผู้เข้าพักทั้งหมด 1,414,337 คน

รายได้และหนี้สินต่อครัวเรือนในจังหวัดอุบลราชธานี

จากผลการสำรวจในปี 2564 พบว่า ครัวเรือนในจังหวัดอุบลราชธานีมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,969.28 บาท มีหนี้สินเฉลี่ย 215,715.07 บาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้สินเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ร้อยละ 57.84 เพื่อใช้ทำการเกษตร ร้อยละ 18.13 เพื่อใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและที่ดิน ร้อยละ 16.80

บรรณานุกรม

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี. (2565).รายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตร จังหวัดอุบลราชธานี ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 และแนวโน้มปี 2565. เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565, https://www.opsmoac.go.th/ubonratchathani-dwl-files-441891791399

สำนักงานคลังจังหวัดอุบลราชธานี. (2564). รายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2564 และปี 2565 ณ 30 ธันวาคม 2564. เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565, https://www.cgd.go.th/cs/Satellite?c=Page&childpagename=Klang_Ubonratchathani%2FPage%2Finternet4%2FListLayout&cid=1428492291880&d=Touch&page_locale=th_TH&pagename=Klang_Ubonratchathani

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2565). ข้อมูลสถิติสำคัญ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565,  http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/01.aspx

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง