ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี ถูกขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทะเบียนเลขที่ สช 60100099 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของจังหวัดอุบลราชธานีทำให้ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีที่ปลูกในจังหวัดอุบลราชธานีมีรสชาติและมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดอื่น ด้วยคุณภาพและความมีชื่อเสียง จึงทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค เป็นที่ต้องการของโรงสีและพ่อค้าข้าวทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เป็นต้น
กรมทรัพย์สินทางปัญญา (2565) ได้ให้ความหมาย สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) ว่า เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ
ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี (Ubon Ratchathani Hommali Rice หรือ Khao Hommali Ubon Ratchathani) หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ในฤดูนาปี ข้าวมีเมล็ดเรียวยาว ถ้าเป็นข้าวขาวจะมีสีขาวใส เป็นเงา มันวาว มีท้องไข่น้อยกว่าร้อยละ 6 เมื่อนำมาหุงสุกจะมีกลิ่นหอมและมีความเหนียวนุ่ม มียางข้าวเหนียวปนเล็กน้อย เนื่องจากมีพันธุ์ข้าวเจือปนอยู่ตั้งแต่ในแปลงนา เป็นผลจากเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานีได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับปลูกข้าวเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน
คุณค่าทางโภชนาการ
ข้าวหอมมะลิจังหวัดอุบลราชธานีนั้นมีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์ คือ มีกลิ่นหอม เมล็ดใส เรียวยาว เมื่อหุงหรือต้มแล้วจะหอม นุ่ม และรสชาติดี มีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ อุดมด้วยสารอาหาร วิตามิน และเเร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายมากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน ตลอดจนสรรพคุณทางโภชนบำบัด
ดินดี ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีจึงหอมและนุ่มกว่าใคร
จากบทความพิเศษของกรุงเทพธุรกิจ (2560) ได้กล่าวถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้วทำให้ข้าวหอมมะลิมีความหอมและมีคุณภาพกว่าที่อื่น ๆ ได้แก่
- Meijuan Li และคณะ พบว่า ข้าวหอมมะลินั้นมีสารที่มีชื่อว่า 2-Acetyl-1-Pyrroline (2AP) ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดความหอม และธาตุอาหารในดินที่ช่วยเพิ่มสาร 2AP ให้กับข้าวหอมมะลิ คือ แมงกานีส
- รณชัย ช่างศรีและคณะ พบว่า ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส และสังกะสีในดินก็สามารถเพิ่มสาร 2AP ให้กับข้าวหอมมะลิด้วยเช่นกัน
- ชนิดา ครองไชยและคณะ พบว่า ดินในจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ประกอบด้วย แมงกานีส 10.15 ppm แคลเซียม 120.21 ppm สังกะสี 0.98 ppm และฟอสฟอรัส 16.37 ppm โดยเฉพาะฟอสฟอรัสนั้น พบว่า ในดินธรรมชาติมีปริมาณสูงกว่าในจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน เมื่อเปรียบเทียบกับ จังหวัดอำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ นครราชสีมา มหาสารคาม สกลนคร และหนองคาย
- รณชัยและคณะ พบว่า ธาตุทองแดง ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ส่งผลเสียต่อความหอมของข้าวหอมมะลิ ปริมาณที่พบในดินของจังหวัดอุบลราชธานีนั้นมีธาตุทองแดงน้อยกว่าจังหวัดอื่น ๆ
จากงานวิจัยเหล่านี้ จึงทำให้พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมีความเหมาะสมในการปลูกข้าวหอมมะลิโดยธรรมชาติที่ให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิที่มีความหอมและความนุ่มกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดอื่นของภาคอีสาน จึงทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิของจังหวัดอุบลราชธานีมีราคาสูงไปด้วย
นอกจากนั้น แม้ว่าในปัจจุบันการทำนาข้าวของเกษตรกรจะเปลี่ยนจากการดำนาด้วยมือมาเป็นเครื่องจักร แต่คุณภาพของข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีก็ไม่ได้ลดลง เนื่องด้วยกรมการค้าได้ตั้งศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานีขึ้น เพื่อพัฒนาและขยายเมล็ดพันธุ์ จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิในจังหวัดอุบลราชธานีมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง การผลิต การจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และการเข้าถึงของเกษตรกร จึงเป็นไปอย่างมีระบบและมีคุณภาพ จึงทำให้เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์ที่ดีและมีความน่าเชื่อถือในการนำไปเพาะปลูกต่อไป
ลักษณะของสินค้าข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีตามมาตรฐาน GI
1.พันธุ์ข้าว : พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15
2.ประเภทของสินค้า : ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว
3. ลักษณะทางกายภาพ :
- ข้าวเปลือกมีสีฟาง
- เมล็ดข้าวกล้อง เรียวยาว มีสีน้ำตาล ขึ้นอยู่กับระดับของการสีข้าว
- เมล็ดข้าวขาว เรียวยาว ขาวใส เป็นเงา มันวาว มีท้องไข่น้อยกว่าร้อยละ 6 มีความยาวมากกว่า 7 มิลลิเมตร สัดส่วนความยาวต่อความกว้างมากกว่า 3.2 มิลลิเมตร เมื่อนำมาหุงสุกจะมีกลิ่นหอม และมีความเหนียวนุ่ม มียาวข้าวเหนียวปนเล็กน้อย
4. ลักษณะทางเคมี
- มีปริมาณอมิโลสของแป้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 13 และไม่เกินร้อยละ 18
- มีการสลายตัวในด่าง ระดับ 6-7
- มีปริมาณสารหอมในปริมาณ 0.1-0.2 ไมโครกรัม (ณ แปลงปลูก)
5. ลักษณะอื่น ๆ
- ความชื้นไม่เกินร้อยละ 14
- เมล็ดพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 92 และมีพันธุ์ข้าวอื่นปนไม่เกินร้อยละ 8
- สิ่งเจือปน ไม่เกินร้อยละ 0.2
- เมล็ดเหลือง ไม่เกินร้อยละ 0.2
กระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีตามมาตรฐาน GI
การปลูก
- ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี ต้องปลูกในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้น
- ปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวต้องมาจากแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เป็นมาตรฐาน และสามารถตรวจสอบคุณภาพได้ เช่น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุบลราชธานี ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี ศูนย์ข้าวชุมชนระดับตำบลที่กรมการข้าวตรวจรับรองคุณภาพแล้ว เป็นต้น
- การปลูก มี 3 วิธี ได้แก่ นาปักดำ นาหว่าน และนาหยอดข้าวแห้ง
- ฤดูกาลเพาะปลูก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคมของทุกปั
- การเก็บเกี่ยว จะเก็บเกี่ยวข้าวในระยะพลับพลึง (ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม)
การแปรรูป
- ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี ต้องแปรรูปในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เท่านั้น
- โรงสีที่ทำการแปรรูปต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน เช่น GMP
- กรณีโรงสียังไม่ได้รับรองมาตรฐาน ต้องมีการจัดการในเรื่องต่อไปนี้
การรับซื้อข้าวเปลือก
- ต้องมาจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเพาะปลูกและปฏิบัติตามวิธีการผลิตของข้าวหอมมะลิอุบลราชธานั
- มีการระบุชื่อเกษตรกร สถานที่ผลิตพันธุ์ข้าว วันที่ ปริมาณ และสรุปการรับซื้อให้ชัดเจน
- มีการแยกการจัดเก็บข้าวหอมมะลิและข้าวอื่น ๆ ให้ชัดเจน
- มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือกหอมมะลิอุบลราชธานี ได้แก่ ความชื้น เปอร์เซ็น ต้นข้าว สิ่งเจือปน เมล็ดเหลือง พันธุ์ปน เป็นต้น
การสีข้าว
- มีการบันทึกข้อมูลที่มา ปริมาณข้าวเปลือก ปริมาณข้าวสาร ในการแปรรูปข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี
- มีการล้างเครื่องตามกรรมวิธีที่ถูกต้อง เพื่อเตรียมการสีข้าวเปลือกข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี
- ต้องมีบรรจุภัณฑ์เฉพาะข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี และระบุชื่อผู้ผลิต วันที่ผลิต และปริมาณ
การบรรจุหีบห่อ
- รายละเอียดบนฉลากให้ประกอบด้วยคำว่า “ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี หรือ Ubon Ratchathani Hommali Rice หรือ Khao Hommali Ubon Ratchathani”
- ให้ระบุ น้ำหนัก และวันที่บรรจุ
ความสัมพันธ์ของข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีกับภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี
ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดอุบลราชธานี มีลักษณะทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มและที่ดอน สูงจากระดับน้ำทะเล 140-180 เมตร พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และแหล่งน้ำ แหล่งน้ำที่สําคัญได้แก่ แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ลําเซบก ลําเซบาย ตลอดจนลําโดมน้อย ลําโดมใหญ่ แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เป็นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลน ลักษณะของดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งเป็นดินที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี
ลักษณะภูมิอากาศ จังหวัดอุบลราชธานีได้รับอิทธิพลของมรสุมที่พัดประจําฤดูกาล 2 ชนิด คือ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพามวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนเข้าปกคลุมประเทศไทย ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยทําให้จังหวัดอุบลราชธานีมีอากาศหนาว เย็นและแห้งทั่วไป และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพามวลอากาศชื้นจากทะเลและมหาสมุทรเข้าปกคลุม ประเทศไทยในช่วงฤดูฝนตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคมทําให้มีฝนตกชุกทั่วไปมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ระหว่าง 1,600-1,800 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับ การเจริญเติบโตของข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี
จากลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิอากาศดังกล่าว ทําให้ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีรสชาติและลักษณะที่แตกต่างไปจากข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดอื่น
การพิสูจน์แหล่งกำเนิดข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี ตามมาตรฐาน GI
- ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีจะตัองมีการผลิตในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี และมีกระบวนการผลิตตามมาตรฐานข้างต้น
- กระบวนการผลิตจะต้องผ่านการควบคุมครวจสอบ คือ มีการขึ้นทะเบียนสมาชิกรวมทั้งต้องมีเอกสารกำกับเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ
ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สช 60100099 ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี
จากข้อมูลผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สช 60100099 ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานีของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมา พบว่า บุคคลที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และกระจายอยู่ในเขตอำเภอสำโรง อำเภอเดชอุดม อำเภอโพธิ์ไทร และอำเภอบุณฑริก และผู้ที่ได้รับอนุญาตที่อยู่ในลักษณะของกลุ่มเกษตรกร ได้แก่
- กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านข่าโคม (อนุญาตวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561-28 พฤษภาคม 2563)
- โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ บจก.ข้าวพันธุ์ดี (อนุญาตวันที่ 29 พฤศจิกายน 2561-28 พฤษภาคม 2563)
- กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านโนนสวรรค์ ต.สำโรง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี (อนุญาตวันที่ 4 ธันวาคม 2562-3 ธันวาคม 2564)
- บริษัท ทิพย์อุบล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต.หนองสิม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี (อนุญาตวันที่ 4 ธันวาคม 2562-3 ธันวาคม 2564)
- กลุ่มข้าวอินทรีย์บ้านหนองไฮ ตำบลหนองไฮ อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี (อนุญาตวันที่ 4 ธันวาคม 2562-3 ธันวาคม 2564)
- กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่สันทัศ ตำบลสมสะอาด อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี(อนุญาตวันที่ 4 ธันวาคม 2562-3 ธันวาคม 2564)
- กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านเกาะแกด ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี (อนุญาตวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564-3 กุมภาพันธ์ 2566)
- โครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดย บริษัท ข้าวพันดี จำกัด ตำบลบัวงาม อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี (อนุญาตวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564-3 กุมภาพันธ์ 2566)
บรรณานุกรม
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์. (2559). กระกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565, http://new.research.doae.go.th/GI/uploads/documents/สช60100099.pdf
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์. (2559). ความรู้เบื้องต้น เรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม2565, http://www.ipthailand.go.th/th/gi-012/item/ความรู้เบื้องต้น-เรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์.html
กรุงเทพธุรกิจ. (2560). GI ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565, https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/117781
เกียรติรัตน์ ชัยสกุลวงค์. (2565). เปิดตัว “ข้าวแสงแรกของประเทศ” หอมมะลิ GI ลุยตลาดข้าวหอมมะลิระดับโลก. เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565, https://www.thainewsonline.co/news/837943
ศูนย์ข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ. (2565). ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565, https://www.thairicedb.com/rice-detail.php?id=45