วัดผาสุการาม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่พุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ที่ชาววารินชำราบให้ความเลื่อมใสศรัทธา และเป็นวัดที่ให้การส่งเสริมประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี โดยจัดทำขบวนต้นเทียนพรรษาเข้าร่วมงานทุกปี นอกจากนั้นวัดนี้ยังเป็นศูนย์อบสมุนไพรของชุมชมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ประวัติวัดผาสุการาม อำเภอวารินชำราบ
วัดผาสุการาม เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีอาณาเขต ทิศเหนือ จดถนนเทศบาล 4 ทิศใต้ จดถนนเทศบาล 6 ทิศตะวันออก จดถนนเทศบาล 1 ทิศตะวันตก จดถนนเทศบาล เดิมเรียกว่า วัดบ้านดง เพราะมีป่าดงพงไพรมาก จึงเรียกชื่อวัดตามภูมิประเทศ วัดผาสุการามตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2506 ผู้เริ่มสร้างวัด คือ นายวิบูลเดช สุวรรณบูณ นายเป้ย บุญสีสด นายเล็ก วิเศษรอด พร้อมด้วยชาวบ้านได้เริ่มสร้างวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2490 โดยจับจองที่ดินประมาณ 24 ไร่ เมื่อ พ.ศ. 2507 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้ตั้งชื่อว่า วัดผาสุการาม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2510 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร
ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 12 เมตร ยาว 25.50 เมตร ศาลาการเปรียญ กว้าง 14 เมตร ยาว 33 เมตร กุฏิสงฆ์ จำนวน 21 หลัง เป็นอาคารไม้ 5 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 15 หลัง และตึก 1 หลัง วิหาร กว้าง 10 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 9 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2521 และศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง
การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระครูพิศาลคุณวุฒิ พ.ศ. 2500-2501 รูปที่ 2 พระมหาอุดม อุตฺตโม พ.ศ. 2503-2508 รูปที่ 3 พระครูนพกิจโกศล พ.ศ. 2508-2520 รูปที่ 4 พระครูถาวรธรรมสถิต ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2503 และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2518
ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดผาสุการาม คือ พระพุทธไสยาสน์ องค์ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานในขณะนั้น โดยได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2508 โดย พระเทพมลคลเมธี เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ในขณะนั้น
นอกจากนั้นแล้ว วัดผาสุการามยังมีภายในวัดยังมีศูนย์อบสมุนไพรซึ่งเป็นที่นิยมของคนทั่วไปเป็นอย่างมาก
พระเจ้าใหญ่พุทธไสยาสน์ วัดผาสุการาม
พระเจ้าใหญ่พุทธไสยาสน์ วัดผาสุการาม เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีพระพุทธลักษณะน่าเคารพบูชา ทรงไสยาสน์อยู่บนแท่นขนาดยาว 18 เมตร กว้าง 3.50 เมตร สูง 1.08 เมตร ขนาดองค์จากยอดพระเกศถึงพื้นพระบาท ยาว 17 เมตร สูงจากพระแท่นถึงยอดพระเกศ 3.70 เมตร
พระเจ้าใหญ่พุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีพุทธลักษณะงดงามน่าเคารพบูชา ทรงไสยาสน์อยู่บนพระแท่นดอกบัวที่สวยงาม พระแท่นไสยาสน์ขนาดยาว 18 เมตร กว้าง 3.50 เมตร สูง 1.20 เมตร ผินพระพักตร์สู่ทิศบูรพา พระเศียรไปทางทิศใต้ พระบาทไปทางทิศเหนือ การสร้างพระเจ้าใหญ่พุทธไสยาสน์ จากการดำริของชาวบ้านที่เห็นว่าอำเภอวารินชำราบเป็นเมืองคู่กันกับเมืองอุบลราชธานี แต่ชาวอำเภอวารินชำราบไม่มีปูชนียวัตถุที่สำคัญเป็นที่เคารพ ฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี มีมากมาย ดังนั้นจึงได้สร้างพระเจ้าใหญ่พุทธไสยาสน์ ให้เป็นที่กราบไหว้ของชาวอำเภอวารินชำราบ (วันอังคาร ปางไสยาสน์)
พระพุทธรูปปางไสยาสน์นี้ อยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา เมื่อคราวจะปรินิพพาน หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย พระหัตถ์ซ้ายทอดทายไปตามพระวรกายเบื้องซ้าย พระหัตถ์ขวาหงายวางอยู่ที่พื้นข้างพระวรกาย พระบาทซ้ายทับพระบาทขวา ลักษณะตั้งซ้อนกัน ประวัติและความสำคัญ พระพุทธเจ้าครั้นโปรดสุภัททปริพาชกให้บรรพชาอุปสมบทและให้สำเร็จเป็น พระอริยเจ้าเป็นปัจฉิมสาวกแล้ว ต่อมาพระอานนท์จึงได้ทูลถามพระองค์ว่า พระฉันนะ ถือตัวว่าเป็นข้าเก่า ติดตามพระองค์คราวเสด็จออกบวช เป็นคนว่ายากสอนยาก แม้จะกรุณา เตือนแล้วก็ตาม เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ยิ่งจะว่ายากขึ้นไปอีก หาผู้ยำเกรงมิได้ ข้าพระองค์จะพึงปฏิบัติต่อพระฉันนะนั้นอย่างไร พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือ ไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงโอวาท ไม่พึงสั่งสอน เมื่อถูกพรหมทัณฑ์แล้ว จะสำนึกผิดเอง ครั้นแล้วพระพุทธเจ้า ได้ตรัสปัจฉิโมวาท เตือนว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรม เธอทั้งหลาย จงทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ในลำดับแห่งการพิจารณา องค์แห่งจตุถฌาน ก็บังเกิดมหัศจรรย์แผ่นดินใหญ่ไหวสะเทือนสะท้าน เกิดการโลมชาติ ชูชันขันพองสยองเกล้า กลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ พร้อมกับการปรินิพพานของ พระพุทธเจ้า บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพากันเศร้าโศก ร่ำไห้ คร่ำครวญถึงพระองค์พระอานนท์ และพระอนุรุทธเถระได้แสดงธรรมเพื่อปลอบโยนมหาชน พุทธศาสนิกชนเมื่อรำลึกถึงการเสด็จปรินิพพานของพระองค์ จึงได้สร้าง พระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เพื่อบูชาพระพุทธองค์
คาถาสวดบูชาพระเจ้าใหญ่พุทธไสยาสน์
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต สุขัง
สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เส ฯ
ที่ตั้ง วัดผาสุการาม
เลขที่ 368 ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดผาสุการาม
15.189374, 104.864394
บรรณานุกรม
วัดผาสุการาม, วันที่ 9 สิงหาคม 2559. http://www.warincity.go.th/
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 5 สิงหาคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple