หมูยอ กวยจั๊บ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมและขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี โดยชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผู้นำวัฒนธรรมการกินและการทำอาหารนี้มาเผยแพร่และสร้างความโดดเด่นขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับ สามารถประกอบเป็นอาชีพและฐานะได้อย่างมั่นคง นอกจากนั้นแล้ว ฝีมือเชิงช่างญวนที่ฝากไว้ในงานสถาปัตยกรรมของศาสนาคารก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน
ชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานี
อุบลวรรณ รัตนวีรเมธีกุล (2550) ได้อ้างถึง อมรา พงศาพิชญ์ (2545: 167-174) ว่า คนเวียดนามที่อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานีนั้นจะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้ทั้งหมด ได้มีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในประเทศไทยเรื่อย ๆ จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพบว่ามีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ นครพนม สกลนคร เลย อุบลราชธานี หนองคาย สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ซึ่งสาเหตุของการอพยพเข้ามานั้นก็เพื่ออพยพเพื่อลี้ภัยทางการเมืองและศาสนา และถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยสงคราม
ชาวเวียดนาม หรือ ที่ชาวอีสานเรียกว่า “แกว”จะมีทั้งที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ เมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้วก็ยังคงยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวเวียดนามสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำมาหากินด้วยการประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งเกษตรกรรม งานช่าง ค้าขาย โดยเฉพาะการทำร้านอาหารจะมีความโดดเด่นมาก เป็นการนำเอาวัฒนธรรมการบริโภคของชนชาติตนเองที่ติดตัวมาพัฒนาให้เป็นอาชีพได้และทำให้อาหารเวียดนามเป็นที่นิยมและสร้างชื่อเสียงแก่หลาย ๆ จังหวัดในภาคอีสาน เช่น ก๋วยเตี๋ยว กวยจั๊บ เมี่ยงสด เมี่ยงทอด หมูยอ
ชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามารุ่นแรกส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่นิคมสายกลางหรือคุ้มท่าวังหิน ต่อมาจึงได้มีการขยับขยายไปอยู่ทั่วเขตเทศบาล และอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณโรงเรียนจีน ประกอบอาชีพปลูกผัก และรับจ้างทั่วไป แต่ภายหลังรัฐบาลไทยได้ให้การอุปการะช่วยเหลือและยินยอมให้ทำมาหากินได้โดยอิสระเสรี ด้วยอุปนิสัยและอัตลักษณ์ของชาวเวียดนามที่เป็นคนขยัน อดทน และสู้งาน จึงทำให้ชาวเวียดนามประกอบอาชีพเกือบทุกประเภทและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และประสบความสำเร็จมากที่สุดกับธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนในท้องถิ่นและเป็นธุรกิจที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีร้านจำหน่ายอาหารเวียดนามทั้งในตลาดสดและเปิดเป็นร้านจำหน่ายกว่า 30 ร้าน ได้แก่ ร้านจำหน่ายแหนมเนือง ปอเปี๊ยสด ขนมจีนทรงเครื่อง ร้านจำหน่ายหมูยอ แหนม ขนมปากหม้อญวน ขนมเบื้อง ข้าวเปียกเส้น หมูย่าง เลือดแปลง ไส้อั่วเวียดนาม เป็นต้น และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงชาติพันธุ์ของชาวเวียดนามที่ชัดเจนมาก
ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมฝีมือเชิงช่างญวนในศาสนาคาร
การอพยพเข้ามาประเทศไทยชองชาวเวียดนามนอกจากจะนำวัฒนธรรมอาหารเข้ามาด้วยแล้ว ยังมีความโดดเด่นในฝีมือเชิงช่างงานสถาปัตยกรรมอีกด้วย โดยนำเทคนิควิธีการ ศิลปกรรมเข้ามาผสมผสานกับงานของสกุลช่างพื้นถิ่นและช่างอื่นที่ปรากฏในศาสนาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างสิม ที่ติ๊ก แสนบุญ (2560) กล่าวไว้ว่า การสร้างสิมจะใช้กลุ่มช่างญวนเป็นนายช่างในการก่อรูป และจะใช้ช่างพื้นถิ่นในการทำงานไม้แกะสลักบานประตู หน้าต่าง คันทวย เครื่องลำยอง หรืองานตกแต่งอย่างฮูปแต้ม
ในระยะแรกกลุ่มช่างญวนมักเนินรูปทรงและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมง่าย ๆ แต่ก็มีบางแห่งที่ให้ช่างได้แสดงผลงานเชิงศิลปะญวนอย่างเต็มที่ดังปรากฎให้เห็นในรูปลวดลายประดับ เช่น สิมและหอแจกวัดอันตรมัคคาราม วัดราษฎร์ประดิษฐ์ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ธรรมมาสน์และหอแจกวัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก จังหวัดอุบลราชธานี ในจังหวัดอุบลราชธานีและในแถบอีสานใต้ มีนายช่างที่มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นมาก คือ องนา เวียงสมศรี ลักษณะงานช่างมีทั้งงานศิลปะแบบไทย แบบญวนผสมตะวันตก
ชวลิต อธิปัตยกุล (2557) ให้ข้อมูลว่า ช่วง พ.ศ.2434-2450 เป็นช่วงเริ่มต้นในการนำรูปแบบสิมญวนเข้ามาผสมกับรูปแบบพื้นถิ่น และเริ่มต้นแบบฝีมือช่างญวน โดยมีปัจจัยในการก่อสร้างที่ได้มาจากเจ้าเมืองในช่วงนั้นเป็นผู้อุปถัมภ์ และทางวัดได้จ้างช่างเข้ามาช่วยในการตกแต่งเฉพาะบางส่วน รูปแบบของสิมญวนมีความชัดเจนขึ้น คือ ระหว่าง พ.ศ.2443-2510 ถือได้ว่าเป็นรูปแบบงานศิลปะสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะของตนเองที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน
สิ่งประดับตกแต่งในสิมแบบฝีมือช่างญวน คือ คติของคนญวนได้ถ่ายทอดให้กับสิมในภาคอีสานโดยเฉพาะ ลวดลายที่ใช้ในการประดับตกแต่ง เช่น มังกร หงส์ รูปบุคคลยืนเฝ้าประตูทางเข้า ค้างคาว ดอกโบตั๋น ลายลู่อี้ มังกรที่ราวบันได ซึ่งเป็นแบบสัญลักษณ์ที่มีความหมายในทางที่ดี
เทคนิคและวิธีการเชิงช่างญวนที่ใช้ในการก่อสร้างสิม เริ่มที่ผังพื้นแปลนที่อาจจะไม่แตกต่างจากช่างพื้นถิ่นเท่าใดนัก เช่น แบบมีมุขหน้า 3 ช่วงเสาทางด้านข้าว ไม่รวมมุขหน้า แต่มีสิ่งที่ต่างกันบ้างแต่ไม่มาก คือ แปลนของสิมทรงโรง ช่างญวนจะใช้วิธีการก่อผนังให้มีความหนามากกว่าปกติเพื่อรองรับโครงสร้างหลังคาแทนการใช้เสาแบบช่างพื้นถิ่น มีการสร้างบันไดทางขึ้นแบบที่ด้านหน้าผายออกเสมอตามแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากช่างฝรั่งเศส มีการตกแต่งเสาของราวบันไดและที่ราวบันไดนิยมเจาะช้องวงรีทางตั้ง และแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมซี่ ๆ เสมอ ภายหลังจึงมีการปั้นเป็นรูปมังกรหรือพญานาคที่คิ้วบัวที่ราวบันไดด้วย การประดับตกแต่งส่วนบริเวณมุขด้านหน้าจะใช้เทคนิคก่อผนังไปจบด้วยมุมจั่ว ตกแต่งด้วยรูปปั้นนูนต่ำ และสร้างซุ้มวงโค้ง ซึ่งเป็นความโดดเด่นและเป็นเทคนิคทางช่างญวนที่ได้สร้างความแตกต่างไว้อย่างชัดเจนในสิมอีสาน
บรรณานุกรม
ชวลิต อธิปัตยกุล. (2557). รูปแบบสิมญวนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับพัฒนาการทางงานช่าง. ดำรงวิชาการ. วารสารรวมบทความทางวิชาการ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร 13(2), หน้า 148-182
ติ๊ก แสนบุญ. (2560). “สิมอีสาน” ในยุคประชาธิปไตยและความเป็นไทย ช่วง พ.ศ. 2475-2500. เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.silpa-mag.com/history/article_13602
ติ๊ก แสนบุญ. (2562). “พุทธศิลป์อีสาน” พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง ทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม. เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566, http://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=4645&filename=index
นัทธ์หทัย วนาเฉลิม. (2563). ลัดเลาะริมโขง ชมเชิงช่างญวน แกะรอยสถาปัตยกรรมสิมโบสถ์ที่สร้างโดยช่างญวน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566, https://readthecloud.co/sim-isan-thailand/
ลลิดา บุญมี. (2559). ความสำคัญของการตั้งถิ่นฐานของชาวเวียดนามในอุบลราชธานีต่อพื้นที่ประวัติศาสตร์เมืองอุบล. การประชุทวิชาการทางสถาปัตยกรรม “สรรค์สาระสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ประจำปี 2559 วันที่ 24 มิถุนายน 2559. ขอนแก่น : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
อุบลวรรณ รัตนวีรเมธีกุล. (2550). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวเวียดนามในจังหวัดอุบลราชธานี : กรณีศึกษาในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.