พุทธศาสนาฝ่ายธรรมยุติกนิกายเผยแผ่เข้ามาสู่อีสานครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร นอกจากการนำแนวปฏิบัติมาสู่คณะสงฆ์แล้ว งานสถาปัตยกรรมก็มีสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าเป็นวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายอย่างมีเอกลักษณ์ นั่นคือ หน้าบันของอุโบสถแบบไม่มีไขราหน้าจั่วประดับเครื่องลำยองนาค การตกแต่งปูนปั้นลายพฤกษา และเจดีย์กลม อุโบสถของวัดสุปัฏนารามวรวิหารก็เป็นต้นแบบของอุโบสถวัดธรรมยุติกนิกายหลาย ๆ วัดในอุบลราชธานี
ธรรมยุติกนิกาย คือ อะไร
สุปรีดิ์ ณ นคร (2564) กล่าวว่า ธรรมยุตินิกาย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ธรรมยุต” มีความหมายว่า ผู้ประกอบด้วยธรรม หรือชอบด้วยธรรม หรือยุติตามธรรม มีจุดเริ่มต้นขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่พระสงฆ์มีความย่อหย่อนต่อพระวินัยอย่างต่อเนื่อง โดยที่อำนาจรัฐไม่สามารถควบคุมพระสงฆ์ได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจของบ้านเมือง ทำให้การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นราชกิจสำคัญและโดดเด่นที่สุดในรัชกาลนี้ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของพระวชิรญาณเถร หรือสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎที่ได้ทรงผนวชตั้งแต่ต้นรัชกาล พระองค์ได้ทรงพยายามที่จะนำเสนอแนวทางในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์และสมบูรณ์ ทั้งในการพระศาสนาและคณะสงฆ์ ทั้งในเรื่องวัตรปฏิบัติและแนวทางการเข้าถึงแนวคิดทางศาสนาจากพระไตรปิฎก จนเกิดเป็นแบบแผน “ธรรมยุติกวัตร” ขึ้น ซึ่งส่งอิทธิพลออกไปสู่คณะสงฆ์ภายนอกอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา
เมื่อเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แล้วทรงมีบทบาทในการส่งเสริมการขยายตัวของคณะธรรมยุติกนิกายให้คณะสงฆ์ได้ซึมซับรับรู้แนวคิดทางพระศาสนาที่มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยมากยิ่งขึ้น จึงเกิดวัดวาอารามที่สังกัดคณะธรรมยุติกนิกายเพิ่มขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของคณะธรรมยุติกนิกายทั้งในพระนครและหัวเมือง ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการยอมรับในอุดมการณ์หรือหลักการปฏิบัติของธรรมยุติกนิกาย
ความเหมือน ความต่างของมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย
คมชัดลึกออนไลน์ (2564) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเหมือนและความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย มีดังนี้
- สมณวงศ์ เป็นวงศ์เถรวาทเดียวกันจากลังกา และเป็นนิกายมหาวิหารของลังกาเหมือนกัน ข้อนี้ไม่มีความแตกต่างกัน
- จำนวนพระสงฆ์ โดยคณะสงฆ์สายเถรวาทในประเทศไทยนั้น แบ่งย่อยเป็น 2 นิกายด้วยกัน คือ มหานิกาย ซึ่งมีพระสงฆ์อยู่จำนวนกว่า 80% ของพระสงฆ์ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกกว่า 10% คือพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกาย
- พัทธสีมา ในกรณีของพระสงฆ์ธรรมยุติ จะมีการผูกพัทธสีมาโดยพระสงฆ์ธรรมยุติเอง ไม่สามารถไปใช้พัทธสีมาลงอุโบสถ ทำสังฆกรรม อุปสมบทพระในพระอุโบสถที่เป็นพัทธสีมาของพระมหานิกายได้
- การทำสังฆกรรม ลงอุโบสถ สวดปาฏิโมข์ร่วมกันไม่ได้ ต้องแยกกันทำคนละวัด ต่างก็ต้องมีพัทธสีมาของตนของตน
- การออกเสียงในภาษาบาลีในการทำสังฆกรรม คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เกรงว่า กรรมวาจาจะวิบัติ ก็เลยต้องสวดออกเสียงบาลีให้ถูกต้องตามสำเนียงภาษามคธ แต่พระสงฆ์มหานิกายออกเสียงบาลีตามสำนียงภาษาไทย
- ปฏิทินจันทรคติในการทำสังฆกรรม โดยวันพระของวัด ธรรมยุติกนิกาย จะแตกต่างจากวันพระทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นวันพระมหานิกาย และวันลงอุโบสถทำสังฆกรรมก็อาจจะต่างวันกัน อันเนื่องมาจากการคำนวณปฏิทินแตกต่างกัน เรียกว่าปฏิทินปักขคณนา
- วิธีการบวช แตกต่างกันเรื่องปลีกย่อยเล็กน้อย โดยการบวชแบบธรรมยุติกนิกายเรียกว่า การบวชแบบเอสาหัง ส่วนการบวชแบบมหานิกายเรียก การบวชแบบอุกาสะ
- การรับปัจจัยเงินทอง ปกติพระทั้งหลาย ย่อมไม่รับปัจจัยอยู่แล้วโดยพระวินัย แต่พระธรรมยุติก็จะเปลี่ยนวิธีการรับโดยใช้ใบปวารณาแทน ไม่ได้รับโดยตรง แต่บางรูปก็ไม่รับเลยก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ
- สีผ้า ส่วนมากมหานิกาย ครองผ้าสีเหลืองส้มสด พระนิกายธรรมยุติจะครองสีหม่นกว่า แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป แล้วแต่ว่าจะเป็นวัดป่า หรือวัดบ้านก็จะครองสีกรัก หรือสีแก่นขนุน ซึ่งก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ
- การครองจีวร ปัจจุบันนี้แยกค่อนข้างยาก ในเรื่องการห่มดองห่มคลุม ห่มมังกร ก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ แต่เวลาทำสังฆกรรม พระสงฆ์มหานิกาย ก็จะมีผ้ารัดอก ซึ่งเป็นแบบแผนของมหานิกายที่เห็นได้ชัดเจน
- การฉัน ส่วนจริยาวัตรอื่น ๆ เช่น การฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว ฯลฯ ก็เป็นวัตรปฏิบัติของทั้งธรรมยุติ และมหานิกาย แต่ธรรมยุติ จะไม่ฉันนมในเวลาหลังเพล หรือ น้ำผลไม้ที่มีกากปนลงไป ถือว่าเป็นอาหารไม่ใช่น้ำปานะ หรือน้ำอัฐบาล
การขยายธรรมยุติกนิกายสู่อุบลราชธานี
เปรมวิทย์ ท่อแก้ว (2534) กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2394 ได้มีการก่อตั้งวัดธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคอีสานที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับการอุปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และได้อาราธนาพระสงฆ์จากภาคอีสานที่มาอุปสมบทในกรุงเทพฯ เดินทางกลับไปยังเมืองอุบลราชธานีเพื่อเผยแผ่วัตรปฏิบัติของธรรมยุติกนิกาย
สุพัตรา ทองกลม (2558 ) ได้กล่าวถึงเหตุปัจจัยในการตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นในเมืองอุบลราชธานี คือ
- อุบลราชธานีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับจำปาศักดิ์ประเทศราชเมืองลาวและประเทศราชเมืองเขมร
- เมืองอุบลราชธานีมีผู้ปกครองที่มีความสามารถและจงรักภักดีต่อสยามมาโดยตลอด รัชกาลที่ 4 จึงทรงมั่นพระทัยว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองหรือชนชั้นนำในพื้นที่
- รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระลูกศิษย์เป็นคนอุบลราชธานีที่เกิดในตระกูลที่รับราชการปกครองเมืองอุบลราชธานี และทรงมั่นพระทัยว่าเข้าใจความเป็นธรรมยุติกนิกายและจะได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่หากส่งตัวกลับไปที่อุบลราชธานี
ธรรมยุติกนิกายนั้นได้ขยายตัวได้ดีในภาคอีสานและได้รับความสนใจจากพระสงฆ์และประชาชนอย่างมาก เนื่องจากได้รับการอุปถัมภ์จากกลุ่มผู้ปกครองทั้งจากกรุงเทพฯ และในท้องถิ่น และการจัดการศึกษาของธรรมยุติกนิกายช่วยในการเลื่อนสถานะทางสังคมได้เป็นอย่างดี
สถาปัตยกรรมของวัดธรรมยุติกนิกายในจังหวัดอุบลราชธานี
จากการศึกษาของสุพัตรา ทองกลม (2558 ) ได้กล่าวไว้ว่า นโยบายการปกครองในแต่ละรัชกาลนั้นส่งผลต่อการกำหนดบทบาทของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในภาคอีสาน อันเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถาปัตยกรรมในวัดธรรมยุติกนิกายเช่นกัน จึงแบ่งพัฒนาการของสถาปัตยกรรมออกได้เป็น 3 ยุค คือ
วัดธรรมยุติกนิกายยุคที่ 1 ยุคก่อตั้งวัดธรรมยุตินิกาย พ.ศ. 2394–2452 สมัยรัชกาลที่ 4-5 โดยเริ่มต้นที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร และได้รับการสนับสนุนให้สร้างเพิ่มอีก 3 วัด คือ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) วัดสุทัศนาราม และวัดไชยมงคล ในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร และวัดหอก่อง (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดยโสธร) มีบางวัดที่เปลี่ยนมาเป็นวัดในธรรมยุติกนิกาย ได้แก่ วัดเลียบ และวัดใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี ภาระกิจที่โดดเด่นของธรรยุติกนิกายในยุคนี้อีกอย่างคือ การส่งเสริมการศึกษา ซึ่งในมณฑลอีสาน (อุบลราชธานี) โดยมีพระญาณรักขิต (สิริจันโท จัน) เป็นผู้อำนวยการ ด้านสถาปัตยกรรมยุคนี้จะยังไม่มีลักษณะเฉพาะ แต่มีลักษณะอย่างพื้นถิ่นในท้องที่นั้น ๆ
วัดธรรมยุติกนิกายยุคที่ 2 ช่วง พ.ศ. 2453–2480 สมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองและรัชกาลที่ 8 เป็นช่วงที่มีการปลูกฝังแนวคิด “ชาตินิยม” เป็นช่วงที่วัดธรรมยุติกนิกายขยายตัวมากที่สุดทั้งทั้งภาคอีสาน โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ได้ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ด้วยหลัก 3 ประการ คือ 1) การจัดระเบียบวัดในมณฑลอีสานให้เป็นหมวดหมู่ 2) การศึกษา 3) ส่งเสริมให้ผู้คนอยู่ในศีลธรรม และได้จำกัดความเรียกว่าภาคอีสานว่า “ถิ่นไทยดี” เพื่อให้สอดรับกับนโยบายชาตินิยม
สถาปัตยกรรมของวัดธรรมยุติกนิกายเริ่มมีเอกลักษณ์โดยใช้รูปแบบวัดธรรมยุติกนิกายจากกรุงเทพฯ ผสมตะวันตก พื้นถิ่น และงานช่างจีนและญวน ลักษณะสถาปัตยกรรม คือ มีหน้าบันแบบไม่มีไขราหน้าจั่ว ประดับเครื่องลำยองนาค ตกแต่งปูนปั้นลายพฤกษาและเจดีย์กลมที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดธรรมยุติกนิกาย เอกลักษณ์และรูปแบบนี้ช่วยย้ำบทบาทของวัดธรรมยุติกนิกายในอุบลราชธานีว่าเป็นผู้นำทางศาสนาและส่งเสริมงานช่างสนองแนวทางของรัชกาลที่ 6 ได้เป็นอย่างดี สถาปัตยกรรมยุคนี้ได้แก่ อุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร และวัดที่สร้างโดยมีต้นแบบจากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ได้แก่ วัดสุทัศนาราม วัดสุภรัตนาราม (อำเภอวารินชำราบ) และวัดบ้านหนองเป็ด (อำเภอนาตาล)
วัดธรรมยุติกนิกายยุคที่ 3 พ.ศ.2481-ปัจจุบัน หรือต้ังแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา งานสถาปัตยกรรมของวัดธรรมยุติกนิกายในยุคนี้เน้นความทันสมัยตามกระแสโลก มีการกำหนดให้สร้างอุโบสถตามแบบมาตรฐาน ก ข ค เพื่อให้เป็นรูปแบบในทางเดียวกันทั้งชาติ และการสร้างอุโบสถที่คงองค์ประกอบอุโบสถแบบวัดสุปัฏนารามวรวิหารไว้ จึงเห็นงานสถาปัตยกรรมเกิดขึ้น 2 ลักษณะ คือ การตกแต่งหน้าบันด้วยรูปปั้นเจดีย์ทรงระฆัง ได้แก่ วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดแสนสำราญ (อำเภอวารินชำราบ) วัดบ้านแคน (อำเภอตาลสุม) และการใช้องค์ประกอบของอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหารตกแต่งอุโบสถ เช่น ซุ้มเสมา ได้แก่ วัดสระแก้ว (อำเภอพิบูลมังสาหาร) วัดเลียบ วัดใต้
บรรณานุกรม
คมชัดลึกออนไลน์. (2564).มหานิกาย-ธรรมยุติกนิกาย ความเหมือนที่แตกต่าง การเมืองในศาสนจักร. เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.komchadluek.net/scoop/491603
เปรมวิทย์ ท่อแก้ว. (2534). การก่อตั้งและขยายตัวของธรรมยุติกนิกายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ศ.2394-2473). วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุปรีดิ์ ณ นคร. (2564). ความเปลี่ยนแปลงของคณะสงฆ์มหานิกายภายใต้อิทธิพลของธรรมยุติกนิกายในช่วงการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445-2484). วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
สุพัตรา ทองกลม. (2558 ).วัดธรรมยุติกนิกายในจังหวัดอุบลราชธานี. หน้าจั่ว ฉ.12. หน้า 354-383
ธรรมยุต (Dhammayut). (2566). ธรรมเนียมและแบบแผนของธรรมยุติกนิกาย. เข้าถึงเมือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566, https://dhammayut.org/role/#begin