การประกวดต้นเทียนพรรษาเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นมาอย่างยาวนานเพื่อสร้างคุณค่า สร้างขวัญและกำลังใจให้กับช่างทำเทียนพรรษาและคุ้มวัดที่นำเทียนพรรษาเข้าร่วมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
การประกวดต้นเทียนพรรษาของอุบลราชธานีที่ผ่านมา
ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี การประกวดต้นเทียนพรรษาจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ถูกจัดขึ้นมาอย่างยาวนานเกือบทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคุณค่า สร้างขวัญและกำลังใจให้กับช่างทำเทียนพรรษาของคุ้มวัดหรือชุมชนต่าง ๆ และในทางอ้อมก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำขบวนเทียนพรรษาเพื่อเข้าร่วมในงานประเพณีสำคัญประจำจังหวัดอุบลราชธานี
จากการบอกเล่าของนายประดับ ก้อนแก้ว ครูภูมิปัญญาไทย ศิลปินช่างทำเทียนผู้สั่งสมองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการทำเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ได้กล่าวไว้ว่า จังหวัดอุบลราชธานี ได้ปรากฏว่ามีการทำต้นเทียนพรรษาเพื่อการประกวดครั้งแรก ในปี พ.ศ.2480 ซึ่งมีต้นเทียนเข้าร่วมการประกวดเพียง 4 ต้นเท่านั้น เป็นต้นเทียนที่มีรูปแบบเรียบง่ายคล้ายเทียนติดพิมพ์ ต่อมาจึงมีการพัฒนาและการสร้างสรรค์มากขึ้นจนเป็นรูปแบบของเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ในปัจจุบัน รวมทั้งมีการสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อประดับต้นเทียนพรรษาให้โดดเด่นขึ้น
จนกระทั่งปี พ.ศ.2502 จึงมีต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักเข้าร่วมการประกวด โดยการสร้างสรรค์ของช่างคำหมา แสงงาม และในปี พ.ศ.2503 จังหวัดอุบลราชธานีก็ได้มีการแบ่งประเภทการประกวดต้นเทียนพรรษาออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทแกะสลัก ติดพิมพ์ และเทียนโบราณแบบมัดรวม
ในปี พ.ศ.2520 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) ได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้การจัดงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นงานระดับชาติ จึงเริ่มมีชุมชนและวัดต่าง ๆ ส่งต้นเทียนพรรษาเข้าร่วมประกวดมากขึ้น ทำให้งานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีได้รับคำชื่นชมว่าสวยงามและยิ่งใหญ่
ในปี พ.ศ. 2542 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เข้ามาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการจัดงานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นประเพณีประจำจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้ประเพณีนี้มีความยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงโด่งดังไปอย่างกว้างขวาง จึงมีแนวคิดในการตั้งชื่องานให้สอดคล้องกับรูปแบบการจัดงานในแต่ละปี เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยว และหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ต้องจัดทุกครั้งมาโดยตลอด คือ การประกวดต้นเทียนพรรษา หลังจากนั้นก็มีการจัดการประกวดเรื่อยมา น้อยนักที่จะมีข้อจำกัดจนทำให้ต้องยกเลิกหรือไม่จัดกิจกรรมนี้ขึ้น
เกณฑ์การประกวดต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี
เกณฑ์การประกวดต้นเทียนพรรษาในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีนั้น จะมีการแบ่งประเภทต้นเทียนที่ส่งเข้าประกวดออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และประเภทเทียนโบราณแบบดั้งเดิม (เทียนฟั่นหรือนำมามัดรวมกัน) และในแต่ละประเภทจะแบ่งขนาดต้นเทียนออกเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก
ในปี 2565 จังหวัดอุบลราชธานีได้กำหนดขนาดของต้นเทียนพรรษาประเภทต่าง ๆ ไว้ดังนี้
ขนาดเทียนพรรษาประเภทแกะสลักและประเภทติดพิมพ์
- ขนาดใหญ่ (สูง 2.5-3 เมตร) เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร วัดจากพื้นดินถึงยอดเทียนไม่เกิน 5 เมตร ฐานรองรับต้นเทียนส่วนที่แคบที่สุดต้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 20 ตารางเมตร
- ขนาดกลาง (สูง 1-2.5 เมตร) เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร วัดจากพื้นดินถึงยอดเทียนไม่เกิน 5 เมตร ฐานรองรับต้นเทียนส่วนที่แตบสุดต้องไม่น้อยกว่า 70 เมตร และมีพื้นที่ตั้งแต่ 14 ตารางเมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 ตารางเมตร
- ขนาดเล็ก (สูง 1-2.5 เมตร) เส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร วัดจากพื้นดินถึงยอดเทียนไม่เกิด 5 เมตร ฐานรองรับต้นเทียนส่วนที่แคบที่สุดต้องไม่น้อยกว่า 70 เมตร และมีพื้นที่ไม่ถึง 14 ตารางเมตร
ขนาดเทียนโบราณแบบดั้งเดิมฯ (เทียนฟั่นหรือนำมามัดรวมกัน)
- ขนาดใหญ่ (สูง 1.5-2.5 เมตร) ฐานของต้นเทียนมีขนาดไม่น้อยกว่า 1 ตารางเมตร ความสูงของฐานไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ขนาดของลำต้นเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร ฐานรองรับต้นเทียนไม่น้อยกว่า 5 ตารางเมตร วัดจากพืันดินถึงยอดเทียนไม่เกิน 5 เมตร
- ขนาดเล็ก (สูง 1.5-2.5 เมตร) ฐานของต้นเทียนมีขนาดไม่น้อยกว่า 1 ตารางเมตร ความสูงของฐานไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร ขนาดของลำต้นเส้นผ่าศูนยกลางขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร ฐานรองรับต้นเทียนฐานไม่ถึง 5 ตารางเมตร วัดจากพื้นดินถึงยอดเทียนไม่เกิน 5 เมตร
เกณฑ์การให้คะแนน จะพิจารณาจาก 2 ส่วนหลัก คือ ต้นเทียนและฐาน และองค์ประกอบของเทียนพรรษา
- ต้นเทียนและฐาน จะให้คะแนนจากการออกแบบรูปทรงและสัดส่วน การสื่อความหมายและความคิดสร้างสรรค์ลวดลาย และความประณีตงดงาม
- องค์ประกอบของต้นเทียนพรรษา จะให้คะแนนจากการตกแต่งประดับรถต้นเทียน ความเหมาะสมกลมกลืนขององค์ประกอบ การสื่อความหมายเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของท้องถิ่น และความประณีตงดงาม
ผลการประกวดต้นเทียนพรรษาอุบลราชธานี
ผลการประกวดต้นเทียนพรรษาในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา
รางวัลการประกวดต้นเทียนพรรษาอุบลราชธานี
รางวัลในการประกวดต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี คุ้มวัดหรือชุมชนที่ส่งเทียนพรรษาเข้าร่วมประกวดและตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 รางวัลที่จะได้รับ คือ ถ้วยรางวัลและเงินสด ส่วนรางวัลชมเชยจะได้รับรางวัลเป็น ประกาศนียบัตรและเงินสด
นายประดับ ก้อนแก้ว ได้เล่าว่า ในปี พ.ศ. 2498 เคยได้รับรางวัลเทียนพรรษาชนะเลิศ รางวัลที่ได้รับในขณะนั้น คือ ข้าวสาร 1 กระสอบ น้ำมันก๊าด 1 ปี๊บ และเงิน 100 บาท
ต้นเทียนพรรษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทต่าง ๆ คุ้มวัดจะนำกลับมาตั้งโชว์ให้นักท่องเที่ยวชมอีกครั้งหลังเข้าร่วมขบวนแห่เทียนพรรษาในวันเข้าพรรษา ณ บริเวณรอบสวนสาธารณะทุ่งศรีเมือง ก่อนนำกลับไปตั้งโชว์ให้ชมตามคุ้มวัดต่าง ๆ ต่อไป
บรรณานุกรม
ไกด์อุบล. (2563). งานประเพณีแห่เทียนพรรษา. เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563, https://www.guideubon.com/2.0/candlefestival/
ประดับ ก้อนแก้ว. (2531). เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี : ประวัติการจัดทำและการประกวด. อุบลราชธานี: โรงเรียนอุบลวิทยาคม.
สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 2 อุบลราชธานี. (2565). ผลการประกวดต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566, https://region2.prd.go.th/th/content/page/index/id/107802