ฉลาด ส่งเสริม หรือ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ชาวอุบลราชธานี ผู้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงหมอลำ ประจำปี 2548 ด้วยผลงานและความเชี่ยวชาญในการแสดงหมอลำ ทั้งในฐานะของผู้ร้องกลอนลำ ผู้แต่งกลอนลำ ผู้แต่งทำนองกลอนลำ และ “ทำนองเมืองอุบล” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดอุบลราชธานีก็เป็นผลงานส่วนหนึ่งของท่าน ด้วยน้ำเสียงและท่วงทำนองลีลาการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์นี้จึงทำให้ผลงานของท่านเป็นที่ยอมรับอย่างยั่งยืนมาจวบจนปัจจุบัน
ประวัติของฉลาด ส่งเสริม หรือ ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม
นายฉลาด ส่งเสริม เมื่อเยาว์วัยอยู่ในท้องถิ่นที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมของชาวชนบทควบคู่กับการละเล่น การแสดง ความบันเทิง ตามเทศกาลงานประเพณีต่าง ๆ โดยเฉพาะการเล่นหนังประโมทัย (หนังบักตื้อ) ลิเกลาว (หมอลำหมู่ หมอลำกลอน) ชอบที่จะจดจำมาแสดงท่าทางเลียนแบบการร้องการเต้น หนังประโมทัย หมอลำหมู่ หมอลำกลอน ประกอบกับบิดาเคยบวชเป็นนักเทศน์เสียงดีมาก่อน จึงประทับใจอยากมีเสียงที่กังวานไพเราะ และเป็นนักเทศน์เสียงดี เจริญรอยตามบิดาผู้ให้กำเนิด ดังนั้นจึงได้พัฒนาตนเองและหน้าที่การงาน ดังนี้
- พ.ศ. 2507 ได้ไปประกอบอาชีพหมอลำด้วยการฝึกหัดการลำครั้งแรกกับ คณะหมอลำ ก.สำราญศิลป์ มี อาจารย์กิ่ง ทิมา เป็นผู้ฝึกหัดให้ เป็นระยะเวลา 1 ปี จนผลิตผลงานด้านการแสดงและสามารถแต่งกลอนลำได้
- พ.ศ. 2508 ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาให้เป็นหมอลำอยู่กับ “คณะ ส.สมนึกศิลป์” บ้านหนองคู ตำบลหนองฮาง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2512 ตั้งคณะหมอลำเป็นของตนเองชื่อ “คณะ ป.ฉลาดน้อย รุ่งเรืองศิลป์”
- พ.ศ. 2514 ได้รับการติดต่อให้ไปร่วมแสดงเป็นพระเอกกับคณะอุบลพัฒนาโดยมี อังคนางค์ คุณไชย เป็นนางเอก บันทึกเสียงลำเรื่องนางประกายแก้ว นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ จนได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป
- พ.ศ. 2518 ตั้งคณะหมอลำของตนเอง ชื่อ “คณะเพชรอุบล” รับแสดงหมอลำทั่วประเทศ แสดงเป็นพระเอกหมอลำ มีนางเอกชื่อโฉมไสว แสนทวีสุข มีชื่อเสียงและรุ่งเรื่องที่สุด จนถึง พ.ศ. 2530 จึงหยุดพักคณะเพื่อ รอจังหวะการผลิตผลงานใหม่
- พ.ศ. 2542 ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองอุบลราชธานี ดูแลงานวัฒนธรรมส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนเกิดความรักและสนใจในวัฒนธรรม
- พ.ศ. 2544-2545 ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรม” ดำเนินการสืบค้นวัฒนธรรม ประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น การละเล่น วรรณกรรมของดีของเก่า ทุกตำบลในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี ตามโครงการวัฒนธรรมสัญจร
การสร้างสรรค์ผลงานเผยแพร่ต่อสาธารณชนของฉลาด ส่งเสริม
นายฉลาด ส่งเสริม ได้ผลิตผลงานการแสดงต่าง ๆ เช่น บันทึกเทปออกอากาศ เรื่อง “สายแนนนาแก่น” ลำเรื่องต่อกลอนให้บริษัทสินราชบุตร เรื่อง “อยากให้เพิ่นตายโตตาย” “ท้าวบัวโฮมบัวฮง” “ท้าวกำพร้าปลาหลด” ฯลฯ ผลิตผลงานบันทึกแผ่นเสียงให้กับบริษัทเสียงสยาย ห้างแผ่นเสียงทองคำ กรุงเทพฯ เรื่อง “ผาแดงนางไอ่” “นกกระจอกน้อย” เป็นต้น บันทึกแผ่นเสียงให้กับอาจารย์ทิดใส อาจารย์ดอย อินทรนนท์ นักแต่งเพลงชื่อดังในลายสุดสะแนน ชุดลำยาว ชุดเตือนสาวภาค 1 ชุดเตือนสาวภาค 2 ชุดลำยาวตามน้องทั่วอีสาน ชุดลำยาวอวยพรปีใหม่ ชุดลำยาวหมอลำน้ำมันแพง ผลิตผลงานบันทึกเสียงร่วมกับอังคนางค์ คุณไชย เช่น เต้ยเกี้ยวแรกพบ เต้ยคำสาบาน เต้ยรักน้องเต็มทน เต้ยฮักน้องอีหลี ทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศ ผลิตเทปร่วมกับยอดขุนพลลำเพลิน ทองมี มาลัย และขุนพลลำซิ่ง ประสาน เวียงสิมา ในชุดลำเพลิน ชมรมแท็กซี่ ลำซิ่งตระกูลเมา ลำเพลินเจ้าพ่อสี่ไห นอกจากนั้นยังไปเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ เมืองฟอร์ดสมิท รัฐโอกาโฮมา เมืองลอสแองเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ
ผลงานวิชาการของฉลาด ส่งเสริม
นอกจากนายฉลาด ส่งเสริม จะมีผลงานการแสดงด้านการลำแบบต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นผู้มีผลงานสร้างสรรค์ทางวิชาการ ดังนี้
- เป็นผู้วางแนวคิดในการแต่งกลอนลำประกอบการแสดงลำเรื่องต่อกลอนทุกเรื่องที่แสดง
- เป็นผู้คิดค้นทำนองลำ “ทำนองเมืองอุบล” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะสำนวนการร้องที่นำเอาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมาเป็นเนื้อหาประกอบ เช่น การบรรยายถึงลักษณะภูมิอากาศ ฟ้า ลม ฝน น้ำ ซึ่งนักแสดงทั้งหลายโดยเฉพาะนักแสดงตลกชอบนำคำร้องและทำนองลำเมืองอุบลไปล้อเลียน จากทำนองกลอนลำคิดค้นนี้ประชาชนชื่นชอบจนเรียกชื่อเฉพาะว่า “ทำนอง ป.ฉลาดน้อย”
- เขียนกลอนลำ ลำเรื่องต่อกลอน เช่น อยากให้เพิ่นตายโตตาย ท้าวบัวโฮมบัวฮอง สุทนมโนราห์ ขูลูนางอั้ว จำปาสี่ต้น น้ำตาสาวลาวผู้บ่าวไทย นางนกกระยางขาว น้ำตาสาวจีน
- แต่งกลอนลำส่งเสริมรณรงค์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา
- ฝึกสอนการลำให้กับหมอลำรุ่นหลัง จนมีลูกศิษย์หมอลำที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น ป.ประยุทธ วิไลศรี คณะขวัญอุบล ป.ประหยัด นามศรี คณะศรีอุบล นิคมน้อย อุทะศรี คณะเพชรอุบลสำเภา ภู่ใหญ่ คณะก้องอุบล ขวัญฟ้า ดุลประยูร คณะอุดรมิตรนิยม เป็นต้น
- ประดิษฐ์ท่ารำ และบทร้องชุด นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ น้ำตาสาวจีน โดยเฉพาะท่ารำนางนกกระยางขาว ยังคงใช้เป็นท่าแม่แบบในการแสดง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ “กางเขนเหมือนนกถลาบิน ซอยเท้าถี่รุกเร้าสนุกสนาน”
รางวัลและเกียรติคุณที่ฉลาด ส่งเสริมได้รับ
- พ.ศ. 2515 โล่รางวัลทองคำฝังเพชร ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง “นางนกกระยางขาว” จากกรมประชาสัมพันธ์ ณ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 จังหวัดขอนแก่น
- พ.ศ. 2533 โล่รางวัล “ตัวประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม” ในการประกวดหมอลำ ลำเรื่องต่อกลอน จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. 2544 โล่เชิดชูเกียรติคุณยอดฝีมือหมอลำที่คงคุณภาพผลงานและสามารถแก้จนประสบความสำเร็จ จากรายการเกมแก้จน ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
- พ.ศ. 2547 โล่เชิดชูเกียรติสุดยอดศิลปินพื้นบ้านอีสานประเภทลำเรื่องต่อกลอนในโอกาสฉลอง 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, โล่เชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์ผลงานดีเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงของสถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, โล่ประกาศเกียรติคุณผู้ส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จากหนังสือพิมพ์สื่อสารธุรกิจเข็มเชิดชูเกียรติ ของมูลนิธิอัฏฐมหาราชานุสรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมาร
- พ.ศ. 2548 ได้รับคัดเลือกเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะการแสดงหมอลำ
บรรณานุกรม
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี. (2552). อุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์. อุบลราชธานี: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี