ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดแจ้ง อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ เป็นอีกชุมชนที่ให้การสนับสนุนประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี จุดเด่นของเทียนพรรษาวัดแจ้ง คือ ลวดลายขนาดเล็กละเอียดและขี้ผึ้งที่มีสีเหลืองอ่อนจนเกือบขาวใส อันเกิดจากภูมิปัญญาและฝีมือการนวดขี้ผึ้งก่อนการพิมพ์ลายของช่างทำเทียนพรรษา
วัดแจ้ง อุบลราชธานี
วัดแจ้ง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีอุโบสถหรือสิมที่ได้รับการยกย่องว่ามีรูปทรงสวยงามและมีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือพื้นถิ่นอีสาน ราวบันไดปั้นเป็นรูปจระเข้หมอบ หน้าบันอุด ปีกนกและรวงผึ้งสลักไม้เป็นลายดอกบัวและกอบัวอย่างสวยงาม เคยได้รับเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ สถาปนิก 30 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เทียนพรรษาของวัดแจ้ง
เทียนพรรษาของวัดแจ้งนั้นได้เกิดจากความร่วมมือทั้งแรงกายและแรงใจจากชุมชนวัดแจ้งอย่างแท้จริงที่ช่วยกันสืบสานประเพณีแห่เทียนพรรษามาโดยตลอด โดยการนำของพระครูสุตตจันทโสภณ หรือหลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ที่ออกแบบลวดลายและลงมือแกะสลักลายลงบนหินสบู่เอง เพื่อใช้สำหรับพิมพ์ลายที่สวยงามอ่อนช้อย และความสามัคคีของช่างเทียนที่เป็นลูกหลานในชุมชนวัดแจ้งและที่เป็นลูกศิษย์ของพระครู เอกลักษณ์หรือจุดเด่นของต้นเทียนวัดแจ้ง คือ ลวดลายขนาดเล็กละเอียดและขี้ผึ้งที่มีสีเหลืองอ่อนจนเกือบจะเป็นสีขาวใสที่เกิดจากภูมิปัญญาและฝีมือการนวดขี้ผึ้งก่อนการพิมพ์ลาย แผ่นผึ้งที่พิมพ์ลายแล้วจะติดลงบนโครงสร้างที่ทาสีพื้นด้วยขี้ผึ้ง ซึ่งจะทำให้แผ่นผึ้งที่ติดลงไปแล้วมีสีที่กลมกลืนกันสวย ถ้าหากติดบนโครงสร้างที่ไม่ได้ทาด้วยขี้ผึ้งมาก่อนจะทำให้ได้ต้นเทียนสีไม่เนียนสวย
เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ของวัดแจ้ง ปี 2559
ในปี 2559 วัดแจ้งได้จัดทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ โดยท่านเจ้าอาวาสได้มอบหมายให้ พระวีระศักดิ์ อาภัสสโร เป็นผู้ดำเนินการติดพิมพ์ต้นเทียน และมีช่างเกรียงไกร พันธ์พิพัฒน์ เป็นหัวหน้าช่างควบคุมการทำเทียน ต้นเทียนมีขนาดมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงยอด 2.40 เมตร และมีฐานรองรับองค์ประกอบต้นเทียนทั้งหมดมีพื้นที่ 31 ตารางเมตร ประกอบด้วย
ตอนหน้า จัดทำเป็นตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐะกะเสด็จออกบวช ขนาบข้างด้วยฆฏิการพรหมนำผ้าสีย้อมน้ำฝาดและเครื่องอัฏฐบริขารต่าง ๆ มาถวายเจ้าชายสิทธัตถะหลังจากที่บวชแล้ว
ถัดมาเป็นพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมด้วยสารถีได้พาเจ้าชายออกประพาสไปนอกพระราชวังและได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง 4 ประกอบด้วย คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ซึ่งเทพยดาได้นิมิตให้ทอดพระเนตรโดยเจ้าชายได้ทรงซักถามในสิ่งที่พบเห็นจากสารถีจนเจ้าชายเข้าใจและเกิดปัญญา แสวงหาหนทางการหลุดพ้นจากความทุกข์ต่าง ๆ ที่ทรงพบเห็น จึงทำให้เจ้าชายตัดสินพระทัยที่จะออกบวชแม้จะถูกทัดทานจากวสวัตตีมาร ในขณะออกมาพ้นจากเมืองก็ตาม
ตอนกลาง จัดทำเป็นต้นเทียนติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบขึ้นจากกระจกใสย่อมุมไม้ 12 ตั้งอยู่บนฐานของเรือ ซึ่งจำลองเหตุการณ์เรื่องพระมหาชนก ตอนนางมณีเมขลากำลังจะมาช่วยพระมหาชนกขึ้นจากทะเล ซึ่งเป็นเทพธิดาผู้รักษามหาสมุทรซึ่งเรื่องนี้เป็นหลักธรรมในการปฏิบัติความเพียร ถัดมาเป็นตอนที่พุทธบริษัททั้ง 4 ประกอบด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาช่วยกันเข็นกงล้อธรรมจักรเพื่อการขับเคลื่อนการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์
วงล้อธรรมจักร เป็นวงล้อแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงหมุนเพื่อเผยแผ่พระธรรมที่ทรงตรัสรู้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนนำไปปฏิบัติให้พื้นทุกข์ โดยธรรมมะที่แสดง คือ ธรรมจักรกัปปวัติตนสูตร คือ การเดินทางสายกลางไม่ยึดติดในตัวในสังขารปรุงแต่ง ดี ชั่ว บุญ บาป ทุกข์ สุข อดีต-อนาคต เพื่อดำเนินการสู่การประจักษ์แจ้งด้วยอริยสัจ 4
ตอนหลัง เป็นพุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วโดยมีเหล่าทวยเทพ เทวดา มาน้อมสักการะสาธุการ และตอนหลังสุดเป็นตอนที่พระพุทธองค์ทรงประทับใต้ต้นโพธิ์หลังจากที่ตรัสรู้แล้วโดยได้เสด็จมาโปรดสัตว์ป่าหิมพานต์ต่าง ๆ
ลายไทยที่นำมาพิมพ์ขี้ผึ้งติดประดับต้นเทียน ประกอบด้วย ลายประจำยาม ลากกนกใบเทศ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายกนกสามตัว ลายดอกรัก ลายบัวรวม ลายกาบบัวปากปลิง กาบบัวดอกลอย ลายลูกประคำ ลายกระจังฟันปลา ลายกาบบัวคอเสา ลายบัวใบเทศ ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายเครือใบเทศ ลายเครือก้านขด ลายกนกแข้งสิงห์ ลายกนกเปลว ลายหางไหล ลายเครือเถา
รางวัลการทำเทียนพรรษาของชุมชนวัดแจ้ง
- ปี 2551 รางวัลชมเชย ต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
- ปี 2552 รางวัลชมเชยต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
- ปี 2553 รางวัลชนะเลิศ ต้นเทียนพรรษา ประเภทติดพิมพ์ขนาดเล็ก
- ปี 2554 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
- ปี 2555 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
- ปี 2556 รางวัลชมเชย ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
- ปี 2557 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
- ปี 2558 รางวัลชนะเลิศ ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
- ปี 2559 รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่
ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดแจ้ง
วัดแจ้ง ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดแจ้ง
15.237056, 104.859487
บรรณานุกรม
ไกด์อุบล. ผลการประกวดต้นเทียนพรรษา งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี, 16 สิงหาคม 2559. www.guideubon.com
คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].
ชัยกฤต ศรีทานันท์. สัมภาษณ์, วันที่ 14 กรกฎาคม 2559.