อุโบสถวัดสุภรัตนาราม หรือวัดบ้านหวาง อำเภอวารินชำราบ เป็นหนึ่งในรูปแบบอุโบสถของวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกาย ที่ได้รับอิทธิพลต้นแบบมาจากอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร สันนิษฐานว่าเป็นผลงานการสร้างของช่างพื้นถิ่นและชาวญวนที่ถนัดงานปูนปั้น สร้างขึ้นในยุคที่ 2 ของการขยายตัวของพุทธศาสนาธรรมยุตินิกายในอุบลราชธานีและภาคอีสาน หรือราวสมัยรัชกาลที่ 6-8 (พ.ศ.2453–2480) โดยขณะนั้นมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นผู้นําพระธรรมยุติกนิกายในอีสาน
ประวัติบ้านหวางออก ที่ตั้งวัดสุภรัตนาราม
ซียูอะเกน (ม.ป.ป.) ให้ข้อมูลว่า บ้านหวางออก ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดสุภรัตนาราม เดิมชื่อ “บ้านค้อหวาง” ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2439 โดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามและเจ้าคณะมณฑลอีสานในขณะนั้น ได้ออกมาตรวจราชการตามท้องที่ต่าง ๆ และได้มาพบพื้นที่แห่งนี้ซึ่งมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งหมู่บ้านสร้างภูมิลำเนาใหม่ แต่หลวงสุโภรสุประการ (สอน สุภสร) บิดาของท่านพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ผู้ดำรงตำแหน่งกรมการเมืองอุบลราชธานี ฝ่ายสังฆการี และมารดาของท่านไม่ประสงค์จะย้ายมาอยู่ที่นี่เนื่องจากไม่มีวัด ท่านจึงได้สร้างวัดสุภรัตนารามขึ้นบนพื้นที่ระหว่างบ้านค้อหวางกับบ้านหวาง และให้โยมบิดามารดาและลูกหลานย้ายจากตําบลหนองไหล อําเภอเมืองอุบลราชธานี มาตั้งภูมิลําเนาที่บ้านหวางแห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2449 เป็นต้นมา ภายหลังได้มีการสร้างหุ่นขี้ผึ้งและรูปเหมือนพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ไว้ที่วัดนี้ด้วย เพื่อให้ชาวบ้านได้ระลึกถึงและเคารพสักการะ
การสร้างวัดสุภรัตนาราม หรือวัดบ้านหวาง ได้เริ่มลงมือปรับพื้นที่ดิน ถางป่า เมื่อกลางปี พ.ศ.2440 ขอตั้งเป็นสำนักสงฆ์ ในปี พ.ศ.2442 และขอพระราชทานวิสุงคามสีมาและผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ.2450 เป็นวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายที่มีอายุมากกว่า 100 ปี แห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดประกอบด้วยศาสนาคารที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถที่สร้างในราวปี พ.ศ.2475 หอแจกไม้หรือศาลาการเปรียญ รวมทั้งหุ่นขี้ผึ้งและรูปเหมือนพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)
อุโบสถวัดสุภรัตนาราม
สุพัตรา ทองกลม (2556) กล่าวถึง อุโบสถวัดสุภรัตนาราม (วัดบ้านหวาง) ในการศึกษาวัดธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานี ว่า อุโบสถหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณกลางวัด เป็นสถาปัตยกรรมประธานของวัดและมีหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ตั้งอยู่คู่กัน เป็นแผนผังวัดรูปแบบหนึ่งของวัดธรรมยุติกนิกายที่พบในยุคนั้น
อุโบสถหลังนี้เป็นอาคารขนาดเล็กขนาด 6*8 เมตร มี 2 ห้องเสา เคยมีการต่อเติมมุขไม้ทึบที่บริเวณด้านหน้า ลักษณะเป็นห้องขนาด 6* 4.80 เมตร ปัจจุบันได้รื้อออกและสร้างชานพักและมุขก่ออิฐถือปูนขึ้น มีกำแพงแก้วล้อมรอบและเปิดให้มีทางเข้า 2 ทางที่กึ่งกลางทั้งด้านหน้าและด้านหลังอุโบสถ ปัจจุบันได้ทาสีขาวทั้งอุโบสถและกำแพงแก้ว ทำให้มีความโดดเด่นและสวยงามมากขึ้น
อุโบสถนี้มีขนาดกะทัดรัดและเหมาะสมกับการใช้งานของภิกษุสงฆ์ในช่วงนั้น สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นผลงานการสร้างของช่างพื้นถิ่นและช่างญวนที่ถนัดในการปั้นสัตว์ต่าง ๆ ด้วยปูน ดังจะเห็นได้จากความโดดเด่นของการปั้นหัวนาคที่ช่อฟ้าหางหงส์และการปั้นลวดลายหน้าบัน จนเกิดความสวยงามแบบผสมผสานแปลกตาอีกแบบหนึ่ง
โครงสร้างอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่ใช้ผนังในการรับน้ำหนักของหลังคา โดยผนังด้านข้างจะมีหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง เมื่อก่อนเป็นหน้าต่างไม้ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวงกบอลูมิเนียมติดกระจก กรอบหน้าต่างประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ด้านหน้าตรงประตูทางเข้าที่สร้างขึ้นใหม่หลังรื้อมุขไม้ทึบออก เป็นมุขก่ออิฐถือปูนตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายหงส์ ก้านขด และธรรมจักร ตรงช่องประตูทางเข้าอุโบสถ 1 ช่อง มีบันไดทางขึ้นไปสู่ชานพักหน้าทางเข้าอุโบสถ 2 ด้าน ราวบันไดเป็นรูปปั้นคล้ายมกร
หลังคา เป็นหลังคาจั่วไม่ซ้อนชั้น ด้านสกัดไม่มีชายคายื่นออกมา แต่ช่างได้ใช้วิธีสร้างผนังเข้าด้านในให้เหลือพื้นที่ทำเป็นชายคาได้ และตกแต่งชายคานี้ด้วยดาวเพดาน หลังคามุงด้วยกระเบื้อง
เครื่องประดับหลังคาใช้เครื่องลำยองเป็นตัวนาค ใบระกาเป็นครีบนาค ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นหัวนาค แต่สัดส่วนของหัวนาคมีขนาดใหญ่ไม่สมส่วนเมื่อเทียบกับตัวอาคาร ทำให้สัดส่วนด้านบนดูหนักแต่ก็ดูเด่นชัดแปลกตา
หน้าบันเป็นแบบไม่มีไขราหน้าจั่ว ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าได้รับอิทธิพลจากอุโบสถของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร หน้าบันด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นลายพฤกษาและปูนปั้นเจดีย์ทรงระฆังที่อยู่กึ่งกลางของหน้าบันซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกาย หน้าบันด้านหลังประดับด้วยปูนปั้นลายพฤกษาและนกล้อมรอบปูนปั้นรูปเจดีย์ทรงระฆังเช่นกัน
ชุมชนชาวบ้านหวางและใกล้เคียง ได้ให้ความสำคัญกับวัดสุภรัตนาราม โดยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญประจำพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนแบบนวัตวิถีและชมความสวยงามของพุทธศาสนาคารที่มีเรื่องราวและอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ที่ยังคงความสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมของวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายที่ยังรอให้ทุกคนได้เข้าไปชื่นชม
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายได้ที่นี่
ที่ตั้ง วัดสุภรัตนาราม
บ้านหวาง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดสุภรัตนาราม
15.126079314249303, 104.86177673861759
บรรณานุกรม
ซียูอะเกน. (ม.ป.ป.). บ้านหวางออก ต.คูเมือง. เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566, http://www.seeyouagain-ubon.com/view.aspx?id=1005
พระดังเมืองอุบลราชธานี. (2554). พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันฺโท). เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566, http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon/?p=166
สุพัตรา ทองกลม. (2556). การศึกษาวัดธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ: ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.