ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดไชยมงคล อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ชุมชนนี้ให้การสนับสนุนประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีตลอดมา เทียนพรรษาของวัดไชยมงคลเคยเป็นตัวแทนของจังหวัดอุบลราชธานีถูกนำไปแสดงยังจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งประเทศลาวด้วย
วัดไชยมงคล อุบลราชธานี
วัดไชยมงคล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดในสังกัดธรรมยุตินิกายที่ถูกสร้างขึ้นเป็นลำดับที่ 4 ในจังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นโดย เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์ (พ.ศ.2409-2425) หรือชื่อเดิมคือ เจ้าหน่อคำ เป็นพี่ชายเจ้าจอมมารดาด้วงคำ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยท่านเป็นบุตรของเจ้าคลี่ (หรือเจ้าเสือ) ซึ่งเป็นหลานปู่เจ้าอนุวงศ์ แห่งนครเวียงจันทร์ เป็นเหลนของเจ้าสิริบุญสาร ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นต้นตระกูลพรหมโมบล วัดไชยมงคลเป็นที่ประดิษฐานของพระทองทิพย์
เทียนพรรษาวัดไชยมงคล
วัดไชยมงคลได้ร่วมส่งเสริมประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานีทุก ๆ ปี โดยการทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลักเข้าร่วมประเพณีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และได้รับรางวัลมาโดยตลอด เช่น ปี 2550-2552, 2555 ได้รับรางวัลชนะเลิศเทียนประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ และยังได้เป็นตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานีในการนำเทียนพรรษาของวัดเข้ามาร่วมขบวนแห่เทียนในสัปดาห์วันอาสาฬหบูชาที่กรุงเทพฯ อีกด้วย นอกจากนั้นในปี 2556 ยังได้มีโอกาสนำเทียนพรรษาไปแสดงที่แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว ซึ่งเป็นประติมากรรมชิ้นเดียวของประเทศไทยที่มีโอกาสร่วมงานปีการท่องเที่ยวลาว การทำเทียนพรรษาของวัดไชยมงคลมี พระครูจิตวิสุทธิญาณคุณ เจ้าอาวาส เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงาน
เทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดไชยมงคล ปี 2559
ในปี 2559 เทียนพรรษาของวัดไชยมงคลเป็นเทียนพรรษาประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ โดยการดำเนินการของช่างเล็ก เวชภัณฑ์ ช่างสุวรรณ แสงกล้า และช่างสุรพล จังกาจิตต์ ลำต้นเทียนมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.60 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอดสุด 3.50 เมตร ขนาดความกว้างของรถ 2.80 เมตร ความยาว 16.50 เมตร ความสูงจากพื้น 4.50 เมตร รวมพื้นที่ทั้งหมด 46.20 ตารางเมตร องค์ประกอบและรายละเอียดของเทียนพรรษา ประกอบด้วย
ส่วนลำต้น ฐานรองรับต้นเทียนแกะสลักเป็นภาพบัวคว่ำบัวหงายประดิษฐานอยู่บนนางกินรี ซึ่งเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ ลำต้นเทียนแกะสลักเป็นลายกนกเปลวก้านแย่ง ซ้อนลายดอกพุดตาน มีภาพประกอบเป็นภาพพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณต่อเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ส่วนยอดแกะสลักเป็นลายเครื่องยอดบัวกลุ่ม
ส่วนประกอบเนื้อเรื่องได้นำเสนอแนวคิด “จังหวัดอุบลราชธานี เป็นนครแห่งธรรม นครแห่งเทียน และนครแห่งอารยธรรม” จึงได้สร้างเนื้อหาและองค์ประกอบต้นเทียนเป็นเนื้อหาสาระแห่งต้นกำเนิดครูบาอาจารย์สายปฏิบัติและสายปริยัติหรือที่เรียกว่า ฝ่ายอรัญวาสีและคามวาสี โดยด้านหน้าจัดสร้างเป็นรูปหล่อเหมือนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ครูบาอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนาธุระ ในอิริยาบถนั่งเจริญสมถะภาวนา ถัดมาซ้ายขวา จะเป็นรูปหล่อเหมือนของหลวงปู่ชา สุภัทโท และพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทร์ โท) ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ถัดจากต้นเทียนไปด้านหลังขบวนจะเป็นรูปหล่อเหมือนหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ซึ่งเป็นบรมครูของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อีกด้านเป็นรูปหล่อเหมือนของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด) แห่งวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ผู้มีความเข้มขลังทางด้ายไสยเวทย์ ด้านหลังสุดจะเป็นพระพุทธเจ้าองค์สมณะโคดมปางคันธาระประทับนั่งอยู่บนราชอาสน์ช้างสามเศียร
ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดไชยมงคล
วัดไชยมงคล ถนนพโลชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดไชยมงคล
15.231372, 104.854089
บรรณานุกรม
คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].
เล็ก เวชภัณฑ์. สัมภาษณ์, วันที่ 15 กรกฎาคม 2559
วัดไชยมงคล. (2559). วัดไชยมงคล, วันที่ 19 สิงหาคม 2559. http://www.chaimongkol.net