คอง 14 กติกาจารีตอีสาน

คองสิบสี่ หรือครรลอง 14 ประการ เป็นระเบียบ จารีต แนวทาง แนวปฏิบัติที่ชาวอีสานได้ถือปฏิบัติมาแต่ยาวนาน ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้คนในสังคมปฏิบัติต่อกัน เช่น เจ้าเมืองกับประชาชน พระสงฆ์กับญาติโยม พ่อแม่กับลูก เขยสะไภ้กับพ่อปู่แม่ย่าพ่อตาแม่ยาย รวมทั้งชาวบ้านที่ต้องถือปฏิบัติร่วมกันในสังคม เช่น ฮีตสิบสอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตนเอง ประพฤติดีมีศีลธรรม และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขร่มเย็น ปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนระเบียบจารีตเพื่อให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์มากขึ้น

คองสิบสี่เกิดขึ้นได้อย่างไร

สมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้มมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้าฟ้าหล้าธรณีศรีสัตนาคณหุตมหาราช ทรงเป็นปฐมมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง และมหากษัตริย์นครเชียงดงเชียงทองหรือเมืองเซ่า องค์ที่ 27 (ครองราชย์ พ.ศ. 1859-1936) ผู้รวบรวมแผ่นดินลาวสองฝั่งโขงให้เป็นปึกแผ่น และได้แผ่แสนยานุภาพเหนือแว่นแคว้นต่าง ๆ ในอุษาคเนย์ ถือเป็นยุคยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิหรืออาณาจักรล้านช้าง พระองค์และพระอัครมเหสีได้อัญเชิญพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แบบอินทปัตถนครหรือแบบกัมพูชาสมัยพระนครมาเผยแผ่ในราชอาณาจักรล้านช้าง พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและทรงวางรากฐานการปกครองและระเบียบของบ้านเมืองโดยอาศัยลัทธิธรรมเนียมการปกครองที่ได้รับสืบทอดกันมาจากสมัยพระเจ้าขุนบรมราชาและลัทธิธรรมเนียมที่ได้ทรงศึกษาอบรมมาจากราชอาณาจักรแห่งอินทปัตนคร หรือนครรอทในเมืองเขมร และนั่นก็ได้เกิด “ฮีตสิบสองคองสิบสี่” ขึ้นมา โดยเป็นการผสมผสานระหว่างขนบธรรมเนียมของศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ทำให้บ้านเมืองของพระองค์มีระเบียบแห่งชีวิตและมีหลักปฏิบัติที่เป็นแนวทางเดียวกัน และผู้คนก็ได้ถือปฏิบัติเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างเหนียวแน่นและถ่ายทอดสืบต่อกันมา 

ชุมชนคนอีสานที่อยู่ในพืันที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยหรือฝั่งขวาของแม่น้ำโขงนั้น บางส่วนนั้นเป็นผู้คนที่อพยพมาจากอาณาจักรล้านช้างหรือลาว เมื่อมาตั้งถิ่นฐานใหม่ก็ได้นำธรรมเนียมหรือวิถีปฏิบัติตามฮีตสิบสองคองสิบสี่นี้มาถือปฏิบัติด้วยและสืบสานถ่ายทอดกันตั้งแต่บรรพบุรุษจนปัจจุบัน

ฮีตสิบสอง คองสิบสี่

ฮีตสิบสอง ประเพณีหรืองานบุญประจำเดือนที่ชาวอีสานถือว่าเป็นประเพณีอันล้ำค่า ที่ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษมอบไว้ให้ ประกอบด้วย

บุญข้าวสาก
บุญเดือนสิบ บุญข้าวสาก

คองสิบสี่ จารีต 14 ประการ

คอง ในภาษาอีสาน หมายถึง ทาง แนว หรือคลองธรรม เป็นกฏ ระเบียบ จารีต หรือกติกาของสังคม ถ้าไม่ปฏิบัติตามสังคมจะเป็นผู้กำหนดโทษ ลงโทษตามสถานภาพของการทำผิด ผู้ปกครองบ้านเมืองจึงใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบสังคม เป็นสิ่งที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำเพื่อ

  1. ให้ผู้ปกครองนำไปเป็นแนวทางในการปกครอง
  2. ให้ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ นำไปสอนบุตรหลานของตน
  3. ให้พระสงฆ์นำไปอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชน
  4. ให้ประชาชนทั่วไปนำไปปฏิบัติเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของชุมชนและสังคม

คองสิบสี่ หรือแนวปฏิบัติ 14 ข้อ ที่ชาวอีสานพึงปฏิบัติโดยมีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิต มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ ตลอดจนแสดงความกตัญญูต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ ประกอบด้วย

  • หมวดที่ 1 คองสิบสี่สำหรับเจ้านาย ข้าราชการ ผู้ปกครองคน
  • หมวดที่ 2 คองสิบสี่สำหรับพระสงฆ์ที่พึงปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องตามคติโลก
  • หมวดที่ 3 คองสิบสี่สำหรับประชาชนทั่วไป
  • หมวดที่ 4 คองสิบสี่สำหรับทุกเพศทุกวัน ประกอบด้วย
    • ฮีตเจ้าคองขุน
    • ฮีตท้าวคองเพีย
    • ฮีตไพร่คองนาย
    • ฮีตบ้านคองเมือง
    • ฮีตผัวคองเมีย
    • ฮีตพ่อคองแม่
    • ฮีตลูกคองหลาน
    • ฮีตสะไภ้คองเขย
    • ฮีตป้าคองลุง
    • ฮีตปู่คองย่า ฮีตตาคองยาย
    • ฮีตเฒ่าคองแก่
    • ฮีตปีคองเดือน
    • ฮีตไร่คองนา
    • ฮีตวัดคองสงฆ์

คองสิบสี่สำหรับพระสงฆ์

พระสงฆ์ผู้เป็นศาสนาทายาทที่ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อันเป็นหลักของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาได้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้พระสงฆ์ได้อนุวัตรตามคองของบ้านเมืองอันจะก่อให้เกิดความสงบสุขและความศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน และเป็นการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่ง จึงได้กำหนดหลักสำหรับให้พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติ ดังนี้ 

  • คองที่ 1 ให้พระสงฆ์เมื่อบวชแล้วต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้แตกฉาน เพื่อเป็นการศึกษาการสืบอายุพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั้งปวง
  • คองที่ 2 ต้องปฏิบัติรักษาวัดวาอาราม กุฏิวิหาร ศาลาการเปรียญ โบสถ์ หอระฆัง หอกลอง ต้องปัดกวาดบริเวณวัดให้สะอาดร่มรื่นเป็นที่ชื่นชมของพุทธศาสนิกชนที่ได้พบเห็น อย่าปล่อยให้รกรุงรัง
  • คองที่ 3 เมื่อชาวบ้านนิมนต์ไปในกิจการงานบุญการกุศลในบ้านหรือในชุมชน พระสงฆ์ต้องรับนิมนต์
  • คองที่ 4 เมื่อถึงเดือน 8 ให้พระสงฆ์เข้าจำพรรษาในวัดจนครบ 3 เดือน อย่าได้ไปค้างคืนในที่อื่น
  • คองที่ 5 เมื่อออกพรรษาแล้วให้พระสงฆ์เข้าปริวาสกรรม อยู่ปฏิบัติพระธรรมให้ครบถ้วนถูกต้อง
  • คองที่ 6 ให้ถือบิณฑบาตรเป็นนิจเพื่อโปรดพุทธศานิกชนให้ได้ใส่บาตรทุกวัน
  • คองที่ 7 ให้พระสงฆ์ลงสวดมนต์และทำสมาธิภาวนาในอุโบสถสิมหรือศาลาการเปรียญทุกวัน เพื่อให้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม เพิ่มศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั้งปวง
  • คองที่ 8 ให้ทำอุโบสถกรรมทุกวันพระ
  • คองที่ 9 ถึงเทศกาลปีใหม่ หากญาติโยมนิมนต์ไปสรงน้ำ ณ ปรำพิธีกลางเมืองพระสงฆ์ต้องรับนิมนต์
  • คองที่ 10 เมื่อพระมหากษัตริย์อาราธนาเข้าไปรับน้ำสรงในพระราชวัง พระสงฆ์ต้องรับนิมนต์
  • คองที่ 11 กิจกรรมอันใดหากไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย เมื่อญาติโยมนิมนต์ พระสงฆ์ต้องรับนิมนต์
  • คองที่ 12 เป็นพระสงฆ์ต้องพร้อมกันสร้างวัดวาอาราม และพระธาตุเจดีย์ให้เป็นที่เชิดชูในพระพุทธศาสนา 
  • คองที่ 13 เมื่อทายกทายิกานำสังฆภัตก็ดี สลากภัตก็ดีมาถวาย พระสงฆ์ต้องรับถวายทานนั้น
  • คองที่ 14 เมื่อพระมหากษัตริย์เจ้าก็ดี เสนาอำมาตย์ ข้าราชการผู้ใหญ่ก็ดี นิมนต์ให้ไปประชุมกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้พระสงฆ์รับนิมนต์
ทำนุบำรุงพุทธศาสนา ที่พึ่งทางใจ

คองสิบสี่สำหรับประชาชนทั่วไป

เป็นแนวปฏิบัติสำหรับประชาชนทั่วไปพึงปฏิบัติ เพื่อให้สังคมได้มีระเบียบเดียวกัน มิให้เกิดข้อขัดแย้งต่อกัน เพราะทุกคนจะรู้หน้าที่ของตนดีว่าจะพึงกระทำตัวอย่างไรในสังคม เมื่อทุกคนรู้และปฏิบัติอย่างเดียวกัน ความสงบ ความร่มเย็นก็จะเกิดขึ้น สังคมก็จะน่าอยู่ ให้เกียรติและความเคารพซึ่งกันและกัน ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำความดีต่อบ้านเมือง เกิดความภูมิใจตน และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นคนดี มีคนคบหาสมาคมด้วยอย่างเต็มใจ โดย คองสิบสี่ของประชาชนทั่วไป มีดังนี้

  • คองที่ 1 เมื่อทำนา ทำไร่ ทำสวน ปลูกต้นผลไม้ ได้ข้าว ได้ผลมาเป็นครั้งแรก ให้นำเอาผลผลิตที่ได้มานั้นไปถวายพระสงฆ์หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทรงคุณธรรมกินก่อน แล้วเจ้าของจึงนำมากินภายหลัง เชื่อว่าจะเกิดบุญเกิดกุศลและความภาคภูมิใจแก่เจ้าของ
  • คองที่ 2 หากทำการค้าขายสิ่งของที่จะต้องตวงชั่งก็อย่าโกงตาชั่ง อย่าให้เกิดความโลภอยากได้แต่กำไร อย่าปลอมแปลงเงินตรา อย่ากล่าวคำหยาบช้ากล้าแข็งต่อกัน ให้พูดจากันด้วยถ้อยคำอันไพเราะ
  • คองที่ 3 ให้ร่วมกันซ่อมกำแพงวัดและรั่วบ้านของตนให้แข็งแรง
  • คองที่ 4 เมื่อไปไหนมากลับมาจะขึ้นบ้านให้ล้างเท้าเสียก่อนจึงขึ้นบ้านเข้าเรือน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะอาดและป้องกันเชื้อโรคที่จะมาสู่บ้านเรือนและสุขภาพแก่ตน
  • คองที่ 5 ให้ตรวจตราดูเตาไฟในครัว ขั้นบันได และประตูบ้านของตนให้สะอาดมั่นคง แข็งแรงอยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายอันเกิดจากไฟ จากการตกบันได หรือประตูบ้านเรือน
  • คองที่ 6 เมื่อจะเข้านอน ให้ล้างเท้าให้สะอาดเสียก่อนจึงเข้านอน
  • คองที่ 7 เมื่อถึงวันศีลวันพระให้บูชาพระเจ้าพระสงฆ์และพูดจาด้วยความไพเราะต่อคู่ครองของตน อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน อันจะนำพาซึ่งความไม่ผาสุขมาสู่ครัวเรือนและเป็นที่รำคาญของบ้านใกล้เรือนเคียง เสียความสามัคคี
  • คองที่ 8 ถึงวันพระวันศีลให้ใส่บาตรแด่พระสงฆ์
  • คองที่ 9 เมื่อพระสงฆ์มาบิณฑบาตรอย่าให้ท่านคอย อย่าอุ้มลูก อย่ากางร่ม อย่าโพกหัวใส่บาตร อย่าสวมรองเท้า อย่าถือเครื่องอาวุธ และอย่าถูกต้องบาตร
  • คองที่ 10 เมื่อพระสงฆ์เข้าปริวาสกรรม ให้ทายกทายิกานำดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องอัฐบริขารที่จำเป็นไปถวายแด่พระสงฆ์ที่เข้าปริวาสกรรมนั้น เพื่อให้พระสงฆ์ได้รับความสะดวกสบายไม่ขัดข้องในอันที่จะปฏิบัติธรรมวินัย จนครบกำหนดเข้าปริวาสกรรม
  • คองที่ 11 ขณะพูดจากับพระสงฆ์ให้นั่งลงยกมือขึ้นประนมเสียก่อนจึงค่อยพูดจากับท่าน
  • คองที่ 12 อย่าเหยียบเงาพระสงฆ์
  • คองที่ 13 อย่าเอาอาหารที่เหลือกินหรือกินไม่หมดไปถวายพระสงฆ์ และอย่าเอาให้สามีของตนกิน
  • คองที่ 14 เมื่อแต่งงานแล้ว หญิงชายเป็นสามีภรรยากัน อย่าหลับนอนร่วมประเวณีกันในวันเกิดของตน วันพระ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา และวันสงกรานต์ มีความเชื่อว่า ลูกคลอดออกมาจะสอนยาก
บุญสงกรานต์
รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่บุญสรงน้ำ บุญสงกรานต์

คองสิบสี่สำหรับทุกเพศทุกวัย

  1. ฮีตเจ้า คองขุน เป็นแนวทางที่เจ้าเมือง เจ้านาย เสนาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่พึงปฏิบัติในการปกครองบ้านเมือง เพื่อให้เกิดความสุขแก่ประชาชนและเป็นที่พึ่งของประชาชน ปกป้องประชาชนให้อยู่ในความดี รักประชาชนอย่าลำเอียงเข้าข้างคนผิด อย่ามีอคติในจิตใจ ดำรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม 
  2. ฮีตท้าว คองเพีย คำว่า “ท้าว” เป็นคำเรียกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เช่น ท้าวอุปราช ท้าวราชวงศ์ หรือเจ้าอุปฮาด เจ้าราชวงศ์ “เพีย” คือ ผู้เป็นขุนนางเสนาอำมาตย์ ต้องมีความรอบคอบในการเลือกคนเข้ามาเป็นท้าวเป็นเพียเพื่อบริหารบ้านเมือง และผู้เป็นท้าวเป็นเพียจะต้องรักษาประเพณีฮีตคองไว้ให้ดี ประพฤติปฏิบัติดีมีศีลธรรม ไม่คดโกง ทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน เพื่อประชาชนจะได้ตั้งอยู่ในความดี บ้านเมืองสงบสุข
  3. ฮีตไพร่ คองนาย “ไพร่” ได้แก่ ราษฎรไพร้ฟ้าข้าแผ่นดิน เป็นแนวทางที่ใช้สำหรับปกครองคนหมู่มาก เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะต้องทำตามระบอบกฎหมายบ้านเมือง รู้จักหน้าที่ของตน เป็นผู้มีศีลธรรม มีเมตตาซื่อตรง รักประชาชน ให้ความยุติธรรมและความสำคัญแก่ประชาชน มีเหตุมีผล อ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อจะได้เข้าถึงทุกข์สุขของประชาชน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่อวดอ้างยกตนข่มท่าน ไม่ประจบสอพลอ ไม่ทุจริตฉ้อโกง
  4. ฮีตบ้าน คองเมือง เป็นแนวทางที่ใช้เพื่อให้คนในชุมชนปฏิบัติต่อกัน โดยจะต้องมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน มีความสามัคคี ปฏิบัติตามจารีตประเพณีอันดีงามของบ้านเมือง อย่าฉ้อโกงเอารัดเอาเปรียบกัน รู้จักเหตุ รู้จักผล เพื่อให้ประชาชนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข
  5. ฮีตปู่คองย่า ฮีตตาคองยาย ปู่ย่าตายาย ชาวอีสานมักเรียกว่า “พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ แม่ซ้น พ่อซ้น พ่อตู้ แม่ตู้” ต้องมีความรักความเมตตาและให้อภัยหลาน ๆ เสมอ ปฏิบัติตนให้เป็นที่พึ่งของลูกหลาน เมื่อเขาเหล่านั้นเกิดความทุกข์โศก ให้เป็นที่เคารพบูชาของลูกหลาน ไม่ลำเอียง มีความยุติธรรม ยกย่องลูกหลานในทางที่ดี พร่ำสอนให้เขาเป็นคนดี รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีฮีตคองของบ้านเมือง
  6. ฮีตพ่อ คองแม่ เป็นแนวทางสำหรับพ่อแม่ที่พึงปฏิบัติต่อลูก เพื่อเป็นตัวอย่างของลูก สั่งสอนให้ลูกเป็นคนดีของสังคมต่อไป พ่อแม่ต้องอยู่ในศีลธรรม ให้ความรัก ให้การศึกษาเล่าเรียน เมื่อลูกเจริญวัยแล้วจะต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่
  7. ฮีตใภ้ คองเขย เป็นแนวทางสำหรับเขยและสะไภ้ที่พึงปฏิบัติเพื่อทำให้ครอบครัวมีความสุข อาทิ ต้องมีความขยันหมุ่นเพียรในการทำงาน เป็นคนดีมีศีลธรรม หญิงใดเป็นลูกสะใภ้แล้วไปอยู่กับปู่กับย่า ต้องรักและเคารพท่านไม่ใช่รักแต่สามี ดูแลปฏิบัติพัดวีท่านเหมือนพ่อแม่ตนและก่อนที่จะไปเป็นสะใภ้ควรศึกษาขนบธรรมเนียมและหน้าที่ของสะใภ้ให้เข้าใจ เพื่อให้เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของท่าน ให้มีความอดทน หากชายใดจะไปเป็นเขยก็ให้ศึกษาทำนองคองธรรมให้เข้าใจ ให้อ่อนน้อมถ่อมตน อย่าให้เกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะเบาะแว้งกับพ่อตาแม่ยาย ช่วยเหลือจุนเจือกัน
  8. ฮีตป้า คองลุง เป็นแนวทางสำหรับลุง ป้า น้า อาที่พึงปฏิบัติต่อลูกหลาน โดยจะต้องวางตนให้เป็นที่รักและเคารพนับถือของลูกหลาน สอนสั่งให้ลูกหลานตั้งอยู่ในคุณความดีมีศีลธรรม ปฏิบัติตามฮีตตามคอง มีเมตตา ไม่ถือตัวโอ้อวด ไม่หยาบคาย แนะนำ ตักเตือน และคอยช่วยเหลือสงเคราะห์เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้
  9. ฮีตลูก คองหลาน เป็นแนวทางสำหรับให้ลูกหลานปฏิบัติต่อพ่อแม่ พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย โดย ลูกหลานต้องทำตนให้เป็นลูกหลานที่ดี ศึกษาเล่าเรียนวิชาการ ไม่ประพฤติชั่ว และพึงปฏิบัติดี อยู่ในศีลธรรมฮีตคอง ขยันหมั่นเพียรทำมาหากิน จุนเจือครอบครัว รักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล กตัญญูรู้คุณเลี้ยงดูต่อพ่อแม่ปู่ย่าตายายและทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ท่านเมื่อท่านล่วงลับ
  10. ฮีตเฒ่า คองแก่ เป็นแนวทางสำหรับผู้ใหญ่วัยชราพึงปฏิบัติต่อลูกหลานและคนทั่วไป เพื่อสร้างสรรค์สังคมบ้านเมืองและเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกหลาน อันจะได้สืบขนบประเพณีฮีตคองของบ้านเมืองต่อไป ได้แก่ การให้ความรักต่อลูกหลาน เป็นที่ปรึกษาให้ชุมชน มีศีลธรรม ความประพฤติดี ไม่หลงระเริงกับการเสพกามรมณ์ และสั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนดีมีศีลธรรม
  11. ฮีตปี คองเดือน เป็นแนวปฏิบัติที่พึงปฏิบัติในแต่ละเดือน หรือตามฮีตสิบสอง ต้องเอาใจใส่ปฏิบัติตามประเพณี จึงจะได้ชื่อว่าเคารพต่อประเพณีวัฒนธรรมของชาติ
  12. ฮีตไร่ คองนา เป็นแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับไร่นาซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากิน ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่สังคมกำหนด เช่น ก่อนทำนาต้องบอกผีนา ผีไร่ก่อน เมื่อทำนาไร่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จก็ต้อง เลี้ยงผีนา (ตำแฮก) หรือผีไร่ด้วย ฯลฯ
  13. ฮีตวัด คองสงฆ์ เป็นแนวทางสำหรับคนในสังคมพึงปฏิบัติต่อวัดวาอาราม พระสงฆ์ และเป็นแนวทางของพระสงฆ์จะต้องปฏิบัติตนให้เป็นที่เลื่อมใสแก่คนในสังคม เช่น พระสงฆ์ จะต้องยึดมั่นในพระธรรมคำสอน ระเบียบ วินัยของสงฆ์อย่างเคร่งครัด ประชาชนทั่วไปจะต้องปฏิบัติ วัฎฐากต่อพระสงฆ์และวัดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ช่วยปรับปรุงก่อสร้างวัดวาอาราม เตรียมข้าวปลาอาหาร ถวายพระสงฆ์อย่าได้ขาด หาดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระสงฆ์ ปู่ย่า ตายาย บิดามารดา ทุกวันพระ และน ำข้าวปลาอาหารผลผลิตที่ดีที่สุดไปถวายพระ และงดเสพกามาคุณในวันพระ เป็นต้น
  14. ฮีตสมบัติคูณเมือง บ้านเมืองที่จะมีความเจริญมั่นคงต้องประกอบไปด้วย สิ่งที่ดี ดังต่อไปนี้ คือ หูเมือง (ราชทูตผู้ฉลด) ตาเมือง (นายหนังสือผู้รอบรู้) แก่นเมือง (พระสงฆ์ผู้ทรงวินัย) ประตูเมือง (เครื่องศัตราวุธที่ดีและทันสมัย) ฮากเมือง (รากเมือง – โหราจารย์ ผู้สามารถ ฉลาดและหยั่งรู้) เหง้าเมือง (เสนา ผู้เฒ่าผู้แก่ ในเมืองที่ฉลาด รอบรู้ กล้าหาญ มั่นคง) ขื่อเมือง (กรมการเมืองที่มีความสัตย์ซื่อ) ฝาเมือง (ทหารผู้กล้าหาญ) แปเมือง (ท้าวพระยาผู้ทรงไว้ ซึ่งทศพิธราชธรรม) เขตเมือง (เสนาอามาตย์ผู้ฉลาด) สติเมือง (พ่อค้า เศรษฐี ผู้มั่งคั่งและสัตย์ซื่อ) ใจเมือง (แพทย์ หมอยาที่มีความสามารถ) ค่าเมือง (ที่ตั้งเมืองที่ดีมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์) เมฆเมือง (เทวาอารักษ์ ผีมเหสักหลักเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์)
ผูกแขนสูดขวัญ
ผูกแขนสู่ขวัญ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กัน

ไพฑูรย์ มีกุศล. (2520) กล่าวว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวอีสาน ทุกจังหวัด หากจะมีบางจังหวัด บางอำเภอ บางตำบล หรือบางแห่งที่ไม่ตรงกันบ้าง เพราะสมัยก่อนประชาชนส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากจำปาศักดิ์และเวียงจันทน์ ยอมรับนับถือฮีตสิบสองคองสิบสี่ซึ่งเป็นจารีตประเพณีของอาณาจักรล้านช้างนี้มาโดยตลอด ชาวอีสานจึงถือว่า “มีจารีตประเพณีอันล้ำค่า” ได้มรดกอันประเสริฐจากบรรพบุรุษมอบไว้ให้ ประเพณีส่วนย่อยบางประการอาจมีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง 

  • ประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อดั้งเดิมยังยึดมั่นอยู่กับผีสางเทวดา ความเชื่อในสิ่งที่อยู่เหนือเหตุผลยังอยู่ในระดับปานกลาง เช่น การเลี้ยงผีบรรพบุรุษยังมีอยู่ทั่ว ๆ ไปในภาคอีสาน
  • ประเพณีบางอย่างไม่มีการปฏิบัติสืบต่อมาหรือมีอยู่น้อยมาก เช่น จีบสาวด้วยคำผญา 
  • ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีมีผลต่อการสร้างความสามัคคี มีโอกาสพบปะกันก่อให้เกิดผลดีต่อการปกครองในสมัยโบราณอย่างมาก
  • ประเพณีบางอย่างมีจุดมุ่งหมายสำคัญมิได้เป็นประเพณีที่เหลวไหลไร้สาระ เช่น การนับถือบรรพบุรุษ เป็นประเพณีที่ทำให้คนในสังคมเคารพนับถือบิดามารดาและญาติพี่น้อง แม้จะล่วงลับไปแล้วก็ยังเคารพนับถือ การผิดผีส่วนมากจะเกิดจากการแตกแยกในวงศาคณาญาติ ดังนั้นการอ้างถึงผีบรรพบุรุษเป็นเครื่องมือไกล่เกลี่ยให้ญาติพี่น้องเข้าใจกันนับถือกันเช่นเดิม จึงเป็นวิธีการที่ฉลาดและมีเหตุผลอย่างมาก
  • ความเชื่องมงายยังคงแฝงอยู่ในพิธีกรรมหลาย ๆ อย่าง เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับสตรีมีครรภ์ โชคลาง การผูกด้ายกันภูตผีปีศาจ การสะเดาะเคราะห์ต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ทั่ว ๆ ไปในภาคอีสาน
  • ประเพณีทางภาคอีสานหลายอย่างเสื่อมหายไป เช่น ประเพณีการหยุดทำงานในวันพระ วันสงกรานต์ ประเพณีการทอดข้าวสาร ประเพณีการลงข่วง ฯลฯ ประเพณีเหล่านี้บางอย่างยุ่งยากเกินไป บางอย่างไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน จึงเป็นที่รู้หรือเคยปฏิบัติในกลุ่มคนที่สูงอายุ ส่วนบุคคลที่เกิดภายหลังมักจะไม่ค่อยเข้าใจหรือไม่เคยปฏิบัติ ประเพณีดังกล่าวนี้ จึงมีอยู่ในหนังสือที่คนเก่าแก่เขียนไว้เท่านั้น
กอนิจจา ชักบังสุกุล
สักอนิจจา หรือ ชักบังสุกุล ทำบุญอุทิศให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ

รรณานุกรม

บำเพ็ญ ณ อุบล. (2546). คอง 14 ระเบียบชีวิตคนอีสาน. เอกสารประกอบการอบรมเรื่องการทำหลักสูตรท้องถิ่น สำนักศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : สำนัก.

ไพฑูรย์ มีกุศล. (2520). ประเพณีอีสาน ใน ศิลปวัฒนธรรมไทย. งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยครั้งที่ 1 3-4 ธันวาคม 2520 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม. กาฬสินธุ์ : ประสานการพิมพ์. 

ฝ่ายบริภัณฑ์เพื่อการศึกษา ศูนย์การศึดษานอกโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศนอ.) “ศ.อ.ศ.อ.” จังหวัดอุบลราชธานี.

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง