ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดบูรพาราม อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ อีกหนึ่งชุมชนที่ให้การสนับสนุนประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีทุกปี เทียนพรรษาของวัดบูรพารามจะเป็นต้นเทียนขนาดใหญ่ประเภทติดพิมพ์ ชุมชนคนทำเทียนวัดบูรพารามนั้น เคยได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศในการทำต้นเทียนมาแล้วกว่า 27 ครั้ง
วัดบูรพาราม
วัดบูรพาราม อุบลราชธานี ในอดีตเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมต้นกำเนิดของสายวิปัสสนากรรมฐาน ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ หอไตรคู่ เป็นหอบกหรือหอไตรที่ตั้งอยู่บนบกที่งดงามด้วยศิลปกรรมท้องถิ่น นอกจากนั้นแล้ววัดบูรพารามยังได้สร้างรูปหล่อเหมือนของพระอาจารย์วิปัสสนา 5 องค์ คือ พระอาจารย์สีเทา ชัยเสโน พระอาจารย์เสา กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระญาณวิศิษย์ และพระสิทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ เพื่อให้ประชาชนได้เคารพสักการะและระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน รูปหล่อนี้ประดิษฐานอยู่ที่สิมเก่าซึ่งเป็นฝีมือการก่อสร้างของพระอาจารย์สีทา ชัยเสโนและอาจารย์เสาร์ กันตสีโล
เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ของวัดบูรพาราม ปี 2559
ในปี 2559 นั้น วัดบูรพารามได้ช่างทำเทียนมือฉมังของเมืองอุบล คือ นายสุคม เชาวฤทธิ์ เป็นหัวหน้าช่างทำเทียนพรรษา โดยรายละเอียดและองค์ประกอบของเทียนพรรษาในปีนี้ ประด้วยด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
ส่วนหน้า เป็นพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรงผจญธิดามาร ซึ่งมีเรื่องราวกล่าวไว้ว่า
“เมื่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จประทับนั่งสมาธิพิจารณาพระปริยัติพระไตรปิฎกในเรือนแก้วถ้วน 7 วัน ณ รัตนฆรเจดีย์ ในสัปดาห์ต่อมาซึ่งนับเป็นสัปดาห์ที่ 5 หลังจากตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้เสด็จไปประทับนั่งสมาธิ ณ ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธ หรือต้นไทร เป็นระยะเวลาอีก 7 วัน
ในลำดับนั้น ธิดาพญามารทั้ง 3 อันได้แก่ นางราคะ นางตัณหา และนางอรดี อาสาพญามารวัสวดีผู้เป็นบิดาเพื่อมาทำลายซึ่งตบะเดชะสมเด็จพระสัพพัญญู ทั้ง 3 นางต่างใช้เล่ห์แห่งอิตถีมายา นิรมิตร่างเป็นสตรีสวยงามในวัยต่าง ๆ ตลอดจนแสดงลีลาฟ้อนรำขับร้อง หมายโลมเล้าให้พระพุทธองค์เกิดความหวั่นไหวในอำนาจแห่งตัณหา
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ากลับมิได้เอาพระทัยใส่และมิได้ลืมพระเนตรขึ้นทัศนาการ กลับขับไล่ธิดาพญามารทั้ง 3 ให้หลีกไปด้วยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากกิเลสตัณหาโดยสิ้นแล้ว ธิดาพญามารทั้ง 3 เมื่อได้สดับจึงปรารภว่าพญามารผู้เป็นบิดากล่าวเตือนไว้ถูกต้องแล้ว อันพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีบุคคลผู้ใดในโลกจะชักนำไปสู่อำนาจแห่งตนได้โดยแท้ แล้วต่างพากันกลับไปสำนักแห่งพญามารวัสวดี”
ส่วนกลาง เป็นพุทธประวัติ ตอน พระพุทธเจ้าตรัสรู้
และส่วนท้ายเป็นพุทธชาดก ตอน พระเนมิราช เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระเจ้าเนมิราช พระพุทธเจ้าของเราทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีขั้นสูงสุด คือ ทรงแน่วแน่ มั่นคง ไม่หวั่นไหว แม้ว่าจะถูกเชื้อเชิญให้เสวยสุขอยู่ในสวรรค์ก็ทรงปฏิเสธและเสด็จกลับมาบำเพ็ญบารมีในโลกมนุษย์
ช่างสุคม เชาวฤทธิ์ นั้นเป็นผู้สร้างผลงานที่โดดเด่นให้กับวัดบูรพารามและวัดต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น เป็นผู้แกะบานประตูวิหารของวัดบูรพาราม เป็นผู้สร้างศาลาเรือนไทยกุฏิสงฆ์ของวัดบูรพาราม เป็นช่างทำเทียนพรรษาของวัดบูรพารามที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 5 ปีซ้อน (ปี 2535-2540) และได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี สาขาประติมากรรม เป็นต้น
ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดบูรพาราม
วัดบูรพาราม ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดบูรพาราม
15.231938, 104.873730
บรรณานุกรม
คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].
พุทธะ. ทรงขับไล่ธิดาพญามารวัสวดี, วันที่ 11 สิงหาคม 2559. http://www.phuttha.com
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2553). ช่างทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์: นายสุคม เชาวฤทธิ์ วันที่ 11 สิงหาคม 2559. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/candlehandicraft.