ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่สนับสนุนประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีทุกปี และเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัวนั้นได้รับรางวัลและการยกย่องว่ามีความงดงามมาโดยตลอด
วัดพระธาตุหนองบัว
วัดพระธาตุหนองบัว จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดราษฎร์ สร้างขึ้นเมื่อปี 2500 โดยนายฟอง สิทธิธรรม ได้มอบที่ดินให้ประมาณ 30 ไร่เศษ โดยบริเวณนั้นใกล้เคียงกับหนองน้ำขนาดใหญ่ และมีกอบัวหลากหลายสีสันขึ้นเต็มหนองบัว ตลอดจนคนในชุมชนละแวกนั้นมักนิยมมาจับสัตว์น้ำเพื่อนำไปเป็นอาหาร ต่อมาชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดหนองบัว
วัดพระธาตุหนองบัวมีพระบรมธาตุที่สวยงาม มีพระเจดีย์พุทธคยาซึ่งจำลองมาจากประเทศอินเดียต้นกำเนิดแห่งพุทธศาสนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และบริเวณวัดหนองบัวยังมีป่าอันอุดมสมบูรณ์ เงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง
เทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว
วัดพระธาตุหนองบัว ได้มีการจัดทำต้นเทียนประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ส่งเข้าประกวดในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีทุกปีตั้งแต่ปี 2531 และได้รับรางวัลแทบทุกปี โดยมีพระครูกิตติวัณโณบล เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัวและช่างฝีมือทางด้านแกะสลักเทียนพรรษา เป็นหัวหน้าผู้ควบคุม กำกับดูแล และอำนวยความสะดวกให้แก่ทีมช่างฝีมือดี รวมทั้งชาวบ้านและนักเรียนจากโรงเรียนในชุมชนก็ให้ความร่วมมือร่วมใจในการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง จึงทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนคนทำเทียนไปด้วย นอกจากนี้ช่วงนอกเทศกาลเข้าพรรษานักท่องเที่ยวก็สามารถเข้ามาชมเทียนพรรษาจำลองที่ทางวัดได้สร้างไว้ได้อีกด้วย ซึ่งเทียนพรรษาจำลองนี้คือเทียนพรรษาของวัดพระธาตุหนองบัวเคยได้รับรางวัล
เทียนพรรษาประเภทแกะสลักของวัดพระธาตุหนองบัว ปี 2559
ในปี 2559 วัดพระธาตุหนองบัว ได้นายสุดสาคร หวังดี ช่างแกะสลักเทียนพรรษาฝีมือดี เป็นหัวหน้าช่างควบคุมการทำเทียนพรรษาซึ่งเป็นเทียนประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ มีพระครูอมรธรรมสโรช เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงาน โดยมีรายละเอียดและองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
ฐานด้านหน้า แกะสลักเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ พระนารายณ์เป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์ ว่ากันว่าถูกพระอิศวรสร้างขึ้นโดยพระหัตถ์ซ้ายลูบพระหัตถ์ขวาบังเกิดเป็นพระนารายณ์ ครุฑเป็นสัตว์กึ่งเทพกายสิทธิ์ขนาดใหญ่ ได้รับพรให้เป็นอมตะมีวิชาผาดโผนพิสดาร มีอานุภาพและพละกำลังมหาศาล เหมือนชาวจังหวัดอุบลราชธานีรวมพลังสร้างความสามัคคีจัดทำเทียนพรรษาสืบสารศิลปะพื้นบ้านอีสานสร้างพุทธศิลป์ให้คงอยู่กับชาวอุบลราชธานี
ถัดมาแกะสลักลวดลายแห่งพระพุทธประวัติหยิบยกเอาเรื่องราวตอนพระเวสสันดรโพธิสัตว์เสด็จไปบังเกิดเป็นสันดุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิตเมื่อก่อนพุทธกาล หมู่เทวดาสวรรค์ชั้นฟ้าประชุมปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่างก็เล็งเห็นว่า พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิตจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจึงได้กราบบังคมทูลจุติยังโลกมนุษย์ ประกอบกับลายกนกคาบนาค กนกหัวนาค และตัวมักกะระอื่น ๆ อีกมากมายอย่างสวยงามวิจิตตระการตา
ฐานรองรับต้นเทียน แกะสลักเป็นเทพกินรี รูปลักษณะครึ่งเทวดาครึ่งนกมีถิ่นอาศัยแถบเชิงเขาไกรลาศ ป่าหิมพานต์ ท่าทีสวยงาม งดงาม เพื่อรองรับต้นเทียนพรรษาเป็นพุทธศิลป์ที่ในปรากฏในวรรณคดีไทย
ลำต้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.70 เซนติเมตร สูง 2.90 เซนติเมตร แกะสลักเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก ทรงได้ทานสองโอรสและพระนางมัทรี ต่างก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณในกาลภายภาคหน้าซึ่งเป็นชาติที่ 10 ก่อนจะเสด็จอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา ประกอบกับลายกนกเปลว เครือเถาว์ และลายบัวกลุ่มอ่อนช้อย สวยงาม
ส่วนยอดแกะเป็นกลีบบัว 5 ชั้น อันเป็นสัญลักษณ์เมืองดอกบัวงามของจังหวัดอุบลราชธานี
ฐานด้านหลัง เป็นภาพพระนางสิริมหามายากำลังบรรทมหลับสนิทในพระแท่นแก้ว ทรงสุบินนิมิตว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งชูดอกบัวขาวลงมาจากภูเขาเงินภูเขาทองร้องบันลือลั่นเข้ามายังปราสาท ทำประทักษิณเวียนขวาสามรอบ แล้วเข้าสู่อุทรเบื้องขวาของพระนาง ถัดมาพระนางประทับใต้ต้นสาละทรงยืนเหนี่ยวกิ่งสาละ ณ วันวิสาขปุรณมีดิถีเพ็ญเดือน 6 แห่งปีก่อนพุทธศก 80 เวลาสายใกล้เที่ยง เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร ก็ได้ประสูติจากครรภ์พระมารดา ทรงเพียบพร้อมด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ก้าวพระบาทออกไปได้ 7 ก้าว พร้อมกับกล่าววาจา ประกาศความสูงสุดว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายภพใหม่ของเราจะไม่มีอีกแล้ว” เปรียบเสมือนงานแห่เทียนพรรษาของชาวอุบลราชธานีจะรักษาซึ่งประเพณีวัฒนธรรมสืบสานศิลปะพื้นบ้านอีสานสร้างพุทธศิลป์ให้คงอยู่กับเราชาวอุบลราชธานีให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว
วัดพระธาตุหนองบัว ถนนธรรมวิถี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว
15.264093, 104.840185
บรรณานุกรม
คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].