ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพลแพน อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่สนับสนุนประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี
วัดพลแพน
วัดพลแพน อุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2433 ภายในวิหารใหญ่วัดพลแพนเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่มิ่งมงคลอุบลเทพนิมิต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานี ปัจจุบันมีพระครูอดุลธรรมประจักษ์ เป็นเจ้าอาวาส
เทียนพรรษาวัดพลแพน
เทียนพรรษาของวัดพลแพน ริเริ่มโดยพระนัฐพล ฉทธโก จากที่ไม่เคยมีความรู้ทางด้านทำเทียนเลย แต่มีญาติโยมมาปรึกษาเรื่องการทำลวดลายเทียน ท่านจึงศึกษาและทดลองรีดลายและแกะลายด้วยตนเองจนกระทั่งมีความรู้ความสามารถในการทำเทียนแบบติดพิมพ์ได้อย่างสวยงาม และเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการทำเทียนพรรษามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา เทียนพรรษาของคุ้มวัดพลแพนเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองประเภทติดพิมพ์รุ่นเล็ก รางวัลประเภทศิลปินรุ่นใหม่รองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลประเภทศิลปินรุ่นใหม่ของชุมชน รองชนะเลิศอันดับ 2 ของทางจังหวัดอุบลราชธานี บางปีมีการจ้างช่างมาทำเทียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ทางวัดตกลงใจว่าจะให้การทำเทียนเป็นกิจกรรมที่วัดและผู้คนหลายวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชนได้มีโอกาสร่วมแรงร่วมใจทำเทียนพรรษาด้วยกัน ถึงแม้ชาวบ้านจะไม่มีประสบการณ์ในการทำเทียนก็จะมีวิธีการสอนวิธีการทำ ทางวัดตกแต่งเทียนพรรษาส่งประกวดทุกปีเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมกับทางจังหวัด แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ เพื่อให้การทำเทียนพรรษาเป็นสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงระหว่างวัดและชุมชนเข้าหากัน
เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ของวัดพลแพน ปี 2559
ปี 2559 วัดพลแพนได้ดำเนินการจัดทำต้นเทียนพรรษาโดยการนำของพระครูอดุลธรรมประจักษ์ โดยนายสุรชัย จันทร์ส่อง เป็นหัวหน้าช่างควบคุมการทำเทียน องค์ประกอบและรายละเอียดของต้นเทียนพรรษาปีนี้ ประกอบด้วย
ส่วนหน้าของต้นเทียนจะเป็นรูปพญาครุฑ ซึ่งพญาครุฑนี้จะเป็นผู้ที่มีพละกำลังมหาศาล ไม่มีผู้ใดต้านทานได้ และยังเป็นพาหนะของพระวิษณุ พญาครุฑได้รับพรจากพระวิษณุให้เป็นอมตะไม่มีศาสตราวุธใดทำลายได้
ถัดลงมาจะเป็นเจ้าปู่พญาศรีสุทโธและเจ้าย่าศรีปทุมมา ซึ่งเจ้าปู่พญาศรีสุทโธนั้นเป็นพญานาคราชผู้เป็นใหญ่ในลุ่มน้ำโขง แผลงเศียรได้ 9 เศียร ส่วนองค์เจ้าย่าศรีปทุมมา แผลงศรได้ 5 เศียร ทั้งสององค์โปรดปรานการฟังธรรมจากพระอริยสงฆ์มาก และเนรมิตวรกายเป็นเศียรเดียวหรือมนุษย์ก็ได้
ต่อมาเป็นเรื่องสวรรณสามจากทศชาติชาดก ชาติที่ 3 กล่าวถึง พระเจ้ากบิลยักษ์ได้ออกล่าสัตว์มาจนถึงท่าน้ำที่สุวรรณสามตักน้ำอยู่ จึงจะสุ่มยิงสัตว์ที่ผ่านมากินน้ำ ขณะนั้นสุวรรณสามนำหม้อน้ำมาตักน้ำไปใช้ที่ศาลาดังเช่นเคย มีฝูงสัตว์เดินตามมาด้วยมากมาย พระเจ้ากบิลยักษ์ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงแปลกใจ สุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา เหตุใดจึงเดินมากับฝูงสัตว์ ครั้งจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสามจะตกใจหนีไปก็จะไม่ได้ตัว จึงยิงด้วยธนูอาบยาพิษ
ต่อมาเป็นต้นเทียนพรรษาที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.40 เมตร ความสูงของลำต้นเทียน 2 เมตร ที่บรรจงติดลายอย่างสวยงาม
ส่วนท้ายเป็นเรื่องพุทธประวัติตอนอันเชิญเหล่าเทวดาหมื่นจักรวาลทูลอันเชิญเทพบุตรบรมโพธิสัตว์จากสวรรค์ชั้นดุสิตให้มาจุติยังโลกมนุษย์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อการแสวงหาหนทางหลุดพ้น ตรัสรู้ เผยแผ่พุทธศาสนาและเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และส่วนท้ายที่สุดจัดทำเป็นรูปพระพรหม เพื่อเป็นฉากหลังประกอบต้นเทียนเพื่อความสวยงาม
ช่างสุรชัย จันทร์ส่องนั้น เป็นช่างฝีมือดีที่สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้วยวิธีครูพักรักจำ เป็นหัวหน้าช่างเทียนมากกว่า 10 ปี มีจุดเด่น คือ ลวดลายที่วิจิตรอ่อนช้อยที่ได้จากการออกแบบลายเดิมแล้วพลิกแพลงให้มีความสวยงามแปลกใหม่ และหุ่นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ได้สัดส่วนสมจริง
และด้วยความสวยงามวิจิตรตระการตาทำให้ปี 2559 นี้ ต้นเทียนพรรษาของวัดพลแพนได้รับ “รางวัลชนะเลิศประเภทต้นเทียนติดพิมพ์ขนาดใหญ่” ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2559
ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพลแพน
วัดพลแพน บ้านแสนตอ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดพลแพน
15.232335, 104.867634
บรรณานุกรม
คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2553). ช่างทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์: นายสุรชัย จันทร์ส่อง, 22 สิงหาคม 2559. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/candlehandicraft.