ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดศรีประดู่ อุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ เป็นชุมชนที่ส่งเสริมประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี โดยการทำขบวนต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์เข้าร่วมงานทุกปี เป็นหนึ่งในผลงานการสืบสานการทำต้นเทียนพรรษาของครูสมคิด สอนอาจ ครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรม จากพ่อสู่ลูกหลานและนำพาชุมชนเข้าร่วมในงานประเพณีประจำปีที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี
วัดศรีประดู่ อุบลราชธานี
วัดศรีประดู่ จังหวัดอุบลราชะานี ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2518 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2519 มีพระอุโบสถและศาลาการเปรียญเป็นหลังเดียวกัน ภายในประดิษฐานพระประธานพระพุทธชินราชจำลอง หน้าตักกว้าง 109 นิ้ว และพระสังกัจจายน์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวของพุทธประวัติที่สวยงามมาก ซึ่งวาดไว้ตั้งแต่ปี 2538
เทียนพรรษาของวัดศรีประดู่ ปี 2559
วัดศรีประดู่ได้ทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ส่งเข้าประกวดทุกปี และได้รับรางวัลชนะเลิศ สลับกับวัดบูรพามาโดยตลอด ในปี 2559 นี้มีนายชาญณรงค์ สอนอาจ เป็นหัวหน้าช่าง นายศุภกฤต สอนอาจ เป็นผู้ออกแบบและวางแผนการทำต้นเทียน และมีอาจารย์สมคิด สอนอาจ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ประธานศูนย์การเรียนรู้เทียนพรรษาวัดศรีประดู่เป็นที่ปรึกษา ผู้กำกับ ดูแล นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านในชุมชนและนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีความประสงค์อยากจะร่ำเรียนศิลปะในการทำต้นเทียนก็สามารถเข้ามาร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมกับวัดก็ได้
ในปี 2559 วัดศรีประดู่ได้จัดทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ รายละเอียดของต้นเทียนได้นำเรื่องราวพุทธประวัติ 4 ตอน ได้แก่ ประสูติ ออกบวช ผจญมาร และปรินิพาน มาเป็นแนวคิดในการจัดทำองค์ประกอบของต้นเทียนพรรษา
ความเป็นมาของการทำเทียนพรรษาของวัดศรีประดู่
การทำต้นเทียนของวัดศรีประดู่นั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับปีที่สร้างวัด มีการทำเทียนพรรษาเพื่อส่งเข้าร่วมงานประเพณีของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ โดยมีนายทองดี สอนอาจ เป็นหัวหน้าช่าง พร้อมด้วยชาวบ้านดู่ อาทิ นายบู่ ทองมี นายประสิทธิ์ รากเงิน นายเภ่า แสงทอง นายสุวิทย์ โคตรมงคล นายเดือน สิทธิจินดา นายผุย ยืนยาว เป็นต้น ได้ร่วมกันทำต้นเทียนโบราณ (มัดรวมติดลาย, เทียนกิ่ง) นำไปถวายวัดต่าง ๆ ที่ได้สนับสนุนและอุปถัมภ์ช่วยสร้างวัดศรีประดู่ ซึ่งได้แก่ วัดมหาวนาราม วัดพุทธนิคม และวัดทุ่งเกษม อำเภอวารินชำราบ
จากนั้นนายทองดี สอนอาจ ก็ได้นำญาติพี่น้องชาวบ้านดู่ทำเป็นประเพณีต่อมาจนถึงปี 2514 นายทองดี สอนอาจ ได้ถึงแก่กรรม พระครูกิตติยาภรณ์โกศล เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น (หรือพระเทพกิตติมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีและเจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม) จึงได้มอบหมายภาระกิจการทำเทียนพรรษาให้กับ นายสมคิด สอนอาจ ผู้เป็นบุตรชายของนายทองดี สอนอาจ เป็นผู้ทำหน้าที่แทนบิดา และในปีนั้นนายสมคิด สอนอาจ ก็ได้จัดทำเทียนพรรษาประเภทแกะสลักให้กับวัดศรีประดู่ จนในปี 2522 จึงได้เปลี่ยนมาทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ และทำเทียนพรรษาประเภทนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ช่วงเทศกาลประเพณีเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีทุก ๆ ปี วัดศรีประดู่ก็จะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจและนักท่องเที่ยวเข้าชมเพื่อศึกษาเรียนรู้และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทำเทียนพรรษา
รางวัลการทำเทียนพรรษาของวัดศรีประดู่
เทียนพรรษาของวัดศรีประดู่ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี พิจารณาตัดสินให้ได้รับรางวัลในการประกวดมากมาย ได้แก่
- รางวัลชนะเลิศพิเศษ ปี 2532
- รางวัลชนะเลิศ ปี 2519, 2528, 2531, 2540, 2542, 2543, 2545, 2547, 2550, 2554
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ปี 2524, 2525, 2526, 2529, 2530, 2535, 2536, 2539, 2541, 2544, 2546, 2549, 2552
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ปี 2527, 2537, 2538, 2548, 2551, 2553, 2555
- รางวัลชมเชย ปี 2534
ที่ตั้ง ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดศรีประดู่
วัดศรีประดู่ หมู่ที่ 5 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำเทียนพรรษาวัดศรีประดู่
15.236363, 104.874689
บรรณานุกรม
คณะกรรมการฝ่ายกิจกรรมเยือนชุมชน ชมวิถีวัฒนธรรมในการตกแต่งต้นเทียน. (2559). แผนที่เส้นทางเยือนชุมชนคนทำเทียนอุบลราชธานี “เพลินหัตถศิลป์ถิ่นคนทำเทียน” ปี 2559 [แผ่นพับ].