ผีตาแฮก ตามความเชื่อของชาวอีสาน คือ ผู้อารักษ์หรือผู้ปกป้องผืนนา การทำนาแต่ละครั้งจะต้องมีการบอกกล่าวเซ่นไหว้ผีตาแฮกก่อนเพื่อให้ผีตาแฮกช่วยปกป้องคุ้มครองที่นาและช่วยให้ผลผลิตงอกงามอุดมสมบูรณ์ เป็นจารีตที่ชาวอีสานถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน หากมีการขัดขืนหรือไม่ทำจะถือว่าผิดจารีต (คะลำ) และผีตาแฮกอาจทำอันตรายได้ นอกจากนั้นแล้ว นาตาแฮกยังใช้เป็นนาเสี่ยงทายปริมาณน้ำฝนและผลผลิตข้าวในปีนั้น ๆ อีกด้วย
ความหมายของผีตาแฮก
สำลี รักสุทธี (2544) ได้กล่าวว่า “ตาแฮก” เป็นภาษาอีสาน มาจากคำว่า “ตา” ที่แปลว่า ที่นาที่แบ่งเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ และคำว่า “แฮก” ที่แปลว่า แรก แรกเริ่ม ตั้งต้น เมื่อรวมกันเป็น “ตาแฮก” ที่หมายถึง พื้นที่นาเล็ก ๆ ที่ใช้เป็นที่แรกนาหรือที่ปักไถเป็นครั้งแรก
และได้ให้ความหมายของคำว่า “ตาแฮก” อีกความหมายหนึ่ง คือ อารักษ์หรือผีผู้พิทักษ์รักษาไร่นา ที่มีความเชื่อว่าเป็นผีที่มีอิทธิฤทธิ์มาก สามารถทำให้ข้าวปลาในท้องนามีอันเป็นไปต่าง ๆ นานาได้ เช่น อาจทำให้ปลาตาย ข้าวเหี่ยวเฉาหรือสวยงามเจริญเติบโตสมบูรณ์
บุญยงค์ เกศเทศ (2557) ก็ได้กล่าวไว้อีกว่า ผีตาแฮก เป็นผีที่เฝ้าประจำอยู่ที่ “นาตาแฮก” เพื่อคอยคุ้มกันที่นาและช่วยดลบันดาลให้ผลผลิตในนามีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังช่วยรักษาครอบครัวของชาวนาอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากมีการเรียกว่า “มาเยอ” ซึ่งหมายถึง ปู่เยอ ย่าเยอ ผู้เป็นบรรพชนสูงศักดิ์
ส่วนคำว่า “นาตาแฮก” นั้นหมายถึง นาเสี่ยงทายผลผลิตข้าวที่เจ้าของที่นามักทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กไว้ตามคันนา หรืออาจเป็นเนินดินที่สูงกว่าปกติ โดยบริเวณนาตาแฮกนั้นจะปักดำต้นข้าว จำนวน 11 ต้น ถ้าต้นข้าวเจริญงอกงามจนสามารถออกรวงได้นั้นก็หมายถึงผลผลิตบนพื้นนาในปีนั้นจะดีตามไปด้วย
นอกจากนั้น ยังกล่าวว่า “ตาแฮก” เป็นคำที่ใช้เรียกชื่อผีผู้หญิง ที่เป็นเทพธิดาประจำผืนนาหรืออาจเรียกว่าเป็นผีนาที่ผู้คนที่แต่ละครัวเรือนต่างมีความเชื่อถือศรัทธากันว่า ก่อนจะลงมือทำนาแต่ละฤดูนั้นต้องเซ่นสรวงบูชาผีตาแฮกเสียก่อน จึงจะเพาะปลูกหว่านดำข้าวกล้าได้ผลดี
ที่อยู่ของผีตาแฮก
ตามความเชื่อที่ว่าผีตาแฮกคืออารักษ์ผู้คุ้มครองที่นา ฉะนั้น ผีตาแฮกจึงอยู่ตามท้องไร่ท้องนา โดยชาวบ้านหรือเจ้าของที่นาจะทำศาลเล็ก ๆ ให้ผีตาแฮกอยู่ ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “ตูบตาแฮก” ซึ่งมีลักษณะเหมือนบ้านและพบเห็นได้หลายรูปแบบ เช่น
- นำสังกะสีมาตัดรูปทรงสี่เหลี่ยมทำเป็นหลังคา เจาะรูใส่เสาตรงกลางปักไว้ให้เป็นที่อยู่ของผีตาแฮก
- ทำเป็นบ้านไม้ไผ่ โดยใช้ตอกไม้ไผ่สานเป็นบ้านขนาดเล็ก มีเสาไม้หนึ่งเสาสำหรับปักลงข้าง ๆ นาตาแฮก ที่ปลายเสามีห่วงไม้ไผ่คล้องกัน 7 ห่วง
นอกจากนี้แล้ว บางคนก็ทำเป็นแปลงนาเล็ก ๆ ไว้รอบที่อยู่ของผีตาแฮก เพื่อปลูกข้าวเป็นแปลงนาตาแฮกหรือแปลงเสี่ยงทายฟ้าฝนก็มี
ความสำคัญของผีตาแฮก
การเลี้ยงผีตาแฮกเป็นจารีตปฏิบัติที่ชาวอีสานสืบทอดกันมายาวนาน อาจจะเนื่องด้วยว่า ชาวอีสานมีความเชื่อว่าไม่ควรไปล่วงเกินผี ให้ต่างคนต่างดำรงชีวิตอยู่อย่างถ่อมตนและอ่อนน้อมกับธรรมชาติ โดยมีคำผญาพื้นถิ่นที่จำกันขึ้นใจว่า “เจียมผีเฒ่า เจียมเจ้ายืน” โดยมีข้อกำหนดที่รับรู้ร่วมกันว่า
ผีตาแฮกของตนกล้าแข็ง หากใครล่วงล้ำเข้ามาทำประโยชน์ โดยเจ้าของนาไม่ยินยอม ผีตาแฮกอาจทำอันตราย ขณะเดียวกันผีตาแฮกยังเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนให้ชาวนาเอาใจใส่ดูแลที่นาของตน โดยไม่ปล่อยปละละเลยให้รกร้าง และต้องทำนาอย่างต่อเนื่องทุกปี
นอกจากนั้น ยังพบว่าชาวอีสานยังให้ความสำคัญกับพิธีนี้ โดย การบันทึกไว้ในใบลาน หนังสือผูก หรือหนังสือก้อมต่าง ๆ เพื่อให้สืบทอดและถือปฏิบัติ หากใครไม่ปฏิบัติตามชาวอีสานจะถือว่าเป็นผู้ขัดขืนหรือ “คะลำ” ผีตาแฮกอาจทำอันตรายให้ได้
นิทานความเป็นมาของผีตาแฮก
“ครั้งหนึ่งมีชายสองคนพ่อลูก ลูกชายโตเป็นหนุ่ม ได้เดินทางเข้าไปในป่า พบรอยเท้าของคน 2 คน พ่อจึงตกลงกับลูกชายว่า ถ้าเป็นรอยเท้าผู้หญิงจะต้องเอามาทำเมียคนละคน โดยคนที่มีรอยเท้าเล็กจะเป็นเมียของลูก ส่วนคนที่มีรอยเท้าใหญ่จะเป็นเมียของพ่อ เมื่อตกลงกันได้แล้วจึงเดินทางไปตามรอยเท้า แต่เมื่อพบเจ้าของรอยเท้า ปรากฏรอยเท้าเล็กเป็นเมียของตนเองและรอยเท้าใหญ่เป็นลูกสาวของตนเอง เพื่อไม่ให้ผิดคำพูดพ่อจึงได้สมสู่กับลูกสาว ส่วนลูกชายก็นอนสมสู่กับแม่ของตัวเอง การสมสู่ของพ่อแม่ลูกในครั้งนี้ถูกมนุษย์และเทวดาด่าสาปแช่งอย่างหนัก เมื่อตายแล้วก็ไม่ได้ไปผุดไปเกิด และถูกสาปให้มาเป็นผีเฝ้าไร่นาของมนุษย์ เพื่อทำคุณไถ่บาป จึงเรียกผีนาว่านี้ว่า ผีตาแฮก”
พิธีเลี้ยงผีตาแฮก
สำลี รักสุทธี (2544) กล่าวว่า พิธีเลี้ยงผีตาแฮก ส่วนใหญ่จะมี 2 ครั้ง คือ ก่อนลงนาและก่อนจะตี (นวด) ข้าว ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1.การเลี้ยงผีตาแฮกก่อนลงนา โดย เจ้าของนาจะนำข้าวปลาอาหารหรือเครื่องเซ่นไปเลี้ยงผีตาแฮก ซึ่งประกอบด้วย
- ข้าวเหนียวสุก อาจจะปั้นเป็นก้อนหรือคำก็ได้
- อาหารคาวหวานใส่ถ้วยหรือกระทงใบตองก็ได้ สำหรับอาหารคาวส่วนมากจะเป็นอาหารที่เรารับประทานในชีวิตประจำวันและอาหารพิเศษ นั่นคือ ไก่ต้ม ที่ต้มโดยไม่ต้องใส่เครื่องปรุงอะไร ส่วนของหวานอาจจะเป็นผลไม้ก็ได้
- เหล้า ส่วนใหญ่จะเป็นเหล้าขาว อาจใส่แก้วหรือใส่ฝาขวดน้ำอัดลมก็ได้
- หมากพลู บุหรี่ เพราะเชื่อว่าผีตาแฮกจะมีผีบรรพบุรุษรวมอยู่ด้วย ซึ่งชอบกินหมากพลูและสูบบุหรี่
- น้ำ
- ไม้ขีด
- อื่น ๆ ตามแต่ใครจะเห็นเหมะสม
เมื่อเตรียมของทั้งหมดครบแล้วก็นำไปวางบนตูบตาแฮกหรือศาลตาแฮกแล้วก็เชิญผีตาแฮกมากิน จากนั้นก็ไปแฮกนา (แรกนา) ได้ตามต้องการ
มีคำกล่าวเกี่ยวกับการนำไก่ต้มไปเลี้ยงผีตาแฮกว่า “ต้นไม้ใหญ่บ่มีผีสาวผู้ดีบ่มีชู้ ธรณีสิอกแตก ตาแฮกเปิดไก่ต้ม ดินสิแห้งไง่ผง” แปลว่า “ต้นไม้ใหญ่ไม่มีผีสาวคนดีไม่มีชู้ ธรณีจะอกแตก ตาแฮกเบื่อไก่ต้ม ดินจะแห้งเป็นผุยผง” หมายความว่า ตาแฮกจะต้องกินไก่ต้ม หากตาแฮกเบื่อไก่ต้มถือเป็นเรื่องผิดปกติและเป็นไปไม่ได้ชนิดที่เรียกว่าเกิดความวิบัติแก่บ้านเมืองเลยทีเดียว เมื่อทำพิธีเลี้ยงผีตาแฮกเสร็จแล้ว เจ้าของนาจะคอยจนกว่าถึงเวลาที่คาดว่าผีตาแฮกกินเครื่องเซ่นเสร็จ ก็นำคางไก่ต้มนั้นมาแกะดูขากรรไกรทั้งสองข้าง (คางไก่) เพื่อทำนายฝนในปีนั้น ถ้าคางไก่งอนโค้ง สวย ชูชัน ทำนายว่า น้ำท่าดี ผลผลิตดี
2. การเลี้ยงผีตาแฮกก่อนนวดข้าว เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะนำมามัดข้าวไปกองรวมกันเรียกว่า “ลอมข้าว” หรือ “ลานข้าว” ก่อนจะนำลงมานวดข้าว (ตี) จะต้องมีการบอกกล่าวหรือเลี้ยงผีตาแฮกอีกเช่นกัน เครื่องเซ่นที่ต้องเตรียมมาเลี้ยงตาแฮกและขาดไม่ได้เลย ประกอบด้วย
- ข้าวสุก 1 ปั้น (บางแห่งนิยมปั้นเป็นรูปสัตว์)
- ไข่ต้ม 1 ฟอง
- เผือกหรือมัน 1-3 หัว
- บุหรี่ 1 มวน
เครื่องเซ่นอื่น ๆ อาจเพิ่มได้ตามความเหมาะสม แต่ละแห่งอาจไม่เหมือนกัน ผู้ทำพิธีจะนำเครื่องเซ่นดังกล่าวมาห่อรวมกันอย่างดีแล้วมัดไว้ในฟ่อนข้าวหรือมัดซังข้าวที่ตีเมล็ดออกหมดแล้ว ใช้เชือกมัดหัวและมัดท้ายให้แน่นเพื่อให้เครื่องเซ่นที่ใช้เลี้ยงผีตาแฮกอยู่ข้างใน แล้วใช้ไม้เสียบและนำไปปักไว้บนลอมข้าวตรงกลางลอม จากนั้นจึงเชิญผีตาแฮกมากินและขออนุญาตเอามัดข้าวลงมาตีต่อไป
นอกจากนี้แล้วในงานบุญข้าวสาก หรือบุญเดือนสิบตามฮีตสิบสองของคนอีสาน ก็จะมีการนำข้าวสากจากวัดมาวางไว้บนคันนา หรือวางบนตูบตาแฮก แล้วเรียกให้ผีตาแฮกมากินและบอกให้ช่วยดูแลที่นาต่อไปอีกด้วย
พิธีเลี้ยงผีตาแฮก อำเภอโนนสูง จังหวัดมุกดาหาร
จากการรวบรวมข้อมูลของประทับใจ สิกขา (2545) ได้กล่าวถึงพิธีเลี้ยงผีตาแฮก อำเภอโนนสูง จังหวัดมุกดาหาร ไว้ว่า การเลี้ยงผีตาแฮก จะทำพิธีในตอนเช้าตรู่ โดยผู้เป็นพ่อหรือหัวหน้าครอบครัวต้องทำพิธีเพียงคนเดียว
เครื่องประกอบพิธี คือ กระติบข้าว ไก่ และเหล้าซึ่งบรรจุอยู่ในกะลามะพร้าว และมีอุปกรณ์ประกอบพิธีคือ ก่องแขนผีตาแฮก มีความหมายว่า ได้ปลาพวงละตัว อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร ในน้ำมีปลาในนามีข้าว และบ้านผีตาแฮก ชาวผู้ไทยเรียกว่า หนอย
การปักข้าว 7 กอ หมายถึง ให้ได้วัวเขาลาย ให้ได้ควายเขาย้อง (เขาโง้ง) ให้ได้ฆ้อง 9 กำ (ฆ้องใหญ่) ถ้าได้ถือว่ารวยที่สุด ให้ได้คำ 9 หมื่น (ทองคำ) ให้ได้ไก่เต็มรก (เต็มเล้า) ให้ได้ข้าวเต็มเย้ (เล้า) ให้ได้เมียผู้ดีมาเทียมข้าง (ให้ได้เมียงามมาเคียงข้าง)
ก่อนจะเริ่มทำไร่ทำนาของทุกปี ชาวผู้ไทยตำบลโนนยาง อำเภอโนนสูง จังหวัดมุกดาหาร จะทำพิธีเลี้ยงผีตาแฮกหรือจ้ำเข่าผีตาแฮกให้ผีไร่ผีนาได้อยู่ได้กิน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของไร่นา ด้วยมีความเชื่อมาแต่ดั้งเดิมจากบรรพบุรุษว่า
“ไก่พระยา นาพระเจ้า ข้าวพระอินทร์ ผู้ข้าเฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน เฮ็ดทาน ขอให้อุดมสมบูรณ์ ในน้ำขอให้มีปลา ในนาขอให้มีข้าว ให้เบิ่งให้แงง บ่ให้ช้าง ให้ม้า สิงสาราสัตว์ สิ่งต่าง ๆ เข้ามารบกวน เข้ามากัดมากิน”
เป็นการบอกกล่าวผีไร่ผีนาให้ช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ เข้ามารบกวน ทำลายพืชพันธุ์ที่ปลูกไว้โดยการแฮะนาหรือการไถนา ดำนาเตรียมไว้ ก่อนวันทำพิธีเลี้ยงผีตาแฮกนั้นจะทำการล้อมรั้วหรือคอกไว้ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในนาข้าว เป็นการป้องกันไม่ให้วัวควายลงไปกินหรือเหยียบย่ำทำลายหรือไม่ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแตะต้องบริเวณนั้น ก่อนวันทำพิธี เพราะถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์
พิธีแฮกนา
ในหนังสือประเพณีอีสาน ฉบับ ส.ธรรมภักดี ได้กล่าวไว้ว่า หลังจากทำพิธีเลี้ยงผีตาแฮกแล้ว ชาวนาก็จะไปที่นาตาแฮก ที่ทำขึ้นโดนการปั้นคันนามุมใดมุมหนึ่งหรือแจนาให้สูง กว้างยาวประมาณ 4 ศอก ปักเสา 4 ต้นเอาหนามมาล้อมเป็นรั้วไว้ จากนั้นชาวนาก็จะไปเตรียมไถลงแฮกนาหรือแรกนา โดยการไถที่นาเป็นวงกลมเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับปักดำกล้าข้าว บางคนก็มีสังเกตก้อนขี้ไถไปด้วยเพื่อทำนายว่าปีนี้ฝนจะดีหรือไม่
พิธีปักนาตาแฮก จะเริ่มด้วยการนำกล้าข้าวมาจำนวน 8 ต้น พร้อมยกเครื่องขันธ์ 5 มาวาง จากนั้นทำการปักต้นกล้าแต่ละต้นพร้อมกล่าวว่า
ปักกกนี้พุทธรักษา ปักกกนี้ธรรมรักษา ปักกกนี้สังฆรักษา ปักกกนี้เพิ่นเสียให้กูได้ ปักกกนี้เพิ่นไฮ้ให้กูมี ปักกกนี้ให้ได้หมื่นมาเยีย ปักกกนี้ให้ได้หมื่นเญียพันเล้า ปักกกนี้ขวัญข้าวให้มาโฮม
เมื่อปักครบทั้ง 8 ต้น ก็เป็นอันเสร็จพิธีปักนาตาแฮก ทั้งนี้ หากจะลงมือปักดำข้าวในนาธรรมดา ก็ให้ทำพิธีปักกกแฮกก่อน แล้วจึงลงมือปักต้นกล้าข้าวในที่นาอื่น ๆ ต่อไป
พิธีปักกกแฮก (ต้นแรก) ชาวนาอีสานจะเลือกเอา “วันฟู” หรือ “วันลอย” ตามวิธีการนับแบบจันทรคติ เป็นวันทำพิธีปักกกแฮก ตามความเชื่อที่ว่า “วันฟู” คือ วันแห่งโชคลาภ อันจะนำความเจริญรุ่งเรืองเข้ามาในชีวิต ในวันนั้นจะทำการจัดเครื่องขันธ์ 5 มาพร้อมกับต้นกล้าจำนวน 14 ต้น เพื่อทำพิธีปักกกแฮก โดย ก่อนจะลงมือปักต้นกล้าต้นใดลงไปในนาข้าว ให้กล่าวว่า
“ไฮ่นี้ไฮ่ก้ำขวา นานี้นาท้าวทุม ท้าวทุมให้กูมาแอกนากูจักแอก พญาให้กูมาแฮกไฮ่กูจักแฮก ปักกกนี้ให้กูได้งัวแม่ลาย ปักกกนี้ให้กูได้ควายเขาช้อง ปักกกนี้นกจิบโตตาบอดให้บินหนี ปักกกนี้นกจอกโตตาหวานให้บินหนี ปักกกนี้แมงคาโตฮู้ย่ำกกข้าวให้บินหนี ปักกกนี้ให้ได้ฆ้องเก้ากำ ปักกกนี้ให้ได้คำเก้าหมื่น ปักกกนี้ให้อวนข้าวหมื่นมาเยีย ปักกนี้ให้มานใหญ่ทอมานอ้อย ปักกกนี้ให้มานน้อยท่อมานเลา ปักกกนี้ให้ได้เป็นเศรษฐีเท่าเฒ่า โอมสหุมฯ
บรรณานุกรม
บุญยงค์ เกศเทศ. (2557). ผีวิถีคน ความเชื่อและการพึ่งพาระหว่างคนกับผี. มหาสารคาม : กากะเยีย.
ประทับใจ สิกขา. (2545). การรวบรวมข้อมูลพิธีกรรมชนแดนโขงด้วยภาพถ่ายและวีดิทัศน์ รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2545. อุบลราชธานี : สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
ส.ธรรมภักดี. (2542). ประเพณีอีสาน. กรุงเทพฯ : ส.ธรรมภักดี.
สำลี รักสุทธิ. (2544). สืบสานตำนานงานบุญประเพณีอีสาน. กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.