ขวัญ เป็นสิ่งที่ชาวอีสานให้ความสำคัญและเชื่อว่าเป็นมงคลแก่ชีวิต ทำให้ชีวิตและครอบครัวมีความร่มเย็นเป็นสุข และสร้างพลังทางจิตวิญญาณ จึงพบเห็นพิธีบายศรีสู่ขวัญ หรือการสูดขวัญเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้รับขวัญอยู่ทุกช่วงของชีวิตของชาวอีสาน เช่น การสู่ขวัญเด็กน้อย สู่ขวัญนาค สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ สู่ขวัญแต่งงาน สู่ขวัญคนป่วย สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควาย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แสดงถึงความรักและความห่วงในที่จะช่วยให้สังคมสงบสุข
ความหมายของคำว่า “ขวัญ”
“ขวัญ” นั้นเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายกับจิตหรือวิญญาณแฝง อยู่ในตัวคนและสัตว์ ตั้งแต่เกิดมาทุกคนมีขวัญกันทั้งนั้น รวมทั้ง หมายถึง “กำลังใจ” “เป็นที่รักที่บูชา” หรือ “ขนหรือผมที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย” ก็ได้
ขวัญ เป็นสิ่งที่ชาวอีสานให้ความสำคัญและเชื่อว่าเป็นมงคลแก่ชีวิต ทำให้ชีวิตและครอบครัวมีความร่มเย็นเป็นสุข และสร้างพลังทางจิตวิญญาณ จึงพบเห็นพิธีบายศรีสู่ขวัญ หรือการสูดขวัญเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้รับขวัญอยู่ทุกช่วงของชีวิตของชาวอีสาน เช่น การสู่ขวัญเด็กน้อย สู่ขวัญนาค สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ สู่ขวัญแต่งงาน สู่ขวัญคนป่วย สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควาย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่แสดงถึงความรักและความห่วงในที่จะช่วยให้สังคมสงบสุข
ความเชื่อเกี่ยวกับขวัญ
จากการศึกษาของนิตินันท์ พันทวี (2544) พบว่า มีความเชื่อที่เกี่ยวกับขวัญมีอยู่ 2 ประการ คือ
1) ความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะของขวัญ โดยเชื่อว่า ขวัญมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับร่างกายมนุษย์ที่ไม่มีตัวตน ทำหน้าที่แทนจิตใจของมนุษย์ กล่าวคือ ขวัญมีอารมณ์ ขวัญกินอาหารได้ ขวัญชอบคำสรรเสริญเยินยอ ขวัญชอบฟังถ่อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน ชอบใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สะอาดและสวยงาม ขวัญตกใจง่าย และที่สำคัญ คือ ชอบเที่ยวเพลิดเพลินพลัดหลงอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ร่างกายของมนุษย์ได้สัมผัสผ่านไปเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เมื่อมนุษย์ตกอยู่ในสภาพขวัญออกจากร่าง เชื่อว่าเป็นภาวะที่อันตรายอย่างยิ่ง จำเป็นต้องมีการทำพิธีเชิญขวัญซึ่งพลัดหลงอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่ร่าง ด้วยบทสู่ขวัญที่มีภาษาที่ไพเราะอ่อนหวาน และมีเนื้อหาที่ใช้เชื้อเชิญให้ขวัญพอใจและสบายใจ เพื่อให้ขวัญกลับเข้าร่างเดิม
2) ความเชื่อเกี่ยวกับจำนวนและที่อยู่ของขวัญ บทสู่ขวัญทุกประเภทที่ใช้ในการประกอบพิธีการ เกิดจากความเชื่อที่ว่าคนหรือสัตว์มีขวัญอยู่จำนวน 32 ขวัญ ประจำอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทั้ง 32 แห่ง เช่น ขวัญเท้า ขวัญหู ขวัญตา ขวัญคิ้ว
พิธีสู่ขวัญ หรือ บายศรีสู่ขวัญ
“พิธีสู่ขวัญ” หรือ “พิธีบายศรี” หรือ “บายศรีสู่ขวัญ” เป็นพิธีกรรมสำคัญที่ชาวอีสานจะทำกันแทบทุกโอกาส ตามความเชื่อที่ว่า ถ้าขวัญออกจากร่างจะทำให้ผู้เป็นเจ้าของขวัญนั้นประสบผลร้ายต่าง ๆ ดังที่สมเด็จเจ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ว่า
“ประเพณีการสู่ขวัญ เกิดจากความเชื่อที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ที่ว่าคนเราเกิดมาย่อมมีธรรมชาติอันหนึ่งที่เรียกว่า “ขวัญ” ประจำปกป้องรักษาตัวผู้เป็นเจ้าของขวัญ เพื่อให้มีความสุขไม่เกิดเจ็บป่วย แต่ถ้าขวัญของคนใดคนหนึ่งหายไปจากตัว จะทำให้คนนั้นเกิดความเจ็บป่วย มีความทุกข์และอาจสิ้นชีวิตได้ เพื่อให้ขวัญได้อยู่กับเนื้อกับตัวดังเดิม จึงมี “พิธีสู่ขวัญ” หรือ “พิธีเรียกขวัญ” ขึ้น”
การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญอาจจะมีทั้งพิธีทางพุทธศาสนาและพิธีทางศาสนาพราหมณ์ กล่าวคือ มีการนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป มาฉันภัตตาหารและเจริญพระพุทธมนต์ สวดชัยมงคลคาถา ร่วมกับพิธีการบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นรูปแบบพิธีทางศาสนาพราหมณ์
โอกาสในการจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ
การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญมีมูลเหตุสำคัญ 2 ประการ ดังนี้
- เนื่องในโอกาสอันเป็นมงคล เพื่อแสดงความยินดีที่ประสบความสำเร็จหรือได้รับชัยชนะ โดยมีจุดหมายเพื่อเป็นการรับขวัญ บำรุงขวัญและกำลังใจ และถือเป็นการอวยพรให้ประสบความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เช่น การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การต้อนรับแขกคนสำคัญ การบวชนาค การเกิด
- เนื่องในโอกาสที่รอดพ้นจากอันตรายต่าง ๆ เป็นการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อขับไล่ความอัปมงคลต่าง ๆ ให้ออกไป เมื่อสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายออกไปแล้วก็จะเกิดความเป็นสิริมงคลเข้ามาแทนที่ เช่น ในโอกาสที่หายจากการเจ็บป่วย หรือหลังจากประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น
องค์ประกอบของพิธีบายสู่ขวัญ
1.ผู้ประกอบพิธีกรรม ได้แก่ หมอสู่ขวัญ หมอสูตร หรือ หมอสู่ขวัญ หรือบางครั้งเรียกว่า “พราหมณ์” คำว่า “สูด” ในภาษาอีสานหมายถึง “สวด” หมอสู่ขวัญจึงหมายถึง ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับพิธีบายศรีสู่ขวัญและเป็นผู้ประกอบพิธีบายสู่ขวัญ ได้แก่ นำกล่าวคำไหว้พระ คำกล่าวเทวดามาเป็นสักขีพยาน และบทสู่ขวัญ รวมถึงพิธีกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลตามวัตถุประสงค์ ส่วนใหญ่หมอสู่ขวัญจะบุคคลที่ชาวบ้านให้การยอมรับนับถือ
ค่าตอบแทนหมอสู่ขวัญในการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่
- ค่าตั้งครู หมายถึง เงินที่ทางฝ่ายเจ้าภาพผู้จัดงานมอบให้หมอสู่ขวัญพร้อมกับขันธ์ 5 เป็นค่าครู เป็นเงิน 1 บาท 50 สตางค์ หรือ 6 สลึง
- ค่าสมนาคุณ หมายถึง เงินที่ฝ่ายเจ้าภาพผู้จัดงานมอบให้หมอสู่ขวัญเพื่อเป็นค่าตอบแทนหรือสินน้ำใจ ซึ่งหมอสู่ขวัญจะไม่เรียกร้องขึ้นอยู่กับศรัทธาของเจ้าภาพ มีจำนวนตั้งแต่ 50 -2000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าภาพที่จัดงาน โดยเจ้าภาพจะผูกข้อมือหมอสู่ขวัญก่อนทำพิธี เรียกว่า “ผูกแขนหมอพราหมณ์” ในบางครั้งเจ้าภาพอาจจะมอบเงินนี้ให้หลังเสร็จพิธีแล้วก็ได้
2.ผู้ร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ ได้แก่ ผู้ถูกเรียกขวัญ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดสนิทสนม หรือผู้เข้าร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ
ผู้ถูกเรียกขวัญ หมายถึง ผู้ที่ประสบกับสภาวะขวัญออกจากร่าง จำเป็นจะต้องทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเป็นการเรียกขวัญกลับคืนสู่ร่าง และเพื่อความเป็นสิริมงคล ผู้ถูกเรียกขวัญอาจจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานด้วยก็ได้
เจ้าภาพจะมีหน้าที่ในการเตรียมงานและอำนวยการให้พิธีบายศรีสู่ขวัญดำเนินไปอย่างเรียบร้อยและสำเร็จลุล่วง เริ่มตั้งแต่เจ้าภาพการตกลงใจที่จะจัดพิธีการสู่ขวัญขึ้น มีการหารือวางแผนกับหมอสู่ขวัญและญาติมิตรเพื่อจะกำหนดวันเวลาที่เป็นสิริมงคล กำหนดสถานที่จัดงานตลอดจนเตรียมการในขั้นตอนต่าง ๆ
3. เครื่องสังเวย ได้แก่ อุปกรณ์และสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อใช้เป็นเครื่องเซ่นและบูชาเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เชื่อว่ามีอยู่ และเครื่องสังเวยสำหรับขวัญ ประกอบด้วย
3.1 พาขวัญหรือพานบายศรี บายศรี มาจากคำว่า “บาย” ในภาษาเขมรแปลว่า ข้าว และคำว่า ”ศรี” ในภาษาสันสกฤต แปลว่ามิ่งขวัญ สิริมงคล รวมกันหมายความได้ว่า “ข้าวอันเป็นสิริมงคลหรือข้าวขวัญ” ซึ่งข้าวนี้จะเป็นส่วนประกอบของการจัดพานบายศรีหรือพาขวัญที่ขาดไม่ได้ พานบายศรีสู่ขวัญมักจะจัดด้วยพานทองเหลืองหรือสัมฤทธิ์ที่วางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ชั้นที่ 1 ใส่กล้วย ขนม ขนมต้ม หรืออาหารประเภทขนมและผลไม้ ส่วนชั้นอื่น ๆ จะใส่ดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู ยาสูบ โดยกลัดใบตองเป็นกรวยสอดใส่ไว้ให้สวยงาม พร้อมกับด้ายที่จะใช้ผูกข้อมือก็จะนำมาประดับในพานบายศรีสู่ขวัญ บางท้องถิ่นอาจจะมีอีกพานหนึ่งสำหรับใส่ผ้าผืน แพรวา หวี กระจก น้ำอบ เครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อย ของผู้ที่เป็นเจ้าของขวัญ
พานบายศรีสู่ขวัญสำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป จะนิยมใช้แบบ 3 และ 5 ชั้น ส่วนแบบ 7 และ 9 ชั้น นิยมจัดในพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ จำนวนชั้นพานบายศรีจะเป็นเลขคี่ตามความเชื่อเรื่องตัวเลขของชาวอีสานดังคำที่ว่า “คีกอยู่ คู่หนี” (คีก หมายถึง จำนวนคี่) ถ้าต้องการให้ขวัญอยู่กับตัวจะต้องจัดชั้นพานบายศรีเป็นจำนวนคี่
เมื่อทำพิธี พานบายศรีสู่ขวัญจะถูกยกไปวางไว้บนผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวของเจ้าของขวัญ ท่ามกลางผู้เข้าร่วมพิธี ข้าง ๆ พานบายศรีสู่ขวัญ นอกจากจะมีของสังเวยต่าง ๆ แล้ว ยังต้องมีแก้วน้ำเย็น แก้วใส่น้ำส้มป่อย (กระถินป่า) และแก้วเหล้าสำหรับให้หมอสู่ขวัญดื่ม หรือพ่น หรือ “ฮดฟาย” ใส่พานบายศรีสู่ขวัญ
3.2 เครื่องคาย (ขันธ์ 5) เป็นเครื่องบูชาหมอสู่ขวัญที่เจ้าภาพต้องเตรียมไว้ ประกอบด้วย ดอกไม้และเทียนอย่างละ 5 คู่ เงินค่ายกครู และเงินสมนาคุณ โดยจะจัดใส่กรวยใบตองสดและวางไว้ในพาน เรียกว่า “พานผูกแขนหมอพราหมณ์” เพื่อมอบและผูกแขนให้กับหมอสู่ขวัญ
3.3 ไข่ต้มสุก เป็นเครื่องสังเวยที่มีความหมายแทนขวัญ เพราะไข่กับขวัญมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือ ไข่มีเปลือกหุ้มและขวัญที่มีร่างกายหุ้ม ชาวอีสานเชื่อว่าไข่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดและเป็นศูนย์รวมจิตใจของเจ้าของขวัญ เป็นเครื่องหมายของความเป็นสิริมงคล และบางคนยังเชื่อว่าขวัญชอบกินไข่อีกด้วย
3.4 กล้วยสุก นิยมใช้กล้วยน้ำว้า จำนวน 4 ลูก เพื่อเซ่นสังเวยแก่เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ทั้ง 4 ทิศ ชาวอีสานเชื่อว่ากล้วยเป็นสิ่งที่มีบุญคุณต่อมนุษย์ เพราะมารดาจะใช้กล้วยป้อนเป็นอาหารให้ลูกน้อย
3.5 เทียน เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย เปรียบเสมือนแสงสว่างของชีวิต เทียนที่ใช้ในพิธีมี 2 ชนิด คือ
- เทียนธรรมดา จะใส่ในพานบายศรีสู่ขวัญ จำนวน 5 คู่
- เทียนคิง (คิง แปลว่า ร่างกาย) เป็นตัวแทนของผู้ถูกเรียกขวัญ จะทำด้วยขี้ผึ้งและใช้ด้ายเป็นไส้เทียน มีขนาดความยาวต่างกัน เช่น ถ้าเป็นการบายศรีสู่ขวัญคนป่วยจะวัดขนาดความยาวจากสะดือถึงร่องคอของเจ้าของขวัญ ถ้าเป็นงานมงคลจะวัดรอบศีรษะที่เรียกว่า “เทียนเวียนหัว” เทียนนี้มีความหมายเป็นนัยว่าเจ้าของขวัญนั้นได้มอบกายถวายตัวและใจแก่พระรัตนตรัยแล้ว การจัดพานบายศรีจะปักเทียนไว้บนสุดของยอดพานบายศรีสู่ขวัญ หมอสู่ขวัญจะจุดเทียนนี้บูชาก่อนเริ่มพิธี
3.6 ด้ายสำหรับผูกข้อมือหรือด้ายผูกแขน เป็นหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ มักทำจากด้ายดิบเพราะถือว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิต โดยนำด้ายดิบมาจับเป็นวง ยาวพอที่จะพันรอบข้อมือได้ สำหรับคนธรรมดาจะใช้ วงละ 3 เส้น สำหรับผู้มีฐานันดรจะใช้ วงละ 5 เส้น ตามคำกล่าวโบราณที่ว่า “อาชญา 5 ขี้ข้า 3” เมื่อวงได้ครบแล้วจะใช้วิธีการเด็ดหรือดึงให้ขาดเป็นเส้น ๆ ห้ามใช้มีดตัด เพราะตามวิถีปฏิบัติจะใช้มีดตัดได้เฉพาะด้ายที่มัดศพเท่านั้น ก่อนที่จะผูกแขนจะขมวดด้ายให้เป็นปมตรงกลางก่อน โดยมีความเชื่อว่าเป็นการผูกมัดสิ่งดีงามไว้ไม่ให้หนีหายไป และที่ใช้วิธีการผูกที่ข้อมือเพราะผูกง่าย สะดวก และมีความเชื่อว่าเป็นทางเดินของขวัญและมีชีพจรเต้นตุบ ๆ แสดงถึงความมีชีวิต เมื่อผูกไว้แล้วขวัญจะไม่หนีไปจากร่างกายได้ เวลาผูกจะมีการเอาด้ายผูกข้อมือปัดเข้าปัดออก ซึ่งการปัดเข้า หมายถึง การปัดเอาสิ่งที่ดีเป็นสิริมงคลเข้าไปอยู่ในตัว และการปัดออก หมายถึง การปัดเอาสิ่งชั่วร้ายและมลทินที่อยู่ในตัวออกไป
เวลาและสถานที่ในการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีบายศรีสู่ขวัญมักจะกำหนดขึ้นในวันที่มีฤกษ์ยามดี ซึ่งหมอสู่ขวัญจะเป็นผู้กำหนดให้ โดยมีความเชื่อว่า ถ้าจัดพิธีในเวลาฤกษ์งามยามดีจะทำให้มีความร่มเย็นเป็นสุข ส่วนสถานที่ประกอบพิธีนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น บ้าน วัด และสถานที่ราชการ
การหาฤกษ์งามยามดีเป็นความเชื่อว่าเวลานั้นมีอิทธิพลต่อการอยู่ดีมีสุขของมนุษย์ ทำการสิ่งใดก็จะไม่ติดขัด และมีผลในทางสังคมด้วย คือ หากได้วันเวลาที่เหมาะสม ย่อมสามารถนัดหมายญาติมิตรให้พร้อมเพรียงได้ ทำให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจให้งานสำเร็จลงได้ด้วยดี
ขั้นตอนการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ
พิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญอาจมีรูปแบบและขั้นตอนในการประกอบพิธีแตกต่างกันไปตามประเพณีนิยมของแต่ละท้องที่ แต่โดยภาพรวมแล้วจะมีประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1. ผู้ถูกเรียกขวัญและเจ้าภาพที่จัดพิธีจะไปติดต่อเพื่อหารือและวางแผนเกี่ยวกับการจัดงานกับหมอสู่ขวัญและญาติมิตรเพื่อหาวันมงคลที่จะจัดพิธี และจัดเตรียมงาน
2. การเตรียมงาน ผู้ถูกเรียกขวัญหรือเจ้าภาพจะมีการเหล่า (บอกบุญ,เชื้อเชิญ) ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และบุคคลเคารพนับถือให้มาร่วมงาน โดยก่อนวันจัดพิธี 1 วัน ผู้ที่ได้รับเชิญบางส่วนจะมาช่วยเตรียมงาน เช่น การจัดเตรียมสถานที่ เตรียมพานบายศรีสู่ขวัญ เตรียมอาหาร ถ้ามีพิธีสงฆ์ด้วยก็จะมีการไปนิมนต์พระสงฆ์ไว้
3. การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ ตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ เมื่อทุกฝ่ายพร้อมพิธีจะเริ่มขึ้นโดย หมอสู่ขวัญขวัญจะกำหนดให้ผู้ถูกเรียกขวัญนั่งหันหน้าไปในทิศมงคลและหันหน้าเข้าหาพานบายศรีสู่ขวัญ ทิศที่เป็นมงคลหรือทิศหัวใจเป็นในแต่ละวันจะแตกต่างกัน ดังนี้
- วันอาทิตย์ (อุ) หัวใจเป็นอยู่ทิศอุดร
- วันจันทร์ (หอ) หัวใจเป็นอยู่ทิศหรดี
- วันอังคาร (อี) หัวใจเป็นอยู่ทิศอีสาน
- วันพุธ (บู) หัวใจเป็นอยู่ทิศบูรพา
- วันพฤหัสบดี (อา) หัวใจเป็นอยู่ทิศอาคเนย์
- วันศุกร์ (พา) หัวใจเป็นอยู่ทิศพายัพ
- วันเสาร์ (ทัก) หัวใจเป็นอยู่ทัศทักษิณ
4. การสู่ขวัญ การสวดขวัญ หรือการสูดขวัญ
4.1 เจ้าภาพนำข้าวต้มมัดและไข่ต้มไปวางบนมือหมอสู่ขวัญขวัญก่อนแล้วจึงนำด้ายผูกข้อมือที่มัดเงินค่ายกครูและค่าสมนาคุณจำนวนตามสมควรไปผูกที่ข้อมือหมอสู่ขวัญ
4.2 การไหว้พระและการป่าวเทวดา ผู้ถูกเรียกขวัญยกมือไหว้หมอสู่ขวัญและจุดเทียนคาคีงหรือเทียนเวียนหัว ส่วนหมอสู่ขวัญจะจุดเทียน 1 คู่ ปักไว้บนขันธ์ 5 ยกขึ้นสาธุเหนือศีรษะ แล้วกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยว่า “อิมินา สักกาเรนะ ตัง พุทธัง อภิปูชะยามะ อิมินา สักกาเรนะ ตัง ธัมมัง อภิปูชะยามะ อิมินา สักกาเรนะ ตัง สังฆัง อภิปูชะยามะ”
จากนั้นหมอสู่ขวัญวางขันธ์ 5 ลงบนพื้นด้านหน้าตัวเอง และให้ผู้ถูกเรียญขวัญและผู้ร่วมพิธีจะใช้มือขวาจับพานบายศรีสู่ขวัญ ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เทวดาบันดาลให้เป็นไปดังที่ตั้งใจ ให้มาเป็นเกียรติและสักขีพยานในการทำพิธีการ ญาติพี่น้องที่นั่งล้อมเป็นวงด้านหลังก็จะร่วมกันตั้งจิตอธิษฐานให้เจ้าของขวัญมีความสุขความเจริญเช่นกัน หมอสู่ขวัญขวัญจะสวดอ้อนวอนเทวดาให้มาชุมนุมหรือที่เรียกว่า การป่าวเทวดา
4.3 การทำน้ำมนต์ หมอสู่ขวัญขวัญจะยกขันน้ำมนต์มาตั้งและปักเทียนที่จุดแล้วไว้บนขันน้ำมนต์ ให้น้ำตาเทียนหยดลงน้ำมนต์ และสวดคาถาจนจบ หมอสู่ขวัญขวัญจะดับเทียนโดยการจุ่มเทียนลงในขันน้ำมนต์
4.4 การสู่ขวัญหรือการสวดบทสู่ขวัญ โดย หมอสู่ขวัญจะเลือกบทสู่ขวัญที่เหมาะสมกับการสู่ขวัญแต่ละประเภท แล้วสวดด้วยเสียงที่ชัดเจน สละสลวย ไพเราะ เพื่อให้ผู้ที่รับฟังเกิดความปิติดีใจ เกิดความศรัทธาอุตสาหะในการทำความดี และเกิดความเป็นสิริมงคล
บทสู่ขวัญหรือคำสวดสู่ขวัญ ก่อนนี้จะใช้ถ้อยคำธรรมดาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ในเวลาต่อมาเพื่อให้เกิดความไพเราะ น่าฟัง และทำให้ผู้ร่วมพิธีไม่เกิดความเบื่อหน่ายจึงมีการประพันธ์และเรียบเรียงถ้อยคำให้มีความไพเราะคล้องจองกันมาสวดและได้รับความนิยมจนปัจจุบัน
ระหว่างที่สวดบทสู่ขวัญนั้น ผู้ร่วมในพิธีจะคอยส่งเสียงสนับสนุนหมอสู่ขวัญเป็นระยะ โดยการกล่าวคำว่า “มาเยอขวัญเอย” ตามหมอสู่ขวัญขวัญ จนกว่าหมอสู่ขวัญสวดเสร็จสิ้น
สายหยุด บัวทุมและคณะ (2560) กล่าวว่า โครงสร้างเนื้อหาของบทสู่ขวัญ จะประกอบด้วย 1)บทชุมนุมเทวดา 2)บทประณามหรือบทไหว้ 3)บทเกริ่นหรืออารัมภบท 4)บทเชิญขวัญหรือเรียกขวัญ 5)บทปลอบขวัญ 6)บทปัดเคราะห์ 7)บทให้พร
สริยกานต์ ยี่เก็งเอี่ยม. (2565) กล่าวว่า ศิลปะการประพันธ์บทสู่ขวัญนั้น รูปแบบการใช้ภาษา มีการใช้ภาษาบาลีสลับกับภาษาไทยท้องถิ่นอีสาน โดยยกข้อความบาลีขึ้นต้นเรื่องสั้น ๆ แล้วกล่าวเนื้อหาแต่ละตอนความด้วยภาษาไทยท้องถิ่นอีสานซึ่งมีการแทรกบาลีบ้างบางคำ ส่วนจบเรื่องจบด้วยบาลี ด้านการเลือกใช้ถ้อยคำ ผู้ประพันธ์เลือกใช้ถ้อยคำนุ่มนวล อ่อนโยน, ถ้อยคำจริงจัง เคร่งขรึม, คำเลียนเสียง, การใช้คำแสดงอาการ,การใช้คำซ้ำ และการเล่นคำเป็นชุด ด้านการใช้โวหารการเขียน มีการใช้โวหาร 4 แบบ คือบรรยายโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหาร และอุปมาโวหาร ด้านการใช้สัญลักษณ์ (Symbol) ผู้แต่งใช้สัญลักษณ์อยู่ 4 กลุ่ม คือ สัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ สัญลักษณ์แทนความวิปริตผิดแปลก สัญลักษณ์แทนความดีงาม และสัญลักษณ์แทนความชั่วร้าย
4.5 การวิดฟาย ขั้นตอนนี้จะทำระหว่างการสูดขวัญ โดย หมอสู่ขวัญจะเป็นการประพรมน้ำมนต์ไปที่พานบายศรีสู่ขวัญและผู้รับการสู่ขวัญ โดยการใช้ดอกไม้จุ่มลงในน้ำมนต์ในลักษณะมือคว่ำ แล้วยกขึ้นให้พ้นจากขอบภาชนะ แล้วตวัดน้ำให้กระเด็นออกจากตัวหมอสู่ขวัญไปสู่ผู้รับการสู่ขวัญ
4.6 การผูกแขนหรือผูกข้อมือ เมื่อสวดบทสู่ขวัญจบแล้วญาติพี่น้องจะเอาข้าว ไข่ กล้วย ไปวางบนมือของเจ้าของขวัญ จากนั้นหมอสู่ขวัญจะเริ่มอวยพรพร้อมกับผูกด้ายที่ข้อมือให้ก่อนคนอื่น โดยจะผูกข้อมือซ้ายเพราะเชื่อว่าแขนซ้ายเป็นแขนขวัญ เป็นแขนที่ไม่ค่อยถูกใช้งานหนัก เป็นแขนที่น่ารักทะนุถนอม ขณะที่ผูกข้อมือนั้นผู้ที่อยู่ใกล้ ๆ เจ้าของขวัญจะยื่นมือขวาออกไปพยุงหรือโจมแขนของเจ้าของขวัญไว้ และคนอื่น ๆ ก็จับแขนหรือแตะตัวกันต่อ ๆ เป็นเส้นสายเหมือนเชือก ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ทางกายและใจให้กันและกัน แล้วตั้งจิตอธิษฐานขอให้เจ้าของขวัญมีความสุขความเจริญ จากนั้นญาติพี่น้องอื่น ๆ ก็จะทยอยเข้ามาอวยพรและผูกข้อมือให้กับเจ้าของขวัญ
ด้ายผูกแขนหรือข้อมือ ถือเป็นของดีหรือของศักดิ์สิทธิ์ที่ควรรักษาไว้ โดยให้ผูกไว้อย่างน้อย 3 วันจึงดึงออก เมื่อก่อนจะมีการเก็บรักษาไว้ด้ายผูกแขนไว้บูชาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันอันตรายได้ เป็นด้ายเสน่ห์ที่ช่วยดึงดูดจิตใจให้คนรักใคร่ชอบพอ
การผูกด้ายที่ข้อมือเพื่ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่เจ้าของขวัญนั้น จะต้องประกอบด้วย ผู้ผูก ผู้รับผูกหรือเจ้าของขวัญ ผู้เกี่ยวข้องคือญาติมิตร และคำกล่าวขณะที่ผูกหรือคำผูกแขนซึ่งจะเป็นคำเรียกร้องเชิญขวัญ เป็นคำที่ไพเราะ อ่อนหวาน และมีความหมายไปในทางที่ดีงาม
พงศ์ธวัช จรูญฐิติวัฒน์ และคณะ (2560) กล่าวว่า คำผูกแขนของอีสานนั้นเป็นวาทกรรมคำอวยพรที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความเข้มขลังเพราะผู้มีอำนาจในสังคม เช่น พระสงฆ์ หมอสู่ขวัญขวัญ ผู้สูงอายุ ได้นำเอาอำนาจและอุดมการณ์ทั้งจากศาสนา จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ จากฮีตคอง ฯลฯ มาประกอบสร้างผ่านกระบวนการเลือกสรรคำ เน้นคำและสานต่อความหมายถ่ายทอดออกมาในรูปของคำอวยพร การอ้างเอาอำนาจและอุดมการณ์ต่าง ๆ มาประกอบสร้างเป็นคำอวยพรก็เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับพิธีกรรม ทั้งนี้เพราะกระบวนการทางสังคมหล่อหลอมและขัดเกลาให้คนอีสานยอมรับ เชื่อถือศรัทธาผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าเสมอ
4.6 การสังสรรค์ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยเจ้าภาพจะเป็นผู้เชิญแขกผู้มาร่วมงานรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อขอบคุณที่มาร่วมงาน สมัยก่อนอาจมีการมอบเส้นไหมเป็นไจ ๆ เป็นของที่ระลึกร่วมด้วย
บรรณานุกรม
กิติราช พงษ์เฉียว. (2556). บทสู่ขวัญ: กรณีศึกษาหนังสือก้อมสำนวน วัดศรีสุริยาป่ายางจังหวัดร้อยเอ็ด. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบลราชธานี.
จักรกฤษณ์ อู่ตุ้ม, บุญเหลือ ใจมโน และสนม ครุฑเมือง. (2565). การวิเคราะห์ภาพสะท้อนทางสังคมที่ปรากฏในบทสู่ขวัญตามวัฒนธรรมไทยกับลาว ใน วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด. ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน) หน้า 70-82.
นิตินันท์ พันทวี. (2544). การศึกษาพิธีกรรมท้องถิ่นในฐานะทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน : กรณีศึกษาพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญอีสาน. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ประทับใจ สิกขาและคณะ. (2545). โครงการรวบรวมข้อมูลพิธีกรรมชนแดนโขงด้วยภาพถ่ายและวิดีทัศน์. อุบลราชธานี: ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
พงศ์ธวัช จรูญฐิติวัฒน์, ปฐม หงษ์สุวรรณ และวิชยา โยชิดะ. (2560). วาทกรรมคำอวยพรในวรรณกรรมคำผูกแขนอีสาน. รมยสาร. ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน). หน้า 253-261.
พระสมชาย สํวโร(สุขวินัย), พระณัฐวีร์ ฐานวโร(สัตยบุตร) และธนรัฐ สะอาดเอี่ยม. (2564). พิธีฮาวปลึง: คุณค่าและความสำคัญในวิถีชีวิตของชาวพุทธเขมรถิ่นสุรินทร์ ในวารสารวิชาการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม). หน้า 74-86.
สริยกานต์ ยี่เก็งเอี่ยม. (2565). การศึกษาปริวรรตบทสู่ขวัญ สำนวนที่ถูกบันทึกไว้ที่สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ใน วารสารการบริการนิติบุคคลและนวัตกรรมท้องถิ่น. ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กุมภาพันธ์). หน้า 133-148.
สายหยุด บัวทุม, กาญจนา วิชญาปกรณ์ และประจักษ์ สายแสง. (2560). บทสู่ขวัญหลวงของลาวกับอีสาน : โครงสร้างทางวรรณกรรมและบทบาทหน้าที่ ใน วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน). หน้า 29-45.
สุวรรณี สุขเกษม. (2539). การศึกษาบายศรีท้องถิ่น กรณีศึกษา : บายศรีของกลุ่มชาวไทย-เขมรจังหวัดสุรินทร์. สุรินทร์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.