ในวิถีชีวิตชาวอีสานยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับขวัญที่ผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อเรื่องผี มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยเชื่อว่าขวัญนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น สร้างกำลังใจให้เข้มแข็งและกล้าหาญ และเกิดความร่มเย็นเป็นสุขเป็นสิริมงคล นอกจากนั้นแล้ว การทำพิธีกรรมสู่ขวัญนั้นยังแอบแฝงด้วยการช่วยอบรมสั่งสอนให้ดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบและมีสติ มีคุณธรรม ดังจะเห็นว่ามีการทำพิธีกรรมสู่ขวัญแทบจะทุกช่วงของชีวิต ทั้งการสู่ขวัญคน สู่ขวัญสัตว์ และสู่ขวัญสิ่งของต่าง ๆ
ประเภทของการสู่ขวัญ
พระสมชาย สํวโร (สุขวินัย) (2564) กล่าวว่า ในวิถีชีวิตของคนอีสานตั้งแต่เกิดจนตาย พบว่ามีพิธีกรรมสู่ขวัญร่วมอยู่ในทุกช่วงวัย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การสู่ขวัญคน การสู่ขวัญสัตว์ และการสู่ขวัญสิ่งของ อาจจะพิธีใหญ่หรือเป็นพิธีเล็ก ๆ เฉพาะบุคคลในครอบครัวก็ได้ เช่น ญาติที่เดินทางไกลมาเยี่ยมเยือน ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้เฒ่าที่สูงอายุของครอบครัวก็จะผูกมือเรียกขวัญให้พร้อมทั้งบอกกล่าวแก่วิญญาณบรรพบุรุษประจำครอบครัวให้รู้ เป็นต้น พิธีกรรมสู่ขวัญบางอย่างอาจจะลดน้อยลงหรือหายไปแล้ว ตามการเปลี่ยนแปลงของเวลา สังคม และวิถีความเป็นอยู่
การสู่ขวัญให้คน
การสู่ขวัญให้คน เป็นพิธีกรรมเพื่อสร้างขวัญหรือกำลังใจที่ดีขึ้น และเรียกพลังทางจิตใจให้กับบุคคลอันเป็นที่รัก นอกจากนี้ เนื้อหาในบทสู่ขวัญบางบทยังได้มีการสอดแทรกคติธรรมและแนวทางในการดำเนินชีวิตในสังคมไว้ด้วย การสู่ขวัญคน มีหลายประเภท ดังนี้
1) การสู่ขวัญพระสงฆ์ ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นเมื่อพระสงฆ์ได้สมณศักดิ์ที่สูงขึ้น ชาวบ้านจะทำพิธีกรรมสู่ขวัญให้ หรือเวลาจะเอาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานในแท่นประทับภายในวัด ก็จะมีการสู่ขวัญให้กับพระสงฆ์ทั้งวัดด้วยเช่นกัน เป็นการส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้สืบมรดกทางพระพุทธศาสนาต่อไป
2) การสู่ขวัญออกกรรม ผู้หญิงอีสานที่คลอดบุตรด้วยวิธีการทางธรรมชาตแล้ว จะต้องอยู่ไฟเพื่อดูแลสุขภาพร่างกายหลังคลอด เมื่อออกไฟแล้วก็มีการสู่ขวัญให้เพราะในขณะที่อยู่ไฟนั้น ไม่ได้รับความสุขสบาย เช่น ต้องทนความร้อนจากฟืนไฟ ต้องควบคุมอาหารการกิน จึงจำเป็นต้องให้กำลังใจด้วยการสู่ขวัญ
3) การสู่ขวัญเด็กทารก เด็ก ๆ มักตกใจง่าย ถ้ามีใครหลอกหรือเห็นอะไรที่น่ากลัว พ่อแม่จะมีความเชื่อว่าเมื่อเด็กตกใจขวัญก็จะออกจากร่าง ส่งผลให้เด็กร้องไห้ไม่สบาย จึงจำเป็นต้องทำพิธีกรรมสู่ขวัญ
4) การสู่ขวัญคนธรรมดา หมายถึง การทำพิธีกรรมสู่ขวัญให้กับคนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้เจ็บป่วย แต่อาจจะไปค้าขายหรือทำมาหากินแล้วเจริญรุ่งเรืองได้ลาภยศ ได้เลื่อนยศตำแหน่ง เจ้านายชั้นผู้ใหญ่มาเยี่ยมเยือน หรือบางครั้งฝันไม่ดีก็จะทำพิธีกรรมสู่ขวัญให้เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล
5) การสู่ขวัญหลวง มักจะทำพิธีกรรมสู่ขวัญนี้เมื่อพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่เจ็บไข่ได้ป่วยแล้วรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้วแต่ยังไม่หาย ลูกหลานก็มักจะทำพิธีกรรมสู่ขวัญหลวงให้เป็นเวลา 3 คืน ซึ่งมีพิธีกรรมเหมือนการสู่ขวัญธรรมดา แต่จะแตกต่างกันตรงที่ต้องเพิ่มธูปเทียนให้เท่ากับอายุของผู้ป่วย และให้สวดเวลากลางคืนที่เงียบสงัด ประมาณเวลา 21.00-22.00 น. เชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บหรืออาการเจ็บป่วยจะหายได้
6) การสู่ขวัญนาค ตามจารีตประเพณีของชาวอีสาน เมื่อถึงอายุครบบวช ลูกหลานที่เป็นผู้ชายจะเข้าบวชเพื่อศึกษาพระธรรมในพระพุทธศาสนา ผู้เป็นบิดามารดามักจะทำพิธีสู่ขวัญให้บุตร เพื่อเป็นสิริมงคล ในบทสวดสู่ขวัญนาคมักจะแฝงความเชื่อและความยึดมั่นในพระรัตนตรัย เน้นให้เห็นความสำคัญของบิดามารดา และมุ่งสอนให้ประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา
7) การสู่ขวัญน้อยก่อนแต่งงาน (งานกินดอง) มักจะจัดขึ้นก่อนที่จะมีพิธีแต่งงานจริง ๆ ที่บ้านเจ้าสาว โดยพ่อแม่และญาติของเจ้าบ่าวจะทำพิธีกรรมสู่ขวัญให้กับบุตรชายของตนที่บ้านก่อน เสร็จแล้วจึงนำพานบายศรีสู่ขวัญนั้นไปรวมกันที่บ้านเจ้าสาว พาบายศรีสู่ขวัญนี้จะเรียกว่า “พาขวัญน้อย”
8) การสู่ขวัญบ่าวสาวแต่งงาน ชาวอีสานจะนิยมแต่งงานกันในเดือน 3 เดือน 6 และเดือน 9 เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลก็จะมีพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญให้แก่คู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน หรือเรียกว่า “งานกินดอง” ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดขึ้นที่บ้านเจ้าสาว บทสู่ขวัญบ่าวสาวมักจะกล่าวถึงสัมพันธภาพระหว่างบุคคล แนวปฏิบัติในการครองเรือนตามหลักธรรม ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อชี้ชวนให้คนในสังคมเห็นหลักศีลธรรมจรรยาอันเป็นความเชื่อถือและแนวปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
9) การสู่ขวัญคนป่วย เมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเวลานาน ๆ หรือที่ชาวอีสานเรียกว่า “ป่วยปี” ชาวอีสานมีความเชื่อว่าอาจเกิดจากขวัญออกจากร่างจึงเกิดอาการเจ็บป่วย เมื่อหายป่วยแล้วแต่ร่างกายยังไม่แข็งแรง เรียกว่า ขวัญยังหนีเนื้อหนีคีงอยู่ (ขวัญไม่อยู่กับเนื้อกับตัว) จึงจำเป็นต้องทำพิธีกรรมสู่ขวัญให้ เพื่อเรียกขวัญให้กลับมาอยู่กับร่าง จึงจะทำให้คนป่วยแข็งแรงขึ้นและหายจากการเจ็บป่วยได้
10) การสู่ขวัญพา ถ้าหากทำพิธีกรรมสู่ขวัญคนป่วยให้คนใดแล้ว อาการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือกินไม่ได้นอนไม่หลับยังไม่หาย ก็จะทำการสู่ขวัญพาให้อีกครั้งหนึ่ง
การสู่ขวัญให้สัตว์
การสู่ขวัญให้สัตว์ ชาวอีสานเชื่อว่าสัตว์ก็มีขวัญเช่นเดียวกับคน การทำพิธีกรรมสู่ขวัญให้กับสัตว์จะเป็นการแสดงถึงการสำนึกระลึกถึงบุญคุณของสัตว์ ที่ช่วยมนุษย์ในการทำมาหากิน รวมไปถึงการขอขมาที่ได้ดุด่าว่าร้ายหรือเฆี่ยนตีในระหว่างการทำงาน
1) การสู่ขวัญควายหรืองัว(วัว) นิยมทำพิธีกรรมสู่ขวัญวัวควายในช่วงการทำนา ในบางพื้นที่ทำก่อนทำนา แต่บางที่พื้นที่นิยมทำหลังจากทำนาเสร็จแล้ว ชาวอีสานสมัยก่อนเชื่อว่าวัวควายนั้นถือว่าเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณแก่มนุษย์มาก เพราะเราจะใช้เป็นแรงงานลากไถในการทำเรือกสวนไร่นา ทำให้เรามีข้าวได้กิน ฉะนั้น ก่อนที่จะลงมือทำนาครั้งแรกหรือเมื่อทำนาเสร็จแล้ว เจ้าของวัวควายมักทำพิธีกรรมสู่ขวัญ พานบายศรีที่จัดให้มักจะมีน้ำอบน้ำหอมและเหล้า และด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีทำให้มีเครื่องมือต่าง ๆ ถูกนำมาใช้แทนแรงงานสัตว์ จึงทำให้มีการจัดพิธีกรรมนี้น้อยลง
2) การสู่ขวัญหม่อนไหม (ม้อน) พิธีกรรมสู่ขวัญที่ทำขึ้นเพื่อเป็นการขอขมาและเสริมขวัญให้ตัวหม่อนไหมมีขวัญกำลังใจดี จะได้ค้ำได้คูณผลิตฝักไหมใหญ่ ๆ ให้ผลผลิตเส้นไหมที่เยอะ
ว่ากันว่าการเลี้ยงดูตัวหม่อนไหมนั้นเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ชอบความสะอาดและมีความต้านทานต่อโรคต่ำ แค่แมลงวันจับที่ตัวหม่อนไหมก็อาจจะทำให้ตายได้ สถานที่ที่ใช้เลี้ยงต้องควบคุมแสงสว่าง ความชื้น อุณหภูมิเป็นอย่างดี
พิธีกรรมสู่ขวัญหม่อนไหม มักจะทำในช่วงนอนสาม กล่าวคือ หลังจากที่เอาตัวหม่อนไหมที่เข้าฝักมาแล้วจะปล่อยให้มันออกจากฝักมาเป็นตัวบี้ ซึ่งตัวบี้นี้ก็จะออกไข่ และใช้เวลา 7-8 วัน จึงจะฟักเป็นตัวหม่อนเล็ก ๆ จากนั้นคนเลี้ยงจะเอาใบหม่อนอ่อนที่ล้างสะอาดซอยเป็นเส้นเล็ก ๆ มาให้ตัวหม่อนกิน เมื่อตัวหม่อนกินอิ่มก็จะปัสสาวะ จากนั้นจะทำการเปลี่ยนอาหารใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนครั้งที่ 1 นี้ เรียกว่า นอนหนึ่ง เปลี่ยนครั้งที่ 2 เรียกว่า นอนสอง เปลี่ยนครั้งที่ 3 เรียกว่า นอนสาม ซึ่งในช่วงนอนสามจะเป็นช่วงที่จะทำพิธีกรรมสู่ขวัญให้ โดยใช้พานบายศรีแบบชั้นเดียว หรืออาจเป็นพานเล็ก ๆ วางอยู่ด้านหน้ากระด้งหรือจ่อเลี้ยงไหม
การสู่ขวัญให้สิ่งของ
การสู่ขวัญสิ่งของ เกิดจากความเชื่อที่ว่า สิ่งของหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นสิ่งมีประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ เพื่อเป็นการสำนึกในบุญคุณ และทำให้ผู้เป็นเจ้าของมีความสุข มีลาภ เป็นสิริมงคล จึงทำพิธีกรรมสู่ขวัญให้
1) การสู่ขวัญเฮือน (บ้าน,เรือน) พิธีกรรมการสู่ขวัญให้กับบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โดยในบทสวดสู่ขวัญมักจะกล่าวถึงพิธีและขั้นตอนการสร้างบ้านเรือนเพื่อให้คนที่มาร่วมในพิธีรู้จักวิธีการสร้างบ้านเรือนให้เป็นสิริมงคล เพราะหากการสร้างบ้านเรือนทำไม่ถูกตามแบบแล้วจะนำความไม่เป็นมงคลมาสู่เจ้าของบ้าน
2) การสู่ขวัญเกวียน เกวียนเป็นพาหะใช้สำหรับลากเข็น การสู่ขวัญก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลและมั่นคง และสอนให้เจ้าของรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์
3) การสู่ขวัญข้าว ชาวอีสานมักมักทำพิธีกรรมสู่ขวัญข้าวหลังจากได้เก็บเกี่ยวข้าวและนำขึ้นมาเก็บยังยุ้งฉางเรียบร้อย ในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ ซึ่งเชื่อกันว่าวันดังกล่าวจะ “กินบ่บก จกบ่ลง” (กินเท่าไรก็ไม่รู้จักหมด) เครื่องบายศรีสู่ขวัญ จะประกอบด้วย ข้าว ไข่ เทียน เผือก มัน กล้วย อ้อย น้ำหอม ใบยอ ขมิ้นบดผสมน้ำดอกไม้ กระติบข้าวเหนียว พิธีกรรมจะเริ่มขึ้นในตอนเช้าตรู่ (ก่อนตักบาตร) โดย เจ้าของบ้านจะนำเอาเครื่องบายศรีที่เตรียมไว้ขึ้นไปวางบนเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) แล้วจะกล่าวเรียกขวัญข้าวที่อาจจะตกหรือหล่นอยู่ในพื้นที่ไร่นา ให้กลับเข้ามาอยู่ในยุ้งข้าวเพื่อในปีต่อไปจะได้มีข้าวปลาอาหารอุดมความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นขวัญกําลังใจ เกิดความเป็นสิริมงคล และเป็นการกตเวทิตาคุณแด่แม่โพสพที่มีพระคุณต่อชาวนามาโดยตลอด
พิธีกรรมส่อนขวัญ (ช้อนขวัญ)
พิธีช้อนขวัญจะจัดขึ้นเมื่อมีคนได้รับบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชน ป่วยเป็นโรคร้ายแรง คนที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บไข้ได้ป่วยจะผวาและตกใจ ทำให้ขวัญหนีดีฝ่อ หรือเมื่อหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วจะมีอาการซึมเซาไม่สดชื่นแจ่มใสเหมือนคนปกติ ชาวอีสานก็มักจะทำพิธีช้อนขวัญให้เรียกขวัญให้กลับคืนสู่ร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้มีอาการดีขึ้น บ้างก็ว่าหากไม่ทำพิธีช้อนขวัญจะทำให้อาการของผู้ป่วยหนักมากกว่าเดิม บ้างก็ว่าแม้อาการทางร่างกายจะดีขึ้นแต่อาการทางจิตใจของผู้ป่วยจะทรุดหนักลงกว่าเดิม พิธีกรรมช้อนขวัญจึงถือเป็นการรักษาทางจิตใจมากกว่าการรักษาทางร่างกาย หากเรามีจิตใจที่ดีเข้มแข็งแล้วจะทำให้การรักษาทางร่างกายทำได้ง่ายและได้ผลยิ่งขึ้น
อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการทำพิธีช้อนขวัญ ได้แก่ สวิง ใช้สำหรับการช้อนขวัญ หมากพลู บุหรี่ ข้าวเหนียว 1 ปั้นสำหรับนำไปให้ผี ไข่ไก่ต้มสุก 1 ฟอง ด้ายสำหรับผูกข้อมือ ของหวานและดอกไม้
การทำพิธีช้อนขวัญ เริ่มจากนำหมากพลู บุหรี่ ไข่ไก่ ข้าวเหนียว และด้ายใส่ลงไปในสวิง จากนั้นนำไปยังที่ที่เกิดเหตุ โดยให้ผู้หญิงกลางคนขึ้นไปทำการช้อนขวัญ บางที่ก็ว่าต้องมีผู้ชายถือมีดอยู่ด้านหน้าผู้ช้อนด้วย บางที่ก็ว่าไม่มีก็ได้ บางที่ก็ว่าต้องมีแต่ผู้หญิงล้วนล้อมอยู่ด้านหน้าเพื่อทำการไล่ขวัญให้เข้าสวิง
ขณะทำการช้อนขวัญครั้งที่ 1 ผู้ช้อนขวัญจะพูดว่า “มาเด้อขวัญเอ้ย” การช้อนครั้งที่ 2 ก็จะพูดว่า “มาเด้อขวัญเอ้ย” เมื่อถึงการช้อนครั้งที่3 คนที่ยืนล้อมจะพูดว่า “เข้าหรือยัง” คนช้อนก็จะตอบว่า “เข้าแล้ว” จากนั้นก็จะมีคนมารวบสวิงแล้วนำผ้ามาคลุมไว้ แล้วนำกลับมายังบ้านของผู้ป่วย พอมาถึงบ้านคนที่นั่งรออยู่ที่บ้านก็จะถามว่า “มาไหม” คนที่ถือสวิงอยู่ก็จะตอบว่า “มาแล้ว” จากนั้นก็จะขึ้นไปหาผู้ป่วย แล้วนำเอาก้นสวิงที่รวบไว้แตะลงไปที่หัวใจของคนป่วย เสร็จแล้วนำหมากพลู ไข่ไก่ และข้าวเหนียวออกจากสวิง ใส่ลงไปที่มือของผู้ป่วย จากนั้นคนที่ถือสวิงหรือผู้ที่เคารพนับถือก็จะนำด้ายมาผูกที่ข้อมือให้คนป่วยก่อนคนอื่น ๆ พร้อมทั้งอวยพรให้หายป่วยและประสบแต่สิ่งดี ๆ
บางครั้งจะมีการปอกไข่เพื่อเสี่ยงทาย หากไข่ที่ปอกออกมามีสภาพปกติก็ทำนายว่าผู้ป่วยจะหายจากอาการเจ็บป่วย แต่ถ้าหากว่าถ้าปลอกไข่ออกมาแล้วไข่ไม่ปกติก็จะทำนายว่าผู้ป่วยอาจจะไม่หาย
บรรณานุกรม
นิตินันท์ พันทวี. (2544). การศึกษาพิธีกรรมท้องถิ่นในฐานะทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน : กรณีศึกษาพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญอีสาน. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนศึกษา. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พระสมชาย สํวโร(สุขวินัย), พระณัฐวีร์ ฐานวโร(สัตยบุตร) และธนรัฐ สะอาดเอี่ยม. (2564). พิธีฮาวปลึง: คุณค่าและความสำคัญในวิถีชีวิตของชาวพุทธเขมรถิ่นสุรินทร์ ในวารสารวิชาการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม). หน้า 74-86.
วิถีชีวิตอีสาน. (2562). อุบัติเหตุและการส่อนขวัญความเชื่อของคนอีสาน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567,https://youtu.be/XTdOzWBWjdg?si=kLwyXie7fW1YA-ZO