นายณรงค์ พงษ์ภาพ หรือ นภดล ดวงพร ชาวอุบลราชธานี ผู้มีผลงานด้านศิลปะพื้นบ้านอีสานและผู้สร้างตำนานวงดนตรีเพชรพิณทอง วงดนตรีที่ใช้ภาษาไทยอีสานเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ใช้แคนและพิณเป็นเครื่องดนตรีหลักของวง โดยมีจุดประสงค์การตั้งวงดนตรีเพื่อรักษาและสืบทอดเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานไว้
ผลงานและการเผยแพร่ ของนภดล ดวงพร
นภดล ดวงพร มีผลงานด้านศิลปะพื้นบ้านอีสานมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีพ่อเป็นหมอลำและนักแต่งกลอนลำ ด้วยความสนใจและความกล้าแสดงออกทำให้ได้ขึ้นเวทีลำกลอนกับหมอลำหญิงหลายครั้งตั้งแต่ยังเด็ก และได้ประกวดร้องเพลงหลายเวที แม้จะไม่เคยชนะการประกวด แต่ก็ไม่ย่อท้อ ด้วยจิตใจที่รักการแสดง จึงไปสมัครอยู่กับ “วงดนตรีพิพัฒน์บริบูรณ์” ของศักดิ์ศรี ศรีอักษร ได้ตำแหน่งแบกกลองและขนสัมภาระในวง ต่อมาได้ออกไปอยู่กับ “วงดนตรีจุฬารัตน์” มีโอกาสเป็นพิธีกรและเล่นตลก โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่เพื่อน ๆ ในวงแบ่งปันเงินให้ใช้บ้าง หลังจากนั้นได้ออกจากวงจุฬารัตน์กลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดรายการวิทยุกระจายเสียงทางสถานีวิทยุทหารอากาศ 08 (ทอ.08) จังหวัดอุบลราชธานี โดยจัดรายการแสดงหมอลำ ตามคำขอและตอบจดหมาย ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงเป็นจำนวนมาก
วงดนตรีเพชรพิณทอง
ในปี พ.ศ. 2514 นภดล ดวงพร ได้ตั้งวงดนตรีขึ้น ให้ชื่อว่า “เพชรพิณทอง” เป็นวงดนตรีที่ใช้ภาษาไทยอีสานในการสื่อสารเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวงมีการใช้แคนและพิณเป็นเครื่องดนตรีหลักของวง โดยมีจุดประสงค์ในการตั้งวงดนตรีเพื่อรักษาและสืบทอดเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานไว้ และในขณะเดียวกันก็ได้พยายามพัฒนา ปรับปรุงดนตรีให้เข้ากับสมัยนิยม ได้คิดค้นวิธีทำพิณให้มีเสียงดังโดยใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าเหมือนกับกีตาร์ได้สำเร็จ และได้ใช้งานมาโดยตลอด วงดนตรีเพชรพิณทอง ของนภดล ดวงพร ได้รับความนิยมมากจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป จากความนิยมดังกล่าวทำให้ได้รับคัดเลือกจากกรมประชาสัมพันธ์ให้แสดงต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงได้ตรัสชมว่า “เพชรของเขาดีจริง ๆ” ยังความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้แก่นภดล ดวงพรและลูกวงดนตรีเพชรพิณทอง
นภดล ดวงพรให้การสนับสนุน นายทองใส ทับถนน มือพิณของวงเพชรพิณทองให้พัฒนาฝีมือจนได้เป็นมือพิณอันดับหนึ่งของเมืองไทยเป็นที่นิยมและรู้จักของคนทั่วไปจนทุกวันนี้
นอกจากผลงานด้านวงดนตรีแล้ว นภดล ดวงพร ยังได้แสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง และเรื่องที่ทำให้ผู้คนรู้จักมาก คือ เรื่อง ครูบ้านนอก จากบทตลกในภาพยนตร์ทำให้เขามีความคิดทำเทปตลกออกจำหน่ายและได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง เทปตลกที่เขาทำออกจำหน่ายมีมากกว่า 20 ชุด ที่เป็นที่นิยมและโด่งดัง ได้แก่ หนิงหน่องย่านเมีย บวชลุงแนบ สามใบเถา เป็นต้น เนื่องจากยอดจำหน่ายเทปสูงสุดจึงได้รับรางวัลโล่เกียรติคุณในฐานะที่ทำรายได้จากการขายเทป ใน พ.ศ. 2529
นภดล ดวงพร ได้บริหารจัดการวงดนตรีเพชรพิณทองอย่างเป็นระบบ จัดสวัสดิการหอพักสำหรับให้ลูกวงอาศัย โดยแยกชายหญิง มีแม่ครัวจัดเตรียมอาหารให้ มีกฎห้ามลูกวงดื่มสุรา ห้ามเล่นการพนันทั้งนอกและในเวลาแสดง การจัดระบบบริหารภายในวงดนตรีของนภดล ดวงพรได้รับการยกย่องเป็นที่ยอมรับจนเป็นแบบอย่างในการบริหารงานของวงดนตรีอีกหลายคณะ
ผลงานการแสดงของนภดล ดวงพร
นายณรงค์ พงษ์ภาพ มีผลงานการแสดงภาพยนตร์ หลายเรื่อง เช่น ครูบ้านนอก หนองหมาว้อ 7 สิงห์ตะวันเพลง จักกังกรรมกรเต็มขั้น ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน นักสืบฮาร์ด ครูข้าวเหนียว คนกลางแดด 15 ค่ำเดือน 11 ฯลฯ และการแสดงละครโทรทัศน์ เช่น โคกคูณตระกูลไข่ แคนลำโขง เพลงรักริมฝั่งโขง เทวดาสาธุ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ ฯลฯ
เกียรติคุณที่นภดล ดวงพรได้รับ
นภดล ดวงพร ได้ทำงานด้วยความทุ่มเท บากบั่น ต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ จนประสบผลสำเร็จ และได้รับเกียรติคุณและรางวัลมากมาย เช่น
- พ.ศ. 2514 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ นำวงดนตรีเพชรพิณทอง แสดงต่อหน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
- พ.ศ. 2521 ประกาศเกียรติคุณดาราตุ๊กตาทองยอดนิยม จัดโดยนิตยสารดารารัตน์จากพระองค์เจ้าฯ เฉลิมพล ทิฆัมพร
- พ.ศ.2524 โล่ประกาศยกย่องจากคณะกรรมการอำนวยการจัดงานปีคนพิการสากล พ.ศ. 2524 ในการช่วยเหลือให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในการจัดหาทุนช่วยเหลือคนพิการ
- พ.ศ. 2527 โล่ประกาศเกียรติคุณจากศูนย์ประชาสัมพันธ์ เขต 1 กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือราชการศูนย์ประชาสัมพันธ์ เขต 1
- พ.ศ. 2528 โล่ประกาศเกียรติคุณในฐานะนักจัดรายการโทรทัศน์ดีเด่น ด้านส่งเสริมดนตรีเยาวชนและศิลปะพื้นบ้าน มอบอุปกรณ์และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐอย่างดียิ่ง จากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ. 2529 โล่เกียรติคุณในฐานะที่ทำรายได้ในการจำหน่ายเทปสูงสุด
- พ.ศ. 2533 โล่จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อเชิดชูเกียรติคุณ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2532
- พ.ศ. 2534 โล่เกียรติคุณจากกระทรวงสาธารณสุข ในการเป็นคณะทำงานประสานการรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ โดยสื่อมวลชนและศิลปินท้องถิ่น, ประกาศเกียรติคุณจากกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะให้การสนับสนุนโครงการควบคุมโรคใบไม้ในตับ
- พ.ศ. 2535 โล่ประกาศเกียรติคุณจากกรมควบคุมโรคติดต่อ ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนโครงการรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ
- พ.ศ. 2536 โล่เชิดชูเกียรติในฐานะผู้ให้การสนับสนุนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ของจังหวัดกาฬสินธุ์
- พ.ศ. 2539 โล่ประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะร่วมกิจกรรมการรณรงค์ส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่
- พ.ศ. 2541 โล่ประกาศเกียรติคุณ จาก จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะผู้สนับสนุนกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ
- พ.ศ. 2546 รางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยมปี 2545 จากภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ของชมรมวิจารณ์บันเทิง
- พ.ศ. 2546 รางวัลนักแสดงนำฝ่ายชายยอดเยี่ยม ปี 2545 จากภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ของงานประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ จัดโดยสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12
- พ.ศ. 2557 ได้รับยกย่องเชิดชูเป็นมูนมังเมืองอุบลราชธานี
บรรณานุกรม
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี. (2552). อุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์. อุบลราชธานี: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี.