ไข่ผำ (Wolffia) หรือที่เรียกว่าไข่น้ำ ไข่แหน เป็นพืชน้ำดอกขนาดเล็กที่สุดในโลก พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย โดยไข่ผำมีสองสายพันธุ์หลักคือ Wolffia arrhiza และ Wolffia globosa ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย ไข่ผำได้รับความนิยมในการนำมาปรุงอาหารเนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ ชาวอีสานรู้จักและใช้ประโยชน์จากไข่ผำมาเป็นเวลานาน โดยนำมาปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านก่อนที่จะมีการศึกษาถึงคุณค่าทางโภชนาการอันหลากหลาย ปัจจุบันไข่ผำได้รับความสนใจมากขึ้นและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ด้วยความแปลกใหม่สำหรับคนต่างถิ่น จนคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นหนึ่งในสุดยอดอาหารของโลก ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำคัญในอนาคต
ไข่ผำ คืออะไร
ชื่อไทย : ไข่ผำ ไข่น้ำ ไข่แหน ชื่อสามัญ : Wolffia ,Water meal ชื่อวิทยาศาสตร์: Wolffia arrhiza (L.) Wimm ในประเทศไทยพบไข่ผำอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ Wolffia arrhiza (L.) wimm และ Wolffia globosa (L.) wimm เป็นพืชดอกที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีรูปร่างกลมพองสีเขียว ลอยอยู่บนผิวน้ำ จัดเป็นพืชล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยว ไข่ผำ สายพันธุ์ W.arrhiza จะมีขนาดใหญ่กว่า ผิวด้านบนนั้นค่อนข้างจะมีสีเขียวเข้ม ลำต้นมีลักษณะทึบแสง ส่วน W.globosa มีขนาดเล็กลำต้นโปร่งแสง และมีรูปทรงกระบอกมากกว่า W.arrhiza พบในบริเวณแหล่งน้ำนิ่งธรรมชาติโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย พบมากในช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องกับช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน ชาวอีสานนิยมนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น อ่อม โดยมีการซื้อขายตามท้องตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท
ลักษณะทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาของไข่ผำ
ภาชณุมาศ ทองคำ (2562) ได้รวบรวมข้อมูลลักษณะทางชีววิทยาและนิเวศวิทยาของไข่ผำไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ผลของอุณหภูมิต่อฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในไข่ผำแห้งและการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร” ไว้ว่า
- ทัลลัส (Thallus) หรือฟรอนด์ (Frond) มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก รูปร่างทรงกลมพอง เป็นรูปไข่พองทั้งด้านบน และด้านล่าง หรือลักษณะด้านบนอาจแบนราบ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.5 มิลลิเมตร สีเขียวสม่ำเสมอตลอดทั้งทัลลัส ทัลลัสนั้นทำหน้าที่เป็นทั้งต้นและใบ จะไม่มีรากและไม่มีใบที่แท้จริง มักอยู่เดี่ยวหรืออาจจะติดกันเป็นคู่แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์
- ไข่ผำเป็นพืชไม่มีเนื้อเยื่อท่อลำเลียง ส่วนใหญ่เป็นเนื้อเยื่อพาเรนไคมา(Parenchyme) ที่ประกอบด้วยเซลล์ที่มีชีวิต ในลำต้นที่มีสีเขียวจะมีคลอโรพลาสต์ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง มีช่องอากาศแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ด้วย จึงทำให้เห็นคล้ายกับลักษณะฟองน้ำ
- ดอก (Flower) มีขนาดเล็กที่สุดในพืชดอก ลักษณะออกเป็นช่ออยู่ภายในถุงตรงขอบของทัลลัสเป็นดอกเดี่ยว แยกเพศ ประกอบด้วยดอกเพศผู้ 1 ดอกแยกจากเพศเมีย ไม่มีกลีบเลี้ยงหรือกลีบดอก มีเพียงอับเกสร 2 ช่อง และดอกเพศเมีย 1 ดอก ไม่มีกลีบเลี้ยงหรือกลีบดอกไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ จำเป็นต้องใช้กล้องหรือแว่นขยายถึงจึงจะสามารถทำให้มองเห็น
- การสืบพันธุ์ (Reproduction) ไข่ผำสามารถสืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยการผสมเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียภายในดอก การกระจายละอองเกสรในระหว่างการสืบขยายพันธุ์จะอาศัยแมลงหรือน้ำ สายพันธุ์ไข่ผำที่พบในประเทศไทยจะมีดอกและเมล็ดในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศจะอาศัยการแตกหน่อ (Budding) โดยการแบ่งทัลลัสใหม่ออกทางด้านข้าง ทัลลัสใหม่ (Daughter Frond) ที่เกิดขึ้นจะมีขนาดเล็กกว่าทัลลัสเดิม (Mother Frond) โดยจะมีระยะเวลาในการเจริญเติบโตจนทำให้มีขนาดเท่ากับทัลลัสเดิมก่อนทัลลัสใหม่จึงจะสามารถหลุดออกเป็นทัลลัสเดี่ยว ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 5-6 วัน
- สภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต ไข่ผำมักจะชอบขึ้นและเจริญเติบโตได้ดีในที่อากาศร้อนและมีแสงแดดช่วยในการสังเคราะห์แสง โดยทั่วไปมักจะพบในแหล่งน้ำนิ่งที่ลึกตั้งแต่ 20 เซนติเมตรขึ้นไป เช่น บึง หนองน้ำ บ่อ หรือบริเวณที่มีน้ำขัง มีใบไม้และมูลสัตว์สะสมเป็นแหล่งอาหาร
- การเจริญเติบโตของไข่ผำขึ้นอยู่กับธาตุอาหารและปุ๋ยในน้ำที่อาศัย สารอาหารที่ไข่ผำต้องการนั้นก็จะเหมือนกับพืชทั่วไป ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม รวมทั้งแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ไข่ผำจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูหนาวต่อกับช่วงฤดูร้อน และจะลดการเจริญเติบโตลงในฤดูฝน เนื่องจากธาตุอาหารถูกน้ำฝนเจือจางลงและความเข้มของแสงอาทิตย์ที่น้อยกว่าฤดูอื่น
- ไข่ผำจะมีการเปลี่ยนรูปร่างให้อยู่ในระยะฟัก เรียกว่า ทูลรีน (Turion) เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต สังเกตได้จากสีของไข่ผำนั้นจะเข้มขึ้น มีการลดทั้งขนาดและโครงสร้างลง ทัลลัสและร่างกายมีส่วนประกอบของแป้งจำนวนมากขึ้นเพื่อให้จมลงสู่ก้นบ่อหรือแหล่งน้ำ และให้สามารถมีชีวิตรอดอยู่ในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ทูลรีนสามารถมีชีวิตรอดอยู่ในอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์แม้ไม่มีการเจริญเติบโตเพื่อฟักตัว
- การขยายพันธุ์ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การปล่อยให้ขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ ซึ่งไข่ผำสามารถแตกหน่อได้รวดเร็วจนเต็มผิวน้ำดูคล้ายพรมสีเขียว หากเลี้ยงไข่ผำในอ่างบัว ควรมีการเติมธาตุอาหารที่จำเป็น รักษาความสะอาดของน้ำ และนำวางในที่แสงแดดส่องตลอดวันหรืออย่างน้อยถึงช่วงบ่าย ภายในเวลาประมาณ 1 เดือน ไข่ผำก็จะขยายพันธุ์จนเต็มพื้นผิวน้ำได้ แต่ถ้าน้ำเริ่มเน่าเสียไข่ผำก็จะตายหมด
องค์ประกอบทางเคมีและโภชนาการของไข่ผำ
สุรีย์พันธุ์ บุญวิสุทธิ์ (2550) ได้แสดงข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของไข่ผำ 100 กรัม ที่พบว่ามีสารอาหารโปรตีนที่มากกว่าโปรตีนในเนื้อสัตว์และถั่วเหลือง ดังนี้
- พลังงาน 8.00 กิโลแคลอรี/100 กรัมน้ำหนักแห้ง ประกอบด้วย
- โปรตีน ร้อยละ 6.80-45.00
- ไขมัน ร้อยละ 1.80-9.20
- เส้นใย ร้อยละ 5.70-16.20
- แคลเซียม 59.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- ฟอสฟอรัส 25.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- เหล็ก 6.60 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- วิตามินเอ 5346.00 IU/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- วิตามินบี 0.03 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- กรดอะมิโน
- Alanine 1386.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Arginine 1045.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Aspartic acid 1576 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Cystine 339.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Glutamic acid 1723.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Glycine 756.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Histidine 335.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Isoleucine 524.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Leucine 1222.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Lysine 1094.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Methionine 176.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Phenylalanine 728.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Proline 820.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Serine 710.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Threonine 636.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Tryptophan 1272.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Tyrosine 1095 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Valine 774.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Total amino acids 16211.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
- Total essential acids 7860.00 มิลลิกรัม/100 กรัมน้ำหนักแห้ง
Monthakantirat, O. และคณะ (2022) ได้ทำการวิจัยไข่ผำ ชนิด W. globosa และพบว่าเป็นแหล่งสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยสารประกอบสำคัญประกอบด้วย
- เบต้าแคโรทีน: 2.52 mg/g
- กรดเฟอรูลิก: 1.40 mg/g
- ลูทีโอลิน-7-O-β-D-glucoside: 2.42 mg/g
- แคมเฟอรอล: 1.57 mg/g
แร่ธาตุที่พบมีปริมาณสูงสุดในสารสกัดจากไข่ผำสด คือ แมกนีเซียม โดยแร่ธาตุอื่น ๆ ที่วิเคราะห์ ได้แก่ เหล็ก, โพแทสเซียม, แคลเซียม, สังกะสี และโซเดียม ซึ่งไข่ผำสดมีปริมาณแร่ธาตุสูงกว่าสารสกัดจากไข่ผำแห้ง
กุลพร พุทธมีและวริศชนม์ นิลนนท์ (2564) กล่าวว่า คุณค่าทางโภชนาการของผำที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อม การเพาะเลี้ยง และฤดูกาล
ประโยชน์ของไข่ผำ
วรรณิณี จันทร์แก้ว และอัมพร รัตนมูสิก. (2562) ได้รวบรวมประโยชน์ของไข่ผำไว้ ดังนี้
1.ไข่ผำจะมีรสชาติเหมือนผักทั่วไป ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ชาวอีสานและชาวเหนือนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารคาวหวานและเป็นตัวช่วยในการเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร เช่น แกงอ่อม แกงปลา แกงไก่ แกงเนื้อ หรือตำกินสดคล้ายส้มตำหรือเป็นส่วนผสมของต้มยำ และเป็นส่วนประกอบในข้าวเกรียบกุ้งหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไข่ผำแผ่นทอดกรอบ เพื่อเพิ่มมูลค่าของไข่ผำให้สูงขึ้น ทั้งนี้ชนิดและปริมาณส่วนผสมที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น การนำไข่ผำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องจิ้ม เช่น เครื่องจิ้มของมันฝรั่งทอด การนำมาส่วนประกอบของขนมอบบางชนิด เช่น มัลเฟิน ใช้ตกแต่งหน้าพายแอปเปิ้ล
On-Nom, N.และคณะ (2023) พัฒนาขนมขบเคี้ยวจากผงผำแบบแช่แข็งอบแห้ง (WP) โดยใช้ผงผำแช่แข็งอบแห้งผสมกับแป้งข้าวเหนียวและแป้งมันสำปะหลัง โดยใช้วิธี Response Surface Methodology (RSM) ในการออกแบบสูตรเพื่อหาสูตรขนมที่เหมาะสมที่สุด จากการศึกษา พบว่าสูตรที่ดีที่สุดประกอบด้วยแป้งข้าวเหนียว 64%, แป้งมันสำปะหลัง 10% และ WP 26% ขนมที่ได้มีโปรตีนและเส้นใยอาหารสูงเมื่อเทียบกับสูตรควบคุม โดยโปรตีนเพิ่มขึ้น 51% และเส้นใยอาหารเพิ่มขึ้น 83% ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวที่มีประโยชน์ทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะโปรตีนและเส้นใยอาหารสำหรับการตลาดในอนาคต
2.การนำไข่ผำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยนำมาเตรียมให้อยู่ในรูปของสารประกอบเชิงซ้อนโซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟิลลินเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเป็นการเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบท้องถิ่น ช่วยลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากต่างประเทศ
3.ใช้ไข่ผำเป็นอาหารสำหรับสัตว์ ไข่น้ำมีโปรตีนอยู่ระหว่าง 19.3-45.0% ของน้ำหนักแห้งปริมาณ โปรตีนในไข่น้ำผันแปรตามปริมาณสารอาหารในน้ำ มีรายงานว่าการเสริมไข่ผำร้อยละ 10 ในอาหารเม็ดสำเร็จรูปเพื่อเลี้ยงปลานิลแดง ส่งผลให้ปลานิลแดงมีน้้าหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อัตราการเจริญเติบโตประสิทธิภาพการใช้โปรตีนสูงที่สุด มีปริมาณโปรตีนในเนื้อสูงที่สุด และปริมาณไขมันในเนื้อต่ำที่สุด การเสริมไข่น้ำร้อยละ 15 ส่งผลให้ปลานิลมีความเข้มสีผิวและปริมาณแคโรทีนอยด์ในเนื้อปลาสูงที่สุด และการเสริมไข่น้ำในอาหารทำให้มีต้นทุนค่าอาหารต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่ำสุด
4.ใช้ไข่ผำเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxdant) โดยมีรายงานว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจากไข่ผำ พบว่าไข่ผำที่สกัดด้วยเอทานอล ใช้เวลาสกัด 24 ชั่วโมงได้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระร้อยละ 80.15
5.ใช้ไข่ผำเป็นแหล่งของรงควัตถุ (pigment) ไข่ผำมีสารสีหรือรงควัตถุหลายชนิดได้แก่ คลอโรฟิลล์ และเบต้าเลน (Betalains) ซึ่งมีรายงานว่า ไข่ผำมีสารสีในปริมาณที่สูงโดยพบปริมาณคลอโรฟิลล์ 30.17 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม และพบปริมาณสารสีของไข่ผำที่เพาะเลี้ยงด้วยน้้าจากบ่อปลาดุกมีแคโรทีนอยด์รวม 699.5 ไมโครกรัมต่อกรัมของน้้าหนักแห้ง นอกจากนี้ยังมีเบต้าแคโรทีน 64.16 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักสด 1,000 กรัม (กองโภชนาการ, 2550)
6.ใช้ไข่ผำในการบำบัดน้ำเสียและดูดซับธาตุอาหาร โดยมีรายงานว่ามีการใช้ไข่ผำดูดซับธาตุอาหารในน้ำหมักมูลปลานิล พบว่าปริมาณแอมโมเนียลดลงเป็น 0 มิลลิกรัมต่อลิตร และสามารถลดปริมาณไนเตรท ไนโตรเจนรวม ออร์โธฟอสเฟต และฟอสฟอรัสรวมได้ การน้าไข่ผำบ้าบัดน้ำเสียจากฟาร์มสุกร สามารถลดบีโอดี ของแข็งแขวงลอยในน้ำได้มากกว่าร้อยละ 90
แกงไข่ผำใส่หมูสับ อาหารสุขภาพ
จิตติมา พีรกมล (2560) ได้พัฒนาตำรับอาหารพื้นบ้าน “แกงไข่ผำใส่หมูสับ” สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
ส่วนประกอบ: ตะไคร้ 30 กรัม พริก 8 กรัม หมูสับ 80 กรัม ผำ 100 กรัม ปลาร้า 2 ช้อนโต๊ะ ใบแมงลัก 3 กรัม ผักชีลาว 10 กรัม
วิธีทำ
- โขลกพริก ตะไคร้ให้ละเอียด นำหมูสับลงไปคั่วกับเครื่องที่เตรียมไว้ ใส่น้ำปลาร้าลงไปผัดให้หอม
- พอหมูสุกใส่ผำลงไปและปรุงรส เติมน้ำเปล่าลงไป
- พอเดือดใส่ใบแมงลักและผักชีลาวลงไป
คุณค่าทางโภชนาการ “แกงผำใส่หมูสับ”
- พลังงาน 139.88 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 7.57 กรัม
- ไขมัน 3.57 กรัม
- โปรตีน 19.37 กรัม
- แคลเซียม 130.31 มิลลิกรัม
- เหล็ก 9.60 มิลลิกรัม
- วิตามิน เอ 62.85 ไมโครกรัม RAE
- Thiamin 1.15 มิลลิกรัม
- Viboflavin 0.44 มิลลิกรัม
- วิตามิน C 18.43 มิลลิกรัม
- Niacin 4.82 มิลลิกรัม
- Dietary Fiber 5.06 กรัม
- โปแตสเซียม 444.55 มิลลิกรัม
- โซเดียม 1200.82 มิลลิกรัม
บรรณานุกรม
กองโภชนาการ. (2544). ตารางแสดงชนิดและปริมาณกรดอะมิโนในอาหารไทย. กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข.
กุลพร พุทธมีและวริศชนม์ นิลนนท์. (2564). การพัฒนาผลิตภัณฑ์บะหมี่เสริมผำอบแห้ง. วารสารวิจัยและพัฒนา วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม) หน้า 57-69
จิตติมา พีรกมล, สุพรรณี พฤกษา และสุระเดช ไชยตอกเกี้ย. (2561). รายงานวิจัย เรื่อง การพัฒนาตำรับอาหารพื้นบ้านสาหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเลย. เลย: คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.
ประโชติ เปล่งวิทยา. (2544). ตารางแสดงชนิดและปริมาณกรดอะมิโนในประเทศไทย. นนทบุรี: กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.
ภาชณุมาศ ทองคำ. (2562). ผลของอุณหภูมิต่อฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในไข่ผำแห้งและการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร. วิทยานิพนธ์ คหกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์. ปทุมธานี: คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี.
วรรณิณี จันทร์แก้ว และอัมพร รัตนมูสิก. (2562). รายงานการวิจัยเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการ โลหะหนักตกค้าง สารสี และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของไข่น้า(Wolffia) จากธรรมชาติและการเลี้ยง. นครศรีธรรมราช: คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
สุรีย์พันธุ์ บุญวิสุทธิ์. (2550). ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก.
อัจฉราภรณ์ ศุภกาญจนกุล. (2561). การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไบโอดีเซลจากผำด้วยยีสต์น้ำมัน. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีพลังงานและการจัดการ. กรุงเทพฯ: ภาควิชาวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.
Monthakantirat, O., Chulikhit, Y., Maneenet, J., Khamphukdee, C., Chotritthirong, Y., Limsakul, S., Punya, T., Turapra, B., Boonyarat, C., & Daodee, S. (2022). Total active compounds and mineral contents in Wolffia globosa. Journal of Chemistry, 2022, Article ID 9212872. https://doi.org/10.1155/2022/9212872
On-Nom, N., Promdang, P., Inthachat, W., Kanoongon, P., Sahasakul, Y., Chupeerach, C., Suttisansanee, U., & Temviriyanukul, P. (2023). Wolffia globosa-Based Nutritious Snack Formulation with High Protein and Dietary Fiber Contents. Foods, 12(14), 2647. https://doi.org/10.3390/foods12142647