บานเย็น รากแก่น ราชินีหมอลำ ศิลปินแห่งชาติ

บานเย็น รากแก่น หรือนิตยา รากแก่น ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หมอลำ) ประจำปี 2556 ท่านเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการแสดงหมอลำ โดยได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์สร้างสรรค์ผลงานและชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ จนได้รับคำชื่นชมยกย่องจากประชาชนว่าเป็น “ราชินีหมอลำ”

บานเย็น รากแก่น หนือ นิตยา รากแก่น ราชินีหมอลำ
บานเย็น รากแก่น หนือ นิตยา รากแก่น ราชินีหมอลำ

ประวัติของบานเย็น รากแก่น

บานเย็น รากแก่น หรือ นางนิตยา รากแก่น เกิดวันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ที่บ้านกุดลอย ตำบลโนนสวาง อำเภอตระการพืชผล (ปัจจุบันอำเภอกุดข้าวปุ้น) จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายสุดตา และนางเหมือย รากแก่น มีพี่น้องร่วมบิดามารดา จำนวน 4 คน นางนิตยา รากแก่น เป็นบุตรีคนที่ 2 ของครอบครัว

ประวัติการศึกษาของบานเย็น รากแก่น

บานเย็น รากแก่น ได้เข้ารับการศึกษาจนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร (ปัจจุบันคือ โรงเรียนเทศบาล 3 สามัคคีวิทยาคาร สังกัดเทศบาลนครอุบลราชธานี) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2506 หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้ว ไม่ได้เรียนต่อเนื่องจากฐานะทางบ้านยากจน พ่อแม่จึงสนับสนุนให้เรียนหมอลำกลอน (หมอลำคู่) เพราะ เห็นว่าเป็นคนที่มีความจำดี กล้าแสดงออกและอาชีพหมอลำสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว จึงส่งให้ไปเรียนหมอลำกลอน (หมอลำคู่) กับหมอลำหนูเวียง แก้วประเสริฐ ซึ่งเป็นหมอลำที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น ด้วยคุณลักษณะที่เป็นคนมีความจำดี ขยัน อดทน มีความมานะพยายามและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ที่หมั่นฝึกท่องกลอนลำให้ได้ วันละ 1 กลอน (1 กลอน มีความยาวประมาณ 3-4 เท่าของความยาวของเพลงลูกทุ่ง) พร้อมกับฝึกท่ารำไปด้วยซึ่งใช้เวลาเรียนอยู่ประมาณ 2 ปี จึงสามารถออกแสดงได้ในปี พ.ศ. 2509 ซึ่งในขณะนั้น นางนิตยา รากแก่น มีอายุได้เพียง 14 ปี

ผลงานและการเผยแพร่ของบานเย็น รากแก่น

บานเย็น รากแก่น เริ่มรับการแสดงหมอลำกลอน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา โดยลำกลอนคู่กับหมอลำชายรุ่นพี่หลายคน เช่น หมอลำเดชา นิตย์อินทร์ หมอลำโกศล จันทวารี หมอลำเข็มทอง แสนทวีสุข ฯลฯ ด้วยความสามารถ มีปฏิภาณไหวพริบ ความเฉลียวฉลาด ประกอบกับลีลาการฟ้อนรำที่อ่อนช้อยสวยงาม น้ำเสียงและรูปร่างหน้าตาดี ทำให้นางนิตยา รากแก่น มีชื่อเสียงโด่งดังได้รับความนิยมจากผู้ชมในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง มีผู้ว่าจ้างทุกวัน สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและเป็นหลักให้ครอบครัวได้ เมื่อมีงานแสดงหมอลำทุกวันทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อน จึงมีปัญหาด้านสุขภาพตามมา หมอแนะนำให้พักรักษาตัวประมาณ 2 ปี แต่ด้วยภาระที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำได้ แต่ก็พยายามรับงานแสดงน้อยลงเพื่อให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และพยายามวางแผนชีวิตให้กับตนเองใหม่ โดยหันมาฝึกหัดการแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน (หมอลำหมู่) เพิ่มเติม เพื่อให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เพราะการแสดงลำเรื่องต่อกลอนจะแสดงเป็นคณะ มีช่วงเวลาการแสดงออกเป็นฉาก ไม่ได้ลำคนเดียวทั้งคืนเหมือนลำกลอน

พ.ศ. 2511 ได้มีโอกาสร่วมแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน กับหมอลำหมู่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น คือ คณะรังสิมันต์ โดยแสดงเป็นนางเอกแทนฉวีวรรณ ดำเนิน (นางฉวีวรรณ พันธุ) จากการที่ได้มีโอกาสแสดงอยู่กับคณะหมอลำที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ประกอบกับความสามารถทางด้านการแสดงและรูปร่างหน้าตาดี ยิ่งทำให้นางนิตยา รากแก่น มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น

พ.ศ. 2514 นายชรินทร์ นันทนาคร ผู้กำกับภาพยนตร์ เห็นความสามารถในการแสดงและรูปร่างหน้าตาของ นางนิตยา รากแก่น จึงทาบทามให้แสดงภาพยนตร์เรื่อง แผ่นดินแม่ เป็นภาพยนตร์ซินิมาสโคป (35 มม.) เรื่องแรกของประเทศไทย โดยแสดงเป็นนางเอกรุ่นลูก คู่กับเพชรา เชาวราษฎร์ นางเอกรุ่นแม่ หลังจากนั้นมีผู้มาติดต่อให้แสดงภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง แต่ต้องปฏิเสธไป เพราะงานแสดงหมอลำมีมากจนไม่สามารถจัดเวลาให้ได้

ผลงานการลำและการแสดงของบานเย็น รากแก่น
ผลงานการลำและการแสดงของบานเย็น รากแก่น

พ.ศ. 2515 เป็นช่วงที่หมอลำใกล้จะถึงจุดอิ่มตัว เพราะอิทธิพลของเพลงลูกทุ่งผู้คนสนใจนิยมฟังเพลงและดูการแสดงดนตรีลูกทุ่งมากขึ้น นางนิตยา รากแก่น จึงแยกตัวออกจาก คณะรังสิมันต์ ตั้งวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น ชื่อวง “บานเย็น รากแก่น” เป็นทั้งนักร้องและหัวหน้าวงด้วย

วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ “บานเย็น รากแก่น” โดยการบริหารของนางนิตยา รากแก่น ได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ผ่านมาสร้างสรรค์ผลงานและชื่อเสียง จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสานไปแสดงที่ไหนได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าชมอย่างเนืองแน่น ได้รับคำชื่นชมยกย่องจากประชาชนว่าเป็น “ราชินีหมอลำ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 เป็นต้นมา วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ “บานเย็น รากแก่น” เปิดทำการแสดงจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2517 หลังจากนั้นนางนิตยา รากแก่น ได้แต่งงานกับนายเทพบุตร สติรอดชมพู นักแต่งเพลง แล้วต้องดูแลครอบครัว วงดนตรีเริ่มซบเซา และหยุดพักการแสดงไปประมาณ 6 ปี

พ.ศ. 2532 นางนิตยา รากแก่น ได้กลับเข้าสู่วงการอีกครั้งโดยกลัยมาร้องเพลงลูกทุ่งหมอลำ จนได้รับการยอมรับจากแฟนเพลงและมีชื่อเสียงโด่งดัง มีผลงานเพลงที่ได้บันทึกเทปหลายชุด เช่น ชุดเต้ยหัวใจแกร่ง ชุดตังหวายสุขใจไร้ทุกข์ ชุดสาวลูกทุ่งอีสาน ชุดลำเพลินมักบ่าวฟังลำ ชุดเต้ยส่งใจสู่แนวหน้า ชุดซิ่งคอยพี่ที่บ้านนา ชุดหมอลำคู่เอก ปฤษณา วงศ์ศิริ กับ บานเย็น รากแก่น ชุดแม่ไม้หมอลำ เป็นต้น

นอกจากนางนิตยา รากแก่น จะได้รับการยอมรับจากแฟนเพลงในประเทศแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากแฟนเพลงในต่างประเทศ ซึ่งได้รับเชิญให้ไปแสดงยังต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ประเทศฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ สหพันธรัฐเยอรมันตะวันตก สหราชอาณาจักรอังกฤษ และประเทศเดนมาร์ก ทำให้มีโอกาสได้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของไทยสู่สายตาชาวโลก นับเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยได้เป็นอย่างดี และเป็นการสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อีกทางหนึ่ง

บานเย็น รากแก่น ผู้เป็นทั้งศิลปินและครูด้านการแสดงหมอลำของชาวอีสาน
บานเย็น รากแก่น ผู้เป็นทั้งศิลปินและครูด้านการแสดงหมอลำของชาวอีสาน

เกียรติคุณที่บานเย็น รากแก่นได้รับ

บานเย็น รากแก่น เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่น และเสียสละ ช่วยเหลืองานสังคมและงานราชการต่าง ๆ มากมาย จนทำให้ได้รับรางวัลและใบประกาศเกียรติคุณ เช่น

  • พ.ศ. 2539 รางวัลเกียรติยศ “ผู้อนุรักษ์เพลงพื้นบ้านดีเด่น” จากสโมสรไลอ้อนส์ ราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร
  • พ.ศ. 2540 เกียรติคุณบัตรจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการบันทึกเทป โครงการ “ปีรณรงค์สถาบันเกษตรกรในทศวรรษใหม่”
  • พ.ศ. 2542  เกียรติบัตร “ศิลปินพื้นบ้านอีสาน (หมอลำ) บานเย็น รากแก่น” จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด สถาบันดุริยางคศิลป์ กรมศิลปากรในงานเฉลิมฉลองสมโภชองค์พระพิฆเณศ
    • โล่ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จากการร่วมงาน “60 ปี เล่าขานตำนานลูกทุ่งไทย” ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
    • ประกาศเกียรติคุณ จากสหพันธ์สมาคมหมอลำแห่งประเทศไทยให้บานเย็น รากแก่น เป็น “ผู้ร่วมฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย สาขาการแสดงพื้นบ้าน”
    •  รางวัล “พระพิฆเณศทองพระราชทาน” ครั้งที่ 4 ประเภทเพลงพื้นบ้านอีสาน ยอดเยี่ยม จัดโดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • พ.ศ. 2543 โล่เกียรติคุณ ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี สาขาศิลปะการแสดง ด้านการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
    • ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขานาฏศิลป์และการละคร) จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2555 รางวัลเชิดชูเกียรติวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาศิลปกรรม (ขับร้องเพลงลูกทุ่งอีสาน)  จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พ.ศ. 2556 ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หมอลำ)

banyen (9)

บรรณานุกรม

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี. (2552). อุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์. อุบลราชธานี: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง