วารินชำราบ เมืองลุ่มชุ่มน้ำแซบ

อำเภอวารินชำราบเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีเพียงแค่แม่น้ำมูลขวางกั้น เป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองด้านพาณิชยกรรมและเศรษฐกิจ ที่เกิดจากการขยายเส้นทางการเดินรถไฟจากกรุงเทพฯ มายังสถานีปลายทางที่เมืองนี้ ภูมิศาสตร์ของอำเภอวารินชำราบเป็นพื้นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำ ซึ่งสะท้อนชื่อของอำเภอได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการค้นพบแหล่งน้ำสำคัญ เช่น น้ำโจ้ก ที่ถือเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญในพิธีกรรมและราชพิธีต่าง ๆ ของอุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับวัดวารินทรารามเป็นแหล่งน้ำที่ไหลซึมตลอดทั้งปี และชาวเมืองรวมถึงพระสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์ในการอุปโภคบริโภคมายาวนาน

อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองอุบลราชธานี ห่างออกไปเพียงประมาณ 2 กิโลเมตร โดยมีถนนสถิตนิมานการ เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างตัวเมืองอุบลราชธานีกับเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ แบ่งการปกครองออกเป็น 16 ตำบล 190 หมู่บ้าน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 17 แห่ง อาณาเขตของอำเภอวารินชำราบ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ แม่น้ำมูล อำเภอเมืองอุบลราชธานี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอสำโรงและอำเภอเดชอุดม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอสว่างวีระวงศ์และอำเภอนาเยีย
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
สะพานเสรีประชาธิปไตย
สะพานเสรีประชาธิปไตย สะพานข้ามแม่น้ำมูลที่เชื่อมระหว่างอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี

การตั้งเมืองวารินชำราบ

ไพฑูรย์ มีสกุล (2542) ได้เรียบเรียง เรื่อง เมืองวารินชำราบไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่มที่ 12 หน้า 4119 ว่า เดิม เมืองวารินชำราบตั้งอยู่ในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และมีชื่อเรียกในอดีตว่า บ้านนากอนจอ (บ้านนาลูกหมา) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง โดยมีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การปกครองในภูมิภาคนี้

เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์

ในช่วงปี พ.ศ. 2423 หลวงชำนาญไพรสณฑ์ (แดง) บุตรของพระเทพวงศา (ก่ำ) เจ้าเมืองเขมราฐคนแรก เกิดความไม่พอใจในการทำงานร่วมกับพระเทพวงศา (บุญสิงห์) เจ้าเมืองเขมราฐในขณะนั้น ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงชำนาญไพรสณฑ์ จึงขอเปลี่ยนการทำราชการไปขึ้นตรงกับ เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก) เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์

ในปีเดียวกัน เจ้ายุติธรรมธร(คำสุก) เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ นำพระยาช้างเผือก พร้อมเครื่องราชบรรณาการ ได้แก่ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง และเงินส่วย ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชช้างเผือกและพระราชทานนามว่า “พระเสวตสกลวโรภาศ”

ในการนี้ หลวงชำนาญไพรสณฑ์ (แดง) ได้เดินทางไปพร้อมคณะและได้รับการกราบบังคมทูลขอพระราชทานตั้งบ้านนากอนจอขึ้นเป็นเมือง และแต่งตั้งหลวงชำนาญไพรสณฑ์เป็น พระกำจรจัตุรงค์ เจ้าเมือง พร้อมแต่งตั้งขุนนางท้องถิ่น ได้แก่

  • ท้าวไชย บุตรพระเทพวงศา (บุญเฮ้า) เป็นอุปฮาด
  • ท้าวสิทธิจางวาง (อุทา) เป็นราชวงศ์
  • ท้าวจันทบูฮม (อ่ำ) เป็นราชบุตร

เมืองวารินชำราบจึงขึ้นกับเมืองนครจำปาศักดิ์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2441 ราชการได้ปรับปรุงระบบการปกครอง โดยยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร และเปลี่ยนมาใช้ตำแหน่งใหม่ เช่น ผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง และยกกระบัตรเมือง พระราชพงษ์ภักดี (ซ้าย) เมืองคำทอง ได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าราชการเมืองวารินชำราบคนแรก ในช่วงที่ระบบการปกครองกำลังเปลี่ยนแปลง ขณะที่พระกำจรจัตุรงค์ (แดง) เจ้าเมืองคนเดิมถึงแก่อนิจกรรมก่อนหน้า

การปรับปรุงตามแบบเทศาภิบาล ในปี พ.ศ. 2449 เมืองวารินชำราบถูกยุบเป็น อำเภอวารินชำราบ มี พระราชพงษ์ภักดี (บุญ) เป็นนายอำเภอคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 ทางราชการได้รวมอำเภอทักษิณอุบลเข้ากับอำเภอวารินชำราบ และย้ายที่ตั้งมาที่ บ้านคำน้ำแซบ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำมูล ตรงข้ามกับตัวจังหวัดอุบลราชธานี

อำเภอวารินชำราบมีนายอำเภอคนสำคัญหลายท่านที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น

  • นายยุทธ จรัญยานนท์ (พ.ศ. 2480-2481)
  • นายกำจัด ผาติสุวรรณ (พ.ศ. 2482-2484)
  • นายสุนันท์ ขันอาสา (พ.ศ. 2501-2508)
แผนที่มณฑลอุบลราชธานี
แผนที่มณฑลอุบลราชธานี พ.ศ.2468 ที่มา : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

ที่มาของชื่ออำเภอวารินชำราบ

พื้นที่ของอำเภอวารินชำราบมีลักษณะเป็นที่ราบเกือบทั้งหมด ประกอบด้วยลำน้ำหลายสาย รวมถึงห้วย หนอง คลอง และบึงที่มีน้ำใต้ดินไหลซึมขึ้นมาโดยธรรมชาติ ทำให้ดินชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี 

คำว่า “วารินชำราบ” สื่อถึงลักษณะทางธรรมชาติของพื้นที่

  • วาริน หมายถึง น้ำ
  • ชำ หรือ คำ หมายถึง น้ำที่ไหลขึ้นมาจากใต้ดินโดยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง
  • ราบ หมายถึง ที่ราบ

ด้วยเหตุนี้ ชื่อ “วารินชำราบ” จึงสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินไหลซึมและชุ่มชื้นอยู่เสมอ ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่ราบเรียบซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอแห่งนี้ 

น้ำโจ้ก บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งวารินชำราบ

น้ำโจ้ก เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอำเภอวารินชำราบ จุดกำเนิดของน้ำโจ้กเกิดจากตาน้ำที่ไหลรินตลอดทั้งปี หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นฯ (ม.ป.ป.) กล่าวว่า น้ำโจ้กถูกค้นพบครั้งแรกโดยทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา (ประมาณปี พ.ศ. 2488) ขณะนั้นค่ายทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง (ปัจจุบัน) กองกำลังทหารญี่ปุ่นออกลาดตระเวนและได้มาพบกับแหล่งน้ำซับบริเวณค่ายสรรพสิทธิประสงค์ (มณฑลทหารบกที่ 22) จากนั้นทหารญี่ปุ่นจึงได้ทำการสำรวจแหล่งน้ำจากบริเวณค่ายทหารมาจนถึงหน้าสถานีตำรวจภูธรวารินชำราบในปัจจุบัน จึงได้พบกับบ่อน้ำซับที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา จากนั้นทหารญี่ปุ่นจึงได้สร้างบ่อน้ำเพื่อทำเป็นที่อาบน้ำของทหารญี่ปุ่น โดยลักษณะของการก่อสร้างจะทำการขุดบ่อดินลึกลงไปแล้วก่ออิฐมอญรอบ ๆ บ่อต่อท่อเหล็กให้น้ำไหลไปตามท่อลาดลงไปตามลักษณะของพื้นที่ จากนั้นทำลานพักสำหรับอาบน้ำ จนค่ายทหารย้ายมาอยู่ที่บริเวณปัจจุบัน

น้ำโจ้ก อำเภอวารินชำราบ
น้ำโจ้ก

ปัจจุบัน ประชาชนชาวเมืองวารินชำราบก็ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำโจ้กในการอุปโภคบริโภค นอกจากนั้น ยังสร้างอาชีพ “เข็นน้ำขาย” ให้กับประชาชนผู้รับจ้างนำน้ำโจ้กไปขายให้กับแม่ค้าในตลาดสดและประชาชนในบริเวณใกล้เคียง

ตำนานและความศักดิ์สิทธิ์ของน้ำโจ้ก

ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าบ่อน้ำโจ้กเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ด้วยคุณสมบัติน้ำที่ใสสะอาด ปราศจากกลิ่น และมีรสชาติดีเยี่ยม และมีความเชื่อว่า ธารน้ำนี้มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาหิมาลัย หรือเขาไกรลาศอันศักดิ์สิทธิ์ตามหลักศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระศิวะ จึงได้มีการเล่าขานจนเป็นที่เลื่องลือไปที่อื่น ๆ แม้แต่ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน ยังพากันพายเรือข้ามฝั่งมาเพื่อตักน้ำที่บ่อน้ำโจ้ก เพื่อนำไปใช้ในการดื่มกินและอาบเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต

น้ำโจ้ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “คำน้ำแซบ” ซึ่งมาจากคำว่า “คำ” (พื้นที่ราบริมน้ำ) และ “แซบ” ซึ่งในภาษาอีสานหมายถึงความอุดมสมบูรณ์และดีงาม เป็นการตั้งชื่อพื้นที่ที่สื่อถึงพื้นที่ราบริมน้ำที่มีความสมบูรณ์ เป็นแหล่งชุมชนที่เจริญรุ่งเรือง ในอดีตคำน้ำแซบนี้ถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งของอำเภอ เนื่องจากทำเลที่เหมาะสมในการเชื่อมต่อกับตัวเมืองอุบลราชธานี และเป็นศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของชุมชน จนเป็นที่มาของชื่อชุมชน “บ้านคำน้ำแซบ” ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีเพียง 2 กิโลเมตร รวมทั้งใช้เป็นชื่อตำบล และสวนสาธารณะอีกด้วย

ทั้งน้ำโจ้กและคำน้ำแซบสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำในพื้นที่วารินชำราบดังชื่อที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

น้ำโจ้ก อำเภอวารินชำราบ
น้ำโจ้ก น้ำไหลออกจากตาน้ำตลอดทั้งปีไม่มีเหือดแห้ง

น้ำโจ้กในพิธีกรรมสำคัญ

น้ำโจ้ก เมืองวารินชำราบ เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญในพิธีกรรมและราชพิธีต่าง ๆ ของจังหวัดอุบลราชธานีมาอย่างยาวนาน โดยน้ำจากบ่อน้ำโจ้กเคยถูกนำไปใช้ใน พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เพื่อความเป็นสิริมงคลในโอกาสสำคัญต่าง ๆ นับตั้งแต่สมัยพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

  • ปี 2530 จังหวัดอุบลราชธานีโดยประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากบ่อน้ำโจ้ก บริเวณสวนฝ้าย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2530 และนำไปทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ที่วัดสุปัฏนาราม ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2530 เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 
  • ปี 2542 จังหวัดอุบลราชธานีประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำและพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542
  • ปี 2554 จังหวัดอุบลราชธานีได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำและพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมรับการถวายพระพรชัยมงคล ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2554
  • ปี 2562 จังหวัดอุบลราชธานีได้ประกอบพลีกรรมตักน้ำน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษก ในวันที่ 6 เมษายน 2562 และประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ในวันที่ 8 เมษายน 2562 ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • ปี 2567 จังหวัดอุบลราชธานีได้ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำและพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 และประกอบพิธพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร พร้อมด้วยพิธีเวียนเทียนสมโภชในวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ทูลเกล้าฯ ถวาย ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
บ่อน้ำโจ้กในพิธีพลีกรรมตักน้ำ
บ่อน้ำโจ้กในพิธีพลีกรรมตักน้ำเพื่อนำไปทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

การฟื้นฟูและพัฒนาน้ำโจ้ก: เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 บ่อน้ำโจ้กได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ

ปัจจุบัน บ่อน้ำโจ้กยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ และเป็นจุดศูนย์กลางที่สะท้อนถึงความเชื่อ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชาววารินชำราบอย่างลึกซึ้ง

วิถีชีวิตของชาวเมืองวารินชำราบ

ในอดีต วิถีชีวิตของชาวเมืองวารินชำราบพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและการประมง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งมีพันธุ์ปลาหลากหลาย ทำให้อาชีพหาปลาแพร่หลายในพื้นที่

อีกอาชีพที่สำคัญของชุมชนริมแม่น้ำมูล คือ การปั้นเตาและหม้อดิน บริเวณนี้มีดินเหนียวและดินทามจากลำน้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการขึ้นรูปเป็นภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ดินเหล่านี้เกิดขึ้นใหม่ทุกปีจากการสะสมของดินตะกอนในฤดูน้ำหลาก ซึ่งน้ำพัดพามาทับถมในพื้นที่พร่อง ทำให้ดินยังคงมีคุณภาพดีเหมาะแก่การนำมาใช้งานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งอาชีพหาปลาและการปั้นดินเผาแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของคนในชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เมืองวารินชำราบที่มีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะตัว

เมืองพาณิชยกรรมวารินชำราบ

การพัฒนาของอำเภอวารินชำราบในฐานะศูนย์กลางพาณิชยกรรมที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานีเริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนหลังการมาถึงของขบวนรถไฟจากกรุงเทพมหานคร ความเชื่อมโยงนี้ได้เปลี่ยนแปลงวารินชำราบให้กลายเป็นตลาดค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ของภูมิภาค

สถานีรถไฟอุบลราชธานี
สถานีรถไฟอุบลราชธานี สถานีปลายทางตั้งอยู่ ณ อำเภอวารินชำราบ

ในอดีต ชาวจีนที่อพยพมาทางเรือกลไฟตามแม่น้ำมูลเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของวารินชำราบ หลายครอบครัวตั้งรกรากริมฝั่งแม่น้ำมูลและเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นแรงงานรับจ้าง เช่น ขนของจากเรือ จับปลาขาย และรับจ้างรายวัน ต่อมา หลายครอบครัวได้พัฒนาอาชีพโดยเริ่มรับซื้อสินค้าพื้นเมือง เช่น ข้าว และขนส่งด้วยเกวียนหรือเรือไปขายยังจังหวัดนครราชสีมา

นอกจากชาวจีน ชาวญวน (ชาวเวียดนาม) ก็มีบทบาทในพื้นที่เช่นกัน ชาวญวนส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกตัวเมืองและประกอบอาชีพพ่อค้าคนกลาง ขายของชำตามหมู่บ้าน และเป็นช่างก่อสร้างที่ฝากฝีมือไว้ผ่านโบสถ์จำนวนมากในพื้นที่

การขนส่งทางเรือระหว่างอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี
การโดยสารเรือข้ามฟากในลำน้ำมูลเพื่อเดินทางไปมาระหว่างอำเภอวารินชำราบและอำเภอเมืองอุบลราชธานี

 

ย่านชุมชนเก่าของอำเภอวารินชำราบ

บริเวณถนนทหารยังเคยเป็นที่ตั้งของโรงแรมหลายแห่งและโรงภาพยนตร์ เช่น โรงภาพยนตร์หอมไกร และ วารินภาพยนตร์ ถนนบุญห่อบำรุง แสดงให้เห็นถึงความคึกคักของชุมชนเก่าในย่านสถานีรถไฟอุบลราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอวารินชำราบ

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความสำคัญของการคมนาคมและการค้าขายในอดีต แต่ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของวารินชำราบในฐานะศูนย์กลางพาณิชยกรรมที่เชื่อมโยงผู้คน วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างลึกซึ้ง

วัดวารินทราราม วัดคำน้ำแซบ

วัดวารินทราราม ตั้งอยู่ที่เลขที่ 17 ถนนทหาร ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดรวม 25 ไร่ โดยมีโฉนดที่ดินเลขที่ 372 ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2447 โดยมีต้นกำเนิดจากบ้านคำน้ำแซบ ซึ่งมีแหล่งน้ำซับที่มีรสอร่อยมาก ชาวบ้านมักมาดื่มน้ำจากแหล่งนี้เป็นประจำ ในสมัยนายบัว ชินโคตร เป็นกำนัน และท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ได้ส่งพระชมพูธิราชและพระอ่อนมาสร้างที่พักสงฆ์ทางทิศตะวันออกของบ่อน้ำเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำบุญ จึงเริ่มเรียกวัดนี้ว่า วัดคำน้ำแซบ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 ภายในวัดมีอาคารเสนาสนะสำคัญ ประกอบด้วย:

  • อุโบสถ ขนาดกว้าง 9.31 เมตร ยาว 33.64 เมตร สร้างในปี พ.ศ. 2470
  • ศาลาการเปรียญ ขนาดกว้าง 22.50 เมตร ยาว 30.50 เมตร สร้างในปี พ.ศ. 2486
  • กุฏิสงฆ์ ศาลาบำเพ็ญกุศล และโรงเรียนพระปริยัติธรรมเพื่อการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา
วัดวารินทราราม
วัดวารินทราราม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
อุโบสถวัดวารินทราราม อำเภอวารินชำราบ
อุโบสถวัดวารินทราราม อำเภอวารินชำราบ

ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระประธานในอุโบสถชื่อว่า พระมหาวารีปทุมรัตน์ ขนาดหน้าตักกว้าง 48 นิ้ว สูง 48 นิ้ว และพระเจ้าใหญ่อินทร์สาน ขนาดหน้าตักกว้าง 2.70 เมตร สูง 4.50 เมตร

พระเจ้าใหญ่อินทร์สาน วัดวารินทราราม

พระเจ้าใหญ่อินทร์สานเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากไม้ไผ่ทองคำ สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา โดยใช้เวลาสร้างภายในวันเดียว ซึ่งเกิดความมหัศจรรย์เมื่อพระอินทร์แปลงกายเป็นชีปะขาวมาช่วยสานจนเสร็จ เป็นเหตุให้พระพุทธรูปนี้ได้รับนามว่า “พระเจ้าใหญ่อินทร์สาน” พระพุทธรูปนี้มีขนาดหน้าตัก 2.70 เมตร สูง 4.50 เมตร โดยได้รับการประดิษฐานครั้งแรกที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 จากการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เพื่อร่วมฉลองพุทธยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

พระเจ้าใหญ่อินทร์สาน วัดวารินทราราม
พระเจ้าใหญ่อินทร์สาน วัดวารินทราราม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

การอัญเชิญพระเจ้าใหญ่อินทร์สานมาจังหวัดอุบลราชธานีนั้นมีการร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงท่านวิโรจน์ มีแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, พระมหาวิมาน กนตสีโล รองเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และ ดร.พระมหาสุริโย อุตตมเมธี เจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ ซึ่งได้ทำพิธีรับมอบจากวัดสระเกศ และนำไปประดิษฐาน ณ วัดกุญชรดิตถาราม อำเภอสว่างวีระวงศ์ ก่อนที่จะอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดวารินทราราม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

พระเจ้าใหญ่อินทร์สาน วัดวารินทราราม
พระเจ้าใหญ่อินทร์สาน วัดวารินทราราม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

นอกจากนี้ ยังมีการพบพระพุทธรูปสานองค์เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 1881 ที่วัดบ้านเมืองนุง อำเภอเมืองขะ จังหวัดเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งมีอายุถึง 674 ปี เป็นอีกหนึ่งตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าใหญ่อินทร์สานและไม้ไผ่ทองคำที่สร้างขึ้น

โครงการก่อสร้างพระเจดีย์ประจำอำเภอวารินชำราบ

วัดวารินทราราม อำเภอวารินชำราบ กำลังดำเนินงานโครงการก่อสร้างพระเจดีย์ พระมหาธาตุวารินศรีสินทรอุบลราชธานี”  ขึ้นโดยพระเดชพระคุณพระศรีรัตโนบล (สุริโย ป.ธ. 9, ผศ.ดร.) เจ้าคณะอำเภอวารินชำราบ เป็นผู้ริเริ่มโครงการ และเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ. 9) วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ประทานนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระธรรมิกาธิราชเจ้า เป็นปูชนียสถานประจำอำเภอวารินชำราบ และเป็นสถานที่สำหรับประชุมการงานของคณะสงฆ์ในพื้นที่

พระมหาธาตุวารินศรีสินทรอุบลราชธานี
พระมหาธาตุวารินศรีสินทรอุบลราชธานี วัดวารินทราราม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

บรรณานุกรม

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี. (ม.ป.ป.). ย่านชุมชนเก่า อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567, จาก http://www.aac.ubru.ac.th/files/pdf/warinchamrap_oldtown_01.pdf

คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. (2562). ข้อมูลแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่ประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ในจังหวัดอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567, จาก https://phralan.in.th/coronation/waterdetail.php?id=209

จังหวัดอุบลราชธานี. (2567). จังหวัดอุบลราชธานี จัดพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์บ่อน้ำโจ้ก ประกอบการทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567. เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567, จาก https://ubonratchathani.go.th/home/29226/

nfewarin channel กศน.อำเภอวารินชำราบ. (2561). ” น้ำโจ้ก น้ำใจไทวารินฯ ” สายน้ำแห่งประวัติศาสตร์ [วิดีโอ]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567, จาก https://www.youtube.com/watch?v=pRfnbHTKe7c

ไพฑูรย์ มีสกุล. (2542). วารินชำราบ,เมือง. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน (เล่มที่ 12, หน้า 4119). กรุงเทพ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

ไทยรัฐออนไลน์. (2562). อุบลฯ เลือก บ่อน้ำโจ้ก เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประกอบพลีกรรมตักน้ำ. เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567, จาก https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/1508720

สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567, จาก https://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple/pdf/fTP0972.pdf

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง