คะลำ ข้อห้ามอีสาน

คะลำ เป็นคำในภาษาอีสานที่หมายถึง สิ่งที่ไม่ควรทำหรือไม่เป็นมงคล  คล้ายกับคำว่า “ถือ” หรือ “เคล็ด” ในภาษาไทยกลาง เป็น ความเชื่อและข้อห้ามทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษชาวอีสานที่มีมานานซึ่งถ้าหากไม่ปฏิบัติตามอาจจะนำมาซึ่งความโชคร้าย สิ่งไม่ดี หรือความไม่เหมาะสมในสังคม ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้บัญญัติหรือกำหนดไว้ หรือเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด อาจจะเกิดจากการเรียนรู้จากเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่เคยส่งผลร้ายซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นความเชื่อว่ากระทำบางอย่างไม่ดี ไม่เหมาะสม และไม่พึงประสงค์ บางเรื่องเป็นความเชื่อทางศาสนา สังคม และประเพณี บางเรื่องเป็นเหตุผลด้านสุขอนามัย 

ปัจจุบัน “คะลำ” บางเรื่องอาจถูกลดความสำคัญลงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เนื่องจากการเรียนรู้และประสบการณ์ของประชาชนมีมากขึ้น ข้อมูลความรู้ใหม่มีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น รวมทั้งขาดการสืบทอดสู่ชนรุ่นหลัง หรือลดความเคร่งครัดลง แต่ “คะลำ” บางเรื่องก็ยังคงได้รับการยึดถือและมีความหมายเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติตามของชาวอีสาน เป็นภูมิปัญญาที่ช่วยสร้างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ศาสนา และสังคม ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและสงบสุข เป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการคัดสรรเลือกไว้ใช้ 

เหมวรรณ เหมะนัคและสุมนา อินทร์คำน้อย (2544) ได้ทำการวิจัยเรื่องข้อห้ามด้านสุขภาพอนามัย: บทบาทในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ทำการศึกษาและรวบรวมคะลำที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวอีสานในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย แบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ ดังนี้

ข้อคะลำเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ

  1. ไข้หมากไม้ลำไส้ ห้ามรับประทานผลไม้ทุกชนิด ห้ามอาบน้ำ ห้ามดื่มน้ำ
  2. โรควัณโรค ห้ามรับประทานกุ้ง ปลาซิว เนื้อควาย
  3. ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  4. โรคล่องแก้ว ห้ามรับประทานปลาร้า พริก
  5. โรคมดลูกเคลื่อน ห้ามมีเพศสัมพันธ์
  6. ตกขาว ห้ามรับประทานมะละกอ ห้ามมีเพศสัมพันธ์ ห้ามรับประทานส้มตำ ปลาซิว กุ้ง หอย
  7. โรคนิ่ว ห้ามรับประทานปลาร้า และของเปรี้ยว ห้ามทำงานหนัก
  8. โรคฝี ห้ามรับประทานไข่ ของเปรี้ยว ของหวาน
  9. โรคงูสวัด ผู้ป่วย ห้ามรับประทานไข่ เนื้อ ส้มตำ ปลาร้า ของเปรี้ยว และของหวาน ห้ามไม่ให้กินข้าวและสูบบุหรี่ที่บ้านคนตาย หมอผู้รักษาห้ามดื่มสุราเด็ดขาด เพราะจะผิดวิชาจะรักษาไม่หาย
  10. โรคกามโรค ห้ามรับประทานปลาร้า ไก่ เป็ด ส้มตำ เหล้า หน่อไม้ มะละกอ หมอจะเก็บยาสมุนไพรจากบ่อ มาทำเป็นมัด แล้วปลุกเสก นำไปต้ม อาการต่าง ๆ ก็จะหายไป
  11. โรคปะดงไฟ ห้ามรับประทานไก่ ปลาร้า ปลาดุก เนื้อควาย
  12. ถ่ายเป็นเลือด ห้ามรับประทานปลาทุกชนิด
  13. โรคริดสีดวงทวาร ห้ามรับประทานเนื้อดิบ ปลาไหล เหล้า
  14. ไข้ออกตุ่ม ห้ามรับประทานข้าวโพด ข้าวจี่ กล้วย ถั่ว ฝรั่ง ข้าวต้มมัด ข้ามต้มกลีบ
  15. โรคมะเร็งเต้านม ห้ามรับประทาน ปลาร้า ปลาจ่อม เนื้อวัว เนื้อควาย ไก่ หน่อไม้ เป็ด ไข่ ขนมจีน 
  16. โรคกระเพาะอาหาร ห้ามรับประทานหน่อไม้ ส้มตำ
  17. ตำรับยาคลายเส้น ห้ามรับประทานไก่ เครื่องในสัตว์ หน่อไม้
  18. มะเร็งมดลูก ห้ามรับประทานของคาวทุกชนิด
  19. มะเร็งที่ตับ คอ เต้านม ห้ามรับประทานเนื้อวัว ควาย เป็ด ไก่ อาหารทะเล หน่อไม้ และเห็ด
  20. โรคเบาหวาน ห้ามรับประทานตะไคร้ แตงโม มะพร้าว ใบชะพลู อาหารหวานทุกชนิด กาแฟ นม
  21. ไข้ตีนเย็น ห้ามรับประทานปลาดุก กบ ถั่ว ผลไม้ทุกอย่าง
  22. โรคปะดงเส้น ห้ามรับประทานไก่ หอย ปู หน่อไม้ ข่า หวาย
  23. โรคหืด ห้ามรับประทานของหวานทุกชนิด ไก่ กุ้ง ปลาซิว เหล้า
  24. โรคปะดงฟักไข่ ห้ามรับประทานเป็ด เหล้า หมู อึ่งอ่าง จักจั่น ปลาสวาย
  25. โรคปากเปื่อย ถ้าเป็นเด็กที่ยังกินนมแม่อยู่ ห้ามแม่เด็กกินปลาร้าและส้มตำ (กิ่งแก้ว เกษโกวิท และคณะ, 2536:42 ) ผู้ป่วย ห้ามรับประทานไข่ เนื้อ ส้มตำ ปลาร้า ห้ามไม่ให้กินข้าวและสูบบุหรี่ที่บ้านคนตาย หมอรักษา ห้ามดื่มสุราเด็ดขาด เพราะจะผิดวิชาจะรักษาไม่หาย
  26. โรคปะดง ห้ามรับประทานเนื้อควาย ไก่ ปลาช่อน ไข่ ปลาร้า หน่อไม้ น้ำเต้า รกวัวควาย กบ ห้ามลอดเครือกล้วยและราวตากผ้า
  27. โรคฝีหัวเอี่ยน (กิ่งแก้ว เกษโกวิท และคณะ,2536:44) ผู้ป่วย ห้ามรับประทานปลา เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อไก่ หมอรักษา ห้ามดื่มสุรา
  28. โรคฝีพิษ ห้ามรับประทานเนื้อควาย ปลาไหล ไก่ ไข่
  29. โรคตับ (กิ่งแก้ว เกษ โกวิท และคณะ,2536:47) ห้ามกินไก่ เนื้อต่าง ๆ ต้องตากแห้งก่อน ห้ามกินเนื้อกบและพุทรา เพราะถือว่าแสลงที่สุด หมอรักษา ห้ามลอดราวตากผ้า ใต้ถุนบ้านที่มีน้ำครำ และเครือกล้วย
  30. อาการบวมช้ำ ถ้าใครเป็นคนจับขวดน้ำมันทา คนนั้นต้องจับทาเพียงคนเดียวจนหาย เมื่อหายให้ทิ้งขวดน้ำมันทันที
  31. ไข้สูง (ตัวร้อนจัด) ตาแดง ปวดเมื่อย ซึม เพ้อ เพราะอาจเป็นไข้มาลาเรีย
  32. ไข้สูงและตัวเหลือง อ่อนเพลียมาก เจ็บบริเวณชายโครง เพราะอาจเป็นโรคตับอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ
  33. ปวดแถวสะดือมาก แล้วย้ายมาปวดท้องน้อยด้านขวา เอามือกดจะเจ็บปวดมากขึ้น หน้าท้องแข็ง มีไข้เล็กน้อย เพราะอาจเป็นโรคไส้ตึ่ง ลำไส้อักเสบ
  34. เจ็บแปล๊บในท้อง คล้ายมีอะไรฉีกขาด ปวดท้องรุนแรง มีอาการตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียนกระเพาะอาจทะลุ
  35. อาเจียนหรือไอเป็นเลือด เพราะอาจเป็นโรคกระเพาะอาหารทะลุ หรือวัณโรคปอด
  36. ท้องเดินอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นน้ำ ถ่ายพุ่ง สีอุจจาระขาวคล้ายน้ำซาวข้าว อ่อนเพลียมากอาจเป็นอหิวาตกโรค
  37. ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ถ่ายบ่อยมาก ปวดบิด ปวดเบ่ง อาจเป็นโรคบิด
  38. เด็กอายุ 1-12 ปี ไข้สูงมาก ไอมาก หายใจมีเสียงผิดปกติเหมือนมีอะไรติดในลำคอ หน้าเขียว อาจเป็นโรคคอตีบ
  39. อาการตกเลือดเป็นเลือดสด ๆ ต้องพบแพทย์โดยเร็ว
  40. ถ้าเป็นไข้ ห้ามรับประทานผลไม้ ห้ามอาบน้ำ ห้ามทำงานหนักเกินไป ห้ามรับประทานข้าวต้มห่อ ของเปรี้ยวและอาหารจำพวกเนื้อวัว เนื้อควาย (เครือวัลย์ หุตานุวัตร และวิไลวัจน์กฤษณะภูติ, 2528 : 33-36 ) 
  41. ถ้าท้องร่วง ห้ามรับประทานอาหารจำพวกปลา จะทำให้ถ่ายอุจจาระมากขึ้น
  42. ถ้าเป็นแผลพุพอง ห้ามรับประทานเนื้อควายเผือก ปลาซิว ปลาใบไม้ จะทำให้แผลพุพองหายช้า
  43. ถ้าเป็นไข้ห้ามรับประทานผักชี แตงไทย ฝรั่ง ขนุน กล้วย ส้ม จะทำให้อาการหนัก
  44. ห้ามรับประทานปลาหมอ ปลาดุก ผลไม้ จะทำให้อาการกำเริบ
  45. ถ้าป่วยให้เอาเนื้อไก่ดำ ไปคลุกกับมดแดง แล้วนำไปย่างไฟ และนำไปให้ผู้ป่วยรับประทาน ก็จะทำให้หายป่วย
  46. ถ้าเป็นแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หกล้ม เป็นฝีหนอง ห้ามรับประทานหน่อไม้ จะเกิดอาการคัน
  47. ถ้าเป็นโรคไอ ห้ามรับประทานถั่วลิสง มะเกลือ อาหารรสจัด หัวกลอย เผือก และมัน
  48. ถ้าเจ็บป่วยทั่ว ๆ ไป ห้ามรับประทานปลาหมอ ปลาดุก และผลไม้ต่าง ๆ (ทวน ยุทธวงษ์,2533 : 55)
  49. ห้ามผู้ป่วยดื่มสุราหรือของมึนเมาขณะที่บำบัดรักษาตัวอยู่
  50. ห้ามบุคคลอื่นรวมทั้งญาติพี่น้องดื่ม อาบ หรือทาน้ำมนต์ด้วย
  51. ห้ามบุคคลอื่นหรือสมาชิกในครอบครัวมาจับหรือสัมผัสกับน้ำมนต์
  52. ผ้าสำหรับอาบน้ำมนต์ ผู้หญิงห้ามเอาผ้าถุงข้ามศีรษะ
  53. การเก็บรักษาน้ำมนต์ต้องเก็บไว้ให้มิดชิดไม่ให้เก็บไว้ใต้ถุนใต้โต๊ะ หรือเตียง
  54. วัสดุต่าง ๆ สำหรับที่ใช้บำบัดรักษาแล้ว เมื่อหายจะต้องไม่เก็บไว้ที่บ้านของผู้ป่วย เช่น แซก เฝือกอ่อน ไม้สามขา ต้องเผาทิ้ง หรือเอาไปไว้ที่บ้านหมอน้ำมนต์ 
  55. ห้ามคนป่วยนอนฟูกจะทำให้หายช้า
  56. ถ้าป่วยเป็นฝี หนอง เป็นหิด ห้ามกินไก่หรือของหมักดอง
  57. ถ้าเป็นโรคคางทูม ห้ามกินไข่
  58. คนป่วยทุกประเภท ห้ามกินถั่วฝักยาวและกล้วยน้ำว้า
  59. คนป่วยโรคประสาท ห้ามกินน้ำมันหมู

ข้อคะลำของหญิงตั้งครรภ์

ในขณะที่ตั้งครรภ์ ร่างกายของผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้ทั้งหญิงตั้งครรภ์และคนใกล้ชิดต้องให้ความระมัดระวังในการปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ ความเชื่อเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละท้องถิ่นมักมีลักษณะคล้ายกัน แต่รายละเอียดอาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยทางกายภาพและสภาพแวดล้อม บางความเชื่อมีเหตุผลรองรับ ขณะที่บางความเชื่ออาจไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน

เกี่ยวกับอาหารการกิน

  1. ห้ามรับประทานอาหารที่มีรสจัด
  2. ห้ามรับประทานอาหารที่เผ็ดและเค็ม จะทำให้ไม่สบายและจะทำให้ทารกตาแฉะ หัวล้าน
  3. ห้ามรับประทานอาหารหมักดอง ของมึนเมาต่าง ๆ
  4. ห้ามรับประทานอาหารดี ๆ เพราะจะทำให้เด็กในท้องโตเกินไป ทำให้คลอดยาก (ภาควิชาโภชนาวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์, 2531:84)
  5. ห้ามรับประทานผักแว่น เพราะจะทำให้รกติดหลัง
  6. ห้ามรับประทานกล้วยแฝด เพราะจะทำให้ได้ลูกแฝด (ฉัตรพงศ์ อินทฤทธิ์,2536: 34)
  7. ห้ามรับประทานอาหารที่ติดกับไม้ยาง เพราะจะทำให้คลอดยาก (โกศล พละกลาง,2536:7)
  8. ห้ามรับประทานผักชะอม เพราะผิดสำแดง
  9. ห้ามรับประทานลูกกะบก เพราะจะทำให้เป็นไข้ ไม่สบายและคลอดลูกยาก
  10. ห้ามรับประทาน เผือก มัน
  11. ห้ามรับประทานเห็ด
  12. ห้ามรับประทานข้าวจี่ เพราะเชื่อว่าไขมันจะติดทารก และคลอดยาก
  13. ห้ามรับประทานเม็ดมะขาม
  14. ห้ามดื่มกาแฟลูกจะติดกาแฟด้วย
  15. ควรดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนเพื่อบำรุงครรภ์ และแก้อาการอ่อนเพลีย โดยเชื่อว่าน้ำมะพร้าวจะทำให้เด็กทารกสะอาด ไม่มีไขมันเกาะตามตัว
  16. หญิงมีครรภ์หากแพ้ท้อง ควรกินผลไม้รสเปรี้ยว เช่น สมอ มะขาม มะขามป้อม มะนาว ถ้ามีอาการแพ้มาก ๆ ให้ใช้ยาตำรับแก้แพ้ท้องผสมใบชะพลู
  17. ห้ามรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ๆ เพราะจะทำให้คลอดยากโดยเฉพาะไขมันสัตว์จะไปอุตตาและทวารของทารก (ภาควิชาโภชนาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล,2531:9)
  18. ห้ามรับประทานไข่เพราะจะทำให้ทารกในครรภ์มีไขมันเกาะตามตัวเด็กและมีกลิ่นคาว ทำให้คลอดยาก
  19. ห้ามรับประทานเนื้อควายเผือก เพราะลูกที่คลอดจะเลี้ยงยาก
  20. ห้ามรับประทานเนื้อเต่า และตะพาบน้ำ
  21. ห้ามรับประทานแมลงจำพวก แตน ต่อ
  22. ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีลูกอยู่ในท้อง
  23. ห้ามรับประทานปลาร้า
  24. ห้ามรับประทานปลาหมึก
  25. ห้ามรับประทานเนื้อกระต่าย
  26. ควรรับประทานลาบกระต่ายป่าจะทำให้คลอดง่าย

เกี่ยวกับการปฏิบัติตน

  1. ห้ามอาบน้ำเวลามืดค่ำหรือตอนกลางคืน เพราะมีน้ำคาวปลามาก
  2. ห้ามนั่งขวางบันไดหรือประตู ห้ามเย็บที่นอน ห้ามตอกตะปู ห้ามปิดประตูหน้าต่างในขณะกำลังจะคลอด เพราะจะทำให้คลอดลูกยาก
  3. ห้ามเขย่งหยิบอาหารจากที่สูงมารับประทาน
  4. ห้ามเดินรับประทานอาหาร ห้ามเดินเร็ว ๆ ห้ามเดินขึ้นที่สูง ห้ามเดินข้ามสะพานไม้แคบ ๆ
  5. ห้ามข้ามเชือกม้า เพราะลูกที่เกิดมาจะตะกละ กินจุ ห้ามข้ามเชือกที่กำลังสวมวัวหรือควาย
  6. ห้ามไปงานศพ เพราะคนตายจะมาเกิดด้วย
  7. ห้ามไปดูคนคลอดลูก เพราะเด็กในท้องจะชักชวนไปในทางที่ไม่ดี
  8. ห้ามชะโงกดูน้ำในบ่อ
  9. ห้ามตำหนิหรือเลียนแบบผู้อื่นที่มีร่างกายพิการ
  10. ห้ามตัดหางใบตอง
  11. ห้ามเผาหอย เผาปู
  12. ห้ามนั่งคุกเข่า ห้ามนั่งที่สูง ห้ามนั่งยอง ๆ ห้ามนั่งชันหัวเข่า
  13. ห้ามนอนหงายหรือนอนคว่ำ
  14. ห้ามอาบน้ำร้อน ห้ามอาบน้ำสกปรก ห้ามยืนอาบน้ำ
  15. ห้ามเตรียมเตาสำหรับอยู่ไฟไว้ล่วงหน้า
  16. ห้ามเย็บปากเบาะและจัดเตรียมผ้าอ้อม

ข้อคะลำของผู้หญิงอยู่ไฟ

  1. ห้ามกินผักเพราะจะเข้าไปในน้ำนม ทำให้อุจจาระของทารกเป็นสีเขียว ทำให้เด็กท้องเสีย
  2. ห้ามรับประทานอาหารที่ปรุงดิบ ๆ สุก ๆ 
  3. ขณะอาบน้ำไม่ให้ถูหรือลูบตัวจะทำให้เกิดผื่นผิวหนัง
  4. ถ้ามีคนมาเยี่ยมห้ามพูดว่าร้อน เพราะไม่เป็นสิริมงคล
  5. ห้ามจัดทำเตาสำหรับอยู่ไฟล่วงหน้า
  6. ห้ามนอนระหว่างอยู่ไฟ เพราะถ้าปล่อยให้ผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ ๆ นอนหลับตื่นมาจะเป็นคนไร้สติ ทำอะไรไม่รู้ตัว เช่น มองเห็นลูกเป็นท่อนไม้ อาจจะนำไปใส่ไฟได้
  7. ควรดื่มน้ำขิง ใส่เกลือเล็กน้อย เพื่อช่วยให้นอนหลับ
  8. ให้กินเฉพาะเนื้อปลาขาว ควรกินปลาหมอตัวที่มีหางสีขาว ห้ามกินตัวที่มีหางสีดำ
  9. ให้รับประทานข้าวเหนียวกับเกลือและให้ดื่มน้ำร้อน
  10. ขณะอยู่ไฟห้ามออกจากหม้อไฟ
  11. ขณะอยู่ไฟห้ามใส่เสื้อและต้องอยู่ให้ครบ 2 สัปดาห์
  12. ห้ามนำขอนฝังดิน ตอไม้ หรือต้น หรือกิ่งไม้ที่มีอยู่แล้วมาทำฟืนอยู่ไฟ
  13. ห้ามนำไม้บกมาทำฟืนอยู่ไฟ เพราะติดไฟแล้วมีกลิ่นเหม็นและมีขี้เถ้ามาก
  14. ห้ามนำไม้สะแบงและไม้ยางมาทำฟืนอยู่ไฟ เพราะขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาไหม้ทำให้ระคายเคืองผิวหนัง
  15. ห้ามนำไม้ข้อมาทำฟืนอยู่ไฟ เพราะขณะเผาไหม้จะมีสะเก็ดไฟแตกกระจายเป็นอันตรายได้ มีขี้เถ้าทำให้ระคายเคืองผิวหนัง
  16. ห้ามนำม้เหือดมาทำฟืนอยู่ไฟ เพราะเป็นฟืนที่เมื่อติดไฟมีกลิ่นเหม็น จะทำให้อวัยวะเพศของแม่ลูกอ่อนมีกลิ่นเหม็น
  17. ห้ามนำไม้แดงมาทำฟืนอยู่ไฟ เพราะเมื่อติดไฟแล้วมีสะเก็ดไฟแตกกระจายเป็นอันตรายได้
  18. ห้ามนำไม้ประดูมาทำฟืนอยู่ไฟ เพราะมีกลิ่นฉุน
  19. อาหารที่ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้มดลูกชื้น มีลูกง่ายทำให้เกิดอาการวิงเวียน
  • ประเภทพืช: ชะอม ผักแว่น อาหารหมักดองทุกชนิด ลิ้นฟ้า(เพกา) เห็ดฟาง ฟักทอง ผักกระเฉด บวบ ข้าวก่ำ ผักสะระแหน่ ผักเสี้ยน
  • ประเภทเนื้อสัตว์: เป็ดเทศ ควายเผือก นกทุกชนิด ยกเว้นนกเค้าแมว วัวพันธุ์ เต่า เขียด หอยโข่ง สุนัข ปลาดุก ปลาหมอ ปลาขาวหลังแดง ปลาขาวหัวแข็ง ปลาหลด ปลาชะโด ปลาสวาย ปลาสูด ปลากราย ปลาไหล และไข่ทุกชนิด

ข้อคะลำของแม่ลูกอ่อน แม่หลังคลอด

เกี่ยวกับอาหาร

  1. ห้ามรับประทานผักชะอม เพราะจะทำให้บาดกระดูก น้ำนมแห้ง
  2. ห้ามรับประทานผักแว่น เพราะจะทำให้น้ำนมแห้ง
  3. ห้ามรับประทานอาหารหมักดองทุกชนิด เพราะจะทำให้แผลเน่าเปื่อย มดลูกเน่า
  4. ห้ามรับประทานหมากลิ้นฟ้า (เพกา) ผักเสี้ยน เพราะจะทำให้น้ำนมแห้ง
  5. ห้ามรับประทานข้าวก่ำ เห็ดฟางที่ขึ้นบนฟางข้าวก่ำ เพราะจะทำให้อาเจียน น้ำนมแห้ง
  6. ห้ามรับประทานฟักทอง ผักกระเฉดเพราะจะทำให้วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม
  7. ห้ามรับประทานบวบ ผักสะระแหน่ เพราะจะทำให้เวียนศีรษะ อาเจียน
  8. ห้ามรับประทานผักใบเขียวช่วงหลังคลอด 1-2 เดือน เพราะทารกจะท้องเสียอุจจาระเป็นสีเขียว (ภาควิชาโภชนาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531:9) ทำให้ทารกท้องเสีย
  9. ห้ามกินดอกขี้เหล็ก ผักชีฝรั่ง สายบัวแดง กล้วยหอม เห็ดขาว ลาบเทา เห็ดกระด้าง มะละกอสีม่วง ใบโหระพา ผักสะเดา ชะพลู มะรุม เนื้อเป็ด เนื้อห่าน ไก่งวง ไข่มดแดง เนื้อหมู เนื้อกระต่าย แมงดานา ตะพาบน้ำ (ปลาฝา) เต่าเพ็ก ปลานกเขา ปลาเพี้ย ปลาสลิด ปลาอีจน ปลาบู่ ปลาตะเพียน กุ้ง ปลาซิว ปลาร้า สัตว์ป่าทุกชนิด
  10. ห้ามรับประทานหน่อไม้ เพราะจะทำให้เด็กเป็นซาง ตัวร้อน เบื่ออาหารร้องไห้งอแง ผอม
  11. ห้ามดื่มน้ำเย็น ให้กินน้ำร้อน
  12. ห้ามรับประทานของหมักดอง ของมึนเมา
  13. ควรดื่มน้ำสมุนไพรแทนการดื่มน้ำ เช่น ต้มหัวหว่านไพล ต้มน้ำขิง
  14. ควรดื่มน้ำขิงคั้นใส่เกลือเล็กน้อย เพื่อช่วยให้นอนหลับ
  15. ห้ามรับประทานเป็ดเทศเพราะจะทำให้ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดเนื้อตัว ผิดกระบูน
  16. ห้ามรับประทานนกทุกชนิด ยกเว้นนกเค้าแมวเพราะจะทำให้วิงเวียนศีรษะ อาเจียน
  17. ห้ามรับประทานไข่ทุกชนิด เพราะจะทำให้แผลเป็นตะปุ่มตะป่า ไม่สวยงามและทำให้อ้วน
  18. ห้ามรับประทานควายเผือกเพราะจะทำให้ปวดศีรษะ ท้องร่วง
  19. ห้ามรับประทานวัวพันธุ์เพราะจะทำให้ปวดศีรษะ แผลเน่าเปื่อย
  20. ห้ามรับประทานเต่า เขียด เขียดอีโม่ เพราะจะทำให้ไม่สบาย เป็นไข้ ปวดศีรษะ ท้องร่วง
  21. ห้ามรับประทานหอยโข่ง เพราะจะทำให้คางแข็ง
  22. ห้ามรับประทานสุนัข เพราะจะทำให้ปวดศีรษะ
  23. ห้ามรับประทานปลาดุก เพราะเชื่อว่าเงี่ยงปลาจะเกาะเกี่ยวมดลูก ทำให้มดลูกเน่า
  24. ห้ามรับประทานปลาหมอ ปลาขาวหลังแดง เพราะจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม มดลูกชิ้น
  25. ห้ามรับประทานปลาที่มีคางสีดำ ควรกินเฉพาะเนื้อปลาขาว ปลาหมอตัวที่มีคางสีขาว
  26. ห้ามรับประทานปลาขาวหัวแข็ง ปลาหลด เพราะจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม มดลูกชื้น
  27. ห้ามรับประทานปลาชะโด ปลากราย ปลาสูด ปลาสวาย ปลาไหล เพราะจะทำให้เวียนศีรษะ หน้ามืด มดลูกชื้น
  28. ห้ามรับประทานอาหารจำพวกปลาไหล ปลาหมึก ปลาขี้โกะ หนูนา รกวัว (น้องวัว) จะทำให้ปวดท้อง เหนื่อยเพลียง่วงนอน อาเจียน ไม่มีน้ำนม
  29. ห้ามรับประทานอาหารที่ปรุงดิบ ๆ สุก ๆ จะทำให้ไม่สบาย มดลูกจะแห้งช้า
  30. ห้ามรับประทานอาหารทะเลหลังคลอด จะทำให้เลือดแห้งไม่มีน้ำนม
  31. ห้ามรับประทานอาหารประเภทแกง ต้ม ควรรับประทานอาหารประเภทจี่ ปิ้ง หรือย่าง จะทำให้มดลูกแห้งและเข้าอู่เร็ว
  32. ถ้าแม่ลูกอ่อนอยู่ไฟไม่ได้ จะหากรรมเย็น แต่ต้องมีการผิงไฟ หรืออาบน้ำเย็นแทน หมอจะไปหาสมุนไพรมาปลุกเสกให้อาบและดื่ม และต้องคะลำเหมือนการอยู่ไฟทุกประการ ใช้เวลา 5-7 วัน
  33. ถ้าแม่ลูกอ่อนไม่มีนมให้ลูกกิน จะรักษาโดยการหายาเลือดมาฝนมาให้กิน
  34. ถ้าแม่ลูกอ่อนกินผิดหรือผิดหม้อกรรม ก็จะฝนยาให้กิน พร้อมทั้งท่องคาถาและเป่า หากมีอาการหนักมาก ๆ
  35. ห้ามนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเพราะเป็นทิศเดียวกับผี
  36. ห้ามนอนหลับเมื่ออยู่คนเดียว เพราะผีพรายและผีอื่น ๆ จะเข้าไปทำอันตรายแม่ลูกอ่อนขณะหลับ เกิดรู้สึกเพลีย เป็นลม เป็นบ้าเลือด
  37. ห้ามนอนใกล้สามี ห้ามนอนหัวสูง ห้ามนอนหงาย ห้ามนอนนอกมุ้ง ห้ามนอนกลางวัน
  38. ห้ามเดินไปไหนไกล ๆ คนเดียว ห้ามเดินเร็ว ให้เดินช้า ๆ
  39. ห้ามนั่งยอง ๆ หรือนั่งพับเพียบ ห้ามนั่งไขว้เท้าและงอเข่า เพราะการไขว้เท้าจะทำให้แผลที่เกิดจากการคลอดเกิดการเสียดสี แผลแห้งช้า การงอเข่าเชื่อว่าจะทำให้เจ็บปวดตามข้อ 
  40. ห้ามยกสิ่งของทำงานบ้านหนัก ๆ หรือเคลื่อนไหวตัวด้วยความเร็ว
  41. ห้ามหวีผม สระผมด้วยแชมพูสระผม
  42. ห้ามถูสบู่ ลูบตัว ขัดขี้ไกล เวลาอาบน้ำจะทำให้เกิดผื่นผิวหนัง
  43. ห้ามเช็ดตัว
  44. ห้ามเกาเมื่อมีอาการคัน
  45. ห้ามดื่มและอาบน้ำเย็น
  46. ห้ามใครข้ามอู่ของทารก เพราะทารกจะนอนสะดุ้ง นอนไม่หลับ ร้องไห้ไม่หยุด
  47. ห้ามไกวอู่ที่ว่างเปล่า เพราะถ้าเด็กมานอนอีกจะร้องให้ไม่หยุด
  48. ห้ามนำเด็กออกจากชายคาบ้าน
  49. ห้ามกล่อมลูกในเวลากลางคืน
  50. เวลาซักผ้าอ้อมให้ซักก่อนเที่ยง ถ้าเกินกว่านี้เชื่อว่าจะมีผีตามไป แต่ถ้าไปให้ถือขมิ้นกับมีดเล่มเล็ก ๆ ไปด้วย
  51. ห้ามมีเพศสัมพันธ์
  52. ห้ามออกจากหม้อไฟขณะอยู่ไฟ
  53. ห้ามสวมเสื้อผ้า ยกเว้นผ้าถุงผืนเดียว
  54. ห้ามใส่เสื้อขณะอยู่ไฟและต้องอยู่ให้ครบ 2 สัปดาห์
  55. ห้ามนอนระหว่างอยู่ไฟ เพราะถ้าปล่อยให้ผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ ๆ นอนหลับ ตื่นมาจะเป็นคนไร้สติ ทำอะไรโดยไม่รู้ตัว เช่น มองเห็นลูกเป็นท่อนไม้ นำไปใส่ไฟ 
  56. ห้ามพูดคำว่าร้อนถ้ามีคนมาเยี่ยม เพราะไม่เป็นสิริมงคล

ข้อคะลำที่เกี่ยวกับเด็กทารก

  1. โรคกำเริดในเด็ก (กิ่งแก้ว เกษโกวิท และคณะ, 2536:42-46) หรือภาวะโคลิก เชื่อว่า เป็นเพราะแม่เก่าแม่หลัง (ผีบรรพบุรุษ) มาหยอกล้อหรือมาหาเด็ก เวลาเด็กนอนก็จะสะดุ้ง ร้องไห้ไม่หยุดจนตัวเขียว ไม่ยอมรับประทานอาหารจะต้องรักษาโดยวิธีการเป่ากำเริด ถ้าไปรักษากับหมอแผนปัจจุบันจะไม่หาย จึงต้องมารักษากับหมอพื้นบ้าน อาการจะดีขึ้น ห้ามข้ามเปลเด็กที่เป็นกำเริด ห้ามตบหลังเปลเด็ก หมอที่รักษา ห้ามกัดกินกล้วย ให้ใช้มือหักรับประทาน ห้ามลอดเครือกล้วย ห้ามลอดรั้ว ถ้าจำเป็นต้องลอดให้ถ่มน้ำลาย แล้วกล่าวว่า “ครูบาอาจารย์ข้ามด้านบน ตัวเองจะข้ามด้านล่าง”
  2. ห้ามทักว่าเด็กน่ารัก
  3. ห้ามตีศีรษะและหลังเด็ก
  4. ห้ามเด็กกินไข่หลงข้างรัง ไข่ข้าว (ไข่ตายโคม) จะเป็นคนไม่จับจด ไม่สู้งาน
  5. ห้ามเด็กทารกที่ฟันยังไม่ขึ้นส่องกระจก
  6. ห้ามเด็กกินไส้และพุงปลาช่อน จะทำให้หนาว
  7. ห้ามตีก้นเด็ก
  8. ห้ามพูดว่าหนักหรือเบาเวลาอุ้มเด็กทารก
  9. ห้ามเป่าลมปากใส่หน้าเด็ก
  10. เวลาอุ้มเด็กห้ามโยนเด็กเล่น
  11. ห้ามเด็กรับประทานมะพร้าว
  12. ห้ามรับประทานไตเป็ด ไตไก่ หัวปลา หัวสัตว์ต่าง ๆ ทำให้ดื้อ โง่
  13. ห้ามไม่ให้ทารกได้รับหัวน้ำนม เพราะเชื่อว่าไม่มีประโยชน์ เป็นนมเสียทำให้ท้องเสีย
  14. ให้อาหารประเภทข้าวและกล้วยเร็วเมื่ออายุ 3-7 วัน เชื่อว่าข้าวเป็นอาหารที่สำคัญ เด็กเกิดมาร้องให้เลียปากแสดงว่าหิวให้อาหารเสริมประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์และไข่ช้าเมื่อทารกอายุประมาณ 8 -12 เดือน เนื่องจากเด็กยังไม่มีฟัน และเชื่อว่าอาหารเหล่านี้ทำให้ผิดซาง และทำให้เด็กมีกลิ่นเหม็นคาว
  15. ให้อาหารประเภทไขมันเมื่ออายุ 2 ขวบขึ้นไป เพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์
  16. ให้ผักและผลไม้เมื่ออายุ 2 ขวบขึ้นไป เพราะกลัวติดคอลูก
  17. เด็กไม่สบายห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ ผัก และผลไม้บางชนิด กลัวอาการไข้กำเริบ
  18. เชื่อว่ากิ้งก่าเป็นยาซาง และการกินปลาไหล ถ้าให้เด็กกินครั้งแรก จะทำให้เด็กปัญญาหลักแหลม
  19. ถ้าเด็กอยู่ระหว่างกินนมแม่ แม่จะต้องระมัดระวังเรื่องการกินอาหารของตนเอง เช่น ถ้าเด็กท้องเดิน แม่จะงดอาหารประเภทผัก ผลไม้ ส้มตำ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยว เพราะเชื่อว่า อาหารเหล่านี้จะเข้าไปในน้ำนม จะทำให้ลูกมีอาการมากขึ้น ( เครือวัลย์ หุตานุวัตร และวิไลวัจน์ กฤษณะภูติ, 2528 : 32-33 )
  20. ปลาไหล ตุ๊กแก กิ้งก่า หรือเขียด เป็นอาหารแก้ผิดซางของเด็กได้
  21. เด็กกินของที่มีมัน เช่น กะทิ มะพร้าว น้ำตาล จะทำให้เด็กเป็นซาง
  22. เด็กท้องเดิน ควรงดกินอาหารพวก ปลา หมู หอย ไก่ กล้วย และผลไม้อื่น ๆ ส้มตำ ของเปรี้ยว
  23. เด็กเป็นไข้หวัด ไม่ให้กินถั่วหรือผัก เพราะจะทำให้อาการกำเริบ
  24. เด็กเป็นไข้ออกตุ่ม งดกินผลไม้ทุกชนิด
  25. เด็กป่วยกินของหวานจะทำให้ไข้สูง ผิดซาง
  26. ถ้าเลี้ยงเด็กด้วยนมวัว โตขึ้นจะไม่รักและไม่เชื่อฟังพ่อแม่
  27. เด็กที่กินนมแม่สลับกับนมกระป๋อง จะทำให้เด็กท้องเสีย
  28. เด็กผอมเนื่องจากน้ำนมแม่ไม่หวาน และขาดยาถ่ายพยาธิ
  29. เด็กควรกินเนื้อสัตว์ ปลา และไข่ เมื่อเด็กมีฟันแข็งแรง หรือ อายุ 1 ขวบขึ้นไป
  30. เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ กินเนื้อไก่ ปลาและไข่ ทำให้เป็นซาง ตัวเหม็นคาว
  31. เด็กจะเริ่มเป็นซางเมื่อกินกับข้าวหรือของคาว เช่น พวกไข่กับปลา
  32. เด็กที่กินกับข้าวมากเป็นซาง ถ้าเด็กเป็นซางจะให้กินปิ้งกะปอม(กิ้งก่า) เพราะเชื่อว่ากระปอมเป็นยาแก้ซาง
  33. ห้ามรับประทานตับกบ ตับเขียด จะทำให้หน้าดำ
  34. ห้ามรับประทานหางปลาไหล จะทำให้เลือดกำเดาไหล
  35. ห้ามรับประทานก้อยปลา ก้อยเนื้อ อาหารดิบต่าง ๆ ทำให้เป็นโรคเรื้อน
  36. ห้ามรับประทานแกงส้มหน่อไม้ ส้มปลา ส้มเนื้อ จะทำให้เป็นตาแดง
  37. ถ้าเป็นโรคตาแดง ห้ามกินหน่อไม้ เพราะจะแทงตา ห้ามกินไก่ เพราะจะไปเขี่ยตา ห้ามกินหอยจูบ เพราะจะไปไต่ในตา
  38. ถ้าเป็นไข้หวัด ห้ามกินถั่วหรือผัก เพราะจะทำให้อาการกำเริบ
  39. ถ้าเด็กไม่สบายห้ามกินมะละกอ เพราะจะทำให้คันตามผิวหนัง ( เครือวัลย์ หุตานุวัฒน์และวิไลวัจน์ กฤษณะภูติ, 2528 : 36-37 )

ข้อคะลำทั่วไป

  1. ผู้หญิงที่เป็นระดู (ประจำเดือน) ห้ามเก็บใบหม่อนเพราะจะทำให้ใบหม่อนเหี่ยว
  2. ห้ามนั่งทับไถและตราด
  3. ไม่ยืนล้วงข้าวจากกระติบที่ห้อยอยู่ 
  4. ห้ามล้างถ้วยชามเวลากลางคืน
  5. การห้ามเก็บหอกไว้ที่สูง
  6. ห้ามนอนมองดาบ
  7. ห้ามอาบน้ำเวลากลางคืน
  8. ห้ามขึ้นขี่ควายข้างหน้า หรือหันหลังให้ทางเขา
  9. ห้ามผู้หญิงยืนปัสสาวะ
  10. ห้ามขึ้นเรือนโดยไม่ล้างเท้า ห้ามเดินกระทืบเท้าขึ้นบันได ห้ามเดินเสียงดัง ห้ามเดินลากเท้า
  11. ห้ามนั่งขวางประตู ขวางบันได นั่งหมอน นั่งท่ามกลางผู้ใหญ่ เพราะกีดขวางทางเดิน
  12. ห้ามนอนเล่นดาบ ของมีคม
  13. ก่อนนอนต้องล้างเท้า ตื่นมาต้องล้างหน้า
  14. ห้ามเคี้ยวหมากก่อนนอน เพราะอาจเกิดอันตรายถ้าเผลอหลับ
  15. ห้ามเสื้อผ้าเก่ามาหนุนต่างหมอน เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ
  16. ไปหาหมอ ไม่ควรพูดอาการให้คนไข้ได้ยิน เพราะทำให้คนไข้เสียกำลังใจ
  17. ห้ามวัดตัวคนไข้เพื่อต่อโลงศพให้คนไข้เห็นหรือได้ยิน
  18. ห้ามลับของมีคม ปัดกวาดบ้านเรือนเวลากลางคืน
  19. ห้ามแบกฟืนขึ้นบ้านโดยไม่แก้มัดก่อน
  20. ห้ามนั่งอุจจาระบนขอนไม้ และนอนสูบบุหรี่
  21. ห้ามไถนา ขี่ควายเล่น 
  22. ห้ามยกมีด ยกเสียม ตัดต้นไม้เวลาฝนตก เพราะอาจทำให้ฟ้าฝ่า
  23. ห้ามพ่อแม่นอนร่วมกับลูกสาวหรือลูกชายที่โตแล้ว
  24. ห้ามตั้งหม้อข้าวเอียง
  25. ห้ามเลียคมมีด
  26. ห้ามเก็บกวาดบ้านเรือนในเวลากลางคืน
  27. ห้ามเล็งมืดหรือปืนใส่กัน
  28. ห้ามเปิดหน้าต่างนอน
  29. เวลาตักข้าวสารไปแช่ ต้องนั่งคุกเข่าให้เรียบร้อย
  30. ห้ามเดินหรือยืนกินข้าว
  31. ห้ามแบกไม้ไผ่เอาทางปลายออกหน้า
  32. ห้ามนั่งทับรถไถและคราด
  33. ห้ามผัดข้าวในเวลากลางคืน
  34. ห้ามซักผ้าในแม่น้ำ
  35. ห้ามผู้หญิงที่เป็นประจำเดือนกินน้ำมะพร้าว เพราะเป็นของเย็น ทำให้ประจำเดือนไม่ปกติ ปวดท้อง
  36. การรับประทานหน่อไม้จะทำให้จุกเสียด แน่นหน้าอก เป็นลมหน้ามืด ปวดฟัน
  37. ห้ามรับประทานเผือก สะตอ ลูกเนียง มะเขือทุกชนิด ทำให้เกิดอาการคัน
  38. ไม่เดินข้ามหม้อข้าวหม้อแกง
  39. ไม่ให้นั่งปั่นฝ้ายในเวลากลางคืน
  40. ห้ามเด็ก ๆ เดินข้ามขาหรือส่วนอื่น ๆ ของผู้ใหญ่
  41. ไม่ข้ามบันไดทีละหลาย ๆ ขั้น
  42. ห้ามตัดเล็บ ตัดผม เวลากลางคืน
  43. ห้ามเอาของมีค่าออกมาดูในเวลากลางคืน
  44. ห้ามปัสสาวะลงแม่น้ำ

จากข้อมูลของ “คะลำ” อาจจะพบว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำมาใช้ ถ้าเลือกใช้ในทางที่ดี ก็เป็นวัฒนธรรมที่ช่วยให้สังคมมีระเบียบและอบอุ่น แต่ถ้ายึดติดมากเกินไป อาจกลายเป็นข้อจำกัดในชีวิตได้ ดังนี้

ข้อดีของคะลำ

  1. ช่วยระมัดระวังในการปฏิบัติตนด้วยเหตุผลซ่อนอยู่ เช่น ห้ามกวาดบ้านตอนกลางคืน อาจมาจากการป้องกันอุบัติเหตุในที่มืด
  2. ช่วยสร้างระเบียบวินัยในสังคม บางอย่างอาจจะช่วยให้คนทำตามกฎระเบียบ หรือจารีตที่ว่างไว้ เช่น ห้ามพูดคำหยาบในบ้าน เพราะถือว่าไม่เป็นมงคล
  3. ช่วยรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่นทำให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ประเพณีและวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ
  4. ช่วงเสริมสร้างความสบายใจ ปลอดภัย และอุ่นใจ หากยึดถือและปฏิบัติแม้จะไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม

ข้อเสียของคะลำ

  1. อาจทำให้เกิดความกลัวโดยไม่จำเป็น หรือวิตกกังวลเกินไป เช่น กลัวโชคร้ายเพียงเพราะทำสิ่งที่ “คะลำ”
  2. ความไม่สมเหตุสมผล หรือไม่มีเหตุผลรองรับ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งสวนทางกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่น ห้ามตัดเล็บตอนกลางคืน จริง ๆ แล้วไม่มีผลกระทบต่อชีวิต
  3. อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา หากยึดถือปฏิบัติโดยไม่เปิดรับองค์ความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ อาจทำให้เกิดข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา 
  4. ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับควบคุมคนซึ่งจะกระทบต่อเสรีภาพและอิสรภาพส่วนบุคคล

ในปัจจุบัน “คะลำ” อาจไม่จำเป็นในเชิงเหตุผล แต่ยังมีคุณค่าในแง่วัฒนธรรมและจิตใจ สิ่งสำคัญคือ การแยกแยะว่าอะไรมีประโยชน์จริง และอะไรที่เป็นเพียงความเชื่อที่ไม่ควรยึดติดจนกลายเป็นอุปสรรคในชีวิต ถ้าเราใช้คะลำให้เป็น ก็สามารถรักษาวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กับการเปิดรับเหตุผลและความรู้ใหม่ ๆ ได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

บรรณานุกรม

เหมวรรณ เหมะนัคและสุมนา อินทร์คำน้อย. (2544). ข้อห้ามด้านสุขภาพอนามัย: บทบาทในการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี: คณะศิลปศาสตร์.

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง