การฟ้อนกลองตุ้ม บ้านหนองบ่อ เป็นศิลปะการฟ้อนที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองอุบลราชธานี เดิมจะฟ้อนในบุญบั้งไฟหรืองานบุญเดือนหก เพื่อขอฝนให้ตกตามฤดูกาล ปัจจุบันบ้านหนองบ่อ ยังคงอนุรักษ์รูปแบบการฟ้อนและการแต่งกายไว้ เพื่อใช้ในการแสดงตามโอกาสต่าง ๆ และอนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้
ความเป็นมาของการฟ้อนกลองตุ้ม บ้านหนองบ่อ
จากงานวิจัยของอาจารย์คำล่า มุสิกา เรื่อง การอนุรักษ์พิธีกรรมและการแต่งกายในการฟ้อนกลองตุ้มจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการฟ้อนกลองตุ้มของบ้านหนองบ่อว่า
การฟ้อนกลองตุ้มของชาวบ้านหนองบ่อนั้นแต่เดิมจะฟ้อนกันในขบวนแห่บุญบั้งไฟซึ่งเป็นพิธีกรรมการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ผลจากการลงพื้นที่วิจัย พบว่า ผู้ริเริ่มให้มีการฟ้อนกลองตุ้มของหนองบ่อมี 2 ประเด็น คือ
- ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ซึ่งเป็นความเชื่อของชนในพื้นถิ่นไทย-ลาว ตามแนวลำน้ำฝั่งลำน้ำโขงว่าทั้งสองเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ เป็นผู้ซึ่งมีพระคุณต่อมนุษยโลกทุกคนเพราะนอกจากจะเป็นมนุษย์ชายหญิงคู่แรกที่กำเนิดขึ้นในโลกแล้วยังเป็นผู้ช่วยกันตัดเครือเถาถาดที่ปิดบังแสงอาทิตย์จนโลกมืดมิด อนึ่งคำว่า “ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี” ยังเป็นสำนวนที่มีนัยว่ายาวนานมากหรืไม่สามารถหาที่มาได้
- ตาซุย ตาสี (เซียงสี เซียงซุย) บรรพบุรุษที่นำพาชาวบ้านอพยพจากบ้านตากแดด (บ้านดงบัง) เมื่อครั้งเกิดโรคระบาดมายังบ้านหนองบ่อในปัจจุบัน
ท่าฟ้อนกลองตุ้ม บ้านหนองบ่อ
การฟ้อนกลองตุ้มบ้านหนองบ่อนั้น สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบ กล่าวคือ การฟ้อนกลองตุ้มแบบโบราณและการฟ้อนกลองตุ้มแบบประยุกต์
ตารางเปรียบเทียบการฟ้อนกลองตุ้มแบบโบราณและการฟ้อนกลองตุ้มแบบประยุกต์
รายละเอียด |
การฟ้อนกลองตุ้มแบบโบราณ |
การฟ้อนกลองตุ้มแบบประยุกต์ |
ผู้แสดง | ใช้ชายล้วน | ไม่จำกัดเพศและวัย แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง |
รูปขบวน | แถวตอนเรียงหนึ่ง ฟ้อนถอยหลัง | แถวตอนเรียงหนึ่งแล้วจัดเป็นแถวคู่ ฟ้อนถอยหลัง |
เครื่องดนตรีประกอบ | กลองตุ้มและพางฮาด | กลองตุ้มและพางฮาด |
ท่ารำ | รำตามอิสระให้เข้ากับจังหวะกลองและพางฮาด | มีท่าฟ้อน 6 ท่า ได้แก่
|
เครื่องแต่งกาย | 1.เสื้อไหมเหยียบย้อมมะเกลือ
2.ผ้าซิ่นใส่กลับหัว 3.ซวยมือ 4.บักยัน 5.ผ้าเบี่ยงและผ้าโพกหัว |
ชาย
1.เสื้อดำไหม 2.ซิ่นหมี่ชนิดมีหัวและตีนซิ่น 3.ผ้าเบี่ยงแพรปลาไหล 4.ผ้ามัดหัวแพรปลาไหล 5.บักยัน 6.ซวยมือ หญิง 1.เสื้อดำไหม 2.ผ้าโสร่ง 3.ผ้าเบี่ยงผ้าห่มขิด 4.บักยัน 5.ซวยมือ |
เครื่องดนตรีประกอบการฟ้อนกลองตุ้ม บ้านหนองบ่อ
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อนกลองตุ้มของบ้านหนองบ่อ เป็นเครื่องประกอบจังหวะ จะมี 2 ชิ้น ได้แก่ กลองตุ้มและพางฮาด จังหวะการตีกลองตุ้มและพางฮาดของบ้านหนองบ่อจะแบ่งออกเป็น 2 จังหวะ คือ จังหวะที่ 1 ตีช้า จังหวะที่สองตีรัวและเร็ว
บทขับร้อง วรรณกรรมในพิธีกรรมของบ้านหนองบ่อ ในการฟ้อนกลองตุ้มของชุมชนบ้านหนองบ่อจะมีผู้อาวุโสฝ่ายชายออกมาขับร้องเพลงประกอบจังหวะกลองและพางฮาด เรียกว่า การ “เจ่ย” โดยบทเจ่ยนั้นจะเป็นคำที่ไม่สุภาพติดไปทางหยาบโลน คำที่ปรากฏนั้นกล่าวถึงอวัยวะเพศ กล่าวถึงอาการร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้ง หรือเป็นเรื่องผิดธรรมนองคลองธรรม ซึ่งชาวชุมชนจะไม่ถือว่าเป็นการเสียมารยาทเพราะเป็นประเพณี โดยเชื่อว่าการกล่าวคำหยาบคายและกระทำผิดไปจากจารีตประเพณีจะให้พระยาแถนรู้สึกสังเวชใจแล้วจะได้สาดน้ำลงมาล้างให้โลกสะอาด ซึ่งน้ำที่สาดลงมานั้นตามความเชื่อคือ ฝน นั่นเอง
ตัวอย่างคำเจ่ย “เจ่ยปก ลูกเขยซกกะพ่อเฒ่าตกเฮือน ลูกเขยตาเบือนกับพ่อเฒ่าตาหลิ่ว ลูกเขยตาสิ่วตาดกะพ่อเฒ่าสิ่วไถ ลูกเขยจังไฮเตะปากพ่อเฒ่า ถ้าพ่อเฒ่าเว้ามันกะผิดใจมัน”
ที่ตั้ง บ้านหนองบ่อ
บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ บ้านหนองบ่อ
15.248393, 104.701523
บรรณานุกรม
คำล่า มุสิกาและคณะ. (2552). การอนุรักษ์พิธีกรรมและการแต่งกายในการฟ้อนกลองตุ้ม จังหวัดอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.