วัดบ้านตำแย อุบลราชธานี มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ สิมทึบก่ออิฐถือปูน งานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่ผสมระหว่างศิลปะกรรมของภาคกลางและพื้นถิ่นอีสาน สิมนี้มีความโดดเด่นงดงามด้วยคันทวยไม้แกะสลักรูปพญานาคมีปีก ผนังด้านหน้าทางเข้าสิมมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังและจารึกอักษรไทยน้อยแบบโบราณอีสาน
ประวัติวัดบ้านตำแย อุบลราชธานี
วัดบ้านตำแย จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ใกล้กับวัดสระประสานสุข หรือวัดหลวงปู่บุญมี บ้านนาเมือง พื้นที่ตั้งวัดอยู่ติดกับกับกองบิน 21 อุบลราชธานี วัดบ้านตำแย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อตั้งวัดที่แน่ชัด แต่จากตัวอักษรไทยน้อย ภาษาอีสานผสมกับภาษาบาลีที่เขียนอยู่ผนังด้านนอกเหนือประตูทางเข้าสิมระบุว่า สิมหลังนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2417 โดยญาคูทา สมเด็จชาดา ภิกษุ สามเณร และอุบาสก ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2533
สิมวัดบ้านตำแย
สิมวัดบ้านตำแย เป็นโบราณสถานสำคัญของวัดบ้านตำแย ลักษณะโดยทั่วไปของสิมเป็นอาคารทึบขนาดเล็กก่ออิฐถือปูน แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีมุขโถงที่มีพนักล้อมรอบ ยกเว้นตรงกลางพนักหน้าที่เว้นช่องสำหรับเป็นบันไดซึ่งเป็นทางขึ้นลงเดียวของสิมหลังนี้ ด้านหน้ามีเสา 2 ต้นรองรับส่วนหลังคา ลักษณะเป็นเสาไม้กลม
ส่วนฐานสิมเป็นฐานเอวขันธ์หรือบัวงอนแบบล้านช้าง แต่ลักษณะไม่อ่อนช้อยดังเช่นศิลปะล้านช้าง จึงสันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบของท้องถิ่น ฐานล่างสุดเป็นฐานเรียงซ้อนกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ ท้องไม้คาดลูกแก้วอกไก่ ถัดขึ้นไปเป็นบัวหงาย บัวคว่ำ (ไม่มีท้องไม้) และจบด้วยเส้นรองรับผนังสิม ลักษณะปลายลวดบัวทั้งหมดสะบัดปลายงอน
ผนังด้านข้างของสิมทั้ง 2 ด้านมีการเจาะช่องด้านหน้าต่างด้านละ 1 ช่อง ผนังด้านหลังก่อทึบ ผนังด้านหน้ามีประมาณทางเข้าตรงกลาง 1 ช่อง บานหน้าต่างและประตูทั้งหมดเป็นบานไม้ ไม่มีลวดลาย แต่มีการสลักลวดลายดอกไม้ที่อกเลา (ที่นมบน นมกลาง และนมล่าง)
ผนังด้านหน้าเหนือกรอบประตูทางเข้า (ด้านนอก) ปรากฏการเขียนตัวอักษรไทยน้อย ซึ่งจากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านมาทำให้ได้ข้อมูลว่าเป็นการกล่าวถึงผู้สร้างและปีที่สร้างพระพุทธรูปประธานของวัดและการสร้างสิม (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 41-48)
หลังคาสิมเป็นหลังคาทรงจั่วเพียงชั้นเดียว ส่วนปลายจั่วมีลักษณะแอ่นโค้งเล็กน้อยคล้ายศิลปะลาว มุงด้วยแผ่นกระเบื้องดินเผา แบบกระเบื้องเกล็ดปลา (เดิมมุงด้วยแป้นเกล็ด)
แป้นลมมีลักษณะเป็นแผ่นไม้เรียบตรงทอดตัวยาวตามแนวหลังคาทรงจั่ว เรียกว่า ตัวรวย (แสดงถึงอิทธิพลศิลปะลาว) และประดับด้วยใบระกา (อิทธิพลภาคกลาง)
ช่อฟ้า หรือโหง่ เป็นไม้แกะสลัก มีรูปแบบอย่างช่อฟ้าในสถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง แต่มีลักษณะสะบัดโค้งส่วนปลายมากกว่า ส่วนคันดกหรือหางหงส์พบวางอยู่ข้างบันไดทางขึ้นสิม 3 ชิ้น เป็นไม้แกะสลักเป็นรูปพญานาค
สีหน้าหรือหน้าบัน มีลักษณะเป็นหน้าบันไม้ลายไม้ตั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับลายพื้นถิ่นอีสาน
แขนนางหรือคันทวย ประดับผนังด้านข้าง ๆ ละ 5 ตัว เป็นคันทวยไม้แกะสลักรูปพญานาคมีปีก ลักษณะม้วนคดโค้งไปมา เศียรพญานาคอยู่ด้านล่าง หางอยู่ด้านบนสลักเป็นลายกนก ตามลำตัวพญานาคมีการสลักครีบตามลำตัว มีเต้ารับด้านล่าง (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 41-48)
ภายในสิมแห่งนี้ไม่มีฐานชุกชี ผนังทั้งด้านในและด้านนอกไม่มีภาพจิตรกรรม ยกเว้นการเขียนตัวอักษรที่ผนังด้านนอกหน้าสิมดังที่กล่าวข้างต้น
วัดบ้านตำแย ถือเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี สิมวัดบ้านตำแยแห่งนี้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนสิมวัดบ้านตำแยเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 80ง วันที่ 12 กันยายน 2540 และได้ดำเนินการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2545
ที่ตั้ง วัดบ้านตำแย
บ้านตำแย ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดบ้านตำแย
15.269014, 104.865330
บรรณานุกรม
ทะนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. (2559). วัดบ้านตำแย, วันที่ 8 สิงหาคม 2559. http://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/วัดบ้านตำแย
พรรณธิพา สุวรรณี. (2556). สิมพื้นบ้านแบบภาคอีสานในเขตเมืองอุบลราชธานี. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.