วัดศรีประดู่ อุบลราชธานี จิตรกรรมฝาผนังงาม

วัดศรีประดู่ อุบลราชธานี วัดที่มีศาลาการเปรียญงานสถาปัตยกรรมผสมระหว่างจีน ยุโรป และความเชื่อของพราหมณ์ ภายในตกแต่งด้วยงานจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามโดดเด่น

ศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่ อุบลราชธานี
ศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่ อุบลราชธานี

ประวัติวัดศรีประดู่ อุบลราชธานี 

แต่เดิมนั้นคุ้มบ้านดู่ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ยังไม่มีวัด ชาวบ้านดู่ต้องอาศัยวัดของหมู่บ้านอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในการบำเพ็ญบุญกุศลตลอดมา ชาวบ้านดู่นั้นชอบทำบุญกุศลและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อจะทำบุญแต่ละครั้งต้องเดินทางไกลเพื่อไปทำบุญที่วัดต่าง ๆ ทำให้ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง เพราะแต่ละวัดอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านดู่พอสมควร  ถนนหนทางในสมัยก่อนก็ลำบาก ยิ่งช่วงฤดูฝนยิ่งมีความลำบากมาก

เมื่อ พ.ศ. 2508 ชาวบ้านดู่จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อที่จะสร้างวัดโดยมีพ่อใหญ่บู่ ทองมี พ่อใหญ่มา จูมพระบุตร และพ่อใหญ่โฮม บุญจรัส เป็นผู้คิดริเริ่มและเป็นผู้นำชาวบ้าน มีความคิดเห็นตรงกันอยากจะสร้างวัดถวายภายในบ้านดู่ขึ้น โดยมองเห็นว่าพื้นที่ป่าช้าเก่าของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่รกร้างว่างเปล่า น่าจะปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นวัดได้ แต่น่าเสียดายที่ในปี 2509 พ่อใหญ่มา จูมพระบุตร ได้ถึงแก่กรรมลง จึงถือว่าขาดกำลังที่สำคัญ แต่พ่อใหญ่บู่ ทองมี และพ่อใหญ่โฮม บุญจรัส ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์เดิม จึงไปปรึกษาหารือและเชิญบุคคลในหมู่บ้านดู่มาเพิ่มเติม และได้จัดประชุมชาวบ้านเพื่อเลือกบุคคลที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งวัด ซึ่งประกอบด้วย พ่อใหญ่บู่ ทองมี พ่อใหญ่โอม ผู้ใหญ่บ้านเพชร สายเสียง คุณประสิทธิ์ รากเงิน ครูใหญ่ทอง หอมสิน แพทย์คำภา จูมพระบุตร พ่อบุญไชโย สิทธิจินดา พ่อทองดี สอนอาจ พ่อเภ่า แสงทอง มีหน้าที่ตรวจาอบพื้นที่ที่จะสร้างวัดให้ชัดเจน ว่ามีเนื้อที่เพียงพอตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ให้จัดตั้งวัดได้หรือไม่ พร้อมกับประสานงานกับทางราชการและฝ่ายสงฆ์ กรรมการชุดนี้เรียกว่า “ชุดเตรียมการ” แต่เนื้อที่ไม่เพียงพอในการที่จะสร้างวัดได้ พ่อใหญ่บู่ ทองมี และพ่อใหญ่โฮม บุญจรัส ซึ่งมีที่ดินติดกับพื้นที่จะสร้างวัดจึงได้ร่วมกันบริจาคที่ดินเพิ่มเติม จึงทำให้มีพื้นที่เพียงพอสามารถดำเนินการสร้างวัดได้ตามวัตถุประสงค์

หลังจากได้กรรมการเตรียมการเรียบร้อยแล้ว จึงได้ไปปรึกษาหารือกับพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่วัดต่าง ๆ ในเมืองอุบล คือ พระครูนวกรรมโกวิท เจ้าอาวาสวัดมหาวนารามในขณะนั้น และพระครูกิตตินาภรณ์โกศล เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (หรือ พระเทพกิตติมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม) พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ต่างสนับสนุนอนุโมทนาเห็นชอบด้วย และทางคณะกรรมการจึงได้กราบนิมนต์พระครูกิตติยาภรณ์โกศล มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการดำเนินการสร้างเป็นสำนักสงฆ์ในปี พ.ศ. 2511 โดยได้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ชื่อว่า “ศรีประดู่ทรงธรรม” และต่อมามหาเถรสมาคมและกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2518 โดยชื่อว่า “วัดศรีประดู่” ได้ตัดคำว่า “ทรงธรรม” ออกไป เนื่องจากว่าชื่อดังกล่าว ไปซ้ำกับวัดที่เป็นพระอารามหลวงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้รับราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2519

เจ้าอาวาส ผู้พัฒนาวัดศรีประดู่

  1. พระครูกิตติยาภรณ์โกศล เป็นประธานสงฆ์รูปแรกในการก่อสร้างวัดศรีประดู่
  2. พระอาจารย์สรวง ได้ทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์ และนำพาชาวบ้านดู่สร้างเสนาสนะภายในวัดร่วมกับชาวบ้านดู่ อาจจะนับได้ว่าเป็นเจ้าอาวาสอีกรูปหนึ่งก็ได้ ถึงแม้ว่าช่วงนั้นยังไม่ได้ประกาศให้เป็นวัด เป็นแค่เพียงสำนักสงฆ์ ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทในการร่วมพัฒนาวัดให้มีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ
  3. พระปลัดผิน อิสิญาโณ ซึ่งเป็นสหธรรมิกกับพระครูกิตติยาภรณ์โกศล หลังจากที่มหาเถรสมาคมได้ประกาศให้สำนักสงฆ์ “ศรีประดู่ทรงธรรม” ได้เป็น “วัดศรีประดู่” ถูกต้องแล้ว พระครูกิตติยาภรณ์โกศล จึงได้นิมนต์ พระปลัดผิด อิสิญาโณ จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร มาเป็นเจ้าอาวาส และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีประดู่ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2519 นับได้ว่า เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีประดู่ หลังจากที่มหาเถรสมาคมได้ประกาศให้เป็นวัดถูกต้องแล้ว และต่อมาได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรชื่อว่า พระครูสิริพัฒนาวิมล (ผิน อิสิญาโณ) ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทในการวางรากฐานพัฒนาวัดศรีประดู่เป็นอย่างมาก
  4. พระครูธรรมธรจรูญ ถิรธมฺโม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสศรีประดู่ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ต่อมาได้รับพระราชทานเป็นครูสัญญาบัตรที่ “พระครูถิรธรรมสิริ” และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลในเมือง เขต 3 ถือว่าเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีประดู่ ที่มีบทบาทในด้านการปกครองคณะสงฆ์และมีการพัฒนาในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย

ปัจจุบัน วัดศรีประดู่ มีเนื้อที่ จำนวน 6 ไร่ 3 งาน 83 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือ จดถนนสาธารณะ ทิศใต้ จดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออก จดที่ดินเอกชน และทิศตะวันตก จดถนนบูรพานอก หรือเป็นจุดเริ่มต้นของถนนสรรพสิทธิ์

ภายในศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
ภายในศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
ภาพประเพณีลอยกระทงในศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
ภาพประเพณีลอยกระทงในศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
จิตรกรรมฝาผนังในศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
จิตรกรรมฝาผนังในศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่ วาดโดย นายสมเกียรติ ศรีพรหม ชาวอำเภอศรีเมืองใหม่ อุบลราชธานี ภาพวาดนี้มีอายุราว 20 ปี ยังไม่มีการซ่อมแซมสี ประกอบด้วยเรื่องราวของพุทธประวัติ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน การเสด็จจากสรวงสวรรค์หลังจากโปรดพุทธมารดา เหตุการณ์และประเพณี
ด้านหลังศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
ด้านหลังศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
ด้านข้างศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
ด้านข้างศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
ด้านหน้าศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
ด้านหน้าศาลาการเปรียญวัดศรีประดู่
ศาลาการเปรียญ วัดศรีประดู่
ศาลาการเปรียญ วัดศรีประดู่ สร้างปี พ.ศ. 2511 รูปทรงด้านหน้าเป็นแบบสเปน และด้านหลังเป็นเก๋งจีน บันไดทางขึ้นเป็นความเชื่อของพราหมณ์ รูปมกรคายนาค หรือ มังกรสำรอกนาค

ที่ตั้ง วัดศรีประดู่

เลขที่ 76 ถนนบูรพานอก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดศรีประดู่

15.236120, 104.874805

บรรณานุกรม

วัดศรีประดู่. (2559). [แผ่นพับ]

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง