วัดสระประสานสุข

วัดสระประสานสุข หรือ วัดบ้านนาเมือง อุบลราชธานี เป็นวัดที่มีพระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) อดีตเจ้าอาวาสพระอริยสงฆ์ที่ประชาชนศรัทธาเลื่อมใสด้วยจริยวัตรปฏิบัติอันงดงาม ภายในวัดมีงานสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ได้แก่ อุโบสถบนเรือสุพรรณหงส์ ประตูทางเข้าวัดรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียร วิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช

อุโบสถเรือสุพรรณหงส์ วัดสระประสานสุข อุบลราชธานี
อุโบสถบนเรือสุพรรณหงส์ วัดสระประสานสุข อุบลราชธานี

ประวัติวัดสระประสานสุข หรือ วัดบ้านนาเมือง อุบลราชธานี

วัดสระประสานสุข ชื่อเดิม วัดบ้านนาเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 5 กิโลเมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยการนำของพระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) ซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีทอง หรือวัดศรีอุบลรัตนารามซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและวางรากฐานก่อสร้างมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งพระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2480 ท่านจึงได้วางแผนและดำเนินการพัฒนาวัดโดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านญาติโยมผู้เลื่อมใสศรัทธา จนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ ที่ดินของวัดประมาณ 75 ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามเสมา เมื่อ พ.ศ. 2505 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร

พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระประสานสุข
พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระประสานสุข

ผลงานการพัฒนาวัดสระประสานสุขที่พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ได้ริเริ่มและดำเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อให้วัดเป็นศาสถานที่เป็นแหล่งรวมใจของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป มีดังนี้

ปี พ.ศ. 2515 พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ได้เป็นผู้นำศรัทธาชาวบ้านก่อสร้างศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ ในลักษณะทรงปั้นหยา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ ที่และรูปหล่อเหมือนพระเถรจารย์ชื่อดังอีกหลายองค์ที่พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) เป็นผู้นำศรัทธาชาวบ้านหล่อไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชา

ปี พ.ศ. 2529 พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)ได้ออกแบบและเป็นประธานในการก่อสร้างพระอุโบสถโดยสร้างเป็นอุโบสถบนเรือสุพรรณหงส์ อันมีความหมายว่า จะเป็นพาหนะที่จะพาบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีใจเป็นกุศลข้ามห้วงมหาสมุทรแห่งวัฏสงสารสู่ดินแดนมหานิพพาน ซึ่งพระอุโบสถที่หลวงปู่สร้างนี้มีความสวยงามตั้งเด่นเป็นสง่าแปลกกว่าที่วัดอื่น ๆ เพราะเป็นอุโบสถอยู่บนเรือสุวรรณหงส์ประดับด้วยเซรามิคสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่ ส่วนด้านหน้าอุโบสถประดิษฐานรูปหล่อพระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ก่อให้เกิดความศรัทธาต่อญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดสระประสานสุขเป็นอย่างยิ่ง

อุโบสถบนเรือสุพรรณหงส์ของวัดสระประสานสุข ประดับด้วยเซรามิคสีน้ำตาลแดง
อุโบสถบนเรือสุพรรณหงส์ของวัดสระประสานสุข ประดับด้วยเซรามิคสีน้ำตาลแดง

ปี พ.ศ. 2532 พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ได้นำคณะศิษยานุศิษย์สร้างหอระฆัง 5 ชั้น ประดับด้วยเซรามิคสีน้ำตาลแดง โดยมี นายชุ่นเลี้ยง แซ่ล้อ และนางโชจิร แซ่เตียว (เสี่ยบุญชัย) รับเป็นเจ้าภาพในการก่อสร้าง

หอระฆังวัดสระประสานสุข
หอระฆังวัดสระประสานสุข

ปี พ.ศ. 2534 พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ได้นำศิษยานุศิษย์สร้างพระพุทธรูปปางประทานพรสูง 7 เมตร 77 เซนติเมตร และได้ถวายนามว่า “พระพุทธโชติปาละชนะมาร” และสร้างพระสังกัจจายเป็นปูนปั้นสูง 3 เมตร 77 เซนติเมตร ถวายนามว่า “พระสังกัจจาย โชติปาโล”

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2538 ทำพิธีเพื่อสร้างวิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช เวลาเที่ยงตรง และวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2539 ทำพิธีตอกเสาเข็มเวลาเที่ยงตรง วิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช เป็นวิหารกลางน้ำนาคราชรูปร่างคล้ายเรือ ส่วนหัวเป็นนาคราช 5 เศียร โดยทางเดินเข้าวิหารกลางน้ำเป็นทางเดินด้านหางของนาคราช ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดและมีปลาอาศัยอยู่ในสระน้ำใหญ่เป็นจำนวนมาก โดยพุทธศาสนิกชนได้นำมาปล่อยไว้ ซึ่งหลวงปู่บอกว่าไม่อยากให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จึงไม่มีใครนำปลาที่สระน้ำใหญ่ไปกิน ทำให้ปลามีปริมาณมาก

วิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช วัดสระประสานสุข
วิหารกลางน้ำเรือธรรมนาคราช วัดสระประสานสุข

นอกจากนี้แล้วพระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ยังได้ก่อสร้างศาสนสถานต่าง ๆ ภายในวัดสระประสานสุข คือ วิหารโชติปาโล กุฏิโชติปาโลนุสรณ์ ลักษณะทรงไทย กุฏิโชติธรรมลักษณะทรงไทย หอสวดมนต์ในลักษณะทรงไทย และที่สร้างความประทับใจเป็นพิเศษให้แก่ชาวบ้านญาติโยมที่เดินทางมายังวัดสระประสานสุขอีกแห่งหนึ่ง คือ ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้าวัด (ประตูโขง) ที่พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ได้สร้างเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียร ที่มีขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่ามาแต่ไกล พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) มีความเชื่อดังที่โบราณว่าไว้ คือ  “ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ใครที่ได้ลอดท้องช้างจะอายุยืนเป็นสิริมงคลต่อตนเอง” อีกทั้งพระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ยังได้ตัดถนนทางเข้าด้านหน้าวัด สร้างและปรับปรุงห้องน้ำห้องสุขาให้เพียงพอกับชาวบ้านญาติโยมที่มาร่วมทำบุญในงานเทศกาลต่าง ๆ รวมถึงการสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งมีรูปสัตว์นานาชาติล้อมรอบบริเวณวัด ตลอดจนปรับปรุงสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ และพื้นที่ภายในวัดทั้งหมดให้เหมาะสม เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน สวยงาม ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด สมกับเป็นวัดสายปฏิบัติและสถานที่บำเพ็ญบุญ เป็นที่พึ่งพิงด้านจิตใจแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

ประตูพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียร วัดสระประสานสุข
ประตูพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียร วัดสระประสานสุข
กำแพงวัดสระประสานสุข
กำแพงวัดสระประสานสุข

พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)

พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ถือเป็นพระอริยสงฆ์ที่ญาติโยมและประชาชนทั่วไปให้ความเลื่อมใสศรัทธาและด้วยจริยวัตรปฏิบัติอันงดงามของท่านทำให้เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาจากพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์อีกด้วย ถือเป็นอานิสงส์ที่ได้จากการที่พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ได้สอนศิษยานุศิษย์ทุกครั้งในการทำสมาธิภาวนา นอกจากคุณบิดามารดาและครูบาอาจารย์แล้ว ให้อุทิศส่วนกุศลถวายแด่ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทุกครั้งตลอดมา โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ที่ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติอันงดงามของพระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ได้เสด็จมานมัสการท่านที่วัดสระประสานสุข เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2542 เวลา 17.00 น. และทรงเสด็จครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2545 เวลา 18.00 น. นอกจากนั้นแล้วพระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) ยังเป็นที่เคารพเลื่อมใสของข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) จึงถือเป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานี และคนไทยทั้งแผ่นดินเลื่อมใส เคารพศรัทธาและกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ

วิหารโชติปาโล วัดสระประสานสุข
วิหารโชติปาโล วัดสระประสานสุข

พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล) มรณภาพ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2547 เวลา 11.45 น. สิริรวมอายุ 95 ปี 3 เดือน 9 วัน พรรษา 74 แต่ร่างของท่านบรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาเข้าไปกราบไหว้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดสระประสานสุข ในวันที่ 24 มกราคม 2559 ในการนี้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระดำเนินในการพระราชทานเพลิงศพ

ที่ตั้ง วัดสระประสานสุข

บ้านนาเมือง ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดสระประสานสุข

15.262170, 104.873740

บรรณานุกรม

วัดสระประสานสุข. (2559). อนุสรณ์งานออกเมรุพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล). อุบลราชธานี: อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง