ครูสมคิด สอนอาจ เป็นช่างและครูภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมที่มีผลงานโดดเด่นด้านการทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี และเชี่ยวชาญการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ มีผลงานได้รับการรางวัลและได้รับการยกย่องตลอดมา ท่านเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เทียนพรรษาศรีประดู่ขึ้น เพื่อให้เป็นสถานที่ถ่ายทอดและเรียนรู้เรื่องการทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้องค์ความรู้การทำต้นเทียนพรรษานี้คงอยู่สืบไป
ประวัติครูสมคิด สอนอาจ ผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปกรรม
นายสมคิด สอนอาจ จบการศึกษาขั้นสูงสุดครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) วิชาเอกศิลปศึกษา จากวิทยาลัยครูอุบลราชธานี และประกอบอาชีพรับราชการครู
หลังจากการศึกษาเล่าเรียนจากโรงเรียนและสถานศึกษาต่าง ๆ แล้ว ครูสมคิด สอนอาจ ได้ศึกษางานช่างเทียนพรรษา ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี ในการสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเอง เริ่มต้นจากการนำความรู้ และประสบการณ์ทางด้านการช่างฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดจากบิดา คือ นายทองดี สอนอาจ ผสมผสานกับความรู้ทางด้านศิลปะจากครู คือ นายมานะ ทองสอดแสง มาสู่การเป็นช่างฝีมือด้านศิลปะ สาขาช่างเทียน
ครูสมคิด สอนอาจ ได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ทั้งหมด ทุ่มเทให้กับการทำต้นเทียนพรรษา จากการลองผิดลองถูก และพยายามศึกษา ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมพัฒนาตนเองอยู่เสมอ จนกระทั่งสามารถค้นพบเอกลักษณ์ของตนเอง และยึดเป็นหลักในการทำงานจนสามารถเป็นช่างเทียน ประเภทติดพิมพ์ จนได้รับการยกย่องและยอมรับในระดับสูงสุดของจังหวัดอุบลราชธานีจนถึงปัจจุบัน
ผลงานและการเผยแพร่องค์ความรู้ของครูสมคิด สอนอาจ
ครูสมคิด สอนอาจ สั่งสมประสบการณ์ในการจัดทำต้นเทียนพรรษา มีภูมิปัญญา และองค์ความรู้ เพียงพอที่จะถ่ายทอดให้กับคนรุ่นต่อไป จึงได้เริ่มต้นถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดเป็นการ มอบมรดก-ทุนทางสายเลือด ให้กับลูกทั้ง 4 คน โดยเฉพาะลูกชายทั้งสองคน คือ นายชาญณรงค์ และ นายศุภกฤต สอนอาจ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำต้นเทียนพรรษา ที่มีฝีมือคนหนึ่ง สามารถทำงานแทนครูสมคิด สอนอาจได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของผู้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำต้นเทียนพรรษาทั้งประเภทแกะสลักและติดพิมพ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามเครือข่ายในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ แบ่งได้ 6 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ 1 การถ่ายทอดสายตรงจากพ่อ สู่ลูก คือ ลูกชาย 2 คน และลูกสาว 2 คน ถือเป็นการมอบมรดกทางภูมิปัญญาที่มีคุณค่า เป็นทุนทางสายเลือดที่ถ่ายทอดให้กับลูกทั้ง 4 คน
- กลุ่มที่ 2 การถ่ายทอดสายตรง ตามภารกิจหน้าที่การงานให้กับนักเรียนที่เป็นลูกศิษย์ในโรงเรียนที่ทำการสอนทุกโรงเรียน โดยเฉพาะขณะที่เป็นอาจารย์ 2 ระดับ 7 โรงเรียนบ้านโนนบ่อหวายดินดำ ได้ทำการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในระดับชั้นที่ทำการสอย และจัดทำเป็นโครงงานให้กับนักเรียนที่สนใจทุกคน
- กลุ่มที่ 3 การถ่ายทอดให้กับกลุ่มคณะช่างที่มีความสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการทำต้นเทียนคุ้มวัดศรีประดู่ จากปี พ.ศ. 2511 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนหลายร้อนคนและมีการสืบทอดกันมาหลายรุ่น ทำให้ปัจจุบันคณะช่างเทียนคุ้มวัดศรีประดู่ มีจำนวน 35 คน ล้วนแต่เป็นลูกหลายชาวบ้านดู่ทั้งสิ้น
- กลุ่มที่ 4 การถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชนที่สนใจสมัครเข้ารับการอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนแกะสลักติดพิมพ์เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี (ศูนย์เรียนรู้ในชุมชน) ในบริเวณบ้านพัก โดยเริ่มต้นอบรมรุ่นที่ 1 จำนวน 20 คน เมื่อปี พ.ศ. 2543 และมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
- กลุ่มที่ 5 การถ่ายทอดให้กับประชาชนผู้สนใจทั่วไป ที่มาเยี่ยมชม ศึกษาดูงาน การทำต้นเทียนของคุ้มวัดศรีประดู่เป็นประจำทุกปี โดยจะมีการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทแผ่นพับแนะนำประวัติของการทำเทียนพรรษาแต่ละต้นในแต่ละปีเผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนผู้สนใจทั่วไปเป็นประจำทุกปี
- กลุ่มที่ 6 การถ่ายทอดให้กับกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ด้วยวิธีการและรูปแบบอื่น ๆ ผ่านสื่อสารมวลชนประเภทต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ ผู้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ การทำต้นเทียนพรรษาจากปี พ.ศ. 2509 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนมากมายหลายกลุ่ม ในอนาคตจะเป็นผู้สืบสานการทำต้นเทียนพรรษา เป็นภูมิปัญญาอยู่คู่กับจังหวัดอุบลราชธานี สืบไป
เกียรติคุณ รางวัลเกียรติยศ ที่ครูสมคิด สอนอาจ ได้รับ
- พ.ศ. 2536 ครูผู้สอนศิลปศึกษาดีเด่น กลุ่มโรงเรียนกุดลาดกระโสบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2537 บุคคลดีเด่น ประเภทผู้สอน สำนักงานการประถมศึกษา อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2538 ผู้สอนดีเด่น สำนักงานคุรุสภาอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2542 สมาชิกคุรุสภาดีเด่น ประเภทครูผู้มีคุณธรรมจริยธรรมดีเด่น จังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ. 2542 ศิลปินดีเด่นจังหวัดอุบลราชธานี สาขาการช่างฝีมือ (ช่างทำต้นเทียน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. 2546 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 ด้านศิลปกรรม จาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) สำนักนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ. 2548 ศิลปินร่วมสมัยจังหวัดอุบลราชธานี สาขาทัศนศิลป์ ด้านประติมากรรมจากสถาบันวัฒนธรรมราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ
- พ.ศ. 2549 รางวัลคุรุสดุดี สำนักงานเลขานุการคุรุสภา กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2550 ผู้มีผลงานด้านนันทนาการดีเด่นระดับประเทศ สาขา ศิลปหัตถกรรม จากสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- พ.ศ. 2557 ได้รับยกย่องเชิดชูเป็นมูนมังเมืองอุบลราชธานี สาขาศิลปกรรม (การทำเทียน)
- พ.ศ. 2559 ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลครูศิลป์ของแผ่นดิน ประเภทเทียนพรรษา(ประเภทติดพิมพ์) จังหวัดอุบลราชธานี
รางวัลชนะเลิศ การประกวดต้นเทียนพรรษา ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ผลงานการสร้างสรรค์ของครูสมคิด สอนอาจ
- พ.ศ. 2532 รางวัลชนะเลิศพิเศษ
- พ.ศ. 2540 เกียรติบัตรรางวัลชนะเลิศ ประเภทติดพิมพ์ งานประเพณี “60 ปีเทียนพรรษา” รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- พ.ศ. 2542 เกียรติบัตรรางวัลชนะเลิศ ประเภทติดพิมพ์ งานประเพณีแห่งเทียน“เฉลิมหล้า 6 รอบมหาราชินี” ถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- พ.ศ. 2543 ถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศ ประเภทติดพิมพ์ ในงานประเพณีแห่เทียน “หลอมบูชา ถวายไท้นวมินทร์” ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- พ.ศ. 2545 ถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศ การประกวดต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ ประเภทติดพิมพ์ งานประเพณีแห่เทียนพรรษา “โรจน์เรืองเมืองศิลป์” พร้อมโล่รางวัล
- พ.ศ. 2547 ถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ ประเภทติดพิมพ์ “เทิดไท้ 72 พรรษามหาราชินี”
- พ.ศ. 2550 ถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดต้นเทียนพรรษาขนาดใหญ่ ประเภทติดพิมพ์ “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม เลิศล้ำเทียนพรรษา ปวงประชาพอเพียง”
ที่อยู่ ครูสมคิด สอนอาจ
ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
บรรณานุกรม
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี.( 2552). อุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์. อุบลราชธานี: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี.