ครูสวิง บุญเจิม ชาวอุบลราชธานีเป็นผู้มีภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทกลอนทั้งการลำ การขับร้องสรภัญญะ การสู่ขวัญ การแต่งผญา เป็นต้น ได้รับการยกย่องให้เป็น “ปรัชญาเมธีอีสาน” ผู้อนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น ถ่ายทอดความรู้โดยการเผยแพร่ทางรายการวิทยุและโทรทัศน์ เป็นวิทยากรอบรมสัมมนา รวมทั้งเขียนหนังสือเผยแพร่มากกว่า 10 เรื่อง โดยเฉพาะหนังสือ “มรดกอีสาน” พิมพ์เผยแพร่แล้ว ประมาณ 200,000 เล่ม
ประวัติครูสวิง บุญเจิม ปรัชญาเมธีแห่งเมืองอุบลราชธานี
ครูสวิง บุญเจิม บรรพชาเป็นสามเณรและอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ศึกษา เรียนรู้ โดยสอบได้นักธรรมเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค รวมทั้งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาปรัชญาและศาสนาจากประเทศอินเดีย ขณะที่ศึกษาอยู่ประเทศอินเดีย ได้ศึกษาปรัชญาอินเดียและปรัชญาตะวันตกซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับผญาภาษิตของอีสานจึงได้หันมาศึกษา ค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับปรัชญา ศาสนา และประเพณีอีสานเพิ่มเติมอย่างจริงจัง ลึกซึ้งจากหนังสือผูกและหนังสือในลานที่มีในวัดของภาคอีสานโดยทั่วไป ทดลองเผยแพร่ความรู้โดยการเขียนหนังสือและตำราเอกสารต่าง ๆ จำหน่าย ได้รับความนิยมและใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณีอีสานทั่วประเทศ นำความรู้ที่ค้นพบถ่ายทอดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และผู้สนใจ ในรูปแบบต่าง ๆ
การถ่ายทอด และเผยแพร่องค์ความรู้ของครูสวิง บุญเจิม
การศึกษาร่ำเรียนตำราโบราณทำให้ครูสวิงมีความเข้าใจหลักปรัชญาและศาสนาชัดเจน รวมทั้งที่มาของขนบธรรมเนียม ประเพณี คำสอน สุภาษิต ตำรายา และสมุนไพรเป็นอย่างดี ครูสวิงพิจารณาแล้วเห็นว่าองค์ความรู้เหล่านี้ถ้าไม่มีการสืบสานไว้ก็จะหมดสิ้นไปวิธีที่ดีที่สุดก็คือการเขียนเป็นตำราเผยแพร่ให้มีผู้ศึกษาในวงกว้าง ตำราที่เขียนและเผยแพร่ได้แก่ มรดกอีสานหรือมูลมังอีสาน, เสียเคราะห์ตนเองและผู้อื่น, ผญา, สรภัญญะอีสาน, กาละนับมือส่วย, ตำรายาสมุนไพรอีสาน, นิทานพื้นบ้านอีสานเล่ม 1, ธรรมสร้อยสายคำ (ว่าด้วยกำเนิดประเพณี), ความผูกแขน ความสอนปู่ย่า – ตายาย สะใภ้เขย, ความสอย – ความทวย, ปู่สอนหลาน หลานสอนปู่, ปรัชญาเมธีอีสาน, ประวัติและของดีสำเร็จลุน ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากการถ่ายทอดความรู้เป็นตำราแล้วครูสวิงได้รับเชิญไปสอนในสถาบันการศึกษาและไปบรรยายตามสถานที่ราชการและเอกชนต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาปริญญาโท จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งตรวจวิทยานิพนธ์ จัดทำโครงการฝึกอบรมผู้นำทางศาสนาและประเพณี โครงการศาสนานำชีวิตเพื่อฝึกสมาธิจิตเยาวชนในโรงเรียน ให้คำปรึกษากับผู้สนใจทั้งทางโทรศัพท์ ทางจดหมายและไปพบเพื่อปรึกษาหารือที่บ้านให้ความรู้แก่พระนิสิต มหาวิทยาลัยสงฆ์ สามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม – บาลี และแผนกสามัญศึกษา รวมทั้งวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดให้ใช้ตำราของท่านเป็นคู่มือในการแนะนำชาวบ้านเกี่ยวกับประเพณีต่าง ๆ ตามฮีต 12 คอง 14 รวมถึงการใช้เป็นคู่มือประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
ผลงานด้านการเขียนและวรรณกรรมที่ตีพิมพ์เผยแพร่ ของครูสวิง บุญเจิม
- ตำรามรดกอีสานหรือมูนมังอีสาน (พิมพ์ปี 2534)
- เสียเคราะห์ตนเองและผู้อื่น (ปีพิมพ์ 2535)
- กาละนับมื้อส่วย (ปีพิมพ์ 2536)
- ทำนายฝัน (ปีพิมพ์ 2535)
- ผญา หรือปัญญา (ปีพิมพ์ 2536)
- ปู่สอนหลาน หลานสอนปู่ (ปีพิมพ์ 2537)
- สรภัญอีสาน (ปีพิมพ์ 2537)
- ธรรมสร้อยสายคำ ว่าด้วยกำเนิดประเพณีต่าง ๆ (ปีพิมพ์ 2538)
- ของฮักษา (ปีพิมพ์ 2539)
- ภูมิปัญญาชาวบ้านอีสาน ยาสมุนไพรพื้นบ้าน (ปีพิมพ์ 2540)
- นิทานพื้นบ้าน เล่ม 1 (ปีพิมพ์ 2540)
- ความผูกแขน ความสอนปู่ย่า ตายาย สะไภ้และเขย (ปีพิมพ์ 2542)
- ความสอยความทวย (ทาย) (ปีพิมพ์ 2542)
- ประวัติและของดีสำเร็จลุน (ปีพิมพ์ 2544)
- ปรัชญาเมธีอีสาน เล่ม 1 (ปีพิมพ์ 2545)
- คมวาทะ การพูดในงานต่าง ๆ (ปีพิมพ์ 2546)
- ตำราเรียนอักษรโบราณอีสาน (ปีพิมพ์ 2548)
- ความกล่อมลูก (ปีพิมพ์ 2548)
- ตำราเรียนอักษรขอม (ปีพิมพ์ 2549)
- กลอนลำประวัติศาสตร์ไทยและประวัติเวียงจันทน์ (ปีพิมพ์ 2549)
- มูลกัจจายนสูตร เล่ม 1 (ปีพิมพ์ 2549)
- มูลกัจจายนสูตร เล่ม 2 (ปีพิมพ์ 2549)
- นิทานแม่โพสพ (วัตถุข้าว) (ปีพิมพ์ 2551)
- อานิสงค์ข้าวประดับดิน (ปีพิมพ์ 2551)
- สุดยอดอวยพร (ปีพิมพ์ 2551)
- ภูมิปัญญาอีสานปริทัศน์ เรื่อง ท้าวเสียวสวาสดิ์ธัมมิกบัณฑิต (ปีพิมพ์ 2551)
- ลำมหาชาติอักษรธรรมอักษรไทย
- หนังสือแก้อุบาทว์ 8 ประการ
- หนังสือท้าวกาฬเกษ
- ปัญญาบารมี อุณหัสสวิชัย สฬากริวิชชาสูตร
- คู่มือการเรียนและการสอนอักษรธรรม
- มนต์พิธีแปล
เกียรติคุณที่ครูสวิง บุญเจิมได้รับ
- พ.ศ. 2539 ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลปะระดับเขตการศึกษา จากสํานักพัฒนา การศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 10
- พ.ศ. 2542 “รางวัลเสาเสมาธรรมจักร” ในฐานะผู้ทําคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา สาขาการแต่งหนังสือทางพระพุทธศาสนาจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2545 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านปรัชญาศาสนาและประเพณีจาก สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติสํานักนายกรัฐมนตรี
- พ.ศ.2548 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “คนดีศรีสยาม” จากมหามงกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตจังหวัดแพร่
- พ.ศ. 2550 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “ต้นแบบความดีด้านวัฒนธรรมประเพณี” จากสมัชชาคุณธรรมภาคอีสาน
- พ.ศ. 2554 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น “ศิลปินมรดกอีสาน” จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
บรรณานุกรม
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2545). ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.