หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์ ตั้งอยู่ชั้น 1 ของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก อุบลราชธานี สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ท้องถิ่นของชุมชนและจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสาน เป็นศูนย์ส่งเสริมสร้างสำนึกท้องถิ่น ในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอุบลราชธานี
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก อุบลราชธานี
อาคารศูนย์วัฒนธรรมกาญจนาภิเษก อุบลราชธานี ได้รับงบประมาณการสร้างจากการแปรญัตติของสภาผู้แทนราษฎร 94.8 ล้านบาท ในปี 2539 เป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปี (2540-2542) โดยมอบให้อาจารย์อำนวย วรพงศธร อาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีเป็นผู้ออกแบบตามแนวคิดของคณะกรรมการสำนักศิลปวัฒนธรรมและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เจ้าอาวาสวัดสระเกษวรมหาวิหาร เจ้าคณะใหญ่ภาคตะวันออกเป็นองค์ประธานในพิธี และเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอดุลยเดชมหาราชทรงครองราชย์ครบ 50 ปีจึงได้ตั้งชื่ออาคารนี้ว่า ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก
หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์ ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ภายในอาคารศูนย์วัฒนธรรมกาญจนาภิเษก อุบลราชธานี เป็นส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรเรื่องราวต่าง ๆ ของเมืองอุบลราชธานี เริ่มเปิดให้ชมตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 โดยแบ่งส่วนการจัดแสดงออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องภูมิเมือง ห้องภูมิราชธานี ห้องภูมิธรรม ห้องภูมิปัญญา
ห้องภูมิเมือง หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์
จัดแสดงสภาพภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แร่ธาตุในพื้นที่อุบลราชธานี และแม่น้ำโขง-ชีมูล และที่น่าสนใจ คือ โดมจำลองสภาพทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานี
ห้องภูมิราชธานี หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์
ส่วนแสดงประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองอุบลราชธานี นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยประวัติศาสตร์ การสร้างบ้านแปงเมือง และร่องรอยทางอารยธรรมในเมืองอุบลราชธานี รวมทั้งเรื่องราวของ เจ้าเมืองในยุคต่าง ๆ การปฏิรูปการปกครอง กบฎผู้มีบุญ การปกครองสมัยประชาธิปไตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนสำคัญและขบวนการเสรีไทยในในอีสาน นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีการสร้างนกหัสดีลิงค์เพื่อใช้ในการปลงศพพระเถระและเจ้าเมือง
ห้องภูมิปัญญา หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์
ส่วนแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวอุบลราชธานีและชาวอีสาน อันประกอบด้วยปัจจัยทั้ง 4 อย่าง คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย (เฮือนและหมู่บ้านอีสาน) เครื่องนุ่งห่ม (ผ้าและการแต่งกายของชาวเมืองอุบล) และยารักษาโรค (สมุนไพรพื้นบ้าน) นอกจากนั้นยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้าน (หมอลำ เพลงกล่อมเด็ก) หัตถกรรมพื้นบ้าน (การทำเครื่องปั้นดินเผา การหล่อโลหะทองเหลืองบ้านปะอาว) รวมถึงประวัติของ “คนดีศรีอุบล” ในแขนงต่าง ๆ
ห้องภูมิธรรม หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์
ส่วนแสดงเกี่ยวกับพัฒนาการของพระพุทธศาสนา ที่เข้ามาในจังหวัดอุบลราชธานี จารึกวัดมหาวนาราม ประเพณีวัฒนธรรมอันเนื่องในพระพุทธศาสนา ฮีตสิบสองคองสิบสี่ ประเพณีแห่เทียนพรรษา และวัดสำคัญที่ตั้งในจังหวัดอุบลราชธานี มีการจำลองบรรยากาศของวัดหนองป่าพง พร้อมด้วยรูปเหมือนของหลวงพ่อชา ทั้งยังมีประวัติปราชญ์เมืองอุบลในฝ่ายสงฆ์ ทั้งสายวิปัสสนาธุระ (ปฏิบัติ) และคันถธุระ (ปริยัติ) รวมทั้งมีการจัดแสดงวัตถุสิ่งของในศาสนาคารที่แสดงถึงศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น เช่น คันทวย อาคารจำลองสิมวัดหลวง
ที่ตั้ง หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ถนนแจ้งสนิท ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์
15.246988, 104.845778
บรรณานุกรม
ศักดิ์ชาย สิกขา. (2554). หอวัฒนธรรมอุบลนิทัศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 22 สิงหาคม 2559. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/artdesign