หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว อุบลราชธานี ชุมชนที่สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมในการทำเครื่องทองเหลือง ด้วยกรรมวิธีการหล่อแบบขี้ผึ้งหาย หรือการแทนที่ขี้ผึ้ง ตกแต่งด้วยลวดลายเอกลักษณ์ เช่น ลายหมากหวาย ลายกลีบบัว ลายฟันปลา ลายต้นสน ลายไข่ปลา และลายลูกกลิ้ง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ทองเหลืองที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก ไม่ว่าจะเป็นกระดิ่งแขวน เต้าปูน เชี่ยนหมาก กระพรวน ผอบ ขันน้ำ
หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นล้ำค่าหนึ่งเดียวในโลก
หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว ภูมิปัญญาล้ำค่าที่สืบทอดกันมากว่า 200 ปี โดยสมัยก่อนนั้นชาวบ้านปะอาวจะหล่อหลอมทองเหลืองเพื่อทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือน เช่น กระดิ่งแขวนคอควาย กระดิ่งแขวนตามโบสถ์วิหารวัด เต้าปูน เชี่ยนหมาก กระพรวน ผอบ ขันน้ำ เป็นต้น ความโดดเด่นของงานทองเหลืองบ้านปะอาว คือ ลวดลายที่เกิดจากการเลียนแบบความงามตามธรรมชาติ มีลายที่เป็นเอกลักษณ์ คือ ลายหมากหวาย ลายกลีบบัว ลายฟันปลา ลายต้นสน ลายไข่ปลา และลายลูกกลิ้ง และความโดดเด่นอีกอย่าง คือ ชาวบ้านปะอาวยังคงทำเครื่องทองเหลืองด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมตามที่สืบทอดกันมา ที่เรียกว่ากันว่า การหล่อแบบขี้ผึ้งหาย หรือ การแทนที่ขี้ผึ้ง ซึ่งการหล่อแบบนี้เป็นกระบวนการหล่อโลหะที่มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่นับวันจะหาดูยากและกำลังจะสูญหายไป
ศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว
ด้วยความโดดเด่นของภูมิปัญญาในการทำหัตถกรรมทองเหลืองของชุมชนบ้านปะอาว ชาวบ้านปะอาวจึงได้รวมกลุ่มกันก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์หัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานหัตถกรรมหล่อทองเหลืองของสมาชิกในกลุ่ม เพื่อใช้สำหรับการดำเนินการเรียนการสอนการทำเครื่องทองเหลืองให้กับนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป และเป็นศูนย์แสดงและสาธิตการทำหัตถกรรมหล่อทองเหลืองโดยวิธีขี้ผึ้งหายแบบโบราณให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ ปัจจุบันมีนายบุญมี ล้อมวงศ์ เป็นหัวหน้าศูนย์
วัสดุอุปกรณ์ในงานหัตถกรรมหล่อทองเหลืองแบบขี้ผึ้งหายของบ้านปะอาว
การทำหัตถกรรมหล่อทองเหลืองด้วยกรรมวิธีแบบขี้ผึ้งหายหรือการแทนที่ขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านปะอาวที่ทำสืบทอดกันมานั้น จะมีวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ ได้แก่
1.ดินโพน หรือ ดินจอมปลวก
ดินโพน หรือ ดินจอมปลวก จะเป็นวัสดุที่ใช้สำหรับทำหุ่นดินหรือแบบพิมพ์ ดินชนิดนี้จะมีลักษณะพิเศษ คือ มีเม็ดดินที่ละเอียดสม่ำเสมอกัน ทำให้งานหล่อออกมามีผิวเรียบสวย มีความเหนียวเกาะติดดี และทนอุณหภูมิสูงได้
2.มูลวัว
มูลวัว หรือ ขี้วัวจะใช้ผสมกับดินโพนเพื่อให้ดินเกาะตัวแน่น ทำให้กลึงได้ง่ายและดินมีความโปร่งไม่อัดแน่นจนเกินไป เวลาเผาความชื้นในดินสามารถแทรกตัวออกมาได้ง่ายและดินสามารถขยายตัวได้ดี ทำให้หุ่นดินไม่แตกร้าว
3.มอนน้อย หรือ เครื่องกลึงเล็ก
มอนน้อย หรือ เครื่องกลึงเล็ก เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับใช้กลึงหุ่น ทั้งหุ่นดินและหุ่นขี้ผึ้ง ให้มีความกลมเกลี้ยงตามแบบที่ต้องการ ประกอบด้วยชิ้นส่วนง่าย ๆ ที่ผลิตขึ้นใช้เอง ดังนี้
- โฮงเสี่ยน หรือ โฮงกลึง หรือ โรงกลึง มีลักษณะเป็นไม้โค้งคล้ายกับขอบล้อเกวียน ความยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร เวลาใช้งานจะวางตั้งให้ส่วนโค้งด้านนอกตั้งขึ้นข้างบน ส่วนโค้งด้านในคว่ำลงดิน มีอยู่ 1 คู่ (เสี่ยน ภาษาอีสาน หมายถึง กลึง)
- ไม้เหยียบ ทำจากไม้เนื้อแข็งเหลาให้กลม ทำปลายเป็นสี่เหลี่ยมหัวท้ายใช้สำหรับยึดโฮงเสี่ยนสองชิ้นให้ติดกัน ตอนใช้งานจะใช้เท้าเหยียบไว้ไม่ให้โฮงเสี่ยนขยับไปมา
- ไม้มอน ทำจากไม้เนื้อแข็งเหลาให้กลม ใช้เป็นแกนเพลาหมุนรอบตัวไปมาได้เมื่อถูกชักด้วยเชือกเพื่อทำการกลึงแต่ง
- เหล็กเสี่ยน หรือ เหล็กกลึง ทำด้วยเหล็กหน้าตัดสี่เหลี่ยมปลายเรียวแบนและคม ตัดรูปทรงคล้ายสิ่ว ใช้สำหรับกลึงแต่งหุ่นดินและหุ่นขี้ผึ้ง ให้เรียบ และมีขนาดรูปร่างตามที่ต้องการ
- เชือกดึง ใช้ร่วมกับไม้มอน โดยพันรอบไม้มอน จับปลายเชือกทั้งสองด้านแล้วดึงชักกลับไปกลับมาในขณะที่กลึง ทำหน้าที่คล้ายสายพานเครื่องกลึง
4.บั้งเดียก
บั้งเดียกมีลักษณะคล้ายกระบอกฉีดยาขนาดใหญ่ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ใช้สำหรับฉีดขี้ผึ้งเหลวให้ไหลออกมาเป็นเส้น โดยมีกระบอกไม้ไผ่ทำหน้าที่คล้ายกระบอกสูบ โดยจะเลือกใช้กระบอกไม้ไผ่ที่มีกิ่งติดมาด้วยเพื่อทำเป็นด้ามจับไปในตัว ขนาดความยาวประมาณ 30 ซ.ม. ปลายอีกด้านหนึ่งจะตัดให้ติดข้อไม้ไผ่ แล้วเจาะรูตามขนาดที่ต้องการ หรือต่อด้วยหลอดโลหะกลวง (นิยมใช้สังกะสี) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่-เล็กตามขนาดเส้นขี้ผึ้งที่ต้องการ ปลายอีกด้านหนึ่งของกระบอกไม้ไผ่ จะตัดข้อออกให้กระบอกไม้ไผ่กลวงทะลุทั้ง นำไม้ไผ่อีกอันมาเหลากลมขนาดเล็กกว่ารูของกระบอกสูบเพื่อทำเป็นก้านอัด ทำหน้าที่คล้ายลูกสูบ
การทำขี้ผึ้งให้เป็นเส้นนั้น เริ่มจากการนำเอาขี้ผึ้งซึ่งมีส่วนผสมของขี้ผึ้ง ชัน (ขี้ซี) และขี้สูด (ชันโรง) ในตามอัตราส่วน 5 : 1 : 1 โดยน้ำหนัก นำไปหลอมให้อ่อนตัวพอประมาณแล้วเทใส่ถาด ปล่อยให้แข็งตัว เวลาจะใช้งานจะนำขี้ผึ้งนี้มาลนไฟและนวดให้อ่อนตัว จากนั้นนำใส่เข้าไปในบั้งเดียก แล้วฉีดให้ขี้ผึ้งไหลออกมา โดยฉีดให้ไหลต่อเนื่องกันเป็นเส้นสั้น-ยาวตามต้องการ ส่วนใหญ่ผู้ฉีดจะส่ายบั้งเดียกให้เป็นวงกลมเพื่อให้เส้นขี้ผึ้งไหลลงบนที่รองรับแล้วเส้นขี้ผึ้งไม่พันกัน เส้นขี้ผึ้งนี้จะนำไปพันรอบหุ่นดินในขณะที่ยังเหนียวและไม่แข็งตัวมาก
5.ลูกกลิ้งพิมพ์ และแท่งกดพิมพ์ลาย
ลูกกลิ้งพิมพ์ และแท่งกดพิมพ์ลาย ใช้สำหรับสร้างลวดลาย ซึ่งมี 2 แบบ คือ แบบลูกกลิ้ง จะใช้กลิ้งตามแนวเส้นรอบวงหุ่นขี้ผึ้ง และแบบแท่ง ที่แกะลวดลายไว้ที่ปลายด้านหนึ่งแล้ว มีด้ามจับ คล้ายตราประทับ วิธีการใช้งาน คือ นำไปกดบนหุ่นขี้ผึ้งเพื่อสร้างลวดลาย
6.ขี้ผึ้งและส่วนประกอบ
ขี้ผึ้งจะเป็นวัสดุที่จะนำมาทำหุ่น โดยจะมีส่วนผสมประกอบด้วย ขี้ผึ้ง (ขี้ผึ้งถ้วย หรือขี้ผึ้งเทียม) ชัน (ขี้ซี) และขี้สูด (ชันโรง) นำมาต้มผสมกันในหม้อ ในอัตราส่วน 5:1:1 ชัน (ขี้ซี) และขี้สูด (ชันโรง) ที่ผสมลงไปนั้นจะทำให้ขี้ผึ้งเหนียว สามารถปั้นขึ้นรูปและกลึงแต่งได้ง่าย ต้มผสมและคนจนเป็นเนื้อเดียว จากนั้นให้นำมาเทกรองด้วยผ้าขาวบางลงในน้ำ น้ำก็จะช่วยกรองฝุ่นละอองออกทำให้ขี้ผึ้งสะอาดมากขึ้น ทิ้งไว้ให้เย็นและแข็งตัว เมื่อต้องการใช้งานก็จะนำขี้ผึ้งมาอังไฟแล้วนวดด้วยมือให้นิ่มหรืออ่อนตัว
7.อุปกรณ์ในการหลอมโลหะ หรือ เบ้าหลอม
เบ้าหลอมทองเหลืองทำจากดินประเภทเดียวกับที่ใช้ทำหุ่นดิน ผสมด้วยแกลบเพื่อให้ขยายตัวและทนความร้อนได้ดี
นอกจากนี้ยังมีวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ช่วยในการทำเครื่องทองเหลืองอีก เช่น ถ่านไม้ ที่คีบ กระบวยตักทองเหลือง เตาเผา เครื่องเจียร เป็นต้น
วิธีการ ขั้นตอนการทำเครื่องทองเหลืองแบบขี้ผึ้งหายของบ้านปะอาว
วิธีการ ขั้นตอนการทำเครื่องทองเหลืองแบบขี้ผึ้งหาย ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนบ้านปะอาวมีดังนี้
1.การปั้นแม่พิมพ์
การปั้นแม่พิมพ์จะเป็นขั้นตอนการปั้นหุ่นตามแบบที่ต้องการหล่อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยนำดินโพนหรือดินจอมปลวกจะนำมาตำผสมกับขี้วัวและแกลบอย่างใดอย่างหนึ่งจนเป็นเนื้อเดียวกัน ดินที่ผสมกับขี้วัวจะนำมาทำหุ่นดิน ขี้วัวจะทำให้ดินมีความเหนียว เกาะตัวดีและโปร่ง เหมาะแก่การนำไปกลึง และดินที่ผสมกับแกลบจะนำมาโอบเพชร แกลบจะทำให้ดินมีความเหนียว เกาะตัวได้ดี และมีความแกร่ง เมื่อเผาไฟแล้วจะแกะจากเครื่องทองเหลืองได้ง่าย
ดินที่ผสมกับขี้วัวแล้วจะปั้นให้เป็นรูปทรงและขนาดต่าง ๆ ตามแบบ ซึ่งจะเรียกว่า หุ่นดิน ใช้ไม้มอนเสียบกลางหุ่น นำไปผึ่งลมให้แห้ง แล้วจึงนำไปใส่โฮงเสี่ยนหรือโรงกลึงเพื่อกลึงหุ่นดินให้ได้ขนาดและรูปทรงที่ต้องการ มีความกลมเกลี้ยง
2. การเสี่ยน หรือ การกลึง
เมื่อหุ่นดินแห้งแล้วก็จะนำไปกลึง เพื่อตกแต่งรูปร่าง ลักษณะการกลึงต้องอาศัยผู้ทำ 2 คน คนหนึ่งจะเป็นคนดึงเชือกซึ่งพันอยู่กับไม้มอนให้หุ่นดินหมุน อีกคนทำหน้าที่กลึงโดยใช้เหล็กกลึง หรือไม้เหลาปลายแหลมแต่งผิวดินให้ได้ขนาด รูปร่างตามที่ต้องการ จากนั้นจึงนำหุ่นดินที่ได้ไปตากแดดให้แห้งประมาณ 3-4 วัน แล้วแต่สภาพอากาศ
3. การเคียนผึ้ง หรือ การหุ้มขี้ผึ้ง
เมื่อหุ่นดินผ่านการกลึงและตากแห้งแล้วมาหุ้มด้วยเส้นขี้ผึ้งที่ฉีดออกมาจากบั้งเดียก โดยการพันเรียงเส้นกันให้รอบหุ่นดิน ซึ่งต่อไปจะเรียกหุ่นนี้ว่า หุ่นขี้ผึ้ง
4. การเสี่ยนหุ่น ตกแต่งลาย หรือ การกลึงหุ่นขี้ผึ้ง
หุ่นขี้ผึ้งที่หุ้มด้วยขี้ผึ้งแล้วจะนำมากลึงให้เรียบ โดยก่อนการกลึงจะนำหุ่นขึ้ผึ้งไปลนหรืออังไฟให้ขี้ผึ้งอ่อนตัว ใช้มือบีบผิวเส้นผึ้งที่เป็นลอนนูนให้เรียบแนบติดเป็นแผ่นเดียวกัน คลึงให้ขี้ผึ้งที่หุ้มมีความหนาสม่ำเสมอกันตลอด อาจจะเพิ่มความเรียบเนียนสวยเสมือนผิวงานจริงอีกครั้งโดยการนำไปกลึง จากนั้นทำการสร้างลวดลายลงบนหุ่นขี้ผึ้ง โดยใช้ลูกกลิ้งพิมพ์หรือแท่งกดพิมพ์ลายลงไปให้ได้ลวดลาย ตกแต่งหุ่นขี้ผึ้งให้สวยงาม หุ่นขี้ผึ้งมีลวดลายแบบไหน เครื่องทองเหลืองที่ได้ก็จะมีลวดลายเหมือนกัน
5. การโอบเพชร หรือ การพอกดินรักษาลาย
การโอบเพชรจะเป็นการใช้ดินพอกหรือห่อหุ้มรอบหุ่นขี้ผึ้งอีกชั้นหนึ่งเพื่อรักษาลวดลายไว้ โดยดินที่ใช้จะเป็นดินโพนผสมกับน้ำ ก่อนโอบเพชรการทำการติดสายชนวนที่หุ่นขี้ผึ้งก่อน โดยการนำเส้นขี้ผึ้งติดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของหุ่นขี้ผึ้งให้ยาวยื่นออกมา สายชนวนจะทำให้เกิดช่องทางสำหรับเทโลหะที่หลอมแล้วลงไปแทนที่ขี้ผึ้ง โลหะหลอมจะไหลไปส่วนต่าง ๆ ได้สะดวกถึงกันตลอดชิ้นงาน ทำให้ได้งานหล่อที่สมบูรณ์ไม่มีรูพรุน ไม่บิ่น ไม่แตก ถ้าชิ้นงานมีขนาดเล็ก เช่น กระพรวน จะติดสายชนวนรวมไว้ด้วยกัน เรียกว่า การติดแซง หรือ หรือการติดพวง
การโอบเพชร จะนำดินที่เหลือจากการกลึงหุ่นดินมาร่อนให้ละเอียด แล้วนำมาคลุกผสมกับน้ำ นวดให้เข้ากันดี แล้วจึงนำมาหุ้มหุ่นขี้ผึ้ง การโอบเพชรจะต้องกดให้เนื้อดินแทรกไปทุกส่วนของหุ่นขี้ผึ้ง เพื่อให้เกิดลวดลายที่ชัดเจน เมื่อโอบเพชรเสร็จ จะนำไปตากแดดผึ่งลมให้แห้งสนิท ใช้เวลาประมาณ 4-5 วันแล้วแต่สภาพอากาศ ยิ่งแห้งมากเท่าใดยิ่งรักษาลายให้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น และต่อไปจะเรียกว่า เบ้า
6.การโอบเบ้า
การโอบเบ้าจะเป็นการนำดินโพนมาผสมแกลบ และน้ำ นวดให้เข้ากันดี มาโอบหรือหุ้มกับเบ้าอีกชั้นหนึ่ง เพื่อทำให้เบ้ามีความแกร่ง ทนความร้อนสูงได้ ไม่แตกหักในขณะที่เผาไฟ และเบ้าสามารถตั้งวางบนดินได้ เพื่อให้สามารถเทหล่อได้ง่ายขึ้น เมื่อโอบเบ้าเสร็จแล้วนำไปตากให้แห้ง ประมาณ 2-3 วัน แล้วแต่สภาพอากาศ
7. การสุมเบ้า หรืออุ่นเบ้า
การสุมเบ้า หรืออุ่นเบ้า เป็นขั้นตอนการเผาเบ้าด้วยไฟความร้อนสูงประมาณ 800-900 องศาเซลเซียส การสุมเบ้าจะทำให้ขี้ผึ้งที่อยู่ในเบ้าละลายออก เมื่อขี้ผึ้งละลายออกหมดจะทำให้เกิดช่องว่างหรือโพรงข้างใน ทองเหลืองเหลวหรือโลหะเหลวก็จะถูกเทลงไปอยู่ในช่องว่างหรือโพรงนี้ เป็นที่มาของกรรมวิธีที่เรียกว่า ขี้ผึ้งหาย
การวางเบ้าบนเตาก่อนสุมเบ้าจะต้องวางปากเบ้าคว่ำลง เพื่อให้ขี้ผึ้งไหลออกจากเบ้าได้ การสุมเบ้าจะเผาไฟจนเบ้ามีสีชมพูหรือสีแดงทั่วทั้งเบ้า จึงจะนำเบ้าออกจากเตาเผาไปสู่ขั้นตอนของการเททองเหลืองหรือเทโลหะ
ในระหว่างที่ทำการสุมเบ้า ก็จะทำการหลอมทองเหลืองหรือโลหะไปด้วย จะทำการหลอมโลหะในเบ้าหลอม โลหะที่ใช้จะเป็นเหล็ก อะลูมิเนียม หรือทองเหลือง ขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการว่าเป็นอะไร เช่น ถ้าจะหลอมเต้าปูน ช่างก็จะใช้ทองเหลืองมากกว่าโลหะอื่น ๆ ถ้าจะหล่อลูกกระพรวน ก็จะมีเศษเหล็กมากกว่าอย่างอื่น ขนาดเบ้าหลอมโลหะจะสามารถบรรจุโลหะที่หลอมละลายได้ประมาณ 15 กิโลกรัม
การหลอมทองเหลืองจะทำการอุ่นเบ้าหลอมก่อน โดยวางเบ้าหลอมไว้บนเตาถ่านที่ให้ความร้อนสูง จากนั้นนำทองเหลือง หรือโลหะอื่น ๆ ใส่ลงในเบ้าหลอม การหลอมจะใช้ความร้อนอุณหภูมิประมาณ 1100 องศาเซลเซียส ทองเหลืองและโลหะจึงจะหลอมละลายเป็นของเหลว
8. การเททองเหลืองหรือโลหะเหลว
การเททองเหลืองหรือโลหะเหลว เป็นขั้นตอนการเททองเหลืองหรือโลหะที่หลอมละลายแล้วลงในเบ้าที่มีการเผาไล่ขี้ผึ้งออกแล้ว โดยจะนำเบ้ามาเรียงไว้บริเวณใกล้เตาหลอมในลักษณะหงายรูเทขึ้นด้านบน และต้องเททองเหลืองหรือโลหะเหลวจะทำในขณะที่เบ้ายังร้อนลงในรูจนเต็ม หากเทในขณะที่เบ้าเย็นจะทำให้ทองเหลืองหรือโลหะเหลวแข็งตัวก่อนที่จะไหลเข้าไปจนเต็มช่องว่างในเบ้า ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่สมบูรณ์
9. การแกะพิมพ์
เมื่อเททองเหลืองหรือโลหะเรียบร้อยแล้วปล่อยทิ้งไว้จนทองเหลืองหรือโลหะเย็นและแข็งตัว จะทำการแกะดินที่พอกเบ้าออก โดยการทุบเบ้าดินให้แตกด้วยไม้หรือค้อนเพื่อเอางานหล่อที่ได้ออกมาทำความสะอาดและตกแต่งในขั้นตอนต่อไป
10. การเสี่ยน หรือการกลึง เก็บรายละเอียดผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลือง
เมื่อแกะแบบและพิมพ์ออกแล้วจะทำความสะอาดและล้างน้ำให้ดินหลุดออกให้หมด หากผลิตภัณฑ์ผิวไม่เรียบก็จะนำมาทำการกลึง ขัด เพื่อตกแต่งและเก็บรายละเอียดอีกครั้ง จากนั้นจึงนำไปขัดด้วยน้ำยาขัดเงาให้สวยงาม รวมทั้งประกอบเข้ากับส่วนประกอบอื่น ๆ ก่อนนำไปใช้หรือจำหน่ายต่อไป
จะเห็นว่าการหล่อโลหะเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาวนั้น เป็นงานหัตถกรรมที่ใช้ฝีมือและความชำนาญสูง งานฝีมือนี้นับวันแต่จะหดหายไปจากสังคม หากแต่ชาวบ้านปะอาวยังคงรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษนี้ไว้ได้เป็นอย่างดี
ที่ตั้ง ชุมชนทำงานหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว
บ้านปะอาว หมู่ 3 ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ชุมชนทำงานหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว
15.359324, 104.728217
บรรณานุกรม
คณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายจัดทำหนังสือ. (2535). อุบลราชธานี 20 ปี. กรุงเทพฯ : ชวนพิมพ์
นิภาพร ทับหุ่น. (2547). เครื่องทองเหลืองหัตถศิลป์สูงค่าจากภูมิปัญญาโบราณ. กินรี, 21 (1), 56-68.
บุญมี ล้อมวงศ์. สัมภาษณ์, 1 กรกฎาคม 2559
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (2542). สารานุกรมไทยภาคอีสาน เล่ม 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.