บ้านปะอาว ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนนี้มีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมมาหลายชั่วอายุคน ปัจจุบันมีการตั้งกลุ่มสหกรณ์เพื่อผลิตผ้าไหม สร้างรายได้หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวให้กับชาวบ้าน ลวดลายที่นิยมทอก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด เช่น ผ้ากาบบัว ผ้าไหมลวดลายปราสาทผึ้ง ผ้าไหมลูกแก้ว ผ้าไหมมัดหมี่ รับประกันความประณีตงดงามด้วยรางวัลต่าง ๆ ที่ได้รับมากมาย นอกจากนั้นแล้วยังมีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้งานหัตถกรรมทอผ้าไหมให้กับผู้ที่สนใจ
หัตถกรรมทอผ้าไหม บ้านปะอาว อุบลราชธานี
หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านปะอาว เกิดขึ้นจากสมัยก่อนนั้นชาวบ้านปะอาวได้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมไว้สำหรับใช้ในครัวเรือนมาโดยตลอดอยู่แล้ว ลวดลายของผ้าไหมก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการถ่ายทอดและสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าไหมมาหลายรุ่น จนมีช่างทอผ้าฝีมือดีเกิดขึ้นในหมู่บ้านหลายคน จึงได้มีการรวมกลุ่มสตรีในหมู่บ้านที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการทำหัตถกรรมทอผ้าไหมและมีความสนใจจัดตั้งเป็นสหกรณ์ปะอาวขึ้น โดยมีวัถตุประสงค์ในการตั้งกลุ่มเพื่อผลิตผ้าไหมทอมือออกจำหน่ายและสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา โดย สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอุบลราชธานี มีศูนย์การเรียนรู้และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ตั้งอยู่ทางเข้าหมู่บ้าน
ในปี 2559 นี้ สมาชิกในกลุ่มทอผ้ามีอยู่ราว 80 คน ซึ่งร่วมกันทอผ้าทั้งที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ และที่บ้านของสมาชิก สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านปะอาว และบ้านทุ่งนาเพียง
การผลิต การทอผ้าไหมของบ้านปะอาว อุบลราชธานี
ขั้นตอนการผลิตผ้าไหมของชาวบ้านปะอาวนั้น เส้นไหมที่ใช้จะมีทั้งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองและเส้นไหมสำเร็จรูป ต้นหม่อนที่ใช้เลี้ยงไหมนั้น จะปลูกพันธุ์บุรีรัมย์ 60 และสกลนคร ที่มีทั้งปลูกไว้ที่บ้านสมาชิกและที่ศูนย์ พันธุ์ไหมที่เลี้ยงจะมีทั้งไหมพันธุ์พื้นบ้านและไหมพันธุ์ผสม เช่น พันธุ์นางตุ่ย พันธุ์นางสิ่ว พันธุ์นางน้อย พันธุ์เหลืองไพโรจน์ พันธุ์ดอกบัว ส่วนเส้นไหมสำเร็จรูปนั้น ใช้ของจุลไหมไทย สัดส่วนเส้นไหมที่ผลิตได้เองต่อเส้นไหมสำเร็จรูปที่ซื้อมาใช้สำหรับทอผ้าไหม คือ 50:50
การฟอกเส้นไหม ลอกกาวเส้นไหม ในงานหัตถกรรมทอผผ้าไหมบ้านปะอาว
เส้นไหมที่สาวได้จะนำมาทำการฟอกไหม หรือการลอกกาวจากเส้นไหมก่อน โดยจะนำเหง้ากล้วย หรืองวงตาลมาเผา แล้วเก็บขี้เถ้ามาใช้ โดยนำเอาขี้เถ้าไปผสมน้ำแล้วกรองเศษถ่านออก นำเส้นไหมที่จะฟอกมาแช่น้ำขี้เถ้านั้น แล้วต้มให้เดือดประมาณ 30 นาที จากนั้นนำมาล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งและกระตุกเส้นไหมไปด้วยเพื่อให้เส้นไหมตรง ล้างจนเส้นไหมจับแล้วไม่ลื่น หรือจนน้ำที่ล้างนั้นใสสะอาด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงน้ำไปตากให้แห้ง แล้วจึงนำไปมัดและย้อมในขั้นตอนต่อไป
การย้อมสีเส้นไหม ในงานหัตถกรรมทอผผ้าไหมบ้านปะอาว
การย้อมสีเส้นไหมมีทั้งย้อมสีธรรมชาติ และสีเคมี การย้อมสีธรรมชาติ จะใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น สีเขียวจากใบหูกวาง สีเขียวอ่อนจากใบดอกแก้ว สีเขียวอ่อนจากต้นสบู่เลือด สีน้ำตาลจากเปลือกต้นอะลาง สีน้ำตาลเข้มจากเปลือกก่อ สีน้ำตาลแดงจากเปลือกประดู่ สีเหลืองจากแก่นขนุน แก่นเข หรือสีแดงจากครั่ง เป็นต้น
การทอผ้าไหมของบ้านปะอาวจะเป็นการทอมือ ลวดลายผ้าไหมที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ คือ ผ้าไหมกาบบัว และผ้าไหมลายลูกแก้ว นอกจากนี้ก็ยังมีผ้าไหมมัดหมี่ลายอื่น ๆ และผ้าไหมพื้นเรียบ
สร้างงาน สร้างรายได้จากหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านปะอาว
กลุ่มสตรีสหกรณ์ปะอาวจะทอผ้าเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา รายได้จากการทอผ้า ถ้าทอ 1 หูกจะมีรายได้ประมาณ 4500 บาทขึ้นไป ซึ่งในปี 2559 นี้ผ้ากาบบัวจะอยู่ที่ราคาเมตรละ 800 บาท ผ้าลูกแก้ว เมตรละ 650 บาท ผ้าไหมมัดหมี่สำหรับทำเป็นผ้าถุง 1 ผืน ราคาประมาณ 1800-2000 บาท ผ้าไหมพื้นเรียบพร้อมผ้าไหมมัดหมี่ ราคาเมตรละ 600 บาท สามารถซื้อได้ศูนย์การเรียนรู้ฯและงานแสดงสินค้าพื้นเมืองต่าง ๆ
ผลงาน รางวัล หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านปะอาว
ด้วยความเชี่ยวชาญและฝีมือที่ประณีตในการทอผ้าไหมของชาวบ้านปะอาว ทำให้ผ้าไหมบ้านปะอาวเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ทางกลุ่มมีการนำผ้าไหมเข้าประกวดตามงานต่าง ๆ ได้รับรางวัลมากมาย ทำให้เป็นที่รู้จักกันทั่วและยอมรับฝีมือมากขึ้น นอกจากนี้ทางกลุ่มก็ได้มีการถ่ายทอดความรู้ในการทอผ้าให้กับนักเรียน ลูกหลาน และผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย
ที่ตั้ง ศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมผ้าไหมบ้านปะอาว
บ้านปะอาว หมู่ที่ 3 ตำบลปะอาว อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมผ้าไหมบ้านปะอาว
15.356805, 104.726501
บรรณานุกรม
แดง พันธ์วัตร์. สัมภาษณ์, 1 กรกฎาคม 2559
อำนวย พาลเงิน. สัมภาษณ์, 1 กรกฎาคม 2559