หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ ผ้าไหมงามลายประสาทผึ้งหัวจกดาว

หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ จังหวัดอุบลราชธานี แหล่งทอผ้าไหมพื้นบ้านลวดลายประสาทผึ้ง และผ้าซิ่นหัวจกดาว ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานีที่ผ่านการจดลิขสิทธิ์แล้ว เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาการทอผ้าที่ถูกถ่ายทอดจากบรรพบุรุษอย่างยาวนาน

หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ อุบลราชธานี
หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ อุบลราชธานี

ประวัติความเป็นมาของบ้านหนองบ่อ อุบลราชธานี

บ้านหนองบ่อ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่มีน้ำออกบ่อ (น้ำซับ) ขนาดใหญ่ และภายในหมู่บ้านมีหนองน้ำอยู่หลายแห่ง อาทิ หนองแล้ง หนองตาเอียด และหนองหลวง บรรพบุรุษจึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านหนองบ่อ” บ้านหนองบ่อไม่มีใครทราบว่าใครเป็นผู้นำกลุ่มชนมาตั้งหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน ทราบแต่ว่า เดิมนั้นเป็นชาวบ้านตากแดด (ดงบังบ้านเก่า) ซึ่งย้ายมาจากบ้านแค (บ้านดงบังในปัจจุบัน) ครั้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2311 บ้านตากแดดเกิดโรคห่า (โรคอหิวาตกโรค) ระบาด ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงพากันอพยพหนี โดยแยกย้ายกันเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอพยพไปทางทิศเหนือ และไปตั้งชื่อบ้านใหม่ว่า “บ้านโพนงาม” และอีกกลุ่มหนึ่งอพยพไปทางทิศตะวันตก ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านหนองบ่อ” และเรียกว่า บ้านหนองบ่อ มาจนถึงปัจจุบัน

ผ้าไหมกาบบัวประยุกต์ งานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ
ผ้าไหมกาบบัวประยุกต์ งานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ

กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านหนองบ่อ

กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านหนองบ่อ หมู่ 1 ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดยมีสมาชิกแรกเริ่ม 20 คน กลุ่มมีผลิตภัณฑ์เด่นคือ ผ้าไหม และผลิตภัณฑ์รองคือ ผ้าด้าย โดยกลุ่มทอผ้าได้มีการสืบทอดภูมิปัญญาสู่เยาวชนและสตรีในหมู่บ้าน เพื่อให้มีรายได้เสริมนอกจากฤดูทำนา ซึ่งกลุ่มได้มีการพัฒนาฝีมือในการผลิตผลิตภัณฑ์ขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันเป็นที่รู้จักของลูกค้าโดยทั่วไป

องค์ความรู้เรื่องการทอผ้าไหมของบ้านหนองบ่อนี้ มีการการจัดกิจกรรมเพื่อสืบสาน อนุรักษ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเยาวชนด้วย โดยจัดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนบ้านหนองบ่อ มีการปลูกหม่อน มีโรงเรือนเลี้ยงไหม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ อุบลราชธานี

องค์ความรู้และภูมิปัญญาในงานหัตถกรรมการทอผ้าไหม บ้านหนองบ่อ

กลุ่มอาชีพทอผ้าบ้านหนองบ่อนั้น จะทอผ้าไหมจากเส้นไหมสาวจากตัวหนอนไหมที่เลี้ยงเองและเส้นไหมสำเร็จรูป

สายพันธุ์หนอนไหมที่กลุ่มฯ เลี้ยงเอง ได้แก่ หนอนไหมพันธุ์ดอกบัว พันธุ์เหลืองไพโรจน์ (ได้เส้นไหมเยอะ) พันธุ์พื้นบ้าน เช่น นางตุ่ย นางสิ่ว ส่วนหนึ่งได้พันธุ์มาจากการสนับสนุนของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติอุบลราชธานี การเลี้ยงหม่อนจะมีทั้งเลี้ยงที่บ้านและเลี้ยงที่ศูนย์ทอผ้าของหมู่บ้าน

วิธีการเลี้ยงหนอนไหม หนอนไหม 1 แผ่นที่ได้รับจากศูนย์หม่อนไหมจะสามารถแบ่งเลี้ยงได้ประมาณ 30-40  กระด้ง ซึ่งจะได้ฝักหลอกสำหรับสาวเส้นไหม ประมาณ 30-40 กิโลกรัม (ฝักหลอก  1 กิโลกรัม ได้เส้นไหมประมาณ 1 ขีด) ในการเลี้ยงจะใช้ผ้าขาวบางสะอาดคลุมกระด้งไว้ป้องกันแมลงและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ  ในการเลี้ยงจะมีข้อระวัง คือ จะเลี้ยงในโรงเรือนที่สะอาด โล่ง ปลอดโปร่ง ห้ามมีกลิ่นน้ำหอม กลิ่นควัน แมลง หนู รบกวน รักษาความชื้นให้เหมาะสม ถ้ามีความชื้นมาก เช่น ฤดูฝนจะไม่นิยมเลี้ยง และไม่ให้อากาศร้อนจนเกินไป ถ้าหากอากาศร้อนจะคลุมกระด้งเลี้ยงตัวหนอนด้วยผ้าเปียกที่ซักสะอาดแล้ว ระยะเวลาในการเลี้ยง ประมาณ 25 วันจึงจะได้ฝักหลอกนำไปสาวได้ แต่ถ้าให้อาหารหนอนไหมไม่สม่ำเสมอ จะใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น คือ ประมาณ 30 วัน

การให้อาหาร 1 วัน จะให้อาหาร 4 มื้อ คือ ช่วงเวลาประมาณ 05.00, 12.00, 17.00 และ 20.00 น. โดย

  • วัย 1 จะให้อาหาร 4 วัน ปล่อยให้นอนจึงให้อาหารใหม่
  • วัย 2 ให้อาหาร 2 วัน ปล่อยให้นอนจึงให้อาหารใหม่
  • วัย 3 ให้อาหาร 2 วัน ปล่อยให้นอนจึงให้อาหารใหม่
  • วัย 4 ให้อาหาร 3 วัน แล้วจะให้อาหารเร่งให้โต ประมาณ 7-8 วัน พอตัวหนอนไหมเริ่มสุกหรือพร้อมจะพ่นใยก็จะเก็บใส่จ่อ

ในการเลี้ยงตัวหนอนไหมถ้าในกระด้งมีตัวหนอนไหมเยอะ และโตไม่ทันกัน จะทำการย้ายกระด้งเพื่อกระจายตัวหนอนไหมออกไม่ให้หนาแน่นเกินไป

การปลูกต้นหม่อนเพื่อใช้ในการเลี้ยงหนอนไหม จะปลูกหม่อนสายพันธุ์บุรีรัมย์ 60 โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองบ่อแบ่งพื้นที่ให้ตามความต้องการของสมาชิก ซึ่งจะได้พื้นที่คนละประมาณ 1-2 งาน นอกจากนั้นแล้วก็ยังปลูกต้นหม่อนในพื้นที่บริเวณบ้านของตนเองด้วย

เส้นไหมที่สาวได้จากหนอนไหมที่เลี้ยงเอง ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ
เส้นไหมที่สาวได้จากหนอนไหมที่เลี้ยงเอง ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ

การสาวไหม จะสาวไหมจากเปลือกนอกสุดไปจนถึงข้างใน ซึ่งจะได้เส้นไหม 3 แบบ คือ ไหมนอกหรือไหมลืบ ไหมน้อย และไหมสาม หรือไหมขอดหลอก หรือ ไหมแลง ซึ่งเส้นไหมที่เปลือกจะเส้นใหญ่มีความหยาบกว่าเส้นไหมที่อยู่ข้างใน

การสาวไหม จะใช้ไฟปานกลางต้มน้ำให้ร้อนกำลังจะเดือด ถ้าใช้ไฟแรงน้ำเดือดจะสาวไหมได้เส้นไหมใหญ่ การนำฝักหลอกลงหม้อครั้งแรกจะใส่ลงไปประมาณ 80 ฝัก ครั้งต่อไปประมาณ 20-30 ฝัก หรือเท่า ๆ กับจำนวนฝักหลอกที่ตักขึ้น พวงสาวที่ใช้จะใช้แบบสามพวง ซึ่งจะทำให้การปั่นเกลียวเส้นทำได้ดีขึ้น สาวเส้นไหมลงในตะกร้า

เมื่อสาวไหมเสร็จแล้วจะนำเส้นไหมออกจากตะกร้า โดยใส่ข้าวสารหรือหินกรวดลงไปทับเส้นไหมไว้ เพื่อให้เส้นไหมไม่พันกันขณะกวักเส้นไหมใส่อัก จากนั้นจะกวักเส้นไหมใส่อัก แล้วจึงกวักใส่เล่งเพื่อทำให้เป็นใจตามขนาดความยาวที่ต้องการ นำไปผึ่งลมให้แห้งแล้วห่อกระดาษไว้เก็บในที่แห้ง   เพื่อรอขั้นตอนการนำไปใช้ต่อไป

เส้นไหมที่ใช้สำหรับทอผ้าเพื่อขายนั้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะใช้เส้นไหมสำเร็จรูปที่ซื้อมา ส่วนเส้นไหมสำหรับทอผ้าเพื่อใช้งานเอง จะใช้เส้นไหมที่เลี้ยงตัวหนอนไหมเอง

การฟอกกาว หรือการด่องไหมด้วยด่าง คือการล้างกาวไหมออก ถ้าไม่ฟอกกาวออกเส้นไหมจะกัดกันขาด ชาวบ้านหนองบ่อมีวิธีการฟอกกาวทั้งแบบธรรมชาติและแบบเคมี แบบธรรมชาติมีวิธีการทำ คือ เผาต้นขี้เหล็กจนได้ขี้เถ้า นำกากมะพร้าวหรือผ้าขาวมากรองเอาเฉพาะขี้เถ้า ขี้เถ้าที่ได้นำไปละลายน้ำจะได้น้ำขี้เถ้าหรือน้ำด่าง แล้วนำเส้นไหมลงไปแช่ให้ท่วม ประมาณ 10 นาที จึงบิดน้ำด่างออก แล้วจึงนำเส้นไหมลงต้มในน้ำเดือด ประมาณ 30 นาที ค่อยนำมาล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง โดยทดสอบด้วยการขยี้เส้นไหม ถ้าลื่น แสดงว่า ยังล้างกาวออกไม่หมด ให้ล้างน้ำสะอาดต่อจนเส้นไหมฝืดมือ หรือจนน้ำล้างใส ประมาณ 10 ครั้ง ในระหว่างล้างให้กระตุกหรือทกเส้นไหมด้วย เพื่อให้เส้นไหมตรง เส้นไหมที่ได้จะมีสีขาว ถ้าฟอกไหมหรือล้างกาวไม่สะอาด เวลาย้อมจะติดสีไม่สม่ำเสมอ หรือเรียกว่า สีด่าง

การย้อมสีเส้นไหม ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ
การย้อมสีเส้นไหม ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ

การย้อมสีเส้นไหม จะมีทั้งแบบย้อมสีเคมีและย้อมสีจากธรรมชาติ การย้อมสีจากธรรมชาติ วัสดุที่นำมาใช้ย้อม ได้แก่ สีดำ จากมะเกลือ สีแดง จากครั่ง เปลือกสีเสียด เปลือกก่อ สีน้ำตาล จากผลคูณอ่อน สีส้ม จากเมล็ดคำแสดแช่น้ำและย้อมร้อน ในการย้อมเส้นไหมนั้นมีความเชื่ออยู่ว่าจะไม่ย้อมผ้าวันพระ ไม่ย้อมในวันที่ในหมู่บ้านมีคนตาย และการย้อมครั่งนั้นห้ามมีคนรบกวน และห้ามคนท้องเข้าใกล้

เส้นไหมย้อมครั่ง ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ
เส้นไหมย้อมครั่ง ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ
เส้นไหมย้อมมะเกลือ ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ
เส้นไหมย้อมมะเกลือ ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ

การทอผ้าไหมมัดหมี่ของบ้านหนองบ่อ ส่วนใหญ่จะใช้ฟืม 40 หลบ 2 ตะกอ ได้ผ้าหน้ากว้าง 1 เมตร การทอผ้าลูกแก้ว 5 ตะกอ ผ้าห่มขิด 7 ตะกอ ความสามารถในการทอผ้านั้น ทอได้วันละ 0.5 เมตร ถ้าผ้าสีพื้นได้วันละ 1.5 เมตร แต่วันที่ฝนตกจะทอยากขึ้น ผ้าทอของบ้านหนองบ่อส่วนใหญ่จะเป็นผ้าลายลูกแก้ว ผ้าขิด ผ้าซิ่นทิว และจะทอลายอื่น ๆ บ้าง เช่น ลายหมากจับ หมี่ขอ หมี่ตาแห หมี่นาค เป็นต้น

ผ้าไหมลายประสาทผึ้ง ผ้าไหมลวดลายเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี
ผ้าไหมลายประสาทผึ้ง ผ้าไหมลวดลายเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี

ลวดลายเอกลักษณ์ของผ้าไหมบ้านหนองบ่อ คือ ลายประสาทผึ้ง ซึ่งลายนี้ประกอบด้วย ลายประสาทผึ้ง ลายโคมเก้า ลายหมี่คั่น ลายหมากจับ ลายเอี๊ย และลายข้อ เป็นลวดลายเก่าแก่ที่ชาวบ้านสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งชาวบ้านจะใช้สำหรับนุ่งห่มในงานบุญประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานบุญบั้งไฟ การฟ้อนกลองตุ้มเพื่อขอฝน การทำผ้าลายประสาทผึ้งนี้ มาจากความเชื่อที่ว่า เมื่อมีผู้ตายในหมู่บ้าน ผู้ชายในหมู่บ้านจะช่วยกันทำปราสาทผึ้ง ซึ่งทำด้วยกาบกล้วย ประดับประดาด้วยขี้ผึ้งให้สวยงามเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย เชื่อว่าผู้ตายจะได้อยู่ปราสาทเหมือนปราสาทผึ้ง จึงได้เอาลวดลายปราสาทผึ้งมาทอบนผืนผ้าจะเป็นลายปราสาทผึ้ง เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านสืบต่อมา

ผ้าไหมลายประสาทผึ้ง ผ้าไหมลวดลายเอกลักษณ์ของบ้านหนองบ่อ
ผ้าไหมลายประสาทผึ้ง ผ้าไหมลวดลายเอกลักษณ์ของบ้านหนองบ่อ

ผ้าทอของบ้านหนองบ่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาว ตรานกยูงทองพระราชทาน รางวัลผ้าไหมมัดหมี่ระดับจังหวัดและระดับชาติ และได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่น ระดับ 5 ดาว เป็นต้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีจนชาวบ้านผลิตไม่ทัน จะต้องมีการสั่งซื้อล่วงหน้าจึงจะได้เป็นเจ้าของ โดยเฉพาะผ้าลายประสาทผึ้งซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ ซึ่งคุณค่าของผ้าลายนี้ที่ทำให้เป็นที่ต้องการมาก คือ ความยากในการมัดลาย และความละเอียดในการทอที่ทำให้ได้ลายเล็กและคมชัด

ผ้าไหมมัดหมี่ ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ
ผ้าไหมมัดหมี่ ในงานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ

ชาวบ้านในกลุ่มทอผ้าบ้านหนองบ่อมีรายได้จากการทอผ้าประมาณ 40,000-50,000 บาท/ปี ประกอบเป็นอาชีพหลักพร้อม ๆ กับอาชีพทำนา โดยราคาผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติความยาว 2 เมตร ราคาอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท ผ้าไหมย้อมสีเคมี ราคา 4,000 บาท ผ้าห่มขิด ขนาดกว้าง 2.30 เมตร กว้าง 0.60 เมตร ผืนละ 5,000 บาท และผ้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการ คือ ผ้าหัวซิ่นจกดาว ซึ่งเป็นผ้าที่ทำได้ยาก ต้องใช้เวลาและความอดทนมากพอสมควรในการทำ ในสมัยก่อนนั้นผ้านุ่งของเจ้านายชั้นสูงมักจะทำหัวซิ่น “จกดาว” คือ ทำเป็นลายลักษณะคล้ายลายดอกประจำยาม แต่เรียกกันว่า “จกดาว” หรือ “ลายดาว” ซึ่งเป็นลายหัวซิ่นจกที่ใช้แสดงสถานภาพทางสังคมได้อย่างหนึ่ง

ผ้าซิ่นไหมลายประสาทผึ้งหัวซิ่นจกดาว
ผ้าซิ่นไหมลายประสาทผึ้งหัวซิ่นจกดาว
แม่อุษา ศิลาโชติ ช่างทอผ้าไหมฝีมือดีของบ้านหนองบ่อ
แม่อุษา ศิลาโชติ ช่างทอผ้าไหมฝีมือดีของบ้านหนองบ่อ
แม่อุไร ส่งเสริม ช่างทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ
แม่อุไร ส่งเสริม ช่างทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ

ที่ตั้ง กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ

บ้านหนองบ่อ หมู่ 1 ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านหนองบ่อ

15.248393, 104.701523

บรรณานุกรม

สิทธิชัย สมานชาติ. (2553). รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โครงการสำรวจผ้าซิ่นหมี่หัวจกดาว เอกลักษณ์เมืองอุบลเพื่อสืบสานและเป็นฐานข้อมูลในการจัดการเรียนการสอนสาขาสิ่งทอและแฟชั่น. อุบลราชธานี : คณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

อุไร ส่งเสริม. สัมภาษณ์, 1 กรกฎาคม 2559

อุษา ศิลาโชติ. สัมภาษณ์, 1 กรกฎาคม 2559

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง