แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่บ้านก้านเหลือง หมู่บ้านที่มีไม้ยืนต้นประเภทไม้เนื้อแข็งแก่นของลำต้นมีสีเหลืองขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีตสมัยก่อนที่จะมีตัวหนังสือใช้ในแถบนี้ มีอายุประมาณ 1500-2500 ปีมาแล้ว โดยสำรวจพบโบราณวัตถุเศษภาชนะดินเผาจำนวนมากกระจัดกระจายบนเนินดินด้านทิศตะวันออกของวัดบ้านก้านเหลือง และเมื่อขุดค้นทางโบราณคดีแล้ว ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดีขึ้น เพื่อจัดแสดงเรื่องราวพฤติกรรมของมนุษย์และคติความเชื่อในการฝังศพสมัยโบราณ ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้
ประวัติการค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง อุบลราชธานี
เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2534 เป็นต้นมา ได้ปรากฏข่าวการค้นพบโบราณวัตถุจากการขุดไถปรับพื้นที่เพื่อทำบ้านจัดสรรในบริเวณบ้านก้านเหลือง และเมื่อมีข่าวแพร่กระจายออกไป ได้มีกลุ่มชาวบ้านพากันมาขุดหาโบราณวัตถุเพื่อไปจำหน่าย จนหลักฐานต่าง ๆ ทางโบราณคดีถูกทำลายเสียหายเป็นจำนวนมาก
กรมศิลปากร จึงจัดทำโครงการเพื่อหางบประมาณมาทำการสำรวจ ศึกษา และเก็บข้อมูลทางวิชาการไว้ และในปี พ.ศ. 2535 หน่วยศิลปากรที่ 6 พิมาย กองโบราณคดีซึ่งรับผิดชอบพื้นที่เขตอีสานล่างในขณะนั้น ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี ซึ่งได้ทำการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีและศึกษาหลักฐานต่าง ๆ พร้อมกับจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งโบราณคดี
การเก็บหลักฐานและข้อมูลวิชาการตามแนวทางโบราณคดีวิทยา ในแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง
กรมศิลปากร ได้วางแนวทางการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองไว้โดยการสำรวจหลักฐานที่พบบนผิวดินและเก็บข้อมูลวิชาการ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ทางโบราณคดีจึงต้องขุดค้นหาหลักฐานที่อยู่ในชั้นดินที่ลึกลงไปกว่าชั้นดินปัจจุบัน โดยได้เลือกบริเวณที่ไม่ถูกรบกวนเป็นหลุมขุดค้นทางโบราณคดีขึ้น 2 หลุม ขุดลงไปทีละชั้นจนกระทั่งถึงชั้นดินที่ปราศจากการกระทำของมนุษย์
ความสำคัญของแหล่งโบราณคดรบ้านก้านเหลือง
ผลของการขุดค้นศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ สรุปได้ว่าบริเวณบ้านก้านเหลืองในอดีตมีคนเข้ามาใช้พื้นที่นี้ตั้งแต่เมื่อ 1500-2500 ปีมาแล้ว เป็นคนในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อกับระยะเริ่มต้นประวัติศาสตร์
หลักฐานที่พบในระดับลึกที่สุด จัดให้อยู่ในสมัยของคนก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคโลหะตอนปลาย) พบหลักฐานเครื่องมือเหล็ก ขี้แร่ที่เหลือจากการถลุง แกลบข้าว เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือช่วยปั้นหม้อที่เรียกว่า หินดุ แท่งดินเผาไฟ เป็นต้น
หลักฐานที่สำคัญที่สุด คือ การค้นพบภาชนะบรรจุกระดูกขนาดใหญ่จำนวน 11 ใบ 7 แบบ โดยภาชนะในกลุ่มรูปทรงรีพบอยู่ในชั้นดินลึกที่สุด ต่อมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปทรงภาชนะเป็นทรงกลมแทน จึงได้พบรูปทรงกลมอยู่ในชั้นดินที่สูงกว่า ภาชนะทั้งสองทรงเป็นภาชนะที่มีฝาปิดเสมอ
แม้ในการขุดค้นภาชนะขนาดใหญ่ดังกล่าว จะไม่พบร่องรอบของชิ้นกระดูกอยู่ภายในเลยก็ตาม แต่ได้นำตัวอย่างดินที่พบในภาชนะนั้นไปให้นักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากรวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของดิน พบว่าดินในภาชนะมีปริมาณของฟอสเฟตและแคลเซียมในปริมาณที่มากกว่าดินทั่วไป ทำให้เชื่อว่าน่าจะเกิดมาจากองค์ประกอบหลักทางเคมีของกระดูกที่อยู่ในรูปของฟอสเฟตและคาร์บอเนตของแคลเซียม ซึ่งถูกย่อยสลายไปหมดเนื่องจากความเป็นกรดของฝนซะในเวลานานหลายร้อยปี
ในภาคอีสานบริเวณลุ่มน้ำมูลและชี ได้ค้นพบภาชนะบรรจุกระดูกอยู่โดยทั่วไปด้วยเหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่มีกระดูกหักรวมกันอยู่ภายในภาชนะดินเผา หรือที่เรียกกันว่าเป็นการฝังศพครั้งที่ 2 ภายหลังจากการทำศพครั้งแรกแล้วทิ้งระยะเวลาไปช่วงหนึ่ง จึงนำกระดูกมาใส่รวมกันในภาชนะมีเครื่องเซ่นศพฝังรวมกันไปด้วย ประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 ในภาชนะ พบว่ามีการแพร่กระจายเข้าไปดินแดนลาวที่เรียกว่าทุ่งไหหิน และในประเทศเวียดนามด้วย
แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลืองจึงอาจแสดงหลักฐานการฝังศพครั้งที่ 2 ของคนในสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อันเป็นสังคมที่รู้จักการเพาะปลูก (ข้าว) รู้จักการถลุงโลหะ และทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะเหล็กและสำริด รู้จักการปั้นภาชนะดินเผา อายุของชุมชนนี้อยู่ระหว่าง 1500 – 2500 ปีมาแล้ว
หลักฐานที่พบจากชั้นดินระดับบน ๆ น่าจะมีอายุอยู่ในระยะเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ หรือเรียกว่าวัฒนธรรมทวารวดี โบราณวัตถุที่พบมีพวยกาดินเผา แวดินเผา เศษเหล็ก ขี้แร่ แท่งดินเผา ลูกปัดดินเผา กระพรวนสำริด และขวานเหล็ก เปรียบเทียบอายุสมัยของโบราณวัตถุเหล่านี้ กับหลักฐานที่พบในแถบอีสานโดยทั่วไปมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-16
ที่ตั้ง แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง
วัดบ้านก้านเหลือง ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ แหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง
15.278417, 104.855316
บรรณานุกรม
นิทรรศการแหล่งโบราณคดีบ้านก้านเหลือง. (2559).