Loading

ประชุมคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น PULINET ครั้งที่ 1/2563

วันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2563 นางสาวขนิษฐา ทุมมากรณ์ ผู้แทนคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่น ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (PULINET) จากสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุม 3106 ชั้น 1 สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายชัยวัฒน์ น่าชม เป็นประธานคณะทำงานและดำเนินการประชุม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ในปีงบประมาณ 2563 คณะทำงานฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินงานโครงการ จำนวน  1  โครงการ คือ การพัฒนาศักยภาพคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูลท้องถิ่น ซึ่งมีแผนงานดำเนินโครงการในวันที่ 20-22 กมภาพันธ์ 2563 ณ จังหวัดลพบุรี
  2. การติดตามผลการดำเนินการนำเข้าข้อมูลในระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติ (OER) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายสถาบันนำเข้าข้อมูลแล้วกว่า 300 รายการ
  3. การแต่งตั้งคณะทำงานข้อมูลท้องถิ่นฯ ในปีงบประมาณ 2563-64
  4. การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการ 2 เรื่อง ได้แก่ PULINET Memory และ PULINET Archives
  5. การพิจารณาทบทวนขอบเขตพื้นที่ในการดำเนินการข้อมูลท้องถิ่นของแต่ละสถาบัน ซึ่งสำนักวิทยบริการได้รับมอบหมายในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร มุกดาหาร และศรีสะเกษ

นอกจากนั้นแล้วยังได้จัดให้มีการดูงานการจัดการสารสนเทศท้องถิ่นและปฏิบัติงานภาคสนาม ณ จังหวัดลพบุรี 2 แห่ง ได้แก่

การจัดการสารสนเทศเมืองละโว้ ณ วัดซาก

วัดซาก ตำบลถนนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นโบราณสถานเก่าแก่ของลพบุรี ที่แสดงให้เห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากหลักฐานที่ปรากฏทำให้เกิดการเชื่อมโยงและมีข้อสันนิษฐานมากมายเกิดขึ้น เช่น อาจจะเป็นสถานที่ของเจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าพระยาวิชัยเยนทร์ เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมลพบุรี การลงพื้นที่นี้ทำให้เห็นตัวอย่างของสารสนเทศที่ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์ได้จัดทำขึ้น ซึ่งอาจจะมีมุมมองที่เหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ตามแต่ข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ค้นพบ ฉะนั้น ในฐานะของผู้จัดการสารสนเทศการนำเสนอและเผยแพร่สารสนเทศควรมีการอ้างอิงแหล่งที่มาให้ชัดเจนตรงไปตรงมา เพื่อทำให้สารสนเทศมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นแล้วหากจะพัฒนาพื้นที่โบราณสถานให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ควรมีการจัดทำข้อมูลสารสนเทศของโบราณสถานนั้น ๆ ด้วย เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้เข้าชมให้เข้าใจความเป็นมาและความสำคัญของโบราณสถานอย่างลึกซึ้ง มีความสนุกสนานในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้นำเที่ยวเพียงอย่างเดียว

การจัดการสารสนเทศท้องถิ่น บ้านดินสอพอง

ศูนย์เรียนรู้ดินสอพอง (บ้านหินสองก้อน) ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นส่วนหนึ่งของบ้านหินสองก้อนที่เป็นแหล่งผลิตดินสอพองแหล่งใหญ่ของจังหวัดลพบุรี ซึ่งผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีทั้งดินสอพองก้อนและดินสอพองแปรรูป เช่น ครีมกันแดด ไข่เค็มดินสอพอง ศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้ นอกจากจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนแล้วยังให้บริการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับดินสอพองให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ

การทำดินสอพองของชุมชนบ้านหินสองก้อน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบบทอดกันมานาน จึงทำให้มีนักวิชาการ นักวิจัย และผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา วิจัย และทำกิจกรรมเพื่อสืบสานและอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่ไว้ แต่ปัญหาที่เหล่านักวิชาการและนักวิจัยทิ้งไว้ให้แก่ชุมชน คือ เมื่อทำวิจัย โครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ แล้วเสร็จก็ทิ้งไว้แค่ร่องรอยที่ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ เช่น เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ได้จริงในงานวิจัยแต่ใช้งานจริงไม่ได้ ผลผลิตจากงานวิจัยเพียงไม่กี่ชิ้นซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของชุมชน

ฉะนั้น หากจะทำวิจัย โครงการ หรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างน้อยควรตรวจสอบความต้องการของชุมชนด้วย และควรทำด้วยความจริงใจและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นยังคงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป อีกทั้งยังจะช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจในแขนงอื่น ๆ เข้าไปศึกษาเรียนรู้โดยที่ชุมชนเต็มใจต้อนรับและให้การช่วยเหลือ