Loading

การปรับเว็บไซต์ให้รองรับ SEO 2020

งานข้อมูลท้องถิ่น ได้ดำเนินการพัฒนาและเผยแพร่สารสนเทศท้องถิ่นอีสานบนอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของเว็บไซต์มาแล้วระยะหนึ่งนั้น ในการดำเนินงานมีการติดตามการเข้าใช้งานโดยใช้ google analytics เพื่อจัดทำสถิติและวิเคราะห์ผู้ใช้ ซึ่งพบว่ามากกว่า ร้อยละ 80 เข้าถึงสารสนเทศท้องถิ่นบนเว็บไซต์โดยการสืบค้นผ่าน Google ซึ่งเป็น search engine ที่คนไทยนิยมใช้

จากการติดตามข้อมูลข่าวสารจากบทความต่าง ๆ พบว่า ในปี ค.ศ. 2020 ปัจจัยที่ทำให้เว็บไซต์ถูกค้นเจอด้วย google นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อทำให้การเข้าถึงเว็บไซต์ของงานข้อมูลท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบของเว็บไซต์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เว็บไซต์ “สารสนเทศท้องถิ่น ณ อุบลราชธานี : Esan Information @Ubon Ratchathani” (www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับเผยแพร่สารสนเทศที่งานข้อมูลท้องถิ่นได้รวบรวม เรียบเรียง และพัฒนาสารสนเทศขึ้น โดยมีความคาดหวังจะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับท้องถิ่นต่อไป

จากการสำรวจของเว็บไซต์ Highervisibility.com พบว่า ผู้ค้นหาจะเลือกคลิกเว็บไซต์ที่อยู่ในหน้าแรกมากถึง 95% การดำเนินการปรับปรุงเว็บไซต์นั้นให้เป็นไปตามหลักของ SEO หรือ Search Engine Optimization จึงเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงสารสนเทศ และมีผู้ใช้งานมากขึ้นด้วย งานข้อมูลท้องถิ่นจึงได้ปรับปรุงเว็บไซต์ “สารสนเทศท้องถิ่น ณ อุบลราชธานี : Esan Information @Ubon Ratchathani” (www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/esaninfo) ดังนี้

1.การนำระบบโปรแกรม WordPress ซึ่งเป็นระบบการจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ (CMS) ที่ตรงตามมาตรฐาน W3C และรองรับการแสดงผลกับทุกอุปกรณ์ (mobile friendly) สนับสนุนให้ Google ค้นหาได้ดี

2.การปรับปรุงเนื้อหาเพื่อให้สารสนเทศมีคุณภาพมากขึ้น โดยทำการทบทวนเนื้อหาและเรียบเรียงใหม่ เพื่อสนับสนุน Featured Snippets หรือกล่องข้อความที่แสดงอยู่ด้านบนสุดของผลการค้นหาเหนือเว็บไซต์อันดับแรก (Zero Position) ซึ่งมีผลสำรวจของหลาย ๆ เว็บไซต์ในต่างประเทศระบุเอาไว้ว่า เว็บไซต์ที่ติด Zero Position จะมีโครงสร้างเว็บไซต์ดังนี้

  • บทความที่มีโครงสร้าง มีเนื้อหาที่ชัดเจน แบ่งหัวข้อพร้อมใส่ Tag H1, H2, H3
  • เว็บไซต์ติดอันดับ 1-10 บนหน้าแรก Google
  • ใช้ Keyword ประเภทคำถาม เช่น SEO คือ, Featured Snippets คือ

นอกจากนั้นแล้วยังมีการปรับปรุงเนื้อหาเพื่อสนับสนุนการค้นหาด้วยเสียง (voice search) ซึ่งเป็นวิธีการที่มีแนวโน้มการใช้งานมากขึ้น ซึ่งสถิติพบว่าส่วนใหญ่การค้นหาด้วยเสียงมักจะเป็นคำถาม หรือเป็นประโยคที่ยาวกว่าการค้นหาแบบการพิมพ์ตัวอักษร (text) ฉะนั้นการเรียบเรียงเนื้อหาจึงมีลักษณะของการตั้งคำถามและใส่คำตอบลงไปในเว็บไซต์ด้วย

3.การใช้ภาพนามสกุล .jpeg มาใช้ประกอบในเนื้อหา ซึ่งเป็นไฟล์ภาพที่มีขนาดเล็กแต่มีคุณภาพและความละเอียดที่พอดีสำหรับสายตามนุษย์ และใช้ภาพขนาดความกว้างจะอยู่ที่ 800px–1,000px ซึ่งจะส่งผลให้เว็บไซต์โหลดเร็วขึ้น สร้างความรู้สึกและประสบการณ์ที่ดีในการเข้าใช้เว็บไซต์ ทั้งนี้ในอนาคตหากไฟล์ภาพนามสกุล WebP ที่ google พัฒนาขึ้นสามารถใช้งานได้กับทุกบราวเซอร์ ก็จะมีการปรับปรุงและนำมาใช้งานต่อไป

4.ลงทะเบียน URL ของเว็บไซต์กับ Google Search Console ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ข้อมูลและแนวทางในการปรับปรุงเว็บไซต์ให้มีโครงสร้างที่ถูกต้องตามหลักการของ Google และมีค่าสถิติต่าง ๆ สำหรับประเมินความสำเร็จของเว็บไซต์อีกด้วย