Loading

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยอาศัยอัตลักษณ์จากแหล่งหินสามพันโบก แถบลุ่มน้ำโขง

งานวิจัย : การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยอาศัยอัตลักษณ์จากแหล่งหินสามพันโบก แถบลุ่มน้ำโขง : กรณีศึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแกะสลักไม้ บ้านกุดสมบูรณ์ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี

โดย : ศักดิ์ชาย สิกขา ประทับใจ สิกขา และสมาน ล่ำสัน

บทคัดย่อ : 

ในการวิจัยนี้ผู้วิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยไว้ 2 ประการ 1) เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ท้องถิ่นแหล่งหินสามพันโบกแถบลุ่มน้ำโขงในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ 2) เพื่อทดลองและพัฒนาเทคนิคการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้ ของที่ระลึกให้มีอัตลักษณ์ของหินสามพันโบก งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาและทดลอง คือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแกะสลักไม้บ้านกุดสมบูรณ์ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 152 หมู่ที่ 7 บ้านกุดสมบูรณ์ ตำบลดอนใหญ่ อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และแบบสรุปผลจากการประชุมระดมความคิด ซึ่งผลการวิจัยในครั้งนี้ สามารถสรุปได้ 2 ประเด็น ดังนี้

การศึกษาอัตลักษณ์ท้องถิ่นแหล่งหินสามพันโบกแถบลุ่มน้ำโขงในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้วิจัย พบว่า อัตลักษณ์ท้องถิ่นของแหล่งหินสามพันโบกในแถบลุ่มน้ำโขง คือ การวางทับซ้อนของหินขนาดต่าง ๆ การเกิดแอ่งหินที่มีชั้นของหินจัดเรียงลดหลั่นตามความหนาแน่นของหินในแต่ละชั้น รูปทรงของแอ่งหินที่โค้งเป็นวงในลักษณะต่าง ๆ ดังนั้น ในการนำอัตลักษณ์มาใช้ในงานออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใด ๆ อาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะของหลุมหรือแอ่งหิน และลักษณะของการจัดวางหินที่ทับซ้อนเป็นชั้นในรูปทรงอิสระ ทั้งนี้เกณฑ์ในการเลือกต้องพิจารณาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบต้องพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เช่น ความยาก-ง่ายในการนำมาออกแบบและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และรูปแบบของผลิตภัณฑ์ สำหรับในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เลือกวัสดุและกรรมวิธีการผลิตโดยทดลองสร้างสรรค์งานออกแบบบนเนื้อไม้ที่เหลือทิ้งหรือไม้ที่ไม่ใช่ไม้เศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและขัดต่อกฏหมายควบคุม

การทดลองและพัฒนาเทคนิคการผลิตเลือกผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้ ของที่ระลึกให้มีอัตลักษณ์ของหินสามพันโบก ซึ่งผลการทดลองพบว่า การสร้างหลุมหินหรือแอ่งหินจำลองบนเนื้อไม้ วิธีการที่ค้นพบคือ การใช้ถ่านขนาดต่าง ๆ ที่กำลังร้อนจัดวางบนผิวไม้ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ออกแบบไว้ เมื่อเกิดการเผาไหม้จนได้ขนาดหลุมที่พอใจแล้วจึงคีบก้อนถ่านออก หลังจากนั้นจึงปล่อยให้เย็นแล้วจึงขัดโดยใช้แปลงลวดติดสว่านมือเป็นตัวขัด หลังจากนั้นได้มีการค้นพบวิธีการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมอีก 4 ประเด็น คือ 1) การสร้างร่องรอยสามพันโบก การใช้ดอกเจาะที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เป็นตัวเจาะนำร่องให้ตื้น-ลึกในตำแหน่งต่าง ๆ ก่อนหลังจากนั้นจึงใช้แก๊สเป่าความร้อนเผาไหม้ให้เกิดพื้นผิวสามพันโบก 2)การค้นหาวัสดุที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดมาเป็นส่วนประกอบในการผลิต ซึ่งพบว่า ไม้อัดยางหนาตั้งแต่ 10-20 มิลลิเมตร สามารถสร้างพื้นผิวสามพันโบกได้ 3) การค้นหาวิธีการผลิตที่ทำให้สามารถผลิตชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ในบางรายการที่ต้องการความเหมือนในจำนวนมาก ๆ ได้ โดยพบว่า การทำแม่พิมพ์ซิลิโคนและหล่อเรซินมีความเหมาะสมต่อการผลิตชิ้นส่วน 4)การคิดค้นรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาด พบว่า ผลิตภัณฑ์บนโต๊ะทำงาน มีความเหมาะสมกับการผลิตมากที่สุด โดยได้เลือกกลุ่มลูกค้าเป็น กลุ่มคนในวัยทำงาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุดบรรจุในกล่องบรรจุภัณฑ์เดียวกัน เรียกว่า ชุดของใช้ไม้สามพันโบกบนโต๊ะทำงาน ประกอบด้วย กล่องใส่นามบัตร (ในรูปแบบที่วางทับเอกสาร) ที่เสียบปากกา (ในรูปแบบเสาหิน ที่เรียกกันในแหล่งท่องเที่ยวว่า เสาเฉลียง) นาฬิกาตั้งโต๊ะ ที่วางสมุนไพรหอม/วางเทียนหอม พวงกุญแจ ที่เก็บเครื่องเขียน เป็นต้น ผลการประเมินผลิตภัณฑ์ 5 ด้าน จากกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 45 ราย พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนามีค่าคะแนนความพึงพอใจ อันดับแรก คือ ความงาม (mean=4.58) รองลงมา คือ ด้านความโดดเด่นน่าสนใจ (mean=4.33) และสุดท้าย คือ ด้านความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ (mean=4.11) ซึ่งใน 5 ด้าน มีค่าเฉลี่ยโดยรวม 4.24 อยู่ในระดับดี ผลงานที่เกิดขึ้นในงานวิจัยครั้งนี้ ได้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย ทำให้เกิดความรู้และทักษะฝีมือในการผลิตเพิ่มเติม สามารถนำไปสู่การผลิตที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชนได้

ผลิตภัณฑ์ชุมชน สามพันโบก อุบลราชธานี
Download Fulltext