ชีวิตขั้นที่สอง รองจากเกิดก็คือ การบวช ผู้ชายทุกคนเมื่ออายุครบแล้วจะต้องบวช การบวชถือว่าเป็นการอบรมบ่มนิสัยให้ดีมีศีลธรรม และเป็นการตอบแทนบุญคุณของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ดังนั้น การบวชจึงถือว่า เป็นประเพณีที่จำเป็นสำหรับลูกผู้ชายทุกคน
คำว่า บวช มาจากศัพท์ว่า ปะวะชะ แปลว่า งดเว้น ได้แก่ งดเว้นในสิ่งที่ควรงดเว้น คือ เว้นจากกิจบ้านการเรือนมาบำเพ็ญเพียรทำกิจพระศาสนา มีสวดมนต์ ภาวนา เป็นต้น การบวชนั้น ถ้าเป็น สามเณร เรียก บรรพชา ถ้าเป็น พระภิกษุ เรียก อุปสมบท มี 3 อย่าง คือ
- พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยเปล่งวาจาว่า มาเถิดพระภิกษุ ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อพ้นทุกข์โดยชอบเถิด เรียก เอหิภิกขุอุปสัมปทา
- พระสาวกบวชให้ ด้วยเปล่งวาจาว่า พุทธัง สรณังคัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เรียก ติสรณคมนูปสัมปทา
- พระสงฆ์ 5 รูป รวมทั้งพระอุปัชฌาย์บวชให้ด้วยการสวดญัตติ 1 ครั้ง อนุสาวนา 3 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง เรียก ญัตติจตุตถกรรมวาจา การบวชข้อที่ 3 นี้ เป็นการบวชที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
มูลเหตุแห่งการบวช
ในสมัยโบราณ คนที่ออกบวชย่อมบวชเพราะชรา เจ็บป่วย จนทรัพย์ สิ้นญาติขาดมิตร สำหรับพระพุทธเจ้าพระองค์ปรารภความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงออกบวช ส่วนคนทุกวันนี้บวชตามประเพณี เมื่ออายุครบก็บวช บวชเป็นการแก้บนบ้าง บวชตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่บ้าง
คนที่ควรบวชให้ คือ
- คนมีอายุครบ 1
- มีอาชีพชอบและมีหลักฐานดี 1
- มีความประพฤติดี ไม่ติดฝิ่น กัญชาและสุรา เป็นต้น 1
- มีความรู้อ่านออกเขียนได้ 1
- ปราศจากบรรพชาโทษ และมีรูปร่างสมบูรณ์ ไม่ชรา ทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ 1
คนที่ไม่ควรให้บวช คือ
- คนมีอายุไม่ครบ 1
- คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน 1
- คนหลบหนีราชการ 1
- คนมีคดีค้างในศาล 1
- คนถูกตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ 1
- คนถูกห้ามอุปสมบทโดยเด็ดขาด 1
- คนมีโรคติดต่อ 1
- คนมีอวัยวะพิการ ไร้ความสามารถจนไม่อาจปฏิบัติศาสนกิจได้สะดวก 1
"นาค" คือ อะไร?
คำว่า นาค คนที่จะบวชเขาเรียกว่า นาค แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือ ผู้ไม่ทำบาป เหตุที่ได้ชื่อว่า นาค เรื่องเดิมมีอยู่ว่า พญานาคแปลงตัวเป็นมนุษย์มาบวช ในพระพุทธศาสนาเวลานอนหลับกลับเพศเป็นนาคตามเดิม วันหนึ่งพวกภิกษุไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรียกเธอมาถาม ได้ความว่าเป็นเรื่องจริง จึงสั่งให้สึกเสียพญานาคมีความอาลัยในเพศบวช จึงกราบทูลขอฝากชื่อนาคไว้ ถ้าผู้ใดจะเข้ามาบวชขอให้ เรียกชื่อว่า นาค คำว่านาค จึงเป็นชื่อเรียกผู้ที่จะบวชจนถึงทุกวันนี้
การประเคนนาค
เมื่อบุตรหลานมีอายุครบพอที่จะบวชเป็นพระหรือเณรได้แล้ว พ่อแม่จะนำไปฝากไว้กับเจ้าวัดก่อนบวช ประมาณหนึ่งเดือน เพื่อให้ศึกษาเล่าเรียน ทำวัตรสวดมนต์ ท่องบ่นขานนาค ทำพินธุ ปัจจุอธิษฐาน เรียนหนังสือธรรม การนำลูกหลานไปฝากไว้กับเจ้าวัด เขาจัดดอกไม้ ธูปเทียนใส่ขันนำตัวนาคไป เมื่อท่านรับขันแล้วก็ตีโปง หรือ ระฆัง ให้ชาวบ้านได้อนุโมทนาสาธุการนี้ เรียกว่า การประเคนนาค
การปล่อยนาค
ก่อนถึงวันบวชนาค 2-3 วัน ผู้บวชจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปลาญาติพี่น้อง เพื่อสมมาลาโทษผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ และไปสั่งลาชู้สาว (ถ้ามี) หากมีหนี้สินติดตัวก็รีบชำระชดใช้เสีย เพื่อจะได้เป็นคนบริสุทธิ์ การปล่อยนาคให้ไปไหนมาไหนก็ได้มีกำหนด 3 วัน เรียกว่า ปล่อยนาค ทั้งนี้เพื่อให้นาคได้มีโอกาสเวลาบวชแล้วจะได้ตั้งหน้าบำเพ็ญกุศลต่อไป
กองบวช
เครื่องใช้ที่จะนำมาบวชเรียกกองบวช ที่จำเป็นจะขาดเสียไม่ได้คือ บริขาร 8 มีผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าสังฆาฏิ บาตร มีดโกน เข็ม ประคตเอว ผ้ากรองน้ำ บริขารนอกนี้ มีเสื่อ สาด อาสนะ ร่ม รองเท้า เต้า โถน เตียง ตั่ง จะมีหรือไม่มีก็ได้ไม่จำเป็น ถ้าทำพร้อมกันหลายกองให้ขนมารวมกันไว้ที่วัด ตอนค่ำสวดมนต์ เสร็จแล้วบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแด่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว กลางคืน มีมหรสพ ตอนเช้าถวายอาหารบิณฑบาต ถ้าทำบ้านใครบ้านมัน ตอนค่ำนิมนต์พระไปสวดมนต์ที่บ้าน กองบวชใช้เม็ง คือ เตียงหามออกมา เตียงนั้นใช้เป็นเตียงนอนของพระบวชใหม่ เมื่อกองบวชมารวมกันแล้ว ก่อนจะสู่ขวัญนาค
สู่ขวัญนาค ต้องบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้ตายแล้วด้วย
การแห่นาค
การแห่นาคทำตามศรัทธาของเจ้าภาพจะแห่ด้วยช้าง ม้า รถ เรือก็ได้ ที่แห่ด้วยม้าคงจะถือเอาอย่างพระสิทธัตถะคราวออกบวช เป็นตัวอย่าง นาคทุกคนต้อง โกนผม โกนคิ้ว นุ่งเสื้อผ้าให้เรียบร้อย ถ้าตั้งกองบวชไว้ที่บ้าน ให้แห่กองบวชมารวมกันที่วัดเมื่อพร้อมกันแล้วก็แห่รอบศาลาอีกครั้งหนึ่ง การสู่ขวัญนาค เมื่อแห่รอบศาลาแล้วนาคทุกคนเตรียมเข้าพาขวัญ ญาติพี่น้องนั่งห้อมล้อมพาขวัญพราหมณ์เริ่มทำพิธีสู่ขวัญ เสร็จแล้วผูกแขนนาคนำเข้าพิธีบวชต่อไป
การบวชนาค
เวลาจะเข้าโบสถ์ พ่อจูงมือซ้าย แม่จูงมือขวา ถ้าพ่อแม่ไม่มีให้ญาติพี่น้องเป็นผู้จูงถึงภายในโบสถ์แล้วนาคจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาพระ เสร็จกลับมานั่งที่ พ่อแม่จะยกผ้าไตรส่งให้นาค ก่อนจะรับผ้าไตรนาคต้องกราบพ่อแม่ก่อน แล้วอุ้มผ้าไตรเดินคุกเข่าประนมมือเข้าไปท่ามกลางสงฆ์
กล่าวคำขอบรรพชาต่อ พระอุปัชฌาชย์ แล้วออกมาครองผ้า แล้วเข้าไปขอศีลกับพระอาจารย์เป็นอันได้บวชเป็นสามเณรแล้ว ต่อจากนั้นอุ้มบาตรเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์กล่าวคำขอนิสัย เมื่อท่านเอาบาตรคล้องคอแล้วมอบบาตรจีวรให้ ให้ออกไปยืนข้างนอก ตอนนี้พระอาจารย์คู่สวดจะสมมุติตนเป็นผู้สอนและซักซ้อมนาคแล้วออกไปซักถามนาค พอถามแล้วก็เรียกนาคเข้ามาถามต่อหน้าสงฆ์ พระอุปัชฌาย์ทำหน้าที่บอกเล่าสงฆ์ แล้วอาจารย์สวดเป็นผู้ถามพอถามเสร็จก็สวดญัติ 1 ครั้ง และอนุสาวนา3 ครั้ง เรียก ญัตติจตุตถกรรมวาจา เป็นอันว่านาคนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุโดยสมบูรณ์แล้ว
การบอกอนุศาสน์ เมื่อบวชแล้ว พระอุปัชฌาย์จะบอกอนุศาสน์ คือ บอกกิจที่พระควรทำและไม่ควรทำ
กิจที่ควรทำมี 4 คือ
- นุ่งห่มผ้าบังสุกุล 1
- เที่ยวบิณฑบาต 1
- อยู่โคนไม้ 1
- ฉันยาดองด้วยน้ำมูตร 1
กิจที่ไม่ควรทำมี 4 คือ
- สพเมถุน 1
- ลักของเขา 1
- ฆ่าสัตว์ 1
- พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน 1
การกรวดน้ำ
พอพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์จบแล้วถือว่าเสร็จการบรรพชาอุปสมบทแล้ว ต่อจากนั้นพระใหม่จะนำจตุปัจจัยไปถวายพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระสงฆ์ เสร็จแล้วออกไปนั่งท้ายอาสนะ คอยรับอัฏฐะบริขาร ถ้าผู้ชายถวายให้รับด้วยมือ ถ้าผู้หญิงถวายให้ใช้ผ้ากราบรับเสร็จแล้วเข้ามานั่งที่เดิม เตรียมกรวดน้ำไว้ เมื่อพระอุปัชฌาย์ว่า "ยถา….. " พระใหม่เริ่มกรวดน้ำพอท่านว่าถึง "………… มณีโชติรโส ยถา…….. " ให้กรวดน้ำให้หมด การกรวดน้ำในพิธีนี้ถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลแด่ญาติที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธีเกี่ยวกับบวชแต่เท่านี้ เมื่อครบ 3 วันแล้ว จะมีการฉลองพระบวชใหม่ การฉลองก็คือจัดอาหารคาวหวาน มาเลี้ยงพระ และสู่ขวัญให้พระบวชใหม่
การลาสิกขา
ผู้บวชในสมัยโบราณเป็นผู้เบื่อต่อโลก จึงไม่มีการลาสิกขา ครั้นต่อมาการบวชได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นประเพณีแล้ว ผู้บวชไม่ประสงค์จะอยู่ก็ต้องลาสิกขา การลาสิกขาก็ต้องทำเป็นกิจจะลักษณะพิธีทำ มีดังนี้
ผู้ประสงค์จะลาสิกขาเตรียมดอกไม้ ธูปเทียนไปทำวัตร พระอุปัชฌาย์อาจารย์เมื่อถึงวันกำหนดแล้วให้จัดสถานที่ นิมนต์พระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว พระภิกษุผู้จะลาสิกขาต้องแสดงอาบัติเสียก่อนแล้วว่า "นโม 3 จบ" ว่าอดีต "ปัจจเวกขณะ 1 จบ"
คำลาสิกขา กล่าวว่า "สิกขัง ปัจจักขามิ คีหิติ มัง ธาเรถะ ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ขอท่านทั้งหลายจงจดจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นคฤหัสถ์ ณ บัดนี้" ว่า 3 จบ แล้วพระเถระจะชักผ้าสังฆาฏิออก จึงออกไปเปลื้องผ้าเหลือง ออกแล้วจึงนุ่งห่มผ้าขาวเข้ามากล่าว คำขอสรณคมณ์และศีล 5 แล้วกล่าวคำ ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามะกะว่า "อหัง พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สรณังคโต สาธุ ภันเต ภิกขุสังโฆ พุทธมามโกติ มัง ธาเรถะ" พระสงฆ์นั่งอันดับรับสาธุพร้อมกัน แล้วผู้ลาสิกขากราบ 3 หน เสร็จแล้วผู้ลาสิกขานำเครื่องสักการะไปถวาย พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี ส่วนการลาสิกขาของสามเณร ไม่มีคงอนุโลมตามอย่างพระภิกษุ
ที่มา : อรทัย เลียงจินดาถาวร. (2545). การจัดสร้างฐานข้อมูลและเผยแพร่ประเพณีการดำรงชีวิตของชาวไทยอีสานบน Web site. อุบลราชธานี: สำนักวิทยบริการ